เขย่าขวัญคนทั่วไปไม่น้อยเมื่อนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ โมฮัมหมัด ของมาเลเซีย ประกาศว่าจะไม่สนับสนุน อองซาน ซูจี แห่งพม่า อีกต่อไป เพราะปัญหาโรฮีนจา
ถ้อยแถลงผ่านการให้สัมภาษณ์ทีวีตุรกี TRT World ของท่านผู้เฒ่าชัดถ้อยชัดคำอย่างนี้ต้องถือว่าเป็นผู้นำอาเซียนคนแรกที่แสดงจุดยืนต่อผู้นำพม่าอย่างไม่เกรงอกเกรงใจอีกต่อไป
“เธอเปลี่ยนไปจากที่เราเคยรู้จัก เราเคยพยายามรณรงค์ให้ปล่อยเธอจากการคุมขังของทหาร และเธอก็ได้รับอิสระ แต่วันนี้เธอไม่พร้อมจะพูดอะไรเกี่ยวกับการกระทำของทหารต่อชาวโรฮีนจา เราจึงต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าเราไม่สนับสนุนเธออีกต่อไป” มหาธีร์บอก
สาเหตุที่ทำให้มหาธีร์พูดอย่างนี้ คงเป็นเพราะอองซาน ซูจี ไม่ตอบจดหมายที่เขาเขียนถึงเธอในเรื่องนี้ ทำให้ท่านผู้อาวุโสแห่งอาเซียนกริ้วที่ไม่ให้เกียรติระหว่างผู้นำอาเซียนด้วยกัน
แม้มหาธีร์จะบอกว่า ด้วยเหตุนี้เขาจึงรู้สึก “ผิดหวัง” กับอองซาน ซูจี แต่ความจริงปฏิกิริยาของเขาทำให้เห็นว่ามันคงจะมีอะไรมากกว่าความผิดหวัง
มหาธีร์เอาจริงเรื่องโรฮีนจามาก
ตอนที่ผมสัมภาษณ์เขาที่กัวลาลัมเปอร์ ผู้นำวัย 93 ที่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีรอบสองด้วยการนำฝ่ายค้านโค่นอดีตนายกฯ นาจิบ ราซัค จนเป็นปรากฏการณ์ครั้งประวัติศาสตร์บอกผมว่า มาเลเซียถือว่าพม่าต้องรับผิดชอบต่อการกระทำต่อชาวโรฮีนจา เพราะเป็นการสังหารหมู่ที่ไร้ความรับผิดชอบอย่างยิ่ง
ในคำปราศรัยต่อที่ประชุมสหประชาชาติที่กรุงนิวยอร์ก มหาธีร์วิพากษ์สังคมโลกว่ายังคงเงียบงันต่อความโหดร้ายทารุณต่อชาวโรฮีนจาในประเทศพม่า
ก่อนหน้านี้ รายงานของสหประชาชาติฉบับหนึ่งกล่าวหาว่ารัฐบาลพม่าได้กระทำการอันถือได้ว่ามี “เจตนาสังหารฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ชาวโรฮีนจาและควรจะต้องให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกับนายพลอีก 5 คน ที่รับผิดชอบขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ
แต่รัฐบาลพม่าโต้กลับว่า ข้อกล่าวหาเช่นนั้นเกินความเป็นจริง ไม่ยอมให้นายทหารของตนขึ้นศาลระหว่างประเทศเป็นอันขาด
อองซาน ซูจี ต้อง “กลืนเลือด” เพราะถูกทั้งโลกประณาม หลายประเทศเรียกร้องให้คณะกรรมการรางวัลโนเบลเรียกคืนรางวัลสันติภาพที่มอบให้กับเธอเมื่อปี 1991
รัฐบาลแคนาดาก็เพิ่งประกาศถอนความเป็น “พลเมืองกิตติมศักดิ์” คืนจากเธอด้วยข้อหาเดียวกัน
ทำไมเธอจึงเงียบงัน และดูเหมือนจะปกป้องนายทหารพม่าที่ถูกมองว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการปราบปรามและข่มเหงรังแกชาวโรฮีนจาจนตัวเองกลายเป็นเป้าของการวิพากษ์อย่างหนักหน่วงเพียงนี้?
คำตอบน่าจะอยู่ที่ว่าเธอเองต้องร่วมรัฐบาลกับทหาร และได้พยายาม “ประคับประคอง” ให้รัฐบาลไปให้รอด จึงไม่ “หักด้ามพร้าด้วยหัวเข่า” กับทหาร
เธอก็เคยออกมาบอกว่าพม่าไม่มี “โรฮีนจา” มีแต่ “ชาวบังคลีที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย”
แต่หากฟังสิ่งที่เธอพูดถึงกรณีนี้ ก็ต้องบอกว่าอองซาน ซูจี พยายามจะปกป้องตัวเองและทหารไปพร้อมๆ กัน เสมือนหนึ่งจะบอกชาวโลกว่าข้อหาเรื่อง “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ไม่เป็นธรรม เพราะอีกฝ่ายหนึ่งก็ใช้ความรุนแรงเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลพม่าเช่นกัน
เธอยอมรับระหว่างการประชุม World Economic Forum ที่ฮานอยเมื่อเร็วๆ นี้เพียงว่า หากมองย้อนกลับไป “รัฐบาลพม่าควรจะบริหารปัญหานี้ได้ดีกว่านี้” (“…could have handled it better”)
แต่นั่นมิใช่การยอมรับผิดหรือเป็นการรับปากว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังตามที่หลายๆ ส่วนในประชาคมโลกเรียกร้องแต่อย่างไร
เมื่อมหาธีร์ออกมาประกาศตัดญาติขาดมิตรกับอองซาน ซูจี อย่างนี้ สมาชิกอาเซียนอีก 8 ประเทศ ก็มีการบ้านที่จะต้องทำอย่างหนัก
ยิ่งประเทศไทยจะรับตำแหน่งประธานอาเซียนในปีหน้า ก็ยิ่งเป็นภารกิจที่รัฐบาลไทยจะต้องคิดหนักว่าจะช่วยลดความตึงเครียดในประเด็นโรฮีนจาระหว่างมวลหมู่อาเซียนอย่างไร
ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากเรื่องข้อเท็จจริงว่าใครทำอะไรต่อใครหรือไม่อย่างไรแล้ว ยังมีเรื่องของความแตกต่างด้านความเชื่อทางศาสนาและชาติพันธุ์ อีกทั้งยังมีผลข้างเคียงเรื่องการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศ
แต่ประเทศไทยเราก็ปฏิเสธบทบาทของการเป็น “ผู้ประสาน” ในฐานะเป็นสมาชิกหลักของอาเซียนไม่ได้ นั่นย่อมหมายถึงการพยายามเข้าใจจุดยืนของแต่ละฝ่ายในกรณีนี้ และสร้างบรรยากาศของการพูดคุยทั้งทางตรงและทางอ้อมระหว่างสมาชิกอาเซียน เพื่อที่จะป้องกันความเสื่อมทรุดของความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก และพยายามแสวงหาทางออกทั้งระหว่างอาเซียนกันเองและระหว่างอาเซียนกับประชาคมโลก
เพราะตราบเท่าที่ชาวโรฮีนจากว่า 700,000 คน ที่หนีภัยจากรัฐยะไข่ในพม่าไปอยู่ในบังกลาเทศ และยังไม่มีทีท่าว่าจะอพยพกลับไปที่พม่าอย่างเต็มใจและมั่นใจ ตราบนั้นปัญหานี้ก็ยังจะได้รับความสนใจจากประชาคมโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |