แก้ปลดล็อกช้า ประวิตรแบไต๋งัดคำสั่งพิเศษพรรคไม่เสียโอกาส


เพิ่มเพื่อน    

"ประวิตร" ย้ำยึดคลังแสงบางน้ำเปรี้ยวไม่จัดฉาก ย้อนถามอาวุธเยอะหมายจับอื้อควรปลดล็อกหรือยัง แบไต๋รัฐบาลเตรียมคำสั่งพิเศษแก้ปมล่าช้าไว้แล้ว ไม่การันตีเลือกตั้งปลายปี 61 "กรธ." เชื่อใช้ "สนช." แก้ไขบทเฉพาะกาล พ.ร.ป.พรรคการเมืองขยายเวลาเป็นทางออก "ศรีวราห์" ชี้ยังมีระเบิดซุกอีกจำนวนมาก

เมื่อวันพุธ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (รมว.กลาโหม) ยืนยันอีกครั้งว่าไม่มีการจัดฉาก ในคดีตำรวจตรวจยึดอาวุธสงคราม ระเบิดขว้างสังหาร และกระสุนปืนขนาดต่างๆ จำนวนมากภายได้ในริมคลองข้างนา พื้นที่หมู่ 15 ต.ดอนฉิมพลี อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา จากนั้นนายวัฒนา ทรัพย์วิเชียร อายุ 54 ปี เดินทางเข้ามาขอมอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ทหาร ในพื้นที่รับผิดชอบของกองร้อยรักษาความสงบ ศูนย์ป้องกันภัยทางอากาศ ทบ.1 (ศปภอ.ทบ.1) ในพื้นที่วังน้อย-ปทุมธานี ยอมรับเป็นเจ้าของอาวุธดังกล่าว

"ใครจัดฉาก เจ้าหน้าที่จะจัดฉากไปทำไม ไม่มีจัดฉาก เจ้าหน้าที่ทำทุกอย่างตรงไปตรงมา มีแต่ผู้สื่อข่าวที่บอกว่าจัดฉาก" พล.อ.ประวิตรกล่าว

ถามว่า การตรวจพบอาวุธสงครามที่ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นปัจจัยทำให้ไม่สามารถปลดล็อกทางการเมืองใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่าไม่รู้ พิจารณาเอาเองแล้วกัน ตอนนี้มีการออกหมายจับกี่คน และก็ยังไม่เห็นมีความพร้อมอะไรเลย

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ประเด็นการปลดล็อกช้ารัฐบาลจะจัดการให้ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามกรอบของกฎหมาย ยืนยันว่าพรรคการเมืองจะไม่เสียโอกาส ทั้งนักการเมืองหน้าใหม่และนักการเมืองหน้าเก่า ส่วนจะออกเป็นคำสั่งพิเศษรองรับการปลดล็อกที่ล่าช้าออกไปหรือไม่นั้น ตนยังไม่รู้

"ไม่รู้การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 61 หรือไม่ แต่จะทำตามโรดแมป" ถามว่าเมื่อพรรคการเมืองไม่สามารถทำตามขั้นตอนกฎหมายโรดแมปก็อาจจะขยับได้ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าก็ไม่รู้ ก็ดูไป เราทำตามโรดแมป

ซักถึงกรณี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ระบุจะเสนอนายกรัฐมนตรีให้ปลดล็อกทางการเมืองเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้นักการเมือง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้มีการคุยกัน ไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะปลดล็อกเป็นของขวัญปีใหม่ให้นักการเมือง

ในช่วงท้ายการสัมภาษณ์ สื่อได้ถาม พล.อ.ประวิตรว่านายกรัฐมนตรีได้กำชับให้คณะรัฐมนตรีพูดน้อยลงหรือไม่ เนื่องจากตัวนายกฯ ออกมาตอบคำถามสื่อมวลชนน้อยลงเหมือนกัน โดย พล.อ.ประวิตรระบุว่านายกฯ ไม่ได้กำชับเรื่องนี้แต่อย่างใด

ด้าน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) กล่าวถึงความคืบหน้าคดีการตรวจยึดอาวุธสงครามจำนวนมากในพื้นที่ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทราว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอศาลอนุมัติหมายจับนายจักรภพ เพ็ญแข แกนนำ นปช., พล.ท.มนัส เปาริก อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 3 กับพวกรวม 5 คน หลังพบความเชื่อมโยงคดีภายในสัปดาห์นี้

"ผู้ต้องหาทั้งหมดจะเกี่ยวข้องอย่างไรไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน แต่จากการตรวจสอบระเบิดและอาวุธสงครามที่ตรวจพบมีสภาพพร้อมใช้งานทันที ส่วนจะเตรียมใช้ก่อเหตุที่ใดไม่สามารถระบุได้ อย่างไรก็ดีพยานหลักฐานพบความเชื่อมโยงกับการก่อเหตุความวุ่นวายเมื่อปี 2557 เนื่องจากเลขรหัสของระเบิดและอาวุธสงครามตรงกัน" พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าว

รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า จากการสืบสวนยังเชื่อได้ว่ามีระเบิดและอาวุธสงครามซุกซ่อนอยู่อีกจำนวนมาก ที่ตรวจพบเจอในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทราเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเร่งค้นหาระเบิดและอาวุธสงครามดังกล่าวให้พบเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการนำไปก่อเหตุความวุ่นวายในอนาคต โดยอาวุธดังกล่าวเป็นอาวุธสัญชาติรัสเซีย ไม่มีการใช้ในราชการไทย

ขณะที่นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองประกาศใช้แล้ว มีเงื่อนไขต้องให้พรรคการเมืองปฏิบัติตามกฎหมาย โดยมีกรอบระยะเวลาบังคับเพื่อไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้มีแนวทางที่สามารถทำได้ 2 อย่าง คือ นายกฯ มีอำนาจมาตรา 44 แต่ก็อาจถูกมองว่าในเมื่อมี รธน.แล้วก็ไม่ควรใช้กลไกดังกล่าวนี้

"ดังนั้นสิ่งที่ง่ายกว่าคือเสนอให้ สนช.แก้ไขบทเฉพาะกาลของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองในส่วนที่มีปัญหาเรื่องเงื่อนระยะเวลาขยายออกไป ซึ่งถือเป็นขั้นตอนตามกระบวนการปกติ" นายอุดมกล่าว

โฆษก กรธ.กล่าวว่า เมื่อแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองแล้ว ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ เพราะต้องรอให้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้เสียก่อน โดยขณะนี้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.กำลังพิจารณาอยู่ในชั้น สนช.

ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงปัญหาการปลดล็อกพรรคการเมืองช้าว่า ขณะนี้ผ่านไปแล้ว 60 วัน หลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลใช้บังคับ เหลือเวลาแค่ 30 วัน สำหรับพรรคการเมืองเดิมในการแจ้งเปลี่ยนแปลงสมาชิกของพรรคต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งหากไม่แจ้งและไม่ขอขยายเวลา กกต.จะสั่งให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพไป

นายสมชัยกล่าวว่า ยังมีโจทย์ใหญ่ที่อยู่ข้างหน้าของพรรคการเมืองต่างๆ คือภายใน 180 วันหรือวันที่ 5 เม.ย.61 พรรคขนาดเล็กต้องหาสมาชิกให้ครบ 500 คน ต้องจัดหาทุนประเดิมให้ได้หนึ่งล้านบาท ให้สมาชิก 500 คนชำระค่าสมาชิกให้ครบถ้วน ต้องจัดตั้งสาขาพรรคให้ครบ 4 ภาค และให้มีตัวแทนพรรคในจังหวัดที่ประสงค์จะส่งผู้สมัคร และต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรคและเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค ซึ่งหากทำไม่เสร็จในอีก 4 เดือนข้างหน้า และหากไม่ขอขยายเวลา กกต.ก็จะสั่งให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพเช่นกัน

"เวลา 4 เดือนที่เหลือพรรคบางพรรคอาจมีขีดความสามารถในการดำเนินการ แต่หากปลดล็อกการเมืองช้าไปอีกหนึ่งเดือนก็จะเหลือ 3 เดือน ปลดล็อกช้าไปอีกเดือนก็จะเหลือ 2 เดือนตามลำดับ สำหรับพรรคบางพรรคอาจดำเนินการทัน แต่สำหรับพรรคที่ไม่ทันและขอขยายเวลา ต้องอย่าลืมว่าจะไม่มีสิทธิ์ในการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งหากปี่กลองการเลือกตั้งดังขึ้น" นายสมชัยกล่าว

กกต.ผู้นี้ระบุว่า ลองสมมติดูหาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ไม่มีปัญหามากนัก สามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษาประมาณปลายเดือน มี.ค. การรับสมัคร ส.ส.อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงต้นเดือน พ.ค. พรรคเดิมที่ทำทุกอย่างได้ภายใน 5 เม.ย.61 เท่านั้นที่น่าจะมีสิทธิ์ส่งผู้สมัคร ส่วนพรรคใหม่ถึงท่านทำทุกอย่างได้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ต้องอย่าลืมว่า กกต.ต้องใช้เวลาประมาณ 2 เดือนในการตรวจสอบหลักฐานต่างๆ ก่อนให้ความเห็นชอบเป็นพรรคการเมือง ซึ่งหมายความว่าหากจะให้ทันขบวนรถ 5 เม.ย.61 พรรคใหม่ต้องยื่นหลักฐานทั้งหมดต่อ กกต.ในต้น ก.พ.61 หรือหากเผื่อเหนียวว่าอาจมีหลักฐานไม่ถูกต้องต้องแก้ไขอีก 60 วัน ท่านต้องยื่นจดทะเบียนพรรคใหม่ภายในต้น ธ.ค.60

"ทั้งหมดนี้เป็นการประมาณการในเชิงเวลาโดยคร่าวๆ ไม่ได้บอกให้เชื่อและไม่ได้ส่งสัญญาณใดๆกับใคร แค่อ่านกฎหมายและประมาณการเวลาที่ต้องใช้ในแต่ละขั้นตอนเท่านั้น ส่วนเมื่อ กกต.ชุดใหม่มาเมื่อไร ถึงวันนั้นอาจมีความชัดเจนที่เป็นทางการ" กกต.ผู้นี้ระบุ

ที่รัฐสภา นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน โฆษคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีมติเลือก พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ สมาชิก สนช.เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พร้อมกับกำหนดกรอบเวลาการประชุมสัปดาห์ละ 3 วัน เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้เสร็จทันตามกำหนดเวลาในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

นายทวีศักดิ์กล่าวว่า เบื้องต้นคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไปแล้วทั้งสิ้น 10 มาตรา จากทั้งหมด 178 มาตรา โดยยังไม่มีการปรับแก้ไขเนื้อหาไปจากที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ มายัง สนช.

"คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จะดำเนินการพิจารณาเนื้อหาให้เสร็จและจะส่งให้ สนช.พิจารณาลงในวาระที่ 2 และ 3 เพื่อให้ความเห็นชอบในวันที่ 18 ม.ค.61 ต่อไป" นายทวีศักดิ์กล่าว

โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้หารือกันเบื้องต้นว่า จะยังไม่เชิญตัวแทนจากพรรคการเมืองเข้ามาให้ความคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แต่พรรคการเมืองและประชาชนสามารถนำเสนอความเห็นมายังคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ตลอดเวลา ซึ่งยินดีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"