เที่ยวเชียงคำ สัมผัสวัฒนธรรมไทลื้อ


เพิ่มเพื่อน    

(ผ้าเช็ดหลวง ในพิธีกรรมทางศาสนาของไทลื้อ)

    แม้ว่า “เชียงคำ” อำเภอเล็กๆ ของจังหวัดพะเยาจะมีสภาพบ้านเมืองไม่ได้แตกต่างจากที่อื่นๆ ในประเทศไทยมากนัก แต่สิ่งที่ทำให้เชียงคำมีเอกลักษณ์โดดเด่นมากกว่าที่ไหนๆ คงเป็นเรื่องราวของคน "ไทลื้อ" ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของที่นี่ ที่ยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมและวิถีชีวิตเอาไว้อย่างเหนียวแน่น เห็นได้จากการแต่งกาย ภาษา สถาปัตยกรรม บ้านเรือน วัดวาอาราม จนทำให้อำเภอเชียงคำกลายเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมไทลื้อและแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นสุดในภาคเหนือเลยก็ว่าได้
    เมื่อช่วงสัปดาห์ก่อนเราได้ไปพิสูจน์เชียงคำด้วยตนเอง ผ่านการเชิญชวนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตอนที่ไปถึงเชียงคำเราได้พบกับ “พี่หยิน สยุมพร แดงฟู” แม่หลวงหรือผู้ใหญ่บ้านแห่งบ้านสบแวน ตำบลเชียงบาน อำเภอเชียงคำ อาสาเป็นไกด์พิเศษในทริปนี้

(พี่หยิน สยุมพร แดงฟู” แม่หลวงแห่งบ้านสบแวนใน อ.เชียงคำ ผู้พาเที่ยว)

    พี่หยินเริ่มเล่าที่มาของ "คนไทลื้อ" ว่า คือกลุ่มชาติพันธุ์ตระกูลไทที่มีถิ่นฐานดั้งเดิมตั้งอยู่ในเขตสิบสองปันนาทางตอนใต้ของมณฑลยูนนาน ประเทศจีน และถูกกวาดต้อนเข้ามาในดินแดนภาคเหนือของไทยในยุค "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ยุคหนึ่งของอาณาจักรล้านนา อำเภอเชียงคำในปัจจุบันซึ่งชาวไทลื้อมีหลายกลุ่ม ทั้งลื้อเมืองหย่วน ลื้อเมืองมาง ลื้อเมืองพง ลื้อเมืองบาน แต่ละกลุ่มเข้ามาด้วยเหตุและปัจจัยที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการถูกกวาดต้อนเทครัว การค้าขายและการเสาะแสวงหาที่ทำกิน และหลบหลีกภัยสงคราม ดังนั้นจึงทำให้ชาวไทลื้อในเชียงคำมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย

(เครื่องแต่งกายชาวไทลื้อ)

    วัฒนธรรมแรกที่พี่หยินให้เราได้สัมผัสคือ การแต่งกาย โดยนำชุดไทลื้อมาให้ใส่ ก่อนพาไปชมสถานที่ต่างๆ พี่หยินบอกว่าตอนนี้คนไทลื้อยังคงใส่ชุดไทลื้อเมื่อมีพิธีกรรมสำคัญทางศาสนาหรืองานใหญ่ๆ โดยผู้หญิงจะสวมเสื้อแขนยาวที่เรียกว่า “เสื้อปั๊ด” เป็นเสื้อรัดรูปสีดำครามและนุ่งซิ่น โพกผ้าสีขาวเป็นเอกลักษณ์บนศีรษะ ส่วนผู้ชายสวมเสื้อแขนยาวสีดำครามคล้ายเสื้อหม้อห้อม นักท่องเที่ยวที่มาจะสวมใส่หรือไม่สวมก็ได้ แต่แนะนำให้ใส่ เพราะว่าไม่ได้มีโอกาสได้ใส่ง่ายๆ พอใส่แล้วก็จะทำให้เข้ากับบรรยากาศของที่นี่

(วิหารวัดแสนเมืองมา)

    จากนั้นก็พานั่งรถรางไปที่ "วัดแสนเมืองมา" วัดนี้เก่าแก่อยู่คู่กับชาวไทลื้อมานาน เราชอบความพิเศษของวัดนี้อยู่หลายอย่าง ตั้งแต่ความสวยงามของวิหารที่เป็นศิลปะลื้อผสมล้านนาร่วมสมัย รูปทรงของวิหารหลังคามุงแป้นเกล็ดไม้งดงาม หน้าบันเป็นไม้แกะสลักรูปเทพพนม ด้านนอกบริเวณทางเข้ามีรูปปั้นพญานาค ทุกคนคงรู้ดีว่าหลายวัดในบ้านเราล้วนมีพญานาค วิหารแห่งนี้ก็มีเหมือนกัน แต่พญานาคที่นี่มีเขากวางประดับ พี่หยินเล่าว่าเป็นศิลปะความเชื่อของคนสมัยก่อน น่าจะเกี่ยวข้องกับมังกรตามความเชื่อของชาวจีน แล้วก็ยังมีเสือ สิงห์ ที่ตั้งอยู่รอบวัด สัตว์ทุกชนิดเป็นความเชื่อในเรื่องของการคุ้มครองศาสนาให้คงอยู่ตลอดไป ส่วนภายในวิหารมีพระประธานพุทธศิลป์แบบลื้อเพียงองค์เดียวในเชียงคำ มีธรรมาสน์โบราณ รวมไปถึงจิตรกรรมฝาผนังแสดงประวัติความเป็นมา วิถีชีวิตชาวไทลื้อ ส่วนใหญ่คนเชียงคำนิยมมากราบไหว้ขอพรให้ได้สมปรารถนาเรื่องการเรียน การงานทั่วๆ ไป

(เครื่องใช้ในครัวเรือนของคนไทลื้อ)

    ตรงข้ามวิหารเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านแสนเมืองมา สถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุทางพระพุทธศาสนา เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวไทลื้อและชาวล้านนาในอดีต หม้อ ถ้วย ชามต่างๆ แต่ที่ดึงดูดเรามากสุดคือข้างๆ พิพิธภัณฑ์มี “เฮินลื้อไตมาง” ซึ่งก็คือเรือนไทลื้อแบบจำลองที่สามารถขึ้นไปชมวิถีชีวิตของชาวไทลื้อสมัยก่อนว่าเขาอยู่ กิน นอนกันอย่างไร เพราะถ้าดูแค่ในพิพิธภัณฑ์คงไม่ได้เห็นภาพชัดเท่าเรือนนี้

(บ้านไทลื้อแบบดั้งเดิมจะมีการเจาะรูบ้านแทนหน้าต่าง ป้องกันฝนสาด ขโมยขึ้นบ้าน)

    ลักษณะของบ้านเรือนชาวไทลื้อเป็นเรือนไม้ยกใต้ถุนสูง รูปทรงเอียงเล็กน้อยเพื่อป้องกันฝนสาด พอขึ้นบันไดไปจะเห็นที่นอนปูเรียงกัน มีมุ้งดำกั้น ซึ่งได้ยินมาว่ากั้นเป็นครอบครัวๆ แยกเป็นพ่อแม่ลูก ปู่ย่า หรือตายาย ก็ตามแต่ละครอบครัว อีกมุมหนึ่งเป็นครัว มีข้าวของเครื่องใช้วางอยู่ คนสมัยก่อนเขาทำอาหารกันในบ้าน ยังไม่ได้มีการย้ายครัวออกไปไว้ด้านนอก ที่น่าสนใจคือเรือนไทลื้อดั้งเดิมจะไม่มีหน้าต่าง มีแค่ช่องรูเล็กๆ สี่เหลี่ยมเท่านั้น เพื่อป้องกันงู สัตว์ร้ายอื่นๆ รวมถึงป้องกันขโมยเข้าบ้าน แล้วก็เป็นผลดีต่อการป้องกันฝนสาดเข้ามาในบ้านด้วย ก็เป็นศิลปะการสร้างบ้านที่น่าเอากลับมาปรับใช้ในปัจจุบัน

(ฝึกการปั่นด้ายที่ศูนย์วัฒนธรรมวัดหย่วน)

    จากนั้นพี่หยินพาเรานั่งรถรางต่อไปยัง "ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อวัดหย่วน" แหล่งรวมมรดกภูมิปัญญาทุกด้านของชาวไทลื้อ หลักๆ มีภูมิปัญญาเรื่องเครื่องครัวและอาหาร แล้วก็เรื่องของผ้าที่ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ตั้งแต่วัสดุอุปกรณ์ การปั่นด้ายไปจนถึงทอเป็นผืนผ้า ในศูนย์นี้เราได้เห็นผ้าชาวไทลื้อหลายแบบ ตั้งแต่ผ้าที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมอย่าง 'ผ้าเช็ดหลวง' ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน เป็นผ้าที่มีลักษณะคล้าย ‘ตุง’ ธงแขวนแบบหนึ่งในศิลปะล้านนา รวมไปถึงรู้จักกับเครื่องแต่งกาย ตั้งแต่การแต่งกายของผู้มีฐานะทางสังคม การแต่งกายเข้าวัด การแต่งกายของสามัญชนทั่วไป การแต่งกายในบ้านเรือน แต่ละแบบต่างกันที่ว่าบางแบบมีเครื่องประดับผสมผสานวัฒนธรรมจีนลงไปเล็กน้อย บางแบบก็ไม่มีเครื่องประดับ แต่ที่เหมือนกันก็คือต้องโพกผ้าไม่สีขาวก็สีชมพู เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนที่เกริ่นไปตั้งแต่ต้น ที่นี่นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการฝึกทอผ้าได้ด้วยตนเอง โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยสอนปั่นด้าย ทอผ้า หรือทำพวงกุญแจก็มีสอนหมด

(วัดนันตาราม วัดที่สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง)

    อีกหนึ่งแห่งที่อยากบอกต่อคือ "วัดนันตาราม" ซึ่งมีความงดงามด้วยศิลปะแบบไทยใหญ่ ตัววัดสร้างจากไม้สักทั้งหลัง มีการตกแต่งลวดลายในส่วนต่างๆ อย่างสวยงาม ด้วยสีของกระเบื้องมุงหลังคาและสีของไม้ภายในตัวโบสถ์ที่เป็นสีออกเข้มๆ ทะมึนๆ ทำให้วัดนันตารามดูขลัง โดยเฉพาะเมื่อเข้ามาในโบสถ์ที่เงียบสงบ ข้างในมีพิพิธภัณฑ์ธนบัตรเก่า เครื่องใช้โบราณ ผ้าลายโบราณ และภาพวาดโบราณเกี่ยวกับการเทศน์มหาชาติแต่ละตอน วัดแห่งนี้มีคนทยอยมาถวายสังฆทานอย่างไม่ขาดสาย นักท่องเที่ยวน่าจะมาไหว้พระขอพรที่นี่เพื่อให้จิตใจสงบและเสริมสิริมงคลให้ตนเอง

(เรือนไทลื้อของแม่แสงดา)

    พอตกเย็นใกล้ค่ำเราได้ไป "เฮินไตลือแม่แสงดา" หรือเรือนของแม่แสงดา สมฤทธิ์ เพื่อที่จะรับประทานขันโตกยามค่ำ ที่เรือนแห่งนี้เป็นเรือนไทลื้อไม่กี่หลังที่ยังหลงเหลือในเชียงคำ ที่พ่อของแม่แสงดาปลูกไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2489 และแม่แสงดาก็ยังอนุรักษ์ไว้ด้วยความรัก แม้ว่าลูกหลานจะปลูกบ้านหลังใหม่ทันสมัยไว้ แต่แม่แสงดาก็ยังคงอยู่ที่นี่ ซึ่งก็เป็นรูปแบบบ้านไทลื้อเหมือนที่เราไปดูมาก่อนหน้า แต่ต่างตรงที่บ้านแม่แสงดาจะเริ่มมีหน้าต่างเป็นบาน

(ขันโตก รวมอาหารท้องถิ่นไทลื้อ)

    เราได้ทานมื้อพิเศษขันโตกที่ประกอบด้วยหลากหลายเมนูท้องถิ่นคนไทลื้อ ไม่ว่าจะเป็นจอผักกาดลื้อ ขนมจีนเส้นแห้ง แอ่งแถะ ปลาปิ้งอบ แต่ที่ชอบมากที่สุด ทานง่ายคือ จินซั่มพริก คือ เนื้อหมูย่างไฟเอามาทุบหรือตำ ใส่เครื่องเคียง พริกขิงข่าคลุกผสม อร่อยมากๆ เป็นเมนูที่ได้ลองแล้วต้องชอบ
    ขันโตกสำรับหนึ่งทานด้วยกันได้ 5-6 คนเลย แต่ถ้าไม่อิ่ม ตอนเย็นก็มีตลาดนัดกลางคืนให้เดิน ขายอาหารของกินทั่วๆ ไป ซึ่งที่เล่ามาเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ในเชียงคำยังมีเรื่องราวให้ได้ไปชมอีกเยอะ ซึ่งถ้าอยากจะไปสักครั้งก็ติดต่อพี่หยิน โทร. 08-4483-4188 หรือจะมาด้วยตนเองก็ได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"