ในปีพุทธศักราช 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถแห่งราชอาณาจักรไทย ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปรวม 15 ประเทศ ในอีกสองปีต่อมา เสด็จฯ เยือนประเทศนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย และอีกปีถัดมาก็ได้เสด็จฯ สหรัฐอเมริกาเป็นครั้งที่สอง พร้อมทั้งประเทศแคนาดาและอิหร่าน
ทั้งหมดเหล่านี้นับเป็นการเสด็จฯ เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีในระดับประเทศครั้งใหญ่ตามโครงการของรัฐบาลไทย อันได้ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักและชื่นชมของนานาอารยประเทศ สืบสานเป็นความสัมพันธ์ที่ดีและยั่งยืนมาจนบัดนี้
นับเป็นเหตุการณ์สำคัญฉากหนึ่งในบันทึกประวัติศาสตร์ไทย เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บันทึกความทรงจำการเสด็จพระราชดำเนินในครั้งกระนั้น
ในเวลาต่อมา ทำให้ภาพเหตุการณ์การเสด็จฯ เยือนต่างประเทศในแต่ละครั้ง ในหน้าประวัติศาสตร์อันมีความหมายและมีคุณค่ายิ่งเหล่านี้มีความชัดเจนทั้ง เบื้องหน้า.....ที่งดงาม ภูมิฐาน สมพระเกียรติยศ และธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของชาติ กับเบื้องหลัง....อันเต็มไปด้วยความตรากตรำพระวรกาย และบ่อยครั้ง ที่เป็นความกดดัน เหนื่อยหนักพระราชหฤทัยของทั้งสองพระองค์....มากเกินกว่าที่จะมีผู้ใดคาดคิดหรือหยั่งถึง
สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงเรียบเรียงลำดับความพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ด้วยพระโวหารเรียบง่าย สละสลวย เกลี้ยงเกลา ไม่รกด้วยถ้อยคำเกินจำเป็นหรือศัพท์แสงซับซ้อน ดังเช่นเมื่อต้องทรงเตรียมการเรื่องฉลองพระองค์ ซึ่งมีปัญหาว่าจะทรงฉลองพระองค์ชุดสากลนิยมที่เหมาะควรอย่างไร ตลอดรวมถึงชุดประจำชาติซึ่งขณะนั้นยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจนแน่นอน
ทรงพระราชปรารภว่า แต่ไหนแต่ไรมา คนไทยเรามักชอบแต่งกายตามสบาย ให้เหมาะแก่ความสะดวก
ความประหยัด และอากาศของเมืองเราเท่านั้น ฉะนั้น เครื่องแต่งกายประจำชาติของเราจึงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่มีประจำอยู่เป็นแบบฉบับอย่างของเพื่อนบ้านใกล้เคียงจนเป็นที่รู้จักแพร่หลายกันทั่วโลก เช่น ส่าหรีของชาวอินเดีย เครื่องแต่งกายของชาวจีน และกิโมโนของชาวญี่ปุ่น เป็นต้น
ในที่สุด ฉลองพระองค์ “ชุดไทย” ก็มีขึ้น ดังความในพระราชนิพนธ์
...ข้าพเจ้าได้ขอให้หม่อมหลวงมณีรัตน์ บุนนาค ไปพบอาจารย์ผู้ใหญ่ที่มีความรู้ทางประวัติศาสตร์ไทย ให้ช่วยกันค้นคว้าเครื่องแต่งกายแบบไทยสมัยต่างๆ มาดูกันแล้วให้อุไร ลืออำรุง ช่างตัดเสื้อ ที่ตัดให้ข้าพเจ้ามานานปี ช่วยเลือกแบบต่างๆ ที่ได้มาครั้งนั้น มาประสมประเสกันจนเกิดมีแบบเสื้อ ชุดไทยขึ้นหลายชุด...
พระราชนิพนธ์ตอนนี้ยังนับเป็นการเก็บบันทึกประวัติความเป็นมาของเครื่องแต่งกายสตรีไทย ชุดประจำชาติ ซึ่งแพร่หลายเป็นที่นิยมมาถึงปัจจุบัน เช่นชุดไทยจิตรลดา ไทยจักรี ไทยบรมพิมาน เป็นต้น
ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศในปี พ.ศ.2503 ซึ่งเป็นเนื้อหาส่วนแรกของพระราชนิพนธ์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงเป็นจุดสนใจอย่างยิ่ง มีปรากฏแพร่หลายทั้งข่าวและพระบรมฉายาลักษณ์ด้วยความชื่นชม ทั้งถวายพระราชสดุดีในพระสิริโฉมและพระราชจริยาวัตรอันงดงาม ดังคำกราบบังคมทูลของพลตรีอำนวย ไชยโรจน์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสขณะนั้น
“...ทั้งข่าวทั้งพระบรมรูปพิมพ์แพร่กระจายไปทั่วจักรวาลและยอมรับกันแล้วว่าทรงเป็นพระราชินีที่สวยที่สุดในโลก...”
เมื่อเสด็จฯ โฮโนลูลูนั้น หนังสือพิมพ์ที่นั่นพากันแซ่ซ้องถวายพระเกียรติโดยพร้อมเพรียง ดังที่พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตเล่าไว้หลายตอนในพระนิพนธ์ของพระองค์ท่าน ดังเช่นความตอนหนึ่ง ทรงพระนิพนธ์ถึงหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่ถวายราชสดุดีว่า
“ ...เมื่อเสด็จฯ เยี่ยมโรงพยาบาล สมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงชนะใจของคนไข้ พวกพยาบาลและเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลด้วยรอยพระสรวลที่แจ่มใสและพระมารยาทอันนุ่มนวลของท่าน...”
ในบันทึกของคุณหญิงพึงจิตต์ ศุภมิตร คุณข้าหลวงที่ได้ตามเสด็จฯ ไปถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาท ได้เล่าถึงความชื่นชมที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงได้รับจากชาวต่างชาติไว้หลายตอน เช่น
...ชาวเยอรมันที่ยืนเฝ้าฯ อยู่ ณ ที่นั้น ก็ตบมือกันกราว ต้อนรับท่าน พร้อมกับขานพระนาม Königin Sirikit กันเซ็งแซ่...
...ตอนบ่าย เสด็จฯ กลับเข้าโฮเต็ล ได้ยินเสียงขานพระนาม ต้องเสด็จฯ ไปปรากฏพระองค์ที่หน้ามุขถึงสองครั้ง ได้ยินเสียงโห่ร้องกันด้วยความยินดี แล้วต่างก็รอเฝ้าฯ ไม่ยอมกลับ...
และหลังจากที่เสด็จฯ ออกไปในพระราชกิจต่างๆแล้วเสด็จฯ กลับโรงแรมที่ประทับ ชาวเยอรมันจำนวนมากก็ยังคงรอเฝ้าฯ อยู่นั่นเอง “...ขากลับต้องฝ่าฝูงคนหน้าโฮเต็ลเข้ามาเพราะยังคงยืนคอยกันอย่างเหนียวแน่น ราวกับว่าคนทั้งเมืองจะมารวมกันอยู่ ณ ที่นั้น ...”
ขณะที่ทรงพระนิพนธ์เรื่องนี้ ยังทรงดำรงพระอิสริยยศ “หม่อมเจ้า”
พระนิพนธ์เรื่อง “ตามเสด็จอเมริกา จดหมายถึงเพื่อน” ของพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตมีบันทึกเหตุการณ์เมื่อเสด็จฯ บอสตันว่า “หนังสือทุกฉบับเมื่อเช้านี้ชมเชยฉลองพระองค์เมื่อคืนกันตั้งมากมาย...” และทรงคัดลอกข้อความแสดงความชื่นชมนี้จากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า
“ fulfill the most imaginative concept of beautiful oriental royalty”8
อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระนางเจ้าฯ มิได้ทรงบันทึกถึงพระองค์เองในเรื่องเหล่านี้ หากทรงเล่าถึงพระราชกรณียกิจต่างๆ ซึ่งคงล้วนเป็นเรื่องประทับพระราชหฤทัย แม้จะมิได้ทรงเก็บรายละเอียดครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะช่วงแรกของพระราชนิพนธ์ ซึ่งทรงเรียบเรียงขึ้นหลังเหตุการณ์ 8 ปีล่วงแล้ว แต่กระนั้น ก็มีเนื้อ ความเพียงพอที่จะทำให้พสกนิกรผู้อ่านได้หยั่งถึงพระราชภาระอันแสนหนัก
เริ่มตั้งแต่ความตรากตรำพระวรกาย เนื่องด้วยต้องเสด็จฯ ออกงานทุกวันและทั้งวัน เครื่องบินในขณะนั้นก็ยังไม่สะดวกสบายรวดเร็วดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน บางครั้ง ทรงเมาเครื่องบินอย่างหนัก แต่ก็ต้องพร้อมที่จะแย้มพระสรวล พระราชทานสัมภาษณ์ ฯลฯ ทันทีที่เสด็จฯ ลงจากเครื่องบิน
...เรือบินตกหลุมอากาศฮวบๆ ฮาบๆ มากว่าครึ่งทาง ประกอบกับข้าพเจ้ากำลังอ่อนเพลียอยู่แล้ว เพราะอดนอนติดต่อกันมานานหลายอาทิตย์ จึงรู้สึกเวียนศีรษะไม่สบาย เมาเรือบินมาก ถึงแม้จะทำตามที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสอนไว้คือ ให้ใช้อำนาจจิตข่มไม่ให้ยอมแพ้ แต่กระนั้น ก็ยังกระดุกกระดิกไม่ได้เลย ศีรษะพิงพนักเก้าอี้หลับตาแน่น พอเรือบินบินวนจะลงที่สนามบินลาการ์เดีย เมืองนิวยอร์กเท่านั้น อำนาจจิตของข้าพเจ้าก็พังทลายลง ข้าพเจ้าวิ่งเข้าห้องน้ำแทบไม่ทัน
มิไยใครจะพูดกระไรอยู่หน้าห้อง จะถามข่าวไม่ว่าภาษาไทยภาษาเทศ หรือเรียกตัวกลับไปรัดเข็มขัดตามคำสั่งของกัปตัน ข้าพเจ้าก็ไม่ไหวทั้งสิ้น ยืนเกาะอ่างน้ำอยู่อย่างนั้น เมื่อโลกหายหมุนแล้วสักครู่จึงได้ยินเสียงเคาะประตู และมีพระสุรเสียงเรียกหา เมื่อข้าพเจ้าเปิดประตูออกมา ก็เห็นเรือบินพระที่นั่งจอดอยู่หน้าพรมแดง ประตูเปิดแล้วเผยให้เห็นคนสำคัญของนิวยอร์กกำลังยืนเข้าแถวยาวอยู่ริมบันไดเรือบินเต็มไปหมด
... ข้าพเจ้ารู้สึกตัวว่าไม่สบายเลย ใจยังสั่นริกๆ ขาก็ยังสั่น มือเย็นเฉียบ แถมยังเวียนศีรษะอยู่ด้วย แต่เมื่อใครส่งกระเป๋าและถุงมือให้ ข้าพเจ้าก็รับกระเป๋ามาถือและสวมถุงมือเหมือนตุ๊กตาไขกล ก้าวตามเสด็จพระเจ้าอยู่หัวลงบันไดเรือบิน ... หูข้าพเจ้าแว่วเสียงร้องสั่งว่า “ควีน ควีนยิ้มหน่อยซิ”
... มองไปก็เห็นพระเจ้าอยู่หัวทรงยืนอยู่ท่ามกลางนักหนังสือพิมพ์ซึ่งล้อมพระองค์อยู่เป็นวงใหญ่…ทั้งๆ ที่ยังมึนและเวียนศีรษะอยู่นั้น ก็อุตส่าห์มีใครคนหนึ่งถือเครื่องขยายอันเล็กๆ มาจ่อปากข้าพเจ้าบ้าง...
ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประชวรพระโรคหวัด มีพระอาการไข้ด้วย แต่ก็ต้องเสด็จฯ ตามหมายกำหนดการพระราชภารกิจ
...แต่กระนั้น ก็ทรงฝืนพระทัยทำกระปรี้กระเปร่าเสด็จฯ ออกงานทุกงานไม่เว้นว่าง...ทรงคุยภาษาฝรั่งเศสที อังกฤษที ในวันหนึ่งๆ ต้องประทานพระหัตถ์ให้คนจับเห็นจะร่วมพันคน ข้าพเจ้าสงสารเห็นพระทัยท่านยิ่งนัก ถ้าข้าพเจ้าเจ็บถึงขนาดนั้น ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะทนสู้ไหวหรือไม่ ยิ่งเห็นพระพักตร์พระเจ้าอยู่หัวซีดเซียว พระเนตรปรือเพราะพิษไข้ ข้าพเจ้าก็ยิ่งกลุ้มใจ...นึกถึงประโยคที่พวกฝรั่งชอบพูด “as happy as a king” แล้ว ครั้งนั้นข้าพเจ้าอยากจะหัวเราะก๊ากออกมาอย่างเยาะเย้ยและขมขื่น....
พระราชนิพนธ์ยังสะท้อนถึงพระราชภาระยุ่งยากในเบื้องหลังรอยพระสรวลและมิตรไมตรีอันอบอุ่นจากแต่ละเมืองที่ถวายการต้อนรับ เป็นปกติธรรมดาที่จะต้องมีการกราบบังคมทูลและมีพระราชดำรัสตอบ ดังนั้น ระหว่างการเดินทางบนเครื่องบิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงพักผ่อนพระราชอิริยาบถเท่าใดนัก เพราะต้องทรงเตรียมพระราชดำรัส ที่แม้ฝ่ายราชเลขาฯ จะจัดเตรียมถวาย แต่ก็โปรดที่จะทอดพระเนตรก่อนเพื่อทรงแก้ไข หรือบางครั้งก็ทรงพระราชนิพนธ์ใหม่ทั้งฉบับ นอกจากนี้ ภาษาที่ทรงใช้ในพระราชดำรัส นอกจากภาษาอังกฤษแล้ว ก็อาจเป็นภาษาฝรั่งเศส และบางครั้งก็เป็นพระราชดำรัสสดคล้อยตามความนิยมของเจ้าบ้าน
...หลังจากรับประทานอาหารคํ่า ข้าพเจ้าก็รีบเข้านอนพักทันที พอเครื่องบินถึงกวมลุกขึ้นมา ยังเห็นพระเจ้าอยู่หัวประทับแก้พระราชดำรัสอยู่ ยังแต่งพระองค์ suit ชุดเดิมที่ออกจากดอนเมือง ไม่ยอมเข้าบรรทมสักที ได้ความว่าเข้าบรรทมราวๆ ตีสาม
...งานรับรองแบบ reception นี้ ต้องเสด็จฯ อยู่ตลอดเวลา เป็นงานที่ให้ประโยชน์ในทางผูกสัมพันธไมตรีดีมาก เพราะเป็นงานที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนส่วนมากในเวลารวดเร็ว เพราะงานชนิดนี้ เป็นงานยืนโดยเฉพาะ ไม่มีการตั้งเก้าอี้เลย ยืนกันเป็นชั่วโมงๆ แล้วก็เดินเข้าไปในหมู่คน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างรวดเร็ว พอเสร็จงานทำเอาขาอ่อนปวกเปียกไปหมด...
แม้จะทรงเหนื่อยล้าจากการเสด็จฯ ออกงานดังนี้ ก็ยังต้องทรงเตรียมพระราชดำรัสต่ออีกโดยมีพระกระแสรับสั่งว่า “...ต้องเตรียมพร้อมไว้เสมอ แต่บางครั้ง ก็ไม่ได้ใช้ เพราะเวลาเขากล่าวสดๆ มา ใครจะควักกระดาษขึ้นมาอ่านได้ เราก็ต้องว่าสดๆ ตอบเขาไปเหมือนกัน”
ในการเสด็จฯ แต่ละแห่ง ทั้งสองพระองค์ได้ทรงเผชิญสถานการณ์แตกต่างกันไป แม้ว่าโดยทั่วไปจะเป็นการถวายความชื่นชมยินดีอย่างสูงยิ่ง แต่ในบางแห่งก็มีกลุ่มผู้ไม่เป็นมิตรที่สามารถแสดงความไม่พอใจอย่างเปิดเผยตามแนวเสรีนิยมในประเทศของเขา โดยที่ภูมิหลัง
ขณะเสด็จพระราชดำเนินครั้งกระนั้น ก็คือทรงเป็นพระมหากษัตริย์จากประเทศเล็กๆ แถบเอเชียที่ไม่
เป็นที่รู้จัก แม้คราวเสด็จฯ แคนาดาในปี พ.ศ.2510 ก็ยังปรากฏในพระราชบันทึกว่า “...ชาวแคนาดารู้จักประเทศไทยน้อยมาก... ”
นอกจากนี้ ยังเป็นประเทศด้อยพัฒนาที่ต้องพึ่งพิงความช่วยเหลือจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ ได้แสดงถึงพระปรีชาสามารถและน้ำพระราชหฤทัยแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ทรงผ่านอุปสรรคปัญหาเหล่านั้น ได้อย่างสง่างาม สมพระเกียรติยศดังความบางตอนที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ ได้ทรงบันทึกไว้
...พระราชดำรัสวันนีดี้มาก รับสั่งสดๆ โดยไม่ทรงใช้กระดาษเลย ทรงเล่าถึงวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของไทยเราว่า เรามีเอกราช มีภาษาของเราเอง มีตัวหนังสือซึ่งคิดค้นขึ้นใช้เอง เราตั้งบทกฎหมายการปกครองของเราเอง ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมา 700 ปีกว่ามาแล้ว..
...เขาจึงกะกันว่าจะเดินออกจากที่ประชุมขณะที่มีพระราชดำรัส แต่ที่เขาไม่ได้ทำเช่นนั้น ก็เพราะว่าเขาเห็นพระเจ้าอยู่หัวทรงตบพระหัตถ์ให้เป็นเกียรติแก่เขา เขาเห็นว่าทรงเป็นผู้ที่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นที่สบพระทัยหรือไม่ เขาจึงอยากจะแสดงว่าเขาเองก็ยินดีที่จะยอมรับฟังความคิดเห็นของพระองค์ท่านบ้างเหมือนกัน...ทุกคนชอบพระราชดำรัสมาก จะเห็นได้จากการลุกขึ้น ยืนพรึ่บหมดแล้วตบมือถวายเป็นเวลานาน
นอกจากคุณค่าในฐานะเอกสารประวัติศาสตร์อันสำคัญยิ่งชิ้น หนึ่งของชาติแล้ว งานพระราชนิพนธ์ฉบับนี้ยังทำให้เห็นพระปรีชาสามารถในเชิงภาษาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ซึ่งนอกจากจะมีความสละสลวยไพเราะด้วยความกะทัดรัดเรียบง่ายดังกล่าวข้างต้น ยังทรงพระอักษรที่ “งาม” ด้วยพระอารมณ์ละเมียดละไม อันสะท้อนจากพระราชหฤทัยอ่อนโยน อ่อนหวานของพระองค์ท่าน ดังเช่นเมื่อทรงเล่าถึงชาวเมารีซึ่งแสดงความผูกพันอาลัยอาวรณ์ทั้งสองพระองค์เป็นอย่างยิ่ง
...มีผู้หญิงเมารีบางคนร้องเพลงพลางจ้องเราทั้ง สองไม่วางตา บางคนก็ร้องพลางทำหน้าเศร้าน้ำตาไหล บางคนก็ส่งจูบอย่างอาลัย บางคนวิ่งตามรถเราออกจากเมืองของชาวเมารีไปด้วยเสียงเพลงลาอันไพเราะยิ่งนัก เศร้าก็จริงอยู่ แต่เต็มไปด้วยความหวังว่าจะได้พบกันใหม่ภายหน้า
พระราชอนุสรณ์ฉบับนี้จึงไม่เพียงแต่จะเป็นหน้าบันทึกเหตุการณ์การเปิดตัวให้เป็นที่รู้จักในประชาคมโลกครั้ง ประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเท่านั้น หากยังเป็นการจดจารจารึกพระราชภารกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ประจักษ์ชัดในความที่ทรงเป็น “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก ”
-----------
Cr: บทความเฉลิมพระเกียรติพระราชนิพนธ์ “ความทรงจำในการตามเสด็จต่างประเทศทางราชการ”พระราชานุสรณ์อันลํ้าเลอค่าแห่งประวัติศาสตร์สยาม วนิดา บำรุงไทย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |