นิทรรศการ We Are Listening สะท้อนสุขภาพจิตเด็ก กระตุ้นความใส่ใจคนรอบตัว


เพิ่มเพื่อน    

                ด้วยความตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่นในปัจจุบันที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ละเมิดกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ มีการทำร้ายผู้อื่น การทำร้ายร่างกายและจิตใจของตัวเอง พึ่งการใช้สารเสพติด มีอารมณ์ที่ไม่ปกติ จนเกิดเป็นโรคซึมเศร้า บางครั้งรุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตาย ดังเป็นข่าวพบเห็นตามหน้าสื่อสารมวลชนอยู่บ่อยครั้ง สภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หน่วยงานรัฐและองค์กรภาคเอกชน อาทิ กรุงเทพมหานคร กรมกิจการเด็กและเยาวชน (พม.) องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย มูลนิธิแพธทูเฮลท์ MBK Center จึงจัดนิทรรศการ We Are Listening ระบายความรู้สึกผ่านคลิปเสียง ภายใต้แนวคิด “Children and Youth Happy +plus การทำงานบนภาพความทรงจำแห่งความสุขด้วยสุขภาพจิตที่ดี” ที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อให้ข้อมูลการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตอย่างถูกต้อง

                ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ (สสส.) กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการว่า ข้อมูลองค์การอนามัยโลกระบุถึงสาเหตุการตายของเยาวชนวัย 10-24 ปีทั่วโลกที่สูงถึง 2.6 ล้านคนต่อปี พบว่า 1 ใน 3 สาเหตุจากการฆ่าตัวตายมีความสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้า

                ขณะที่ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ปี 2560 พบวัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าสูงถึงร้อยละ 44 และมีอัตราป่วยเป็นโรคนี้สูงถึงร้อยละ 18 หรือราว 1 ล้านคน ซึ่งเห็นได้จากข่าวที่มีบ่อยขึ้นในเรื่องการทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายผู้อื่นของวัยรุ่น ซึ่งสื่อมักรายงานว่าเกิดจากปัญหาการเรียน ปัญหาครอบครัว ปัญหาความรัก รวมถึงปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน โดยวัยรุ่นที่ประสบปัญหาส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ทำให้ไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที  

                “สสส.มีภารกิจสร้างเสริมสุขภาพคนไทยทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม การจัดงานในวันนี้เป็นผลจากการทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร รวมถึงสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ ในโครงการ Bangkok For Teen (B4T) ที่มุ่งป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งมาตรการที่สำคัญประการหนึ่งคือ การกระตุ้นให้ผู้ใหญ่สร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนมีพื้นที่ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนได้ตระหนักในคุณค่าและความสามารถของตน อันเป็นแนวทางในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชนจากภาวะซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี การทำกิจกรรมครั้งนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโอกาสให้เยาวชนได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ตามความสนใจ และโดยการร่วมกันวางแผนทำงานของกลุ่มเยาวชนกันเอง” ทพ.ศิริเกียรติกล่าว

                พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า โครงการยูรีพอร์ต ประเทศไทย ได้สำรวจออนไลน์กับกลุ่มตัวอย่างวัยรุ่น 2,692 ราย ระหว่างวันที่ 5-13 กันยายน 2561 พบว่า ครึ่งหนึ่งของวัยรุ่นตอบว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเคยรู้สึกหดหู่ เศร้า สิ้นหวัง ท้อแท้ และอีกร้อยละ 70 รู้สึกเบื่อหรือทำอะไรไม่สนุก ไม่เพลิดเพลิน โดย 1 ใน 4 เคยคิดทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย ร้อยละ 87 ไม่เคยได้รับบริการสุขภาพจิตจากหน่วยงานใด และต้องตกอยู่ในความทุกข์ทางใจจำนวนไม่น้อย โดยเรื่องเรียนเป็นเรื่องที่สร้างความกดดันมากที่สุด

                ฉะนั้น งานนิทรรศการครั้งนี้จึงเป็นเรื่องดีที่สำหรับเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้ใหญ่ที่จะหันมาสนใจปัญหาเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น ทำให้ทั้งเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้ใหญ่รอบข้าง สามารถรู้วิธีป้องกัน วิธีสังเกตภาวะซึมเศร้า รวมถึงรู้จักหน่วยงานช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาในกรณีพบผู้ที่อาจเข้าข่ายซึมเศร้า จะได้ช่วยกันนำพาเข้าสู่การรักษาเหมือนโรคทั่วๆ ไป            

                ด้านนายภาณุศาสตร์ ทองทศ ประธานการจัดงานวันเยาวชนแห่งชาติ กล่าวว่า กิจกรรมในงานมีการจัดนิทรรศการ We’re listening โดยผู้ที่มีความเครียดจะระบายความรู้สึกต่างๆ ผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ Lovecare Station ในรูปแบบของคลิปเสียง ผู้ที่เข้าชมนิทรรศการสามารถรับฟังและให้คำปรึกษาได้ เพียงแค่พิมพ์แฮชแท็ก (#) ตามด้วยหมายเลขปัญหาที่รับฟัง และข้อความที่ต้องการสื่อสาร ซึ่งเป็นการให้กำลังใจผู้ที่มีภาวะเครียดได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการออกบูธโดยหน่วยงานที่ทำงานด้านสุขภาพจิตในวัยรุ่น และมีบริการคัดกรองสุขภาพจิตให้คำปรึกษาโดยแพทย์และนักจิตวิทยา รวมถึงกิจกรรมการเล่นเกม การแสดงดนตรี

                งานครั้งนี้นอกจากจะเป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นของเยาวชนแล้ว ยังจุดประกายความคิดผู้เกี่ยวข้องให้มองเห็นปัญหา  เร่งวางมาตรการป้องกันและแก้ไขได้อย่างถูกต้อง ครอบคลุมทุกมิติ.

 

 “ปากน้ำโพ”นำร่องลดอุบัติเหตุ ชูครอบครัวหนุนความปลอดภัย

                ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ร่วมกับจังหวัดนครสวรรค์ นำร่องพัฒนากลไกลดอุบัติเหตุอย่างยั่งยืนต่อเนื่อง ลงไปถึงระดับอำเภอ ประสานความร่วมมือลดพฤติกรรมการเสี่ยงชีวิต ผ่านศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตในแต่ละอำเภอ

                ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดนครสวรรค์ นายธนาคม จงจิระ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ประชุมผู้รับผิดชอบศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนทั้งระดับจังหวัดและอำเภอ โดยมีนายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน หรือ ศวปถ. ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนากลไกป้องกันอุบัติเหตุ ลดความสูญเสียอย่างยั่งยืน เนื่องจากจังหวัดนครสวรรค์เป็น 1 ใน 4 จังหวัดนำร่องตามโครงการพัฒนากลไกศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนน ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ หรือ สสส. ที่มุ่งเน้นให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

                สำหรับสถานการณ์อุบัติเหตุในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ย้อนหลังจากข้อมูล 3 ฐาน ประกอบด้วย โรงพยาบาลสรรค์ประชารักษ์ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ตำรวจภูธรนครสวรรค์ รวมทั้งแขวงทางหลวงนครสวรรค์ พบว่า สถานการณ์อุบัติเหตุปี 2560 ต่อเนื่องถึงปี 2561 มีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม จากสถิติอุบัติเหตุ 4,965 ครั้ง เป็นอุบัติเหตุที่เกิดกับจักรยานยนต์ 3,918 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 79.12

                นายแพทย์ธนะพงศ์กล่าวว่า ต้องนำท้องถิ่นชุมชนมาเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหา ลดความสูญเสีย ลดพฤติกรรมการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ นอกจากนี้ กลไกครอบครัวและกลไกของกฎหมายมีส่วนสำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ในแต่ละพื้นที่ต้องกำหนดข้อปัญหา วิเคราะห์หาแนวทาง โดยผ่านการประสานงานร่วมกันระหว่างศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตในแต่ละอำเภออย่างใกล้ชิดต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อลดความสูญเสียในภาพรวม.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"