5 ต.ค. 61 - ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลนัดพิจารณาครั้งแรกคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ หมายเลขดำ อม.42/2561 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวัฒนา เมืองสุข อายุ 60 ปี อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยุครัฐบาลทักษิณ 2 และแกนนำพรรคเพื่อไทย, นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตกรรมการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการปี 2548–2549, นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจก่อสร้างที่พักอาศัย, นายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่, น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง ลูกน้องคนสนิทเสี่ยเปี๋ยง, น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด, น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์ฯ, บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด โดยนายปกรณ์ อัศวีนารักษ์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน และบริษัท ซิลเวอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท ไทย เฉน หยู อินเตอร์เนชั่นแนลคอนสตรัคชั่น ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) โดยนางพิมพ์วรา รัชต์ธนโรจน์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน เป็นจำเลยที่ 1-9
ในความผิดเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มาตรา 157, ฐานเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ โดยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 11 และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91
และคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรอีกสำนวน หมายเลขดำ อม.102/2561 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอริสมันต์ หรือกี้ร์ พงษ์เรืองรอง อายุ 54 ปี อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย, บริษัท พาสทิญ่าไทย จำกัด, บริษัท นามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท พรินซิพเทค ไทย จำกัด และ น.ส.สุภาวิดา คงสุข กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน บริษัท ไทยเฉนหยูฯ เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนนายวัฒนา อดีต รมว.พม.ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจ เพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด แก่ตนเองหรือผู้อื่น และสนับสนุนนายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีต กคช. ซึ่งเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86, 91
โดยในวันนี้นายวัฒนา, นายอริสมันต์ พร้อมพวกจำเลยที่ได้รับการประกันตัวและทนายความส่วนใหญ่เดินทางมาศาล เบิกตัวนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 4 และ น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง จำเลยที่ 5 ซึ่งถูกจำคุกในคดีทุจริตโครงการระบายข้าวจีทูจีจากเรือนจำมาศาล ส่วน น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว จำเลยที่ 6,น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา จำเลยที่ 7 ในสำนวน อม.42/2561 กับ บริษัท พาสทิญ่าไทย จำกัด จำเลยที่ 2, บริษัท นามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยที่ 3 ในสำนวน อม.102/2561 ไม่มาศาล
คดีนี้อัยการสูงสุดฟ้องนายวัฒนา จำเลยที่ 1 ว่าขณะดำรงตำแหน่ง รมว.พม.ได้ร่วมมือกับจำเลยอื่นแทรกแซงการจัดซื้อจัดจ้างโครงการบ้านเอื้ออาทรไม่เป็นไปโดยชอบ ศาลอธิบายฟ้องและสอบถามจำเลยแล้ว จำเลยที่มาศาลทั้งหมดให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ไม่มาศาลให้ถือว่าให้การปฏิเสธ และอัยการได้ขอให้รวมสำนวนคดี อม.42/2561 กับ อม.102/2561 เข้าเป็นคดีเดียวกัน เนื่องจากข้อเท็จจริงพยานหลักฐานเป็นชุดเดียวกัน ศาลสอบถามจำเลยแล้ว จำเลยไม่คัดค้าน
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ในคดี อม.102/2561 จำเลยที่ 2-3 ซึ่งเป็นนิติบุคคล ได้รับหมายเรียกโดยชอบแล้วไม่มีผู้แทนมาศาล จึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ให้ออกหมายจับผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2-3 ส่วนที่โจทก์ยื่นคำร้องขอรวมสำนวนคดีเนื่องจากจำเลยมีพฤติการณ์ร่วมกัน ตามที่ได้รวบรวมพยานหลักฐานส่งต่อศาลแล้ว มีข้อเท็จจริงพยานหลักฐานเป็นชุดเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการพิจารณา อนุญาตให้รวมคดีเข้ากับสำนวน อม.42/2561
สำหรับคดี อม.42/2561 จำเลยที่ 6-7 ไม่มาศาล ถือว่าให้การปฏิเสธ อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ให้ออกหมายจับจำเลยที่ 6-7 และตามที่โจทก์ขอรวมคดีกับสำนวน อม.102/2561 เพื่อสะดวกแก่การพิจารณา อนุญาตให้รวมคดี โจทก์และจำเลยคืออัยการสูงสุดกับจำเลยที่ 1-9 โดยจำเลยที่ 1-5 ในสำนวน อม.102/2561 ให้นับเป็นจำเลยที่ 10-14 ในคดี อม.42/2561 ตามลำดับ พร้อมกำชับให้จำเลยที่จะยื่นคำให้การปฏิเสธเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ยื่นภายใน 30 วัน ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปในวันที่ 12, 15 ก.พ.2562 เวลา 9.30 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก่อสร้างแห่งใหม่ที่สนามหลวง เขตพระนคร
ทั้งนี้ ศาลได้ชี้แจงเหตุผลด้วยว่า ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 การพิจารณาลับหลังจำเลยที่หลบหนีและไม่สามารถติดตามตัวได้ต้องผ่านพ้นไปแล้ว 3 เดือน เพื่อการพิจารณาคดีจะได้ดำเนินไปพร้อมกัน จึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม วันนี้ทั้งก่อนและหลังการพิจารณาของศาลใน ทั้งนายวัฒนาและนายอริสมันต์ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใดๆ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |