ในบทบาท 'ศรีสุวรรณ จรรยา'


เพิ่มเพื่อน    

      ผมชักไม่แน่ใจ.........?

      ว่าบทบาทที่ "นายศรีสุวรรณ จรรยา" ทำอยู่ทุกวันนี้ ระหว่าง

      "กิจกรรมทางสังคม"

      กับ "อาชีพการงาน"

      อะไรตรงตัวที่สุด?

      "คม.ชัด.ลึก" ฉบับ ๑๘ เม.ย.๖๐ เรียบเรียงประวัตินายศรีสุวรรณไว้ว่า

      “ศรีสุวรรณ จรรยา” เป็นลูกชาวนา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก แต่พ่อชอบอ่านหนังสือพิมพ์ ติดตามข่าวสารบ้านเมืองตลอดเวลา

        จึงเป็นที่พึ่งชาวบ้าน ยามต้องไปทำธุระที่อำเภอหรือจังหวัด รวมถึงขึ้นโรงขึ้นศาล

        จบชั้นมัธยมโรงเรียนวังทองพิทยาคม ไปต่อ ปวส.ด้านเกษตร ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเกษตรพิษณุโลก “เกษตรบ้านกร่าง” ก่อนไปศึกษาต่อที่ ม.แม่โจ้

        ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ศรีสุวรรณเป็นนายกองค์การนักศึกษา ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ช่วยเหลือชาวบ้าน

        ช่วงนั้นมีประสบการณ์ในการนำนักศึกษา นำชาวบ้านหน้ามหาวิทยาลัยประท้วง ขับไล่ผู้ว่าฯ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากไม่มาดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยของนักศึกษาและชาวบ้าน

        เมื่อจบแม่โจ้ ศรีสุวรรณทำงานเป็นเอ็นจีโอ สังกัดมูลนิธิเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม รณรงค์ด้านสังคมโดยตลอด ขณะเดียวกัน ไปช่วยงานสภาทนายความตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ เมื่อสภาทนายความเริ่มตั้งแผนกสิ่งแวดล้อม ก็ช่วยงานในส่วนคดีสิ่งแวดล้อม

        ทั้งคดีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ คดีท่าเรือคลองเตย คดีสารตะกั่วคลิตี้อะไรต่างๆ ช่วยให้คำแนะนำ ให้ข้อปรึกษาทางด้านสิ่งแวดล้อม

        ปี ๒๕๔๘ มีปัญหาโลกร้อน ศรีสุวรรณฟอร์มทีมงานที่อยู่ในสภาทนายความ ก่อตั้ง “สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน” จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเมื่อปี ๒๕๕๐

        คดีที่ทำให้คนรู้จักชื่อศรีสุวรรณมากขึ้น คือ กรณีคำพิพากษาองค์คณะตุลาการศาลปกครองกลาง ที่ให้รัฐบาลทำประชาพิจารณ์ รับฟังความเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยอง ปี ๕๑-๕๒

        เคยลงสมัคร ส.ว.แต่สอบตก ก่อนหน้านั้น เป็นรองหัวหน้าพรรครักษ์ถิ่นไทย แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง

        หมวกอีกใบของศรีสุวรรณ คือ "เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ"

        เป็นตัวตั้งตัวตีตรวจสอบการใช้อำนาจของภาครัฐ ผ่าน ป.ป.ช.และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน.

        ครับ....

      ประวัติสำแดงตัวตนปัจจุบันนายศรีสุวรรณได้ดี แต่ระยะหลังๆ ที่นายศรีสุวรรณ "สลับหมวกเล่น" ก็อย่างที่ว่า

      "ชักไม่แน่ใจ"?

      อย่างล่าสุด เมื่อ ๑ ต.ค.๖๑ กรณีรถตู้โดยสาร อายุใช้งานเกิน ๑๐ ปี ขึ้นไป

      "กรมการขนส่งทางบก" สั่งให้หยุดให้บริการ ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๖๑ เป็นต้นไป

      นายศรีสุวรรณ ก็สวมหมวก "เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย"

      นำผู้ประกอบการ ไปร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา

      คำร้องขอมี ๒ เรื่อง.........

      ๑.ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีกรมการขนส่งทางบก อนุญาตให้รถตู้หมวด ๑ ซึ่งวิ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล  

      ขยายอายุการวิ่งบริการออกไปอีก ๕ ปี

      เพื่อรอรถไฟฟ้าสายต่างๆ ก่อสร้างให้แล้วเสร็จก่อน

      ๒.ในส่วนของรถตู้หมวด ๒ ซึ่งวิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด

      ขอให้ยกเลิก "การบังคับ" ให้รถตู้เปลี่ยนเป็นรถมินิบัส

      โดยขอให้เป็นการเปลี่ยน "ด้วยความสมัครใจ" แทน

      เพราะรถมินิบัสมีราคาสูงกว่าหลายเท่า ชาวรถตู้ส่วนใหญ่ไม่มีเงินเพียงพอที่จะเปลี่ยนรถได้ อาจก่อให้เกิดการกู้หนี้ยืมสิน

      ศาลพิจารณาคำร้องแล้ว มีคำสั่ง "ไม่รับคำร้อง" ขอไต่สวนฉุกเฉิน

      เมื่อศาลมีคำสั่ง นายศรีสุวรรณก็ต้องรู้ความเหมาะ-ความควรในการกระทำ

      แต่นี่ไม่งั้น เมื่อศาลไม่รับไต่สวนฉุกเฉิน

      วันรุ่งขึ้น ๒ ตุลา

      นายศรีสุวรรณ กลับนำผู้ประกอบการรถตู้ไปยื่นคำร้องถึงนายกฯ ประยุทธ์ ที่ทำเนียบฯ

      อ้างปัญหาห้ามรถตู้อายุเกิน ๑๐ ปีวิ่งรับคนโดยสารเป็นปัญหาเร่งด่วน

      ให้นายกฯ ใช้ มาตรา ๔๔ ออกคำสั่ง ให้เป็นไปตามที่พวกเขาต้องการตาม ๒ ข้อ นั้น!

      อืมมมมม...

      นายศรีสุวรรณทำผมงงแล้ว-งงอีก คนระดับเลขาฯ สมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย

      นำเรื่องที่ฝ่ายตุลาการ คือศาลมีคำตัดสินแล้ว แต่ไม่เป็นดังใจ ไปร้องกับฝ่ายบริหาร คือนายกฯ ต่อ

      ให้ใช้อำนาจพิเศษ ไปลบล้างคำสั่งศาล!?

      แค่นี้ก็ดูพิลึกอยู่แล้ว......

      แต่ที่นายศรีสุวรรณ กล่าวสำทับในการไปให้นายกฯ ใช้ ม.๔๔ ฟังแล้ว มันพิกล-พิการ บอกถึงตัวตนแท้จริงนายศรีสุวรรณ และสะท้อนให้รู้ถึงว่า

      สังคมประชาธิปไตย ในระบบเลือกตั้ง เขาเลือก ส.ส.เข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภากันด้วยทัศนคติไหน?

      ลองอ่านกันดูนะ.........

      "การมายื่นคำร้อง หากนายกรัฐมนตรีไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

        ชาวรถตู้และครอบครัวทั่วประเทศ ที่มีอยู่ราว ๑๖,๐๐๐ คัน หรือเกือบ ๑๐๐,๐๐๐ คน

        จะบอกกันปากต่อปาก ไม่เลือกพรรคการเมืองที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรี

      และเลือกให้พรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุนนายกฯ เข้ามาทำหน้าที่รัฐบาลแทน"

        ไม่ต้องอธิบายอะไรอีก ทุกอย่าง "ตรงตัว" ตามนั้น ในคำนิยามระหว่าง หน้าที่เพื่อสังคม กับอาชีพ นำร้อง-นำประท้วง!

      ประเด็นแรก รถตู้โดยสาร เขาให้วิ่งได้ ๑๐ ปี จากนั้น ต้องเปลี่ยนเป็นมินิบัส

      ข้อนี้ ถามว่า ผู้ประกอบการทุกคนทราบมั้ย ยอมรับ ยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขของ "กรมการขนส่งทางบก" มั้ย?

      คำตอบ คือ ทุกคนทราบก่อนซื้อรถด้วยซ้ำ........

      กรมการขนส่งทางบก มีกฎ-มีระเบียบอย่างไร ทุกคนยอมรับ-ยอมปฏิบัติได้ทั้งนั้น

      ขออย่างเดียว ขอให้กูได้รับอนุญาตเป็นรถตู้โดยสารออกวิ่งก่อนเท่านั้น!

      นี่คือ "วัฒนธรรมเลว" เกิดจากสมเกื้อ-เอื้อประโยชน์ระหว่างระบบรัฐ-ระบบราษฎร์ ที่ฝังรากเป็นทัศนคติสืบๆ ต่อถึงทุกวันนี้

      "เซ็นๆ ไปเหอะ เอางานมาก่อนเหอะ แล้วค่อยไปวิ่งเต้นเปลี่ยนแปลงทีหลัง"!

      การอ้างจน การจับประชาชนเป็นตัวประกัน เพื่อเรียกร้อง ต่อรองกับภาครัฐ ภาคราษฎร์ ในเรื่องต่างๆ ที่เห็นประจำ

      ก็จากวัฒนธรรมเลวฝังรากนี่แหละ

      ยกตัวอย่างชัดๆ ปัจจุบันวันนี้เลย อย่างรถตู้โดยสารนี่ก็ดี อย่างไม้สักประดับอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ก็ดี เทอร์มินอล ๒ สุวรรณภูมิก็ดี

      "เอามาก่อน ไปต่อรอง-ร้องขอกันทีหลัง" สไตล์นี้ทั้งนั้น!

