ความสุขและภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของการเดินทางครั้งใหม่ของผมเพื่อทำหน้าที่สื่อยุค "โลกป่วน" ด้วยความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและหนักหน่วง คือการได้สัมผัสอย่างใกล้ชิดกับคนธรรมดาๆ ที่ยิ่งใหญ่ในเกือบทุกหัวระแหงของชนบท
การไปตั้งวงสนทนาซักถามแลกเปลี่ยนกับผู้คนที่ไม่อยู่ในเส้นทางของสื่อกระแสหลัก ทำให้ผมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสลัดความคิดความเข้าใจเดิมๆ ของสังคมไทยได้มากโข
จิตวิญญาณของความเป็นนักข่าวที่เคยถามเพื่อเอาคำตอบที่เป็น "พาดหัว" แปรเปลี่ยนเป็นการตั้งคำถามเพื่อทำความเข้าใจและร่วมคิดร่วมอ่านเพื่อหาทางออก และสร้างความเชื่อมโยงกับส่วนอื่นๆ ของสังคม
ทุกคนที่ผมชวนคุยในการเดินทางเพื่อทำรายการ Thailand Live ฟังเสียงประเทศไทย คำตอบอยู่ในหมู่บ้านร่วมกับ ThaiPBS ล้วนเป็นครูที่ให้ความรู้ที่ทำให้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและการทำหน้าที่เป็นสื่อที่มิเพียง "หาข่าว" แต่ยังต้องพยายาม "สังเคราะห์ข่าว" เพื่อนำไปสู่การค้นหาแนวทางการแก้ปัญหาชนบทในรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและจิตวิญญาณของชุมชนที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ
"ครู" ของผมบนเส้นทางการสัญจรทั่วทุกภาคของประเทศมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น
ชาวนาข้าวนครสวรรค์
ชาวนาเกลือสมุทรสงคราม
คนหาปลาแม่น้ำโขงที่โขงเจียม
คนจับปลาอ่าวไทยที่เพชรบุรี
คนเก็บบัวที่ศรีบุญเรือง ขอนแก่น
แม่ค้าสับปะรดที่ประจวบฯ
คนขายน้ำเต้าหู้ที่เชียงราย
และอื่นๆ อีกมากมาย
ผมเจอแม่ค้าในตลาดที่มีอายุกว่า 70 ปีที่ยังตื่นเช้ามาขายของในตลาด "เพราะชีวิตต้องสู้ เรายอมแพ้ไม่ได้"
ผมพบแม่ค้าขายผักริมถนนที่บอกผมว่า "ฉันอยู่คนเดียว ผัวตาย ลูกตาย ไม่มีใคร แต่เอาผักมาขายตอนเช้าทุกวัน ชีวิตหยุดไม่ได้"
ผมพบคนหาปลาแม่น้ำโขงที่บอกว่า "ผมอาจเป็นชาวประมงรุ่นสุดท้ายในย่านนี้เพราะปลาค่อยๆ หมดไป แต่เราไม่มีทางเลือกอย่างอื่น ต้องออกหาปลาทุกวัน"
ผมเจอชาวนาเกลือที่ยืนยันว่าแม้จะถูกอุตสาหกรรมรุกที่และสภาพอากาศแปรเปลี่ยนอย่างหนัก "เราก็ยังรอแสงแดดด้วยความหวังทุกวัน"
ผมเจอแม่ค้าขายปลาในตลาดที่บอกว่าเธอทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอด "ถ้ารายได้ลด เราก็ปรับค่าใช้จ่าย ถ้าเราขยัน ไม่ขี้เกียจ ยังไงๆ ก็รอด"
ผมรับรู้ถึงปัญหาของนายทุนที่เข้าไปรุกรานคนจน ระบบราชการล้าสมัย กฎหมายคร่ำครึ และความเหลื่อมล้ำที่ยังคุกคามวิถีชีวิตของคนห่างไกลเมืองหลวง
การเป็นคนข่าวยุคดิจิทัลหมายถึงการใช้เทคโนโลยีสื่อสารผ่านมือถือได้ทุกหนทุกแห่งทุกเวลา
หมายถึงการทำหน้าที่รับใช้เป็น "ลำโพง" ให้เสียงจากหมู่บ้านห่างไกลปืนเที่ยงเพื่อปลุกให้สังคมส่วนอื่นๆ ตื่นขึ้นมา "ตระหนักและตระหนก" กับปัญหาเรื้อรังรุนแรงซ้ำซากและบานปลายกลายเป็นปัญหาใหม่ๆ ที่ส่วนกลางและผู้รับผิดชอบคาดเดาไม่ถูกและคิดไม่ถึง
การทำหน้าที่สื่อที่รับผิดชอบหมายถึง การเป็นกระบอกเสียงให้คนเล็กๆ ในซอกหลืบทั่วประเทศได้ส่งเสียงดังๆ ให้ได้ยินกันทั่ว โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการ "ตัดต่อปรับแก้" เพื่อนำเสนอผ่านสื่อดั้งเดิมที่มีข้อจำกัดทั้งเวลา ทรัพยากรมนุษย์ และวิธีคิดประเด็นข่าวแบบเดิมๆ
การเดินทางครั้งใหม่ของผมเพิ่งเริ่มต้น...แต่ผมมีความหวังที่จะก้าวเดินอย่างมุ่งมั่นสู่แสงแห่งความหวัง ผ่านคนทำสื่ออิสระที่ยึดมั่นความเป็นมืออาชีพและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมแห่งวิชาชีพมารับใช้ประโยชน์แห่งสาธารณะอย่างแท้จริง
เพราะท้ายที่สุด "วาระแห่งชาติ" ของประเทศไทยจะก้าวไปสู่สังคมแห่งความเท่าเทียม อิสระ และภาคภูมิใจร่วมกันได้ ก็ต่อเมื่อเสียงคนธรรมดาๆ จากทุกมุมของประเทศได้รับการสะท้อนดังก้องไปทั่ว....จนเกิดความสำนึกร่วมแห่งความเป็นสังคมแบ่งปันความสุข ด้วยความเสมอภาคและเคารพในความแตกต่างและชื่นชมในความหลากหลายเท่านั้น!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |