ยกฟ้อง'แทนเทือก'รุกเขาแพง


เพิ่มเพื่อน    

    ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ยกฟ้อง "แทน เทือกสุบรรณ" กับพวก ไม่รุกป่าเขาแพง ชี้พยานหลักฐานไม่เพียงพอว่าเป็นพื้นที่ป่า ขณะที่อัยการคดีพิเศษ  เผยจะดำเนินการคัดคำพิพากษาฉบับสมบูรณ์โดยเร็ว เพื่อมาศึกษาว่าคำพิพากษาดังกล่าวชอบด้วยเหตุผลหรือไม่อย่างไร ถ้าอัยการเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ก็อาจจะไม่ยื่นฎีกา
    วันที่ 2 ต.ค. ที่ห้องพิจารณา 910 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีรุกป่าเขาแพง หมายเลขดำ อ.3534/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายพรชัย ฟ้าทวีพร อายุ 53 ปี ผจก.ห้างหุ้นส่วนเรืองปัญญาคอนสตรัคชั่น, นายสามารถ หรือโกเข็ก เรืองศรี อายุ 61 ปี หุ้นส่วน หจก.เรืองปัญญาคอนสตรัคชั่น และนายหน้าขายที่ดิน, นายแทน เทือกสุบรรณ อายุ 37 ปี บุตรชายของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. และนายบรรเจิด เหล่าปิยะสกุล อายุ 65 ปี อดีตเลขานุการส่วนตัวของนายสุเทพ เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถางป่า หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองและผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่อสร้าง หรือเผาป่าในที่ดินของรัฐโดยมิได้มีสิทธิครอบครองหรือไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ และ พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2518 มาตรา 22
    กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 27 ก.ย.2543-5 ต.ค.2544 ต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ทำลาย แผ้วถางป่าเขาแพง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 31 ไร่ 2 งาน 97 ตารางวา ส่วนจำเลยที่ 3-4 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ทำลาย แผ้วถางป่าเขาแพง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 14 ไร่ ด้วยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุเกิดที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
    คดีนี้เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2559 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสี่กระทำผิด โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ และเป็นสมบัติที่ล้ำค่าของชาติ ควรที่ประชาชนจะต้องร่วมกันหวงแหน บำรุงรักษาให้อุดมสมบูรณ์เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ไม่ให้เป็นของส่วนตัวแก่ผู้ใด การกระทำของจำเลยทั้งสี่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมของดิน น้ำ อากาศ และป่าไม้ ทั้งโดยตรงและทางอ้อม อันเป็นต้นเหตุของความแห้งแล้ง และภัยพิบัติจากน้ำป่าไหลหลาก
    พิพากษาให้จำคุกนายพงษ์ชัยและนายสามารถจำเลยที่ 1-2 คนละ 5 ปี ฐานห้ามมิให้ผู้ใด ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือหรือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น เว้นแต่จะกระทำภายในเขตที่ได้จำแนกไว้ฯ ซึ่งกระทำนั้นได้ทำเกินเนื้อที่ 25 ไร่ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคสอง ส่วนนายแทนและนายบรรเจิด จำเลยที่ 3-4 จำคุกคนละ 3 ปี ฐานเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้างและผู้ใด ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือหรือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น เว้นแต่จะกระทำภายในเขตที่ได้จำแนกไว้ อันเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ และ พ.ร.บ.ป่าไม้  มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่ง ให้ลงโทษความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักสุด สภาพความผิดเป็นเรื่องร้ายแรง จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ นอกจากนี้ยังให้จำเลยทั้งสี่ คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยทั้งสี่ออกจากที่ดินและป่าไม้บริเวณที่เกิดเหตุทั้งหมด ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
    วันนี้จำเลยทั้งสี่ที่ได้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ เดินทางมาศาล  
    ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า ที่จำเลยทั้งสี่ยื่นอุทธรณ์ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้น เห็นว่าการบรรยายฟ้องของโจทก์เป็นเพียงหยิบยกเอาถ้อยคำของตัวบทกฎหมายแต่ละฉบับมาบรรยาย เพื่อให้ครบองค์ประกอบความผิดเท่านั้น มิได้บรรยายข้อเท็จจริงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1-2 กระทำอย่างไร ที่โจทก์ถือว่าเป็นการยึดถือครอบครองป่า ลำพังการเข้าไปในป่าย่อมไม่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการยึดถือครอบครอง ส่วนการก่อสร้างแผ้วถางหรือกระทำอันเป็นการทำลายป่า โจทก์มิได้บรรยายข้อเท็จจริงให้เห็นว่าจำเลย 1-2 ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างประเภทใด ขนาดและจำนวนเท่าใด หรือตัดต้นไม้ หรือทำให้ป่าเสื่อมสภาพ จึงเป็นคำฟ้องที่มิได้บรรยายการกระทำ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ในข้อนี้ไม่เคลือบคลุมนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย เมื่อได้ฟังเช่นนี้ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยที่ 1-2 อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ส่วนคำฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3-4 นั้น มีรายละเอียดชัดเจนพอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ที่จะให้จำเลยทราบถึงพฤติการณ์ที่กล่าวหาการบุกรุกที่ดินแล้วและมีการสร้างอ่างเก็บน้ำพื้นที่ 14 ไร่ ยาวประมาณ 90 เมตร ความลึก 10 เมตร อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3-4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น  
    การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่นั้น เห็นว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดิน พนักงานสอบสวนดีเอสไอ เจ้าพนักงานเทศบาลเกาะสมุย และชาวบ้านเจ้าของที่ดิน รับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า ก่อนเกิดเหตุชาวบ้านก็ได้ถือครองที่ดินโดยมีหนังสือทำประโยชน์ สค.1 และได้มีการปลูกพื้นผลทางการเกษตร เช่น มะพร้าว มะม่วงหิมพานต์ อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ที่ดินที่พวกจำเลยเข้าไปสร้างอ่างเก็บน้ำและถนนคอนกรีต ก็มีพื้นที่ที่ดินข้างเคียงติดกับของชาวบ้าน โดยบริเวณอ่างเก็บน้ำก็ได้มีการปลูกพืชผลทางการเกษตรบางส่วนเช่นกัน และส่วนของที่ดินที่มีการก่อสร้างถนนคอนกรีตดังกล่าวก็ยังมีบริษัทเอกชนอื่นร่วมถือครองด้วย กรณีจึงไม่ใช่ที่ดินรกร้างหรือไม่มีผู้ครอบครอง อีกทั้งที่ผ่านมาก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าอธิบดีกรมที่ดินได้สั่งเพิกถอนการออกหนังสือครอบครองที่ดิน เพราะจะเป็นที่ดินรัฐหรือที่ป่า ทั้งนี้ คำนิยามของป่าตามกฎหมาย ก็จะต้องเป็นที่ซึ่งบุคคลไม่มีกรรมสิทธิ์และไม่มีเอกสารสิทธิครอบครอง
    สำหรับกรณีพยานโจทก์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์สภาพการใช้ที่ดินจากภาพถ่ายทางอากาศและข้อมูลจากดาวเทียม ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรมด้านวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศและแผนที่ เบิกความว่า เมื่อปี 2553 ขณะดำรงตำแหน่ง ผอ.ส่วนพิสูจน์ที่ดิน ได้ไปช่วยราชการที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปช่วยอ่านแปลพื้นที่ เนื่องจากมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ พบว่าสภาพที่ดินของที่พิพาท ด้านทิศตะวันออกถึงปลายแหลมของรูปโฉนดที่ดิน มีลักษณะเป็นป่า ในเขตโฉนดที่ดินจะมีไม้ขนาดกลางและขนาดเล็ก ส่วนที่อยู่นอกโฉนดที่ดินจะเป็นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม้ดังกล่าวเป็นป่าดิบชื้น ไม่ใช่พืชเกษตร ซึ่งพื้นที่ที่อยู่รอบแนวโฉนดที่ดินเหนือขึ้นไปก็เป็นป่าดิบชื้น และพื้นที่บริเวณอื่นโดยรอบก็มีลักษณะเป็นป่าดิบชื้น ส่วนพื้นที่นอก นส.3 ก. ที่อยู่ทิศใต้ของยอดปลายแหลม ส่วนใหญ่มีการปลูกมะพร้าว มะม่วงหิมพานต์ แทรกอยู่นั้น เห็นว่า แม้พยานเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญเบิกความสภาพที่ดินตามที่ลงไปดูพื้นที่และอธิบายสภาพของป่าดิบชื้น ความแตกต่างระหว่างป่าสมบูรณ์กับป่าทุติยภูมิตามความรู้ แต่ปัญหาที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นป่าหรือไม่ ย่อมต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) ที่บัญญัติว่า ป่าหมายถึงที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน
    อีกทั้งยังมีพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่เบิกความว่า ไม่ทราบว่าเจ้าของเดิมจะครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอย่างไร เพราะพยานไม่ได้ตรวจสอบในเรื่องนี้ และเบิกความรับว่าที่ดินของประชาชนที่ได้ครอบครองจนออก นส.3 ก. ที่ดินจะกลับมาเป็นของรัฐต่อเมื่อเจ้าของที่ดินปล่อยทิ้งร้าง โดยมีเจตนาสละการครอบครอง แต่ที่ดินนี้พยานไม่พบว่ามีการเจตนาสละการครอบครองหรือมีคำสั่งศาลให้เพิกถอน ซึ่งการออก นส.3 ก. เป็นดุลพินิจของพนักงานที่ดินสาขานั้น ซึ่งหนังสือ นส. 3 ก.ทั้ง 3 ฉบับออกโดยอาศัยหลักฐานเลขที่ 3301, 3302 และ 3285 ตามเอกสารหลักฐาน สค.1 เลขที่ 85, 95, 97 เป็นที่ดินที่ได้แจ้งการครอบครองและมีการทำประโยชน์ตามสมควรแก่สภาพท้องถิ่น แม้พยานจะอ้างว่าคณะกรรมการสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องการออกที่ดินดังกล่าวเสียงข้างมากที่เห็นว่าโฉนดที่ดินออกไปโดยคลาดเคลื่อน เนื่องจากได้นำที่ดินนอก นส.3 ก. ที่อยู่ในภูเขาเป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันเกิน 35% อันเป็นที่ต้องห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดิน การนำพื้นที่ดังกล่าวมารวมออกโฉนดจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นผลให้โฉนดที่ดินดังกล่าวออกโดยคลาดเคลื่อน และมีคำสั่งให้แก้ไขรูปแผนที่เนื้อที่ในโฉนดที่ดิน แต่ความเห็นดังกล่าวไม่สอดคล้องกับผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และจำเลยที่ 3 ยังโต้แย้งฟ้องคดีต่อศาลปกครองจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว อีกทั้งพยานหลายปากมิได้ระบุว่าที่ดังกล่าวเป็นที่ผืนป่าชัดเจน พยานมิได้ยืนยันข้อเท็จจริงและมิได้หยั่งรู้ถึงสภาพที่ดินอันเป็นข้อพิพาท อันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี
    ส่วนเรื่องการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบและปัญหาเกี่ยวกับการสร้างอ่างเก็บน้ำและถนนคอนกรีตโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังที่พยานเบิกความถึงเป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวอีกส่วนหนึ่งต่างหาก
    แม้ที่ดินของรัฐและป่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาติ แต่เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 3-4 กระทำผิดตามฟ้อง โจทก์ย่อมมีภาระการพิสูจน์ถึงการกระทำผิดของจำเลยที่ 3-4 ให้ครบองค์ประกอบความผิด ทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ยังบัญญัติกำหนดมาตรฐานการพิสูจน์ในคดีอาญาไว้ด้วยว่า ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย 
    พยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า ในขณะที่มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำและถนนคอนกรีตที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐและเป็นป่าตามองค์ประกอบของกฎหมาย ซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดดังที่โจทก์ฟ้อง  พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ว่ามีการกระทำความผิด อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสี่ทุกข้อกล่าวหา
    ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น นายแทนกับพวกต่างยิ้มแย้มดีใจที่ศาลยกฟ้อง พร้อมพูดคุยกับบุคคลใกล้ชิดที่มาให้กำลังใจ ก่อนจะขึ้นรถยนต์เดินทางกลับทันทีโดยไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ
    ด้านนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อธิบดีอัยการคดีพิเศษ ให้สัมภาษณ์ถึงคดีนี้ว่า ขณะนี้ทางอัยการยังไม่ได้เห็นคำพิพากษาฉบับสมบูรณ์ เราจะต้องคัดคำพิพากษามาดูโดยละเอียด จึงจะสามารถตอบได้ว่าเราจะพิจารณาอย่างไรต่อไป โดยเราจะดำเนินการคัดคำพิพากษาฉบับสมบูรณ์โดยเร็ว เพื่อมาศึกษาว่าคำพิพากษาดังกล่าวชอบด้วยเหตุผลหรือไม่อย่างไร ถ้าอัยการเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ก็อาจจะไม่ยื่นฎีกา แต่ถ้าเราไม่เห็นด้วยก็อาจจะยื่นฎีกา ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ว่าจะฎีกาหรือไม่
    เมื่อถามว่า คดีนี้คำพิพากษาศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ขัดกัน จะเป็นเหตุส่วนหนึ่งให้อัยการต้องยื่นฎีกาต่อหรือไม่ นายวงศ์สกุลกล่าวว่า เราจะต้องดูเหตุผลทั้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องเอารายละเอียดทั้งหมดมาดูร่วมกัน
    นายวงศ์สกุลยังได้อธิบายถึงขั้นตอนหากมีการยื่นฎีกาว่า ทางสำนักงานคดีพิเศษจะนำคำพิพากษามาศึกษา พร้อมทำความเห็นเสนออธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลสูงพิจารณาว่าจะยื่นฎีกาหรือไม่ ซึ่งระยะเวลาในการยื่นฎีกาจะต้องยื่นภายใน 30 วัน แต่ทั้งนี้หากมีการคัดคำพิพากษาไม่ทันหรือเหตุอื่นๆ เราก็สามารถขอขยายระยะเวลาฎีกาได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"