ชงกม.สื่อดูแลกันเองเข้มข้น


เพิ่มเพื่อน    

 

กฎหมายคุมสื่อถึงมือ “ประยุทธ์” แล้ว   จิรชัยโละทิ้งข้อเสนอชุด “คณิต” เกลี้ยง ชงให้สื่อคุมกันเองแบบเข้มข้น มี 9 อรหันต์นั่งสภาวิชาชีพ พร้อมตีเส้นมาตรฐานกลางด้านจริยธรรม พ่วงข้อเสนอปรับแก้ทั้งระบบตั้งแต่ “กสทช.-อวกาศ” ยันทีวีรัฐ 

    มีรายงานแจ้งว่า นายจิรชัย มูลทองโร่ย อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ส่งแผนปฏิรูปสื่อฯ ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้วเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาทั้งสิ้น 50 หน้า 
    โดยแผนปฏิรูปสื่อฯ ดังกล่าว ได้รายงานสถานการณ์และแนวโน้มของสื่อว่า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและทางเทคโนโลยีที่รุนแรง ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสื่อโดยรวม โดยเฉพาะการเข้ามาของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สมาร์ททีวี และโทรทัศน์ดิจิตอล รวมถึงผู้ให้บริการทั้ง Facebook Youtube Line และ Twitter ซึ่งนอกจากเพิ่มช่องทางการติดต่อและรับข้อมูลข่าวสารของผู้บริโภคแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการสื่อสารมวลชนที่ต้องแข่งขัน ทั้งในแง่ของคุณภาพของเนื้อหาสาระ ต้นทุนและรายได้ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงบทบาทของผู้บริโภคสื่อกลายเป็นผู้ผลิตสื่อ 
“จริยธรรมในการทำหน้าที่ในบางกรณีสื่อยังขาดจริยธรรม ทำให้มีการเสนอข่าวสารที่ไม่เหมาะสม มากกว่าการนำเสนอข่าวสารที่เป็นประโยชน์สำหรับสาธารณชน ในขณะเดียวกัน เรื่องความรู้เท่าทันสื่อ ประชาชนผู้เสพสื่อยังไม่อาจแยกแยะคุณภาพของสื่อ ยังไม่เข้าใจจริยธรรมของสื่อ ทำให้มีประชาชนจำนวนมากสนับสนุนสื่อที่ไม่มีมาตรฐานด้านคุณภาพ การแก้ไขสื่อให้ทำงานอย่างมีคุณภาพเป็นเรื่องที่ยาก เพราะสื่อจะนำเสนอเรื่องราวข่าวสารที่ประชานิยมที่จะเสพ นอกจากนี้ ข้อมูลและข่าวสารที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นข้อมูลข่าวสารที่เป็นโทษ หรือไม่เป็นประโยชน์ อาทิ ข่าวลวง และข่าวปลอม” แผนปฏิรูปได้วิเคราะห์สถานสื่อไว้
ทั้งนี้ แผนปฏิรูปสื่อฯ ยังได้จำแนกประเด็นต่างๆ ที่ต้องปฏิรูปไว้ด้วย โดยเรื่องแรกคือการปฏิรูปการรู้เท่าทันสื่อของประชาชน โดยมีกรอบเวลากำหนดไว้ ซึ่งในช่วง 1-2 ปี จะรณรงค์สื่อสารมวลชนและบนสื่อดิจิทัลในรูปแบบของการประชาสัมพันธ์ด้วยวิธีหลากหลาย โดยเฉพาะการใช้คนดัง (Celebrities) ในแวดวงบันเทิงและกีฬาเป็นผู้นำเสนอ รวมทั้งจัดสัมมนาเรื่องการรู้เท่าทันสื่ออย่างต่อเนื่อง ส่วนระยะ 3-5 ปี หรือในปี 2562 จะบรรจุการรู้เท่าทันสื่อให้อยู่ในหลักสูตรการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า และเป็นวิชาพื้นฐานระดับอุดมศึกษา
สำหรับประเด็นที่ 2 เป็นแนวทางการส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อ โดยในปี 2561 จะจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนให้มีผลบังคับใช้ และในปี 2562 จะมีการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนตามกฎหมาย, จัดตั้งสำนักงานของสภาวิชาชีพสื่อมวลชน, องค์กรวิชาชีพสื่อจดแจ้งเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพสื่อมวลชนไม่น้อยกว่า 10 องค์กร, ตั้งคณะกรรมการจริยธรรมในสภาวิชาชีพสื่อมวลชน และจัดทำมาตรฐานกลางทางด้านจริยธรรมของวิชาชีพสื่อ
แผนปฏิรูปสื่อฯ ยังได้ชี้แจงรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมว่า มุ่งเน้นพัฒนาระบบการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนวิชาชีพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยยังคงรักษาหลักการกำกับดูแลกันเอง แต่จะเพิ่มมาตรการในการกำกับดูแลกันเองให้เข้มข้นขึ้น โดยให้องค์กรสื่อมวลชนทุกแขนงแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนด้านจริยธรรมภายในองค์กร (Media Ombudsman) ไม่ว่าองค์กรสื่อมวลชนนั้นจะถูกกำกับดูแลโดยตรงจากองค์กรวิชาสื่อที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายหรือไม่ก็ตาม นอกจากนี้ยังให้เพิ่มมาตรการลงโทษองค์กรสื่อมวลชนที่ไม่ปฏิบัติตามมติขององค์กรวิชาชีพที่สังกัด หรือองค์กรวิชาชีพสื่อที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายแล้วแต่กรณีด้วย
ส่วนเรื่องคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้มี 9 คน โดยกรรมการจะเป็นสมาชิกคัดเลือกกันเองจากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งสรรหาจากผู้เชี่ยวชาญด้านนิเทศศาสตร์ ด้านกฎหมาย ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและด้านสิทธิมนุษยชน ด้านละ 1 คน โดยคณะกรรมการจะมีหน้าที่ 1.กำหนดมาตรฐานกลางของจริยธรรมที่เป็นที่ยอมรับ 2.ส่งเสริมจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนให้แก่สมาชิก 3.ส่งเสริมการรวมกลุ่มและการกำกับดูแลกันเองขององค์กรสื่อมวลชนและองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน 4.พิจารณาเรื่องร้องเรียน 5.พิจารณา ตักเตือน ปรับ หรือแก้ไขข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อเสนอแนะขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน และ 6.กำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์และวิธีการในเรื่องต่างๆ ตามที่กำหนดในร่าง พ.ร.บ.นี้
“ร่าง พ.ร.บ.ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชน แต่งตั้งโดยคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อทำหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องเรียนองค์กรสื่อมวลชนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่ง แล้วส่งให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนวินิจฉัยต่อไปด้วย” แผนปฏิรูปสื่อฯ ระบุไว้ รวมทั้งยังได้ลงรายละเอียดในเรื่องมาตรฐานกลางทางด้านจริยธรรมของวิชาชีพสื่อไว้อย่างละเอียดไล่ตั้งแต่การนำเสนอข่าว และภาพข่าวถึง 30 ข้อด้วย
เรื่องที่ 3 เป็นเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่... พ.ศ.... โดยให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนวิธีการประมูลคลื่นความถี่ รวมถึงปรับปรุงการบริหารจัดการโทรทัศน์ที่เป็นของรัฐ เช่น สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT), องค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงเพื่อสาธารณะ (Thai PBS), บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) (MCOT), สถานีโทรทัศน์รัฐสภา และสถานีโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.5) 
สำหรับเรื่องที่ 4 เป็นเรื่องการปฏิรูปแนวทางการกำกับดูแลสื่อออนไลน์ โดยจะมีการจัดตั้งส่วนงานหรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการประสานงานกับผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ในและต่างประเทศ ให้มีลักษณะ Official Point of Contact เพียงหน่วยงานเดียว รวมทั้งปฏิรูปการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย โดยจะผลักดันให้เกิดการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ให้ครอบคลุมการใช้สื่อออนไลน์ รวมถึงการลงทะเบียนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือระบบเติมเงิน
เรื่องที่ 5 เป็นการปฏิรูปการบริหารจัดการความปลอดภัยไซเบอร์/กิจการอวกาศ และระบบและเครื่องมือด้านการสื่อสารมวลชนและโทรคมนาคมเพื่อสนับสนุนภารกิจการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยฯ โดยในปี 2561 จะผลักดัน พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ พ.ศ..... และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ..... ออกมาใช้บังคับ ส่วนในปี 2562 จัดทำแผนเตรียมความพร้อมหรือประเมินความเสี่ยงด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในระดับอุตสาหกรรม หรือระดับหน่วยงานที่เป็นเจ้าของหรือมีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญด้านสารสนเทศของประเทศ รวมถึงการผลักดันให้มี พ.ร.บ.ว่าด้วยดาวเทียมสื่อสารและการดำเนินกิจการในอวกาศ พ.ศ..... และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานทำหน้าที่ด้านอวกาศแห่งชาติ
    สำหรับประเด็นสุดท้าย เรื่องที่ 6 เป็นการปฏิรูประบบการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารภาครัฐนั้น มีแผนจัดตั้งระบบคลังข้อมูลข่าวสารความรู้อัจฉริยะ รวมถึงการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการวางจัดระบบการเชื่อมโยงช่องทางการร้องเรียนด้วย
    เป็นที่น่าสังเกตว่า แผนปฏิรูปสื่อฯ ของนายจิรชัยนั้น ได้ตัดร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองเสรีภาพ ส่ง
เสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ....ที่ พล.อ.อ.คณิต สว่างเนตร สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นประธานเคยเสนอไว้ และถูกต่อต้านจากสื่อมวลชนอย่างมากออกไปเลย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"