ดูเหมือนมายาคติของคนไทยที่มีต่อเกมนั้น ยังไม่หายไปง่ายๆ โดยผลสำรวจล่าสุดของ 'นิด้าโพล' เกี่ยวกับ 'กีฬาอีสปอร์ต' พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 75.26% ระบุว่า ไม่เคยได้ยินและไม่รู้จัก ขณะที่อีก 24.74% ระบุว่าเคยได้ยิน
แต่เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการแข่งขันเกม E-Sport มีคุณสมบัติในการเป็นกีฬาชนิดหนึ่ง หรือไม่ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 55.63% ระบุว่าไม่ถือเป็นกีฬา เพราะเป็นเพียงแค่เกมเท่านั้น เยาวชนไทยอาจเอาเวลาไปเล่นเกมมากกว่าเรียนหนังสือ มีเพียง 41.02% ระบุว่าถือเป็นกีฬาชนิดหนึ่ง เพราะเป็นการฝึกสมาธิ มีการวางแผน ฝึกการใช้ทักษะ ต้องมีความสามัคคีในการเล่น ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน
และเมื่อถามถึงการสนับสนุนให้การแข่งขันเกม E-Sport เป็นกีฬาชนิดหนึ่ง พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 63.37% ระบุว่ามีผลเสีย เพราะควบคุมยาก เกิดภาวะเด็กติดเกมมากขึ้น เด็กไม่มีความสนใจที่จะเรียนหนังสือ มีความรุนแรงทางความคิด ก่อเกิดการพนัน ไม่สามารถใช้เวลาให้ว่างเหมาะสม และมีเพียง 31.84% ระบุว่ามีผลดี เพราะมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่
เห็นได้ชัดว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังมองว่าเกมนั้นเป็นสิ่งไม่ดี เสียเวลา และทำลายการเรียน
แน่นอนว่าการที่คนส่วนใหญ่คิดแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะที่ผ่านมาการเล่นเกมมันเป็นแค่เครื่องมือฆ่าเวลา และมีแต่สิ้นเปลือง แต่ปัจจุบันมันแตกต่างไปแล้ว เพราะตลาดเกม มันใหญ่มาก จากข้อมูลที่ยืนยันตรงกัน ก็คือเกมเป็นอุตสาหกรรมคอนเทนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใหญ่กว่าทีวีหรือภาพยนตร์และเพลงรวมกันเสียอีก
โดยข้อมูลของสำนักข่าวรอยