ธนาคารโลกขยับจีดีพีไทยปี 2561 เพิ่มเป็น 4.5% รับอานิสงส์รัฐติดเครื่องลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ มองปัจจัยพื้นฐานไทยปึ๊กไม่สะท้านวิกฤติตลาดการเงินโลก แนะซบตลาดอาเซียน หลังมองระยะต่อไปภาพรวมส่งออกตลาดโลกส่งสัญญาณแผ่ว หนุนไทยขยายฐานภาษี-เพิ่มการออม รองรับสังคมผู้สูงวัย ชี้รัฐบาลเดินมาถูกทางปฏิรูปเศรษฐกิจ-ภาษี
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ธนาคารโลกได้ปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2561 เพิ่มเป็น 4.5% จากคาดการณ์เดิมที่ 4.1% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเร่งลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศอย่างจริงจัง ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ รวมถึงความพยายามในการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ ด้านภาษี ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเติบโต
นอกจากนี้ ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง สะท้อนจากช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจตุรกี หลายประเทศในภูมิภาคของเราได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ผันผวนน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับสูง อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ภาคการคลังอยู่ในระดับที่มั่นคง โดยมีหนี้สาธารณะเพียง 43% ของจีดีพี ไม่มากเกินไป และมีทุนสำรองระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้ไทยไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนจากปัจจัยดังกล่าว
“นโยบายการเงินและการคลังของไทยยังช่องที่จะเข้ามาสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจได้ อีกทั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารโลกมองเห็นถึงความพยายามของรัฐบาลในการเพิ่มประสิทธิภาพนโยบายด้านเศรษฐกิจมากขึ้น จากการให้ความสำคัญในการปฏิรูปด้านกฎหมาย ภาษี โดยเฉพาะการเดินหน้ากฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และกฎหมายการรับมรดก การให้ความสำคัญเรื่องการทุจริตคอรัปชัน ไปจนถึงการกำกับดูแลสถาบันการเงินของรัฐ เป็นการยกระดับประเทศ สะท้อนจากการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งประเด็นต่าง ๆ นี้ถือเป็นเรื่องดีที่ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว แต่ในระยะกลางไทยต้องมีการสร้างทุนมนุษย์เพิ่มขึ้น ปรับปรุงด้านการศึกษา ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น” นายเกียรติพงศ์ กล่าว
นายเกียรติพงศ์ กล่าวอีกว่า ธนาคารโลกได้คาดการณ์ตัวเลขจีดีพีของไทยในปี 2562 และ 2563 ว่าจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 3.9% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาพรวมการส่งออกในระยะต่อไปมีสัญญาณชะลอตัวลง ทำให้ไทยอาจต้องหันไปพึ่งพาปัจจัยสนับสนุนการเติบโตจากในประเทศมากขึ้น ขณะที่ภาพการลงทุนต่าง ๆ ของประเทศจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากเร่งตัวขึ้นอย่างมากในปีนี้จากการเร่งลงทุนของรัฐบาล
ทั้งนี้ มองว่าในระยะต่อไปตลาดการค้าโลกจะมีความผันผวนมากขึ้น แต่เชื่อว่าไทยจะมีการปรับตัวเพื่อรับมือที่ดี เพราะมีความยืดหยุ่นมากกว่าประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค จากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแรงกว่า โดยมองว่าหลังจากนี้ไทยต้องหันมาดูปัจจัยภายในประเทศเพื่อสนับสนุนการเติบโตมากขึ้น เช่น การลงทุนภาครัฐ และเอกชน ส่วนภาพการส่งออกที่อาจชะลอตัวลงนั้น ก็ควรหันไปพึ่งพาตลาดอาเซียนเป็นการทดแทนการค้าโลกที่ส่งสัญญาณไม่ดีนัก
นอกจากนี้ มองว่า ไทยยังจะเป็นต้องขยายฐานภาษีให้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก และภาษีที่ดิน รวมถึงการดึงกลุ่มที่อยู่นอกระบบเข้ามาในระบบให้ครอบคลุมมากขึ้น เพราะฐานภาษีที่ต่ำนี้อาจไม่เพียงพอรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ขณะที่การออมของประชากรก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่เพียงพอ
“ฐานภาษีของไทยโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นการขยายฐานภาษีให้ได้จึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยมองว่าหลังจากนี้ไทยอาจต้องให้ความสำคัญเรื่องการออมและการขยายฐานภาษี เพื่อนำเงินไปใช้ในกองทุนต่าง ๆ ที่ดูแลด้านสุขภาพ และรองรับสังคมผู้สูงวัยมากขึ้น และเชื่อว่าความพยายามในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจของไทย จะทำให้ไทยหลุดพ้นเส้นประเทศรายได้ปานกลางเร็วขึ้น จากคาดการณ์เดิมที่ 20-22 ปี” นายเกียรติพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ รายงานเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกฉบับล่าสุดของธนาคารโลก ระบุว่า ภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้ยังคงเป็นบวก แม้ปัจจัยแวดล้อมภายนอกจะไม่เอื้อต่อการเติบโต โดยธนาคารโลกคาดว่าในปี 2561 เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาจะเติบโตได้ที่ 6.3 ส่วนเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ไม่รวมจีน จะเติบโตคงที่ที่ระดับ 5.3% ในปี 2561-2563
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |