โพลชี้ปชช.อยากเลือกตั้ง/ปูดโมเดลฮ่องกงป่วน


เพิ่มเพื่อน    

  สวนดุสิตโพลเผย ปชช.ส่วนใหญ่อยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ไม่อยากให้เลื่อนอีก เหตุเลื่อนมาหลายครั้งแล้ว หวั่นกระทบต่อ ศก.และภาพลักษณ์เป็นการสืบทอดอำนาจ "ไพศาล" ปูดเตรียมป่วนเมืองเดือน ก.พ. ผู้บงการเดียวกับที่ฮ่องกง "สุริยะใส" หวั่นขยายวงลุกลามในวงกว้าง ด้าน "ศรีสุวรรณ" จ่อยื่น สตง.สอบ 314 สนช.ใช้อำนาจขัด รธน.เอื้อตนเองนั่งกินเงินเดือนต่อ ปชป.บี้ คสช.เลิกใช้เล่ห์เพทุบายปล่อยให้ กม.เดินปกติ ผวา พ.ร.ป.ส.ว.หมกเม็ดเปิดช่องยื้อโรดแมปอีก ขณะที่ กรธ.หวั่นแยกประเภทผู้สมัคร ส.ว.ขัด รธน. นัดหารือ 30 ม.ค.นี้ 

            เมื่อวันอาทิตย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ประชาชนคิดอย่างไร กรณีเลื่อนเวลาเลือกตั้ง ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติให้แก้ไขมาตรา 2 จึงต้องขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ออกไป 90 วัน ส่งผลให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป และอาจจะมีขึ้นในช่วงต้นปี 2562 โดยได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 1,341 คน ระหว่างวันที่ 24-27 มกราคม 2561 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 48.27% อยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย, 27.81% ระบุว่าถ้าเลื่อนการเลือกตั้งแล้วส่งผลดี ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ก็ยอมรับได้ ส่วน 26.07% กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ เป็นการสืบทอดอำนาจ        เมื่อถามว่า ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่หากต้องเลื่อนเลือกตั้งออกไป ประชาชนส่วนใหญ่ 47.05% ระบุว่าไม่เห็นด้วย เพราะอยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เลื่อนมาหลายครั้งแล้ว กระทบต่อเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ประเทศ ฯลฯ ขณะที่ 32.44% ระบุเฉยๆเพราะเลือกตั้งช้าหรือเร็วก็ได้พรรคการเมืองเดิมๆ การเมืองไม่เปลี่ยนแปลง นักการเมืองเห็นแก่อำนาจและผลประโยชน์ ฯลฯ ส่วน 20.51% เห็นด้วย เพราะ สถานการณ์ยังไม่แน่นอน ยังมีความขัดแย้ง มีปัญหา ระยะเวลาที่เลื่อนออกไปไม่มาก ควรทำตามขั้นตอน ฯลฯ  
    ถามว่าผิดหวังกับการเลื่อนเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ ประชาชน 39.97% เฉยๆ เพราะรัฐบาลยังสามารถควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองได้ดี บ้านเมืองสงบ ขณะที่ 37.14% ผิดหวัง เพราะอยากเลือกตั้ง อยากได้นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง อยากให้บ้านเมืองสงบเป็นประชาธิปไตย ส่วน 22.89% ไม่ผิดหวัง เพราะ คาดว่าน่าจะเลื่อนอยู่แล้ว กฎหมายยังไม่แล้วเสร็จ การเลือกตั้งอาจไม่ช่วยแก้ปัญหาของประเทศได้ ฯลฯ   
    ส่วนกรณีเลื่อนการเลือกตั้งทำให้ความนิยมที่มีต่อรัฐบาลเป็นอย่างไร ประชาชน 56.22% ระบุ เหมือนเดิม, 39.45% ระบุลดลง, 4.33% ระบุเพิ่มขึ้น  และถ้ามีการเลื่อนการเลือกตั้ง ประชาชน 36.87% ระบุบรรยากาศกาศเมืองยังมีการทะเลาะเบาะแว้ง โจมตีกันไปมา, 35.19% ระบุอาจมีกลุ่มที่ไม่พอใจออกมาเคลื่อนไหว วิพากษ์วิจารณ์กดดันรัฐบาล, 34.68% ระบุรัฐบาลยังบริหารประเทศต่อไปอยู่ภายใต้มาตรา 44      
    นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง อนาคตประเทศ กับ คุณภาพนักการเมือง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ 1,299 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10-27 มกราคม พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.9 ยังมองไม่เห็นชัดเจนในอนาคตของประเทศ ในขณะที่ร้อยละ 35.0 เห็นชัดเจนแล้ว และร้อยละ 4.1 ไม่แน่ใจ และเมื่อถามถึงความชัดเจนของความขัดแย้งเดิมๆ จากนักการเมือง พบว่า ร้อยละ 67.1 ระบุเห็นชัดเจน, ร้อยละ 29.9 ระบุไม่ชัดเจน 
    เมื่อถามต่อว่า คุณภาพนักการเมืองปัจจุบันกับความสุขของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.0 ระบุคุณภาพนักการเมืองทำให้มีความสุขน้อยถึงไม่สุขเลย ในขณะที่ร้อยละ 30.8 ระบุทำให้สุขปานกลาง และร้อยละ 11.2 ระบุคุณภาพนักการเมืองปัจจุบันทำให้สุขมาก ถึงมากที่สุด  
    ที่น่าพิจารณาเมื่อถามถึงเงินในกระเป๋ากับสภาพคล่องของผู้ตอบแบบสอบถามในช่วงยุคนักการเมืองเป็นรัฐบาล พบว่า ร้อยละ 21.7 ระบุมีมากกว่า ในขณะที่ร้อยละ 29.4 ระบุมีน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม จำนวนมากเกือบครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 48.9 ระบุไม่แตกต่างกันกับยุคนี้
    ด้าน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีสวนดุสิตโพลเผยผลสำรวจว่าประชาชนส่วนใหญ่คัดค้านการเลื่อนเลือกตั้ง เนื่องจากมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล คสช.ว่า โพลก็คือโพล ปัจจุบันโพลมีหลายสำนัก ซึ่งแต่ละสำนักไม่ค่อยตรงกัน ยืนยันว่ารัฐบาลฟังเสียงทุกเสียง และรับรู้รับทราบเสียงจากสังคมตามที่โพลสำรวจความคิดเห็น การเลื่อนหรือไม่เลื่อนเลือกตั้งไม่เกี่ยวกับรัฐบาลและ คสช.เสียทีเดียว แต่เป็นการปฏิบัติตามข้อกฎหมาย ระเบียบและหลักเกณฑ์ของสนช.
ปูดเดือน ก.พ.ป่วนเมือง
     นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) แสดงความเห็นผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ตรวจแนวรบเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ข่าวคราวการเตรียมป่วนเมือง ชัดเจนขึ้นโดยลำดับ จะเริ่มต้นจากราชดำเนินและอาจจะลุกลามขยายตัวเป็นแบบเดียวกับการป่วนในฮ่องกง ในช่วงสามปีกว่าที่ผ่านมา เบื้องหลังก็คือผู้บงการเดียวกันกับม็อบป่วนฮ่องกง แว่วว่ามีศูนย์กลางอยู่แถวหลังสวน รัฐบาล คสช.และประชาชนในวันนี้รู้เช่นเห็นชาติการป่วนบ้านเผาเมืองมาแล้วคงจะรับมือได้ไม่ยากไม่ลำบาก สำหรับประชาชนเตรียมรับมือกับการเผาเมืองให้ดี อย่าให้เกิดซ้ำได้ ชี้ขาดอยู่ที่กองหนุนและสติปัญญาในการมองปัญหาที่จะทำให้ รัฐบาลทหารในอดีตเข้มแข็งก็จริง แต่อ่อนเปราะ ไม่เคยรับม็อบได้เกิน 15 วัน และถ้าเป็นม็อบกองหน้าของต่างชาติ จะรับได้สักกี่วัน?
    พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สมาชิก สนช. กล่าวถึงกระแสคัดค้านการแก้ไขร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. 90 วันว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เป็นเรื่องธรรมดาของสังคม ตนเข้าใจแต่ละฝ่ายที่ออกมาแสดงความเห็นหรือแสดงออกนั้นต้องทำไปตามบทบาทหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมือง หรือฝ่ายนักศึกษาที่ทำหน้าที่ในฐานะภาคประชาสังคม แต่ก็ต้องคำนึงถึงและดำเนินการตามกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ ไม่ใช้ความรุนแรงหรือวุ่นวายจนไปกระทบสิทธิหรือรบกวนความเป็นอยู่อย่างปกติสุขของผู้อื่น การแก้ไขพ.ร.ป.นั้น สนช.ให้ความสำคัญในแง่การชดเชยให้พรรคการเมืองที่ติดล็อกตามคำสั่ง คสช.ได้มีเวลาทำกิจกรรม ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการเลือกตั้ง โรดแมปไม่ได้ตายตัว สามารถยืดหยุ่นได้ เป็นการแก้เพื่อให้พรรคสามารถทำตามขั้นตอนได้ 
    นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในอดีตที่มีการยึดอำนาจทุกครั้งจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และทุกฉบับจะเขียนไว้เสมอว่า ต้องเลือกตั้งภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ทุกครั้งที่ผ่านมาจึงเลือกตั้งเร็ว ครั้งนี้พบว่าไม่เหมือนกัน เพราะไม่มีการกำหนดกรอบเวลาที่ตายตัว และยังสามารถขยายเวลาไปได้เรื่อยๆ และทุกครั้งเมื่อมีการประกาศรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับชั่วคราวจะสิ้นสภาพไปพร้อมกับมาตรา 44 แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มาตรา 44 ยังอยู่ ไม่เคยมีแบบนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์ เท่ากับไม่ใช่การเลือกตั้งด้วยตัวของมันเอง เพราะตราบใดยังไม่มี ครม.ชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง ตราบนั้น มาตรา 44 ยังคงอยู่ไปเรื่อย ๆ เมื่อขยายเวลาออกไปไม่ใช่เรื่องดีเท่ากับประเทศไทยยังกลับสู่สภาวะปกติไม่ได้ ถ้าขยายเวลาครั้งนี้ได้ก็จะขยายได้อีก และคราวนี้จะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของนายกฯ ให้ลดลง 
    นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า ประเด็นเลื่อนเลือกตั้งจะกลายเป็นประเด็นอ่อนไหวทางการเมืองที่อาจลุกลามขยายผลได้ในวงกว้าง แม้ คสช.จะพยายามออกมาดับกระแสว่าเป็นการเลื่อนครั้งสุดท้าย แต่ที่ผ่านมามีการใช้เทคนิคทางกฎหมายเลื่อนมาแล้ว 4 ครั้ง จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้สังคมเชื่อใจว่าจะไม่เลื่อนอีกแล้ว คสช.จะฟื้นความเชื่อมั่นกลับมาได้หรือไม่ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ น่าเสียดายที่ผ่านมา คสช.ไม่ได้ปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม มาวันนี้ผลงานปฏิรูปที่ไม่โดดเด่นพอ ทำให้กองหนุนหายไปมาก และก็น่าเป็นห่วงหลายพรรคกดดันเลือกตั้ง โจมตี คสช.ว่าไม่ปฏิรูป แต่พรรคเหล่านี้ตอนมีอำนาจก็ไม่ปฏิรูปอะไรเหมือนกัน จนทำให้ประชาชนบางส่วนอาจจะยังไม่มั่นใจในการเลือกตั้งก็มี 
ยื่น สตง.ฟัน 314 สนช.
    ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่ สนช.ได้ผ่านร่างกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. โดยได้กำหนดให้มีการเลื่อนการบังคับใช้ออกไป 90 วัน จะทำให้ สนช.ได้รับประโยชน์จากเงินประจำตำแหน่งและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นอีกคนละ 1-2 แสนบาทต่อเดือน ต่อไปอีกมากกว่า 3-4 เดือน หรือจนกว่าจะมีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก หลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 263 ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติเสียหายจากระบบการเงินการคลังอีกกว่า 100 ล้านบาท สนช.ทั้ง 213 คนจงใจใช้อำนาจไปในทางเอื้อประโยชน์ให้กับ คสช.และตนเอง อันเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่ และจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายหลายประการ หรืออาจทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม เพราะอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองใหม่บางพรรคที่ส่อไปในทางสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ให้เป็นนายกฯ คนต่อไปด้วย 
    สมาคมจึงจะนำความไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน/ผู้ว่าฯ สตง. เพื่อดำเนินการตรวจสอบร่วมกับ ป.ป.ช. และ กกต. เพื่อลงโทษ 231 สนช.ดังกล่าว ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 244 และ 245 บัญญัติไว้ โดยสมาคมจะเดินทางไปยื่นคำร้องในวันจันทร์ที่ 29 ม.ค.2561 เวลา 10.30 น. ณ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน 
     ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คำกล่าวอ้างของ สนช.เพื่อขยายเวลา มาจากคำสั่งที่ 53/2560 ซึ่งเป็นคำสั่งที่ออกโดยนายกฯ และเกรงว่าพรรคการเมืองจะดำเนินการตามกฎหมายพรรคการเมืองไม่ทันนั้น เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่า ถ้านายกฯ ไม่ออกคำสั่งที่ 53/2560 สนช.ก็จะไม่มีข้ออ้างมาขยายเวลาออกไป 90 วันได้ ถึงแม้นายกฯ จะบอกว่าไม่ได้ก้าวล่วง สนช. แต่พฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงออกก็พอจะบอกความนัยได้ว่าสมคบคิดกันหรือไม่ เมื่อใดก็ตามที่ความเชื่อมั่นเชื่อถือต่อตัวนายกฯ ลดลง ก็ย่อมทำให้ศรัทธาที่ประชาชนมีต่อนายกฯ ลดลงตามไปด้วย ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการทำงานของนายกฯ หวังว่าการใช้เล่ห์เพทุบายทางกฎหมายเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองของกลุ่มผู้มีอำนาจจะไม่เกิดขึ้นอีก ขอให้ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ทางที่ดีที่สุดคือปล่อยให้การปฏิบัติตามกฎหมายต่างๆ เป็นไปตามครรลองปกติ มิเช่นนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาจนยากที่จะแก้ไข ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียหายต่อประเทศชาติในที่สุด
    นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ยังมีปัจจัยยื้อเวลาอีกหนึ่งข้อที่จะเป็นข้ออ้างการเลื่อนและยื้อเวลาครั้งต่อไปได้อีก คือมี กรธ.ท่านหนึ่ง บอกว่าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.มีปัญหา เพราะ สนช.ไปแก้หลักการ อาทิ ประเด็นการเลือกไขว้ รวมถึงการลดจำนวนกลุ่มการเลือกกันเองจาก 20 กลุ่มให้เหลือ 10 กลุ่ม จนน่าจะมีการตั้ง กมธ.ร่วมหรือไม่ ตรงนี้พอ กมธ.หรือ สนช.ออกความเห็นแบบนี้ทีไร มักเป็นไปตามคำพูดเขาทุกครั้ง จึงคิดว่าน่าจะตั้ง กมธ.ร่วมฯ ตามคำพูดของเขา จนระยะเวลาก็ต้องยืดออกไป หากถ้ามติของ กมธ.ร่วมไม่สอดคล้องกับมติของ สนช.อีก ทีนี้ก็เป็นช่องให้ สนช.อาจคว่ำกฎหมายลูก ส.ว.ได้ จึงกลายเป็นอีกช่องทางหาเหตุในการยื้อโรดแมปออกไปอีกได้
    ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย หรือดีอาร์จี เพื่อต่อต้านการสืบอำนาจของ คสช.เมื่อวันที่ 27 ม.ค.นั้น นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า การเคลื่อนไหวอย่างนี้จะมีมากขึ้น คนที่ออกมาชุมนุมเขาคงไม่กลัว ทางออกคือ คสช.ต้องพูดให้ชัดว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์จะออกมาพูดให้ชัดในเวลานี้คงไม่ทันแล้ว ความเชื่อถือไม่มีแล้ว คนก็จะกดดันให้มีการเลือกตั้ง สถานการณ์อย่างนี้ไม่ดีสำหรับ คสช. 
    พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า น่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคใดพรรคหนึ่งที่กำลังจะตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับใครคนใดคนหนึ่ง หรือสนับสนุนนายกฯ จึงต้องดึงเวลาเพื่อเอื้อให้กับพรรคใหม่ได้มีเวลาเตรียมการต่างๆ ได้มากขึ้น แม้จะเลื่อนบังคับใช้กฎหมาย 90 วัน แต่ในระหว่างนี้คนที่เกี่ยวข้องควรเตรียมพร้อมเมื่อกฎหมายมีผลจะได้เดินหน้าจัดเลือกตั้งได้ในปี 61 โดยไม่ต้องรอให้ถึง 150 วัน หรือในเดือน ก.พ.62 หากตั้งใจจะจัดเลือกตั้งก็น่าจะทำได้ทัน ส่วนที่มีข้อสังเกตว่าอาจจะมีปัจจัยที่เหนือการควบคุมทำให้การเลือกตั้งในเดือน ก.พ.62 ต้องเลื่อนไปอีก เป็นการพูดไปเรื่อย จะพูดตามใจแป๊ะอย่างไรก็ได้ เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่เหนือการควบคุมของพรรคการเมืองที่จะไปคัดค้าน ขึ้นอยู่กับ คสช.ว่าต้องการแบบไหน
แยกผู้สัมคร สว.ขัด รธน.
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่เหนือความคาดหมาย พล.อ.ประยุทธ์จะพูดอย่างไรก็เป็นสิทธิ และประชาชนก็มีสิทธิใช้วิจารณญาณว่าจะเชื่อหรือไม่ ความจริงถ้าต้องการจะเลื่อนการเลือกตั้งหรืออยู่ในอำนาจให้นานที่สุด ควรจะชี้แจงกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา ไม่ควรลับลวงพราง วางแผนเป็นขั้นเป็นตอน ทำกันเป็นกระบวนการ เล่นปาหี่หลอกชาวบ้านหรือไม่ ซึ่งจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาลและ คสช.เอง จากนี้ไปก็ไม่มีใครรู้ว่าท่านจะมาไม้ไหนอีก ภาคประชาสังคมและกลุ่มองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศ ต่างประเทศ จะกดดัน คสช.มากขึ้น แม้แต่กองหนุนก็หดหาย กลายเป็นแนวต้านโต้กลับ สะท้อนผ่านโพลหลายสำนักว่าประชาชนต้องการการเลือกตั้ง
    ส่วนนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวว่า  เมื่อฟังคำอธิบายของนายกฯ ว่าไม่มีใบสั่ง และไม่อาจก้าวล่วง สนช.แล้ว ต้องยอมรับว่ามุกนี้สร้างอารมณ์ขันให้ประชาชนได้มากไม่แพ้คำอธิบายเรื่องนาฬิกา  เชื่อว่าในสนามเลือกตั้ง นอกจากนโยบายเรื่องปากท้องซึ่งสำคัญมากแล้ว การต่อสู้ระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตยจะเป็นกระแสสูง ใครเดินแบกป้าย คสช.เข้าหาประชาชนอย่าคิดว่าง่าย บทบาทของฝ่ายผู้มีอำนาจถ้าเอื้อฝ่ายไหนอาจเป็นกระดานหกให้คะแนนไหลไปอีกฝ่าย เข้าใจว่าที่ช้าจนต้องขยายเวลาส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะนักการเมืองที่ถูกทาบทามยังลังเลใจ ไม่มีใครกล้าประมาทประชาชน เพราะตัดสินใจผิดชีวิตเปลี่ยนได้ง่ายๆ 
    ยังมีความเห็นกรณี สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. โดย นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรธ. กล่าวว่า ไม่คิดว่า สนช.จะรื้อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวของ กรธ.มากขนาดนี้ ซึ่งอาจจะดูเหมือนไม่ค่อยสวยงาม แต่ในเนื้อหาหลายประเด็น อาทิ การลดกลุ่มอาชีพเหลือ 10 กลุ่ม และการเลือกกันเองในกลุ่มไม่ได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะในรัฐธรรมนูญเขียนเผื่อไว้อยู่แล้ว ซึ่ง กรธ.ไม่ได้ขัดข้องอะไร แต่ที่เราเป็นห่วงว่าอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญคือประเด็นเรื่องการแบ่งเป็นเภทของผู้สมัครเป็น 2 ประเภท คือแบบอิสระและตัวแทนจากองค์กร โดย กรธ.จะประชุมเพื่อหารือในวันที่ 30 ม.ค.นี้ว่าจะมีการส่งประเด็นแย้งเพื่อตั้ง กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายหรือไม่
     "ในร่างที่ กรธ.ส่งให้ สนช.พิจารณานั้น เรากำหนดการสมัครแบบอิสรเสรี ใครที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดก็สามารถมาสมัครได้ และให้คัดกรองกันเอง แต่การที่ สนช.ปรับแก้ให้แบ่งประเภทการสมัคร ส.ว.เป็น 2 ส่วน คือ 1.ประเภทที่สมัครโดยอิสระ 100 คน กับ 2.ประเภทที่ต้องได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรต่างๆ อีก 100 คน ค่อนข้างจะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเท่ากับแยก ส.ว.ออกเป็น 2 กล่อง ส่วนละ 100 คน และอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107 ว่าด้วยวิธีการเลือก ส.ว. ซึ่งจะทำให้โอกาสที่ผู้สมัครในแต่ละกลุ่มที่ต้องเลือกกันเองหายไป และอาจจะกลายเป็นลักษณะของปลาสองน้ำเหมือนวิธีการแบบเก่าที่ถูกวิจารณ์ได้" นายชาติชายกล่าว     
    นางสดศรี สัตยธรรม กล่าวกรณี สนช.ผ่านกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ให้มีมหรสพในการหาเสียงว่า  เป็นห่วงกรณีที่ร่างกฎหมายสามารถให้พรรคการเมืองจัดมหรสพ หาเสียงได้ เพราะจะทำให้เกิดความวุ่นวาย เนื่องจากทุกพรรคการเมืองจะนำมหรสพ ดนตรี เครื่องขยายเสียงมาใช้ประกอบตั้งแต่วันสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝ่ายความมั่นคงและรัฐบาลจะต้องเตรียมตั้งรับและทำให้เกิดความเรียบร้อย ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหากระทบกระทั่ง ไม่ต่างจากเวลามีคอนเสิร์ต และคนตีกัน เพราะเชื่อว่าการนำข้อบังคับเรื่องการจำกัดวงเงินไม่ได้ช่วยควบคุมได้ อีกทั้งยังจะก่อให้เกิดการซื้อเสียงแบบแอบแฝง และตรวจสอบได้ยาก เชื่อว่าจะมีปัญหาฟ้องร้องเกิดขึ้นมากมาย และส่งผลต่อการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"