2ต.ค.61-นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการอิสระฯ ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงเรื่องการศึกษาตลอดชีวิตตามที่ได้กำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติและอยู่ในแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เนื่องจากมีการขยายความตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ว่าการศึกษาตลอดชีวิตเป็นการศึกษาที่มีวงกว้างกว่าเดิม คือ ครอบคลุมคนทุกช่วงวัยตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนถึงสิ้นชีวิต และเป็นการศึกษาสำหรับคนทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มกลาง คนส่วนใหญ่ และคนกลุ่มน้อย ดังนั้นจึงต้องได้รับความร่วมมือจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) มาให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรม การเรียนการสอนที่ดำเนินการอยู่ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าการดำเนินงานในส่วนนี้ได้สร้างความสามารถในการดูแลอยู่ทั้งในลักษณะการกระจายไปในพื้นที่ ตำบล อำเภอ และจังหวัด มีกิจกรรมในหมู่บ้าน มีครู กศน.กระจัดกระจายทั่วไป มีความสามารถในการประสานหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ มีการกระจายอย่างกว้างวาง แต่ทั้งนี้ก็มีสภาพบางอย่างที่เป็นปัญหา
นพ.จรัส กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวม รธน.ใหม่ มีความจำเป็นต้องขยายการศึกษาตลอดชีวิตให้กว้างขวางมากขึ้น โดยการดำเนินการต้องศึกษาข้อมูลจากสภาพปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร ซึ่งในสภาพปัจจุบัน พบว่า ปฏิบัติได้ผลในส่วนการให้บริการ ดังนั้น ที่ประชุมได้มอบให้ทาง สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมกับกรรมการ จัดทำการศึกษา 3 เรื่อง ดังนี้ 1.สถานภาพในปัจจุบัน ผลงานของกศน. สิ่งที่สร้างไว้อยู่แล้ว พร้อมกับศึกษาเรื่องสภาพนิเวศใหม่ของการศึกษาตลอดชีวิต ทั้งในเชิงนโยบาย แผนการศึกษา และการพัฒนาต่างๆ 2.การกำกับดูแล ซึ่งการศึกษาในรูปแบบดังกล่าวมีหลากหลาย เป็นการศึกษาที่กว้างขวาง ไม่ใช่รัฐเท่านั้นที่ให้บริการ จำเป็นที่ต้องกำกับดูแล เพราะถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค อีกทั้ง ระบบการศึกษากำลังเปลี่ยน ไม่ใช่ระบบให้ความรู้แต่เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ เป็นการศึกษาเชิงรุกที่ทุกคนเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ ต้องร่วมมือกันในระบบนิเวศใหม่การศึกษาตลอดชีวิต ทั้งนี้ บทบาทของ กศน.ขณะนี้ ในเชิงนโยบาย กำกับดูแล และการให้บริการอยู่ในหน่วยงานเดียวกัน ทำให้ประสิทธิภาพของระบบลดลงต้องมีการดำเนินการแก้ไข และ 3.แนวทางในอนาคต มีการพิจารณาว่าด้วยการใช้ระบบดิจิตอล แพลกฟอร์มให้ความรู้กว้างขวาง ความรู้ในพื้นที่ต่างๆ เป็นการศึกษา 360 องศาสำหรับทุกคน
“ที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงการให้บริการของ กศน.ซึ่งเห็นชัดว่าต้องกำหนดไว้ 3 ส่วน คือ 1.เป็นการศึกษาเพื่อคุณวุฒิ 2.การศึกษาเพื่ออาชีพ และ 3.การศึกษาเพื่อดำรงชีวิต อีกทั้ง กศน.เองก็มีปัญหาจำนวนมาก เนื่องจากมีความไม่ตรงกันระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ทำให้ไม่เพียงพอในหลายด้าน เช่น ขาดแคลนครู อุปกรณ์ในการศึกษา การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่อย่างจำกัด มีข้อขัดข้องในระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งต้องมีการดำเนินการให้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการหารือเรื่องการเทียบโอนคุณวุฒิ และการเทียบเคียงในหลักสูตร วิชาชีพต่างๆ ซึ่งจะให้ทางสำนักงานทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เข้ามาดูเรื่องนี้ เพราะการศึกษาขณะนี้บางคนอาจเรียนไม่ครบ 12 ปี แต่มีความสามารถในการเรียนต่อก็ต้องหาแนวทางในการเทียบคุณวุฒิ เพื่อให้สามารถเรียนต่อได้ ขณะที่การศึกษาเพื่อดำรงชีวิต ต้องเป็นการวัดประเมินผลตามวิชาชีพนั้นๆ เป็นเรื่องความสามารถ และการศึกษาเพื่อดำรงชีวิต ต้องวัดตามผลงาน และการวัดประเมินผลของการศึกษาตลอดชีวิตเขาเป็นวัดประเมินผลตอนขาออกไม่ใช่ประเมินผลตอนขาเข้า”ประธานคณะกรรมการอิสระฯ กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |