1ก.พ.ตีตราคนจนรอบ2 วางคิวยาวบิ๊กตู่ไทยนิยม


เพิ่มเพื่อน    

  ดีเดย์ 1 ก.พ. เปิดลงทะเบียนคนจนเฟส 2 จัดทีมหมอประชารัฐสุขใจกว่า 7 พันคนคอยให้คำแนะนำ ตั้งเป้า 2.85 ล้านหลุดพ้นความยากจน มท.จัดตารางขับเคลื่อน "ไทยนิยม" วางคิว "บิ๊กตู่" ลงพื้นที่ 18 กลุ่มจังหวัด 8 ก.พ.-21 มิ.ย. เพื่อแม้วโวยรัฐบาลหาเสียงล่วงหน้า ดึงจิตอาสามาแปดเปื้อน

    เมื่อวันที่ 28 มกราคม นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังพร้อมแล้วที่จะเปิดให้ผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 11.4 ล้านคนทั่วประเทศ เข้ามาลงทะเบียนตามมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจนระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่  1 ก.พ.เป็นต้นไป โดยผู้ที่มาลงทะเบียนต้องเตรียมบัตรประชาชนและบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปลงทะเบียนที่ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมถึงตามสถานที่เพิ่มเติม ซึ่งมีประกาศในชุมชน เช่น ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเขต เป็นต้น
    ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมทีมหมอประชารัฐสุขใจ (AO) ทั่วประเทศมากกว่า 7,000 คน ซึ่งมาจากเจ้าหน้าที่ระดับปริญญาตรีที่เปิดรับใหม่ 3,500  คน ค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท ร่วมกับเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ตลอดจนเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ เกษตรอำเภอ คอยให้คำแนะนำแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ผู้มีรายได้น้อยตั้งแต่เดือน ก.พ.เป็นต้นไป และนำเข้าสู่กระบวนพัฒนาตนเอง เช่น ประสานจัดหางานในท้องถิ่น แนะนำให้ธนาคารรัฐสนับสนุนสินเชื่อเพื่อมีธุรกิจเป็นของตัวเอง หรือถ้าขาดทักษะอาชีพ จะมีการอบรมช่วยเหลือ ตลอดจนการให้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น โดยมีโครงการช่วยเหลือมากกว่า 36 โครงการ
    นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะเพิ่มวงเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จะได้รับวงเงินเพิ่มอีก 200 บาทต่อคนต่อเดือน รวมกับของเดิมที่ได้รับ 300 บาทต่อเดือน เป็นเดือนละ 500 บาท ส่วนผู้รายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี ได้รับวงเงินเพิ่ม 100 บาทเป็น 300 บาท ไปจนถึงสิ้นเดือน ธ.ค.2561 ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนที่เข้าร่วมมาตรการ เช่น รับผู้มีรายได้น้อยที่เข้าโครงการไปทำงาน หรือมาช่วยอบรมเพิ่มทักษะการทำงาน จะได้รับมาตรการพิเศษทางภาษีสามารถหักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายที่กำหนด โดยเริ่มรอบเวลาบัญชีวันที่ 1 ม.ค.2561-31 ธ.ค.2562
    นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า ต้องการให้ธนาคารออมสินเร่งเตรียมความพร้อมเรื่องจัดหาผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (เอโอ) หรือหมอประชารัฐสุขใจ เพื่อให้เริ่มทำงานได้ตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป โดยกลุ่มหมอประชารัฐจะต้องลงพื้นที่ไปสำรวจสภาพความต้องการ สภาพปัญหา และให้คำแนะนำแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถวิเคราะห์การให้ความช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรายบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปีนี้รัฐบาลช่วยผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐทั้ง 11.4 ล้านคน ให้หลุดพ้นจากความยากจนได้ไม่น้อยกว่า 25% หรือ 2.85 ล้านคน
    นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ได้เตรียมว่าจ้างนักศึกษาปริญญาตรีราว 2,000 คน มาอบรมเป็นผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารได้เห็นชอบโครงการสินเชื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่จะเริ่มให้ยื่นขอสินเชื่อได้ตั้งแต่ 1 ก.พ.2561 โดยมีเป้าหมายช่วยคนหลุดพ้นความยากจนได้ไม่น้อยกว่า 1 ล้านราย ภายในปี 2563
    ทางด้าน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ว่าปี 2561 จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงประเทศในทุกด้าน และการช่วยเหลือประชาชนในระดับฐานราก สำหรับโครงสร้างของคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการอำนวยการระดับชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน   และ รมว.มหาดไทย เป็นเลขานุการ 2.คณะกรรมการขับเคลื่อนระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน 3.คณะกรรมการขับเคลื่อนระดับอำเภอ มีนายอำเภอเป็นประธาน 4.ทีมขับเคลื่อนการพัฒนาระดับตำบล มีข้าราชการและหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ปราชญ์ชาวบ้าน และจิตอาสาเราทำความดีด้วยหัวใจ เป็นคณะทำงาน 5.คณะกรรมการขับเคลื่อนระดับกรุงเทพมหานคร เขต และชุมชน 
    "นายกฯ ระบุว่าปัญหาและอุปสรรคที่กรรมการทุกระดับจะลงไปแก้ไขนั้นครอบคลุมทุกมิติ เช่น ปัญหาปากท้อง การเกษตร ฯลฯ โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ 11.4 ล้านคน เมื่อแต่ละจังหวัดรู้ว่าตนเองมีศักยภาพหรือปัญหาเรื่องใดแล้ว รัฐบาลจะส่งทีมงานลงไปเพื่อทำงานร่วมกับกรรมการระดับต่างๆ เพื่อร่วมกันวางแผนพัฒนาแก้ไขปัญหา จัดสรรงบประมาณตามความจำเป็น การขับเคลื่อนของแต่ละจังหวัดจะสอดคล้องกับการลงพื้นที่ของนายกฯ เพื่อให้เห็นปัญหาที่แท้จริงและเก็บรวบรวมข้อมูลไปพัฒนาอย่างตรงจุด โดยจะเน้นการทำงานแบบประชารัฐที่ภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย และประชาชน เข้ามาร่วมกัน ซึ่งคณะทำงานในพื้นที่มีถึง 7,463 ทีม" พล.ท.สรรเสริญระบุ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงมหาดไทย โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน ได้วางกรอบกำหนดการประชุมมอบนโยบาย และแนวทางปฏิบัติของคณะกรรมการฯ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอทั่วประเทศ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 7-13 ก.พ.นี้ จากนั้นระหว่างวันที่ 14-23 ก.พ.นี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล จะประชุมร่วมเพื่อถ่ายทอดการปฏิบัติงานร่วมกัน
    ขณะที่ในช่วงวันที่ 1 มี.ค.-20 พ.ค. จะเป็นการลงพื้นที่ปฏิบัติงานใน 81,064 หมู่บ้านและชุมชน แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ 1.วันที่ 1-20 มี.ค. วิเคราะห์ปัญหาความเดือดร้อน เยี่ยมเยียนรายครัวเรือน หรือบุคคล ค้นหาความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อจัดทำโครงการเสนอ 2.วันที่ 21 มี.ค.-10 เม.ย. สร้างการรับรู้และปฏิบัติตามสัญญาประชาคม 3.วันที่ 11 เม.ย.-30 เม.ย. สร้างการรับรู้ ปรับความคิด เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนารอบที่ 1 4.วันที่ 1 พ.ค.-20 พ.ค. สร้างการรับรู้ ปรับความคิด เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนารอบที่ 2
    โดยการดำเนินการทั้ง 4 ระยะนี้ จะเริ่มจากคณะกรรมการอำนวยการฯ ที่เป็นระดับนโยบาย ถ่ายทอดลงมาสู่คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ชุมชน รวมทั้งหมด 7,463 ทีม บูรณาการกันทุกกระทรวง ทบวง กรม ภาคเอกชน ภาคประชาชน รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ รมว.มหาดไทยยังได้วางกรอบระยะเวลาเตรียมเสนอให้นายกฯ ตัดสินใจเพื่อเดินทางลงพื้นที่ไปขับเคลื่อนตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ทุกสัปดาห์ทั่วประเทศ ให้ครบทั้ง 18 กลุ่มจังหวัด โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ.-21 มิ.ย. มีรายละเอียดดังนี้ 8 ก.พ. ลงพื้นที่จังหวัดเลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี และบึงกาฬ, 15ก.พ. สกลนคร นครพนม มุกดาหาร, 22 ก.พ. ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด, 8 มี.ค. อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร, 15 มี.ค. เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน, 22 มี.ค. เชียงราย พะเยา น่าน แพร่, 29 มี.ค. พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์, 5 เม.ย. พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชัยนาท ลพบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี, 11 เม.ย. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ, 19 เม.ย. ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี, 26 เม.ย. เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร, 3 พ.ค. ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง, 10 พ.ค. ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด นครนายก สระแก้ว, 17 พ.ค.นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์, 24 พ.ค. นครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร พิจิตร, 7 มิ.ย. นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี ชุมพร พัทลุง, 14 มิ.ย. ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง สตูล และ 21 มิ.ย. ยะลา นราธิวาส ปัตตานี รวม 18 ครั้ง 76 จังหวัด
      นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงรายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่มีคณะทำงานลงพื้นที่ 7,463 ทีมว่า เป็นการตั้งทีมขึ้นมาเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งต่อไป โดยใช้งบประมาณและบุคลากรของราชการ แถมยังเอาจิตอาสาที่เป็นพลังบริสุทธิ์ให้เข้ามาแปดเปื้อนการเมืองด้วย อย่างไรก็ตาม การจะได้คะแนนเสียงประชาชนไม่ใช่ได้มาง่ายๆ อย่าไปคิดว่าการขยายเวลาเลือกตั้งออกไปแล้วจัดทีมลงไปหาประชาชนแล้วจะทำให้ได้เปรียบ แบบนี้คิดง่ายเกินไป พวกตนที่เป็นผู้แทนราษฎร กว่าประชาชนจะเลือกมา ต้องใช้เวลาลงไปคลุกคลีกับประชาชนเหมือนญาติพี่น้อง ซึ่งตรงนี้พวกท่านคงไม่เข้าใจ.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"