นักธุรกิจชาวโคราชรับลูก "พ่อใหญ่จิ๋ว" เตรียมถวายฎีกาขอให้รัฐบาล คสช.พ้นอำนาจ เรียกร้องรัฐบาลเฉพาะกาล เผย 4 ต.ค.นัดแนวร่วมยื่นพร้อมกันทั่วประเทศ อ้างการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองหนักขึ้นอีก "จตุพร" ขานรับชี้ รธน.60 หนักกว่าปี 34 เลือกตั้งก็ไม่เป็น ปชต. จี้ คสช.ลาออกก่อนซ้ำรอยพฤษภาทมิฬ
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม นายสุวโรจน์ ชวนันท์ธนะโภคิน อาชีพนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ Thai Voice ซึ่งดำเนินรายการโดยนายจอม เพชรประดับ สื่อมวลชนที่ลี้ภัยการเมืองในสหรัฐอเมริกา ถึงการทำหนังสือถวายฎีการ้องทุกข์รัชกาลที่ 10 เพื่อให้ทรงใช้พระราชอำนาจให้รัฐบาลคสช.ซึ่งมาจากการทำรัฐประหารพ้นไปจากอำนาจ และให้ทรงพิจารณาพระราชทานรัฐบาลเฉพาะกาลเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง ว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองหนักขึ้นอีกในอนาคต จึงไม่มีทางเลือกอื่น
"ราษฎรไทยทั่วประเทศจึงขอถวายฎีการ้องทุกข์ให้ทรงทราบในวันที่ 4 ต.ค. เวลา 10.00 น. ที่บริเวณศาลหลักเมืองในกรุงเทพฯ และในทุกจังหวัดพร้อมกัน"
นายจอมถามว่า ปีหน้าจะมีการเลือกตั้งแล้ว ทำไมจึงต้องให้มีรัฐบาลพระราชทาน นายสุวโรจน์ กล่าวว่า การเลือกตั้งต่อไปไม่เป็นทางออกแก้ปัญหาชาติ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้มาจากประชาชนแท้จริง จึงควรเปลี่ยนใหม่ให้มาจากประชาชน รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกร่างขึ้นโดยฝ่ายอำนาจ คสช. ไม่ใช่รัฐธรรมนูญประชาชน ถ้าทุกพรรคเห็นดีเห็นชอบไปร่วมเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เปรียบเสมือนการให้ความร่วมมือกับคณะยึดอำนาจ
นายสุวโรจน์กล่าวอีกว่า การลงประชามติรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเพียงการจัดขึ้นของคณะยึดอำนาจให้ฝ่ายตัวเองเออเองเท่านั้น แต่เสียงที่ผ่านประชามติไม่ใช่มาจากเสียงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ วันที่ 4 ต.ค.ประชาชนจะออกมาพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อกราบบังคมทูลให้พระองค์ท่านทรงขจัดปัญหา ความทุกข์ของราษฎรทั้งหลาย
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. และนายเผด็จ ภูรีปติภาน คอลัมนิสต์อาวุโส ได้ร่วมแถลงทางออกประเทศ โดยระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.เป็นตัวปัญหาและต้องลาออก โดยเสนอให้ถวายฎีกาคืนพระราชอำนาจ มีรัฐบาลเฉพาะกาลเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของชาติ เชื่อว่าถึงเลือกตั้งก็มีปัญหาขัดแย้งกันอีก
ขณะเดียวกัน นายจตุพร พรหมพันธุ์ กล่าวว่า ในปี 2534 ตนและอีกหลายคนชุมนุมกันอยู่ที่ลานโพ ธิ์ ม.ธรรมศาสตร์ โดยไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญปี 2534 ที่เปิดช่องให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกฯ ซึ่งในเวลานั้นสังคมไทยเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง กระทั่งมีนักการเมืองอาวุโสคนหนึ่งบอกว่าให้ไปแก้ไขกันในสภา ซึ่งตนได้คุยกับคณะในขณะนั้นว่าสุดท้ายแล้วจะนำไปสู่ปัญหาและความตาย จนกลายเป็นวิกฤติของชาติ หลังจากนั้นมีการเลือกตั้งที่เรียกว่า 35/1 รัฐบาลคณะรักษาความเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในขณะนั้น แม่ทัพนายกองภายใต้รหัส 0143 คุมทุกเหล่าทัพ ได้กวาดต้อนเอานักการเมืองไปตั้งพรรคสามัคคีธรรม แต่สุดท้ายหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมถูกนักข่าวสิงคโปร์ตั้งคำถาม เรื่องการถูกขึ้นแบล็กลิสต์ไม่ให้เข้าประเทศสหรัฐอเมริกาในกรณีคดียาเสพติด ทุกอย่างได้ถูกออกแบบมาแล้ว จึงเป็นที่มาของคำพูดที่ว่าเสียสัตย์เพื่อชาติ นำไปสู่การต่อสู้ ซึ่งนายกฯ ในขณะนั้นดำรงอยู่ในตำแหน่งได้เพียง 47 วันเท่านั้น แต่กลับมีคนตาย 40 ศพ สูญหาย 40 และบาดเจ็บกว่า 1 พันคน
"หากเราจะเร่งทุกอย่างโดยไม่สนใจอะไร บทเรียนพฤษภาทมิฬก็มีให้เห็นกันอยู่ ความคิดของผมแตกต่างไปจากนักเลือกตั้งทั่วไป เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 หนักกว่ารัฐธรรมนูญปี 2534 เป็นร้อยเท่า และยิ่งมีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อองคาพยพพรรคการเมืองมีการเปิดตัว โดยมีคนในรัฐบาลและกลุ่มการเมืองรวมตัวกันอยู่ในพรรคการเมืองนั้น ซึ่งเป็นการพิสูจน์ได้ชัดเจนว่ากรรมการและผู้เล่นเป็นคนคนเดียวกัน ดังนั้นในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง หากประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับในการรณรงค์ประชามติจะทำอย่างไร"
ประธาน นปช.กล่าวว่า วันนี้เราต้องการประชาธิปไตย แต่ไม่ว่าจะเสนออะไรก็ไม่เป็นประชาธิปไตย ถามว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ โดยเฉพาะ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งจำนวน 250 คน มีสิทธิ์โหวตเลือกนายกฯ บวกกับเสียงข้างน้อยจากสภาผู้แทนราษฎร 126 เสียงจาก 500 ถามว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ หัวหน้า คสช.มีอำนาจเหนือกว่า กกต. เหล่านี้เรียกว่าประชาธิปไตยหรือไม่ ดังนั้นเราเพียงต้องการเสนอทางออกว่า หากต้องการเป็นผู้เล่นก็ให้ลาออกจากการเป็นกรรมการ อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ถูกออกแบบไว้ให้แก้ไขยากราวกับเดินทางไปพระอาทิตย์.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |