เมื่อวานผมเขียนถึงเรื่องของโรงเรียนเล็กๆ ในต่างจังหวัดที่กำลังเป็นเป้าของการ “ยุบหรือควบรวม” หากมีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน
แต่หากลงไปพูดคุยและแลกเปลี่ยนกับครู ผู้ปกครอง และนักเรียนเองจะเห็นว่าแต่ละท้องที่อยู่ในสภาพที่แตกต่างกัน ไม่สมควรจะใช้ไม้วัดเดียวกัน และไม่ควรมุ่งแต่จะใช้นโยบายแบบ “เสื้อโหล” หรือที่ฝรั่งเรียกว่า One size fits all มาแก้ปัญหา
จากการตั้งวงพูดคุยของผมกับครูและนักเรียนของสองโรงเรียนเล็กๆ ที่ขอนแก่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (แห่งแรกมีนักเรียน 51 คน อีกแห่งมี 42 คน) สัมผัสได้ถึงวิธีแก้ที่ควรจะมีมากกว่าแค่จะยุบหรือควบรวม แต่ต้องมองหาวิธีการที่จะช่วยสร้างคุณภาพของการเรียนการสอนมากกว่า
หนึ่งในโรงเรียนนี้สามารถสร้างให้เด็กประถมทำหุ่นยนต์เองได้ด้วยการเขียน coding พื้นฐาน ชนะการประกวดในระดับจังหวัด ระดับชาติ และระดับสากลมาแล้ว
หากโรงเรียนถูกยุบ นักเรียนจะต้องเดินทางไปโรงเรียนอีกแห่งหนึ่งที่ห่างออกไป 3 กิโลเมตร และไม่มีอะไรรับรองว่าบรรยากาศการเรียนการสอนจะสามารถกระตุ้นให้เด็กมีความกระตือรือร้นในการทำอะไรใหม่ๆ ที่ท้าทายเหมือนที่อยู่ที่เดิม
ทั้งครู นักเรียน และผู้ปกครองต่างยืนยันว่าพร้อมจะจับมือรักษาความเป็น “โรงเรียนชุมชน” ของตนเอาไว้อย่างสุดฤทธิ์
ผมจำได้ว่ารัฐมนตรีศึกษาฯ เคยบอกว่า นโยบายเรื่องนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จเพราะคนเสนอทางแก้กับคนลงไปแก้เป็นคนละคนกัน
ทฤษฎีกับภาคปฏิบัติไปกันคนละทาง ผู้ตกเป็นเหยื่อของการขาดการบูรณาการก็คือเด็กในชนบทนั่นเอง
เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่าในการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้รับฟังผลการศึกษาสภาพจริงของโรงเรียนขนาดเล็กของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ขณะนี้โรงเรียนขนาดเล็กของ สพฐ.มีอยู่ประมาณ 15,000 แห่ง
เรื่องของเรื่องก็คือ โรงเรียนแต่ละแห่งแม้จะมีปัญหาที่คล้ายกันแต่ไม่เหมือนกันทั้งหมด จึงจำเป็นต้องหาทางแก้ไขที่แตกต่างกันไป
รัฐมนตรีศึกษาฯ บอกว่าการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่ผ่านมาก็มีหลากหลายวิธี ทั้งการควบรวม การยุบโรงเรียน แต่อุปสรรคที่เกิดขึ้นทำให้การแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ทั้งนี้ก็เพราะคนคิดวิธีแก้กับคนแก้ปัญหาและคนเจอปัญหามันคนละคนกัน
ดังนั้นท่านบอกว่าจะมอบเป็นนโยบายว่า ต่อจากนี้ไปการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กจะต้องมาจากระดับล่าง ไม่ใช่ให้ข้างบนสั่งลงไปแต่เพียงอย่างเดียว
วิธีที่ว่านี้คือ ให้เขตพื้นที่วิเคราะห์สภาพปัญหาของโรงเรียนแต่ละแห่งอย่างละเอียดพร้อมเสนอทางออก จากนั้นให้เสนองบประมาณมาที่ส่วนกลางเพื่อของบประมาณบางส่วนของกระทรวงศึกษาฯ เองในส่วนที่ใช้ไม่ทันเมื่อเดือนธันวาคม จากสำนักงบประมาณมาดำเนินการจัดสรรให้
ที่สำคัญคือ รัฐมนตรีบอกว่าความสามารถในการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่ว่านี้ จะเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จผลงานของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)
ดังนั้นท่านจึงบอกให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ลงไปเยี่ยมโรงเรียนขนาดเล็กทุกสัปดาห์ ต้องรู้ว่าโรงเรียนขนาดเล็กอยู่ไกลจากเขตของตัวเองไปเท่าไหร่ ใช้เวลากี่ชั่วโมงในการเดินทาง รวมถึงโรงเรียนขนาดเล็กโรงไหนที่อยู่ไกลที่สุด พร้อมให้ทำรายงานมาด้วยว่าโรงเรียนเหล่านั้นมีปัญหาอะไรบ้างเป็นรายโรง และรายงานนั้นให้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหามาด้วย
“เราต้องรู้สภาพปัญหาจริงๆ ของโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งผมเคยได้รับรายงานด้วยว่าบางเขตพื้นที่ ผอ.เขตพื้นที่ไม่เคยลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนเลย เรื่องนี้จะเป็นตัวชี้วัดให้เขตพื้นที่ เพราะผมไม่อยากได้ตัวชี้วัดแบบรวมๆ ว่าเขตพื้นที่ไหนมีคะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติหรือโอเน็ตสูงหรือต่ำ มันไม่มีความหมายอะไร ไม่สามารถเทียบเป็นตัวชี้วัดได้ อีกทั้งเมื่อดูสภาพตามความเป็นจริงที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาฯ เคยรายงานมาว่า พบโรงเรียนขนาดเล็กมีเด็กเรียน 1 คนต่อครู 1 คน ซึ่งประเด็นนี้เมื่อผมสอบถาม สพฐ.ก็พบว่าโรงเรียนไม่ได้ฝ่าฝืนนโยบายผม แต่อยู่ในความจำเป็นต้องทำ เช่น ในพื้นที่ไม่มีโรงเรียนเอกชน การเรียนรวมกับโรงเรียนอีกแห่งต้องเดินทางไกลมาก เป็นต้น ซึ่งนี่คือตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นของการลงพื้นที่ดูสภาพปัญหา” รัฐมนตรีศึกษาฯ กล่าวไว้
ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลยครับที่ผู้รับผิดชอบจะลงไปหาข้อมูล พูดคุยกับครู นักเรียน และผู้ปกครองของแต่ละแห่ง เพื่อร่วมกันหาทางออกที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดของชุมชนนั้นๆ
การจะปฏิรูปการศึกษาระดับชาติได้สำเร็จต้องพิสูจน์ด้วยการแก้ปัญหาโรงเรียนเล็กๆ ในชนบทก่อนครับ!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |