“สามมิตร” ยันแล้วซบ “พลังประชารัฐ” “สมศักดิ์-สุริยะ” เตรียมขน 30 อดีต ส.ส.และยังบลัด 40 ชีวิตเข้าร่วม “อุตตม” อ้าแขนรับ แต่รอ กกต.ไฟเขียวจดตั้งพรรคก่อน ประวิตรปัดทิ้งเรียงหินขอเคลียร์พื้นที่ ส.ส.ทับซ้อน เผยไม่เกี่ยวข้อง พปชร. “4 รมต.” ตอกย้ำถึงเวลาไขก๊อกแน่ รีบพาสื่อชมห้องสู้กระแสเก็บของ ลั่นมีงานรอสางอีกเยอะ “กกต.” จ่อถกเผือกร้อนรัฐมนตรีพลังประชารัฐ เล็งคลอดแนวทางป้องกันซ้ำรอยในอนาคต
เมื่อวันพฤหัสบดี เริ่มมีความชัดเจนระดับหนึ่งในท่าทีทางการเมืองของกลุ่มสามมิตร โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกกลุ่มสามมิตร ให้สัมภาษณ์ว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำกลุ่มสามมิตร ยืนยันชัดเจนแล้วว่ากลุ่มสามมิตรจะไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เนื่องจากเห็นว่า พปชร.เป็นทางเลือกใหม่ที่ตอบโจทย์พี่น้องประชาชนได้ ที่สำคัญ พปชร.ได้ตอบรับที่จะนำนโยบายของกลุ่มสามมิตรไปเป็นนโยบายของพรรคด้วย ไม่ว่าจะเป็นโครงการโคแก้จน การปรับสวัสดิการให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. ผู้สูงอายุ และ อพปร.
“ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกันไม่มีปัญหา เพราะพรรคสามารถทำโพลเพื่อคัดเลือกบุคคลที่ดีที่สุด ทำงานใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนมากที่สุดได้ ทั้งนี้ สมาชิกกลุ่มสามมิตรที่จะไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐนั้นมีทั้งหมดประมาณ 70 คน ซึ่งเป็นอดีต ส.ส. 30 คน และนักการเมืองท้องถิ่น รวมถึงนักธุรกิจ คนรุ่นใหม่ประเภทดาวฤกษ์อีก 40 คน โดยสัปดาห์หน้านายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตรจะเปิดตัวสมาชิกในกลุ่มเอง” นายธนกรกล่าว
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปฏิเสธกระแสข่าวนายสมศักดิ์จะเข้ามาหารือเพื่อเคลียร์เรื่องพื้นที่ทับซ้อนการส่งผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ระหว่างกลุ่มสามมิตรกับ พปชร. ว่าจะมาคุยทำไม ไม่ใช่หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และถามว่าทำไมต้องมาเคลียร์ พูดกันไปเอง แม้จะเป็นพี่ใหญ่ของรัฐบาลก็ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย
“นายสมศักดิ์ไม่ได้ติดต่อขอเข้าพบ ส่วนตัวเคยคุยกับนายสมศักดิ์เมื่อนานมาแล้ว แต่ไม่ได้ติดต่อส่วนตัว หากจะมาพบ ถามว่าจะมาพบผมทำไม หากจะมาหาหรือมารับประทานอาหารกับผมก็ขอปฏิเสธ ขอให้เจอกันในงานข้างนอกดีกว่า ยืนยันว่าผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐ” พล.อ.ประวิตรกล่าว
เมื่อถามว่า หากทาบทามให้ไปเป็นหัวหน้า พปชร. พล.อ.ประวิตรตอบทันทีว่า เขามีหัวหน้าพรรคอยู่แล้ว
ขณะที่นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ว่าที่หัวหน้า พปชร. กล่าวถึงกรณีกลุ่มสามมิตรจะมาสังกัด พปชร.ว่า ต้องรอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองความเป็นพรรคก่อนจึงจะเข้าสู่กระบวนการจะพูดคุยกับกลุ่มไหนอย่างไร ไม่ว่าใครก็ตามที่สนใจ พปชร.เป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากเราเปิดกว้าง ส่วนจะลงตัวหรือไม่ ต้องรอให้ถึงเวลา และยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีจำนวนอดีต ส.ส.มาสังกัดเท่าไร ต้องรอดูทุกกลุ่ม รวมถึงการจัดลงในพื้นที่ด้วย
โยน "สนธิรัตน์" แจง
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในฐานะว่าที่โฆษก พปชร. กล่าวในเรื่องนี้ว่า ต้องถามนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ว่าที่เลขาธิการพรรค ซึ่งบอกอยู่ตลอดว่าไม่รู้ว่าเขาจะไปตั้งพรรคเองหรือไม่ ส่วนกรณีข่าวนายสุริยะจะนำคนมาร่วมกับ พปชร.นั้น ก็ต้องถามเขา เป็นเรื่องที่ทางเราต้องรอฟัง รวมทั้งกรณีจะนำอดีต ส.ส.และคนรุ่นใหม่ 70 คนมาร่วมนั้น พปชร.ก็มีกระบวนและกลไกของพรรคอยู่ ซึ่งไม่ได้รับผิดชอบในเรื่องนี้ มีหน้าที่พูดคุยกับสื่อเพียงอย่างเดียว เพราะเกินความสามารถ
เมื่อถามถึงปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกันของ ส.ส.นั้น นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ไม่ทราบ ส่วนต้องทำโพลเพื่อเป็นทางออกหรือไม่นั้น เรื่องนี้หัวใจสำคัญอยู่ที่ตัวพรรค แต่พรรคยังไม่ได้มีการจัดตั้ง รวมถึงคณะกรรมการบริหารพรรคต้องเป็นผู้ตัดสินใจ จึงต้องให้เวลากับกระบวนการต่างๆ ตอนนี้เร็วเกินไปที่จะมาพูดเรื่องเหล่านี้ และส่วนตัวก็ยังไม่รู้จักกับทุกคนเลย
ถามถึงกระแสข่าววันที่ 3 ต.ค. กลุ่มสามมิตรได้พูดคุยกับผู้ใหญ่ใน พปชร.แล้ว นายกอบศักดิ์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ประชุมอยู่ในทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่เวลา 07.00-21.30 น. จึงไม่รู้เรื่องข่าวลือ แต่มีผู้สื่อข่าวที่โทรศัพท์มาสอบถาม ยังสอบถามผู้สื่อข่าวเลยว่ามีเรื่องอะไร
ขณะที่ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวเป็น 1 ใน 8 ผู้ประสานงานคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.ของ พปชร. 14 จังหวัด 50 เขตในภาคใต้ ว่าไม่จริง แม้จะรับราชการในพื้นที่ภาคใต้มาตั้งแต่ปี 2519 รู้จักคนเยอะ และเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ก็ตาม
“ถูกนำชื่อไปแอบอ้างได้ เพราะบทบาท สนช.ไม่สามารถไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรืออยู่เบื้องหลังได้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะไปเป็นผู้ประสานงานคงไม่ได้ เพราะกฎหมายห้ามเอาไว้ ไม่ทราบว่าคนที่นำชื่อไปแอบอ้างมีวัตถุประสงค์อะไร จึงนำชื่อไปแสวงหาผลประโยชน์ เพราะได้โทรศัพท์ไปสอบถามผู้สมัครที่มีชื่อปรากฏเป็นข่าว ทุกคนก็ปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้สมัคร ส.ส.ของ พปชร.” พล.อ.อกนิษฐ์กล่าว และว่า วันนี้คงช่วยอะไรท่านนายกฯ ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ช่วยได้เพียงอย่างเดียวคือให้กำลังใจ
เวลา 13.15 น. ที่สำนักงาน กกต. นายอุตตมพร้อมแกนนำได้เดินทางเข้ายื่นจดจัดตั้งพรรคการเมืองต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง โดยยืนยันถึงความพร้อมในการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งได้ทันตามกรอบเวลา และเชื่อว่า กกต.จะรับรองเป็นพรรคการเมืองได้ตามกรอบเวลา แต่ไม่คิดว่าพรรคจะได้รับการพิจารณารับรองเร็วกว่าพรรคอื่น โดยหลังจากได้รับการรับรองเป็นพรรคการเมืองแล้วก็จะเดินหน้าเรื่องการคัดสรรผู้สมัคร โดยจะส่งครบทั้ง 350 เขต
ปัดข่าวใช้เงินดูด
