๔ รัฐมนตรีต้องออกหรือ?


เพิ่มเพื่อน    

      ว่าด้วยเรื่องการลาออก!

      พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะมีความประสงค์จะเล่นการเมืองต่อ

      ๔ รัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐ ต้องลาออกจากเก้าอี้รัฐมนตรีหรือเปล่า เพราะจากนี้ไปจะเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน

      ก่อนอื่นต้องไปดูว่า "จารีต" ที่เกิดจากตัวบทรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอย่างไร

      ถ้านายกรัฐมนตรีลาออกคือจบ ต้องตั้งรัฐบาลใหม่

      ส่วนรัฐมนตรีลาออกต้องปรับคณะรัฐมนตรี

      แต่โดยทั่วไปรัฐบาลก่อนการเลือกตั้ง จะมีสถานะเป็นรัฐบาลรักษาการ

      สถานะรัฐบาลรักษาการได้มาจากไหน

      ส่วนใหญ่เพราะการยุบสภา

      รัฐบาลอยู่ครบเทอม

      หรืออย่างกรณีที่แปลกไป นั่นคือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ "ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร" สิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว จากคดีโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

      ต้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" จึงมีสถานะเป็นเพียงนายกรัฐมนตรีรักษาการ

      ขณะที่เสียงเรียกร้องจาก กปปส.คือ ลาออก พ้นวงโคจรไปเลย

      ทำไมต้องรักษาการ

      ตามหลักการแล้วเห็นว่าเมื่อปรากฏว่าฝ่ายบริหารของรัฐนั้นสิ้นสภาพไปแล้ว จึงต้องการให้มี กลไกในการเปลี่ยนผ่านประเทศ

      เพราะการบริหารประเทศนั้นจะสะดุดหยุดไม่ได้ เพราะจะกระทบต่อสาธารณะ หรือสังคมส่วนรวมได้

      พูดง่ายๆ รัฐบาลรักษาการ มีเพื่อทำหน้าที่ชั่วคราวจนกว่าจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา

      จะได้ไม่เกิดสภาวะสุญญากาศในการบริหารประเทศ

      แต่กฎหมายก็จำกัดบทบาทลง

      รัฐบาลรักษาการไม่สามารถทำในหลายเรื่อง

      เช่น อนุมัติโครงการใหม่ที่ผูกพันกับรัฐบาลถัดไปไม่ได้

      แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการไม่ได้ ถ้าทำต้องขอคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน เป็นต้น          

      ฉะนั้นเมื่อพิจารณาเสียงเรียกร้องจากนักการเมืองให้รัฐบาล คสช.ลาออก ก็มีคำถามว่าแล้ว รัฐบาลใหม่จะมาจากไหน อย่างไร

      สุดท้ายแทนที่จะแก้ปัญหา จะกลายเป็นสร้างปัญหาเพิ่ม

      แล้วนักการเมืองกลัวอะไร

      ฟังจาก "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ดูมีเหตุผล

        "รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผู้ร่างมีเจตนาให้ผู้มีอำนาจขณะนี้ทั้ง คสช., รัฐบาล, สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) รวมถึงสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่เข้ามาวางรากฐาน และกติกาเพื่อที่จะเปิดให้พรรคการเมืองกลับมาแข่งขันกัน โดยที่ไม่ได้หวังว่าจะเป็นผู้เล่นเอง

        แต่ถ้าจะบอกว่ามีเจตนาเปิดช่องให้ ก็น่าจะเป็นเรื่องของที่สภาไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้ จนต้องไปเลือกคนนอกกระบวนการการเลือกตั้งเข้ามา

        อีกทั้งยังมีบทเฉพาะกาล ที่ระบุว่าผู้ที่มีอำนาจในขณะนี้ จะต้องลาออกจากตำแหน่ง ๙๐ วัน หลังจากที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้

        บทบัญญัตินี้หมายความว่า ใครที่ไม่ลาออกในตอนนั้น ก็จะไม่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนได้เสียในการเลือกตั้ง โดยตามปกติแล้วในช่วงเลือกตั้ง ใครมีอำนาจรัฐก็จะถูกจำกัดอำนาจทันที ทั้งเรื่องการโยกย้ายข้าราชการ รวมถึงใช้งบประมาณผูกพันไม่ได้ เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง

        แต่ก็ยังมีบทเฉพาะกาลยกเว้นให้กับรัฐบาลชุดนี้ เหตุผลเพราะว่าเพราะมีบทบัญญัติ ใครที่อยากเลือกตั้งก็ต้องลาออกไปก่อนหน้านี้แล้ว

        แต่วันนี้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับพรรคประชารัฐก็คือ กำลังหลบเลี่ยงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งความเสื่อมทางการเมืองและปัญหาวิกฤติในอดีต ก็เป็นเพราะมีการหาช่องโหว่ของกฎหมาย เราไม่ดูเจตนารมณ์ ไม่ยึดถือเรื่องของมารยาท และธรรมาภิบาล

        ดังนั้นวันนี้คนที่เกี่ยวข้องที่จะเข้าไปบริหารพรรคการเมือง ซึ่งมีส่วนได้เสียในการเลือกตั้งโดยตรง ก็ต้องแสดงให้เห็นว่ายังเชื่อในหลักธรรมาภิบาล หรือเคารพในเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มากกว่าที่จะบอกว่ากฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ หรือไม่ผิดกฎหมาย

        ประเด็นที่สำคัญก็คือ เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ยังไม่ปลดล็อกทางการเมือง แต่งานของรัฐบาลมีงานการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และไม่ได้ถูกจำกัดด้วย

        ดังนั้นผมว่าตอบยากจริงๆ ว่าบุคคลเหล่านี้ต้องการมีส่วนได้เสียในการแข่งขัน เหตุใดจึงไม่ทำตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ แล้วสวมหมวกสองใบ”

      จากคำกล่าวทั้งหมดนี้ คสช.กำลังจะชงเองกินเองใช่หรือไม่?

      การที่ ๔ รัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ไปมีตำแหน่งในพรรคพลังประชารัฐ ไม่มีกฎหมายห้าม

      แต่ถามว่าเอาเปรียบจริงหรือไม่?

      การจะอธิบายว่าจริงหรือไม่ มีหลายเงื่อนไขที่ต้องเข้าใจ

      เงื่อนเวลาจะเป็นประเด็นสำคัญ

      หาก คสช.ปลดล็อกพรรคการเมืองในทันที เงื่อนเวลาของทุกพรรคการเมืองจะเท่ากันทันที ทุกคนสามารถเดินสายได้ทันที

      แต่รัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ เป็นเรื่องใหม่ รัฐบาล คสช.จะอยู่จนได้รัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศ

      ไม่ได้อยู่ในสถานะรัฐบาลรักษาการ

      แล้ว ๔ รัฐมนตรีกำลังสร้างความเสื่อมทางการเมืองอยู่ใช่หรือไม่?

      ในการเมืองปกติ รัฐมนตรีซึ่งเป็นแกนนำพรรคการเมือง สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้เต็มที่จนกว่า รัฐบาลสิ้นสภาพไปเป็นรัฐบาลรักษาการ

      แต่ในทางปฏิบัติ การสร้างความได้เปรียบโดยใช้ตำแหน่งทางการเมือง เกิดขึ้นมาโดยตลอด

      พรรคการเมืองมักใช้วิธีตรวจราชการในภูมิภาคต่างๆ ในช่วงมีพระราชกฤษฎีกาประกาศเลือกตั้ง  แล้วปฏิเสธว่าไม่ใช่การหาเสียง

      หากย้อนกลับไปดูช่วงปลายปี ๒๕๕๖ พรรคการเมืองฝ่ายค้าน รัฐบาล ก็มีปัญหาทำนองเดียวกันนี้

      ครั้งนั้นพรรคประชาธิปัตย์โจมตีว่า "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ใช้ทรัพยากรของรัฐเดินสายหาเสียงในต่างจังหวัด จึงจะรวบรวมหลักฐานร้องเรียน กกต.
      เป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ มาตรา ๑๘๑ ที่ห้ามรัฐบาลรักษาการ ใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ เพื่อกระทำการใด ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง และตัว "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เป็นทั้งบุคลากรของรัฐ และผู้สมัครรับเลือกตั้ง
      จึงเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง

      ขณะที่ ๔ รัฐมนตรี สามารถบริหารประเทศไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่

      นั่นคือสิ่งที่พรรคการเมืองมองว่า เป็นการเอาเปรียบ

      ที่จริงปัญหาลักษณะนี้แก้ไขไม่ยาก โดยที่รัฐมนตรีทั้ง ๔ คนไม่ต้องลาออก

      สิ่งที่ คสช.ต้องทำคือ ใช้บรรทัดฐานเดียวกันกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นั่นคือมีพระราชกฤษฎีกาประกาศเลือกตั้งเมื่อไหร่.... 

      ให้เข้าสู่โหมดรัฐบาลรักษาการในทันที

      แม้กฎหมายจะไม่ได้กำหนด แต่เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ การประชุม ครม.สัญจร เป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง

      เชื่อว่าถึงเวลานั้น คสช.จะนักเลงพอ!

      ส่วนพรรคการเมืองจะโวยอะไร ควรจะรอให้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศเลือกตั้งออกมาเสียก่อน ซึ่งจะเป็นการใช้บรรทัดฐานที่ใช้กันมาโดยไม่มีอะไรผิดเพี้ยน  

      ล่าสุดก็มีแนวโน้มที่ดี

      "อุตตม สาวนายน" ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์นักข่าว เรื่องที่ถูกโจมตีทางการเมืองอย่างหนัก ด้วยการบอกว่า...

      "ผมไม่พูดการเมืองในเวลาราชการ"

      ถ้านี่เป็นมารยาททางการเมือง ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี

      กลับกันการที่นักการเมือง มีความละเอียดอ่อนในประเด็นนี้ จนดูเหมือนมีจริยธรรมทางการเมืองเต็มเปี่ยม

      เช่นการที่ "นพดล ปัทมะ" บอกว่า

        "การที่บุคคลเหล่านี้ยังมีตำแหน่งในรัฐบาล มีอำนาจโยกย้ายข้าราชการ พิจารณางบประมาณ และมีอำนาจใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของรัฐได้ ดังนั้นจะวางตัวอย่างไร ไม่ให้ถูกมองว่าเป็นการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น เพราะต้องยอมรับว่ารัฐบาลนี้เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหาร

       ทางที่ดีเพื่อความสง่างามในการต่อสู้ทางการเมือง คนที่เป็นผู้นำพรรคนี้ลาออกจากตำแหน่งน่าจะดีกว่า แต่ก็ไม่สามารถเรียกร้องหรือบังคับอะไรได้ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละบุคคล"

        จะเป็นการดีมากหากนักการเมืองนำคำพูดตัวเองไปใช้เป็นบรรทัดฐาน แม้ขณะนั้นตัวเองเป็นรัฐบาล และอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบก็ตาม

      และจะสง่างามอย่างยิ่งหากไม่ถ่มน้ำลายรดหน้าตัวเอง. 

                                                      ผักกาดหอม


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"