      รถตู้โดยสาร เขาบอกล่วงหน้า ๑๐ ปี เท่ากับให้เวลา ๑๐ ปี รักจะอยู่ในอาชีพนี้ ต้องเปลี่ยนจากรถตู้เป็นมินิบัส

      เฉย ไม่กระดิก กูไม่สน..........

      พอครบกำหนด ๑๐ ปีเท่านั้น ร้องทุกข์ ร้องศาล อ้างจน อ้างเลี้ยงลูก-เลี้ยงเมีย อ้างไม่มีเงินเปลี่ยน

      แล้วสุดท้าย ก็แก้ผ้าในวงประชาธิปไตยเลือกตั้งให้เห็น "สันดานแท้"

      ไม่โอ๋..ไม่ตามใจกู พวกกูไม่เลือกมึงนะ!

      เนี่ย...ที่คนในบ้านเมืองไร้สำนึก ก็เพราะคนในระบบเลือกตั้งบางส่วน เอากฎกติกาบ้านเมืองไปแลกคะแนน จนชิน

      เอะอะ รวมตัวประท้วง เรียกร้อง

      ทุกวันนี้ จึงเกิดอาชีพใหม่ที่เฟื่องฟูมาก คืออาชีพ "รับจ้างประท้วง-รับจ้างร้องเรียน"

      ไม่ต้องทำอะไรมาก รวบรวมชาวบ้านไว้ซัก ๕๐ คน ๑๐๐ คน

      พอมีงาน ส่วนหนึ่งให้ถือป้าย อีกส่วนให้เป็นลูกหาบตามโห่ ตามแห่ ประท้วงโน่น ร้องเรียน-ชุมนุมนี่

      นักการเมืองบางคนตัวดีนัก จ้างให้ยกขบวนมาประท้วงตัวเองก็มี เหตุผลคือ เรื่องที่กูจะเขมือบ แต่ยังไม่เนียน พอมีขบวนประท้วง ก็ฉวยโอกาสเป็นว่า........

      ประชาชนเรียกร้อง ประชาชนในพื้นที่ต้องการ นี่..มันเป็นเช่นนี้

      เรื่องรถตู้อายุเกิน ๑๐ ปี จะขอต่อ มันชัดในวัฒนธรรมน่ารังกียจ

      ศาลท่านวินิจฉัยแล้ว นายศรีสุวรรณต้องฟัง ไม่ใช่ดันทุรังต่อ จะให้นายกฯ ใช้ ม.๔๔

      ทีกับเรื่องอื่น เห็นขวางแทบทุกเรื่องที่นายกฯ ใช้ ม.๔๔

      แล้วมีเหตุผลอะไร.......

      กับเรื่องรถตู้โดยสารที่เอาแต่ได้ โดยไม่เอื้อเฟื้อกฎหมายและไม่คำนึงความปลอดภัยผู้โดยสาร ที่นายศรีสุวรรณกลับไปเคี่ยวเข็ญให้นายกฯ ใช้ ม.๔๔?

      นี่มันไม่ใช่พิทักษ์รัฐธรรมนูญแล้ว หรือเป็นงานงอก ที่เรียกไซด์ไลน์?

      ยิ่งยกเอาการเลือกตั้งมาแลกเปลี่ยน-ต่อรองกับการใช้ ม.๔๔ ของนายกฯ บอกได้เลยว่า........

      นายศรีสุวรรณ คุณไม่มีราคาที่จะอ้างในการทำใดๆ ว่าเพื่อสังคมได้อีกเลย!

      เพื่อตัวเอง เพื่อใครบางพวก-บางคน เฉพาะกิจ เฉพาะงาน นั่นแหละตรงตัวที่สุด!

      และอย่างเรื่อง ที่นายศรีสุวรรณสวมหมวก "สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน" 

      ออกแถลงการณ์สมาคมฯ เมื่อ ๓๐ กันยา เรื่อง ต้นสักประดับภายในอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ นั่นเช่นกัน

      ผู้รับเหมา ตอนประมูลงาน ทุกอย่างได้หมดสดชื่น แต่พอได้งานแล้ว

      โอ้โฮ..ไอ้นั่นไม่ดี ไอ้นี่ต้องเปลี่ยน เข้าตำรา "เอางานมาก่อน ต่อรองทีหลัง" เปี๊ยบ

      กลายเป็น "ภาวะโลกร้อน" ให้นายศรีสุวรรณต้องออกโรงถึงขั้นขู่จะฟ้องศาลอีกจนได้

      แต่ทำไมเพิ่งร้อน ต่อเนื่องจาก "นายอนุทิน ชาญวีรกูล" แห่งซิโน-ไทย เขาร้อน ก็ให้สงสัย?

      ก็ฝากสงสัยไว้ก่อนแล้วกัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"