นายอุตตมยังชี้แจงถึงข้อครหา พปชร.ตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าไม่จริง เป็นการรวมกันของกลุ่มที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศ เพื่อก้าวไปสู่ของใหม่ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนให้ประเทศโตอย่างยั่งยืน ไม่ได้เป็นตัวแทนของใคร และไม่มีใครเป็นเจ้าของคนเดียว ขอให้รอดูพฤติกรรม เช่นเดียวกับกระแสดูด ส.ส. ที่ระบุว่ามีตัวเลข 40-50 ล้านบาทเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ไม่เป็นความจริง ส่วนที่อดีต ส.ส.ย้ายพรรคนั้น เป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล และ พปชร.ก็มีสิทธิ์พิจารณา
“พปชร.ไม่ตั้งสมมุติฐานอยู่บนคณิตศาสตร์การเมืองเพื่อให้ได้อดีต ส.ส.มากที่สุด ส่วนเรื่องการลาออกของ 4 รัฐมนตรีนั้น เราจะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกา ขณะนี้การเลือกตั้งยังไม่เกิด ใครอยากสอดส่อง หรือตรวจสอบก็ทำได้เลย ขอให้ติดตามพฤติกรรม จะเห็นว่าเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เราจะออกมาปฏิบัติหน้าที่ในพรรคเต็มตัว ไม่ต้องห่วง และไม่มีกระแสกดดันภายในรัฐบาลให้ลาออกตามข่าว มีแต่ให้กำลังใจ โดยนายกฯ ก็บอกว่าเป็นสิทธิ ขอให้ทำงานเต็มที่ เป็นรัฐมนตรีในกรอบกติกา” นายอุตตมกล่าว
นายอุตตมยังตอบข้อถามกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตว่าการไม่ลาออกจากตำแหน่งเป็นการหลีกเลี่ยงเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และจะนำไปสู่จุดเสื่อมทางการเมือง ว่าเป็นเพียงความเห็นของนายอภิสิทธิ์ และไม่คิดว่าสิ่งที่ทำจะนำไปสู่จุดเสื่อมทางการเมืองตามที่ตั้งข้อสังเกต
ด้านนายกอบศักดิ์กล่าวถึงกระแสข่าวคนใกล้ชิดนายกฯ กดดันให้ลาออกเช่นกันว่า รับทราบว่ามีคนจากพรรคต่างๆ กดดัน ยืนยันเสมอว่าลาออกแน่ในเวลาที่เหมาะสมพร้อมกันทั้ง 4 รัฐมนตรี และมาตรฐานที่จะตั้งขึ้นมา คิดว่าเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับการเมืองไทย และอยากให้เป็นมาตรฐานที่คนอื่นในอนาคตทำตามด้วย ส่วนจะเป็นอย่างไร ขอให้รอดู
ลั่นพร้อมถูกขุดคุ้ย
“ไม่ได้สนใจ ทุกวันทำแต่งาน รู้อยู่แล้วว่าเขาต้องยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมา ส่วนมากจะเห็นมีแต่พรรคการเมืองต่างๆ มาแซะ ต้องทำใจ ในเมื่อลงสนามแล้ว ถือเป็นเรื่องปกติ รู้ว่าเขาต้องการใช้เป็นกลการเมือง”นายกอบศักดิ์กล่าวตอบถึงกรณีถูกซีกการเมืองแซะ
เมื่อถามว่า พร้อมถูกขุดคุ้ยแล้วหรือยังหลังเล่นการเมือง นายกอบศักดิ์กล่าวว่า เชิญให้ขุดเลย มีรถ 1 คัน และมีเปียโน 1 หลัง
นายสนธิรัตน์ยืนยันเช่นกันว่า เมื่อถึงเวลาเหมาะสมจะลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ส่วนหลังจาก 4 รัฐมนตรีลาออกแล้วต้องปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ ต้องไปถามนายกฯ ส่วนถ้าปรับ ครม.จะให้มือเศรษฐกิจเข้ามาผลักดันนโยบายโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งหรือไม่นั้น ก็ต้องไปถามนายกฯ เช่นกัน
ทั้งนี้ ในการชี้แจงของนายกอบศักดิ์ในเรื่องลาออก นายกอบศักดิ์ได้พาสื่อมวลชนเข้าไปยังห้องทำงานเพื่อยืนยันว่าไม่ได้มีการเก็บของตามข่าว พร้อมอธิบายตารางความคืบหน้าการทำงานที่ติดไว้ข้างผนังห้องจำนวนมาก ประกอบด้วย กฎหมายที่จะผลักดัน แผนแก้ปัญหาความยากจน แผนงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และงานประชาสัมพันธ์โครงการรัฐบาล
โดยนายกอบศักดิ์ระบุว่า แผนงานต่างๆ ยังใช้ต้องเวลาในการผลักดัน อย่างเช่นเรื่องอีอีซี ที่ต้องการให้มีการเซ็นสัญญาโครงการภายในเดือน ก.พ.2562 เพื่อรับประกันว่ารัฐบาลที่เข้ามาจากนี้จะต้องสานต่อ ส่วนกฎหมายต่างๆ ต้องการให้เข้าสู่ชั้น สนช.ในเดือน พ.ย.2561 เพื่อรับประกันความต่อเนื่อง มั่นใจถ้าทุกอย่างเสร็จ ประเทศไทยจะเปลี่ยนครั้งใหญ่
ส่วน พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงกระแสกดดันให้ 4 รัฐมนตรีลาออกว่า เราทำตามกฎหมาย และที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีรัฐมนตรีที่ลงไปเล่นการเมืองแล้วต้องลาออกจากตำแหน่ง อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ก็บอกแล้วว่าไม่มีการปรับ ครม. แต่หากรัฐมนตรีเหล่านั้นตัดสินใจลาออกเอง ก็คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะเรายังมีรัฐมนตรีช่วย แต่ละกระทรวงทำหน้าที่แทนอยู่แล้ว อีกทั้งรัฐบาลก็เหลือเวลาบริหารบ้านเมืองน้อยลง คิดว่าไม่มีปัญหาอะไร ทุกคนสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง
กกต.จ่อถกเผือกร้อน
เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่ามีรัฐมนตรีบางคนเริ่มทยอยเก็บของ พล.อ.ประวิตรย้อนถามว่า “เขาเก็บไปไหน ผมไม่รู้” เมื่อถามต่อว่า รัฐมนตรีบางคนก็พูดมีนัยว่าจะลาออกเมื่อถึงเวลา คืออาจเป็นช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง พล.อ.ประวิตรตอบว่า เมื่อถึงเวลาก็แล้วแต่เขา เรื่องนี้เป็นเรื่องตัวบุคคล อย่านำมาเกี่ยวข้องกับรัฐบาล
ด้านนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.กล่าวถึงกรณีวิพากษ์วิจารณ์ 4 รัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคประชารัฐว่า เข้าใจว่าการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลต้องการเป็นผู้มีส่วนในการเมืองไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ แต่การแสดงเจตจำนงหรือความประสงค์ในการดำเนินการทางการเมืองต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ต้องไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อเป็นประโยชน์ในการเลือกตั้ง ตราบใดที่ข้อเท็จจริงหรือการกระทำไม่เข้าข่ายตามนี้ ก็ถือว่าเป็นสิทธิที่ทำได้ ซึ่งกฎหมายเปิดช่องในเรื่องความปรารถนาทางการเมือง ทุกคนมีสิทธิที่จะเดินตามความคิดทางการเมืองของตน เป็นสิทธิส่วนบุคคล
“เรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นที่เราได้รับการสอบถามถามเข้ามาเยอะ คงต้องเอามาคุยในที่ประชุม กกต. เพื่อขอความเห็นจาก กกต.คนอื่นด้วย นอกจากนี้อาจพิจารณาออกแนวทางเชิงนโยบายเพื่อให้มีความชัดเจนต่อไป” นายอิทธิพรกล่าว
มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในวันที่ 5 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์พร้อมคณะมีกำหนดการตรวจราชการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขปัญหาจราจรอีกครั้ง หลังจากเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ได้มาตรวจราชการในเรื่องการบริหารจัดการและพัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทาง (ล้อ ราง เรือ) แล้วครั้งหนึ่ง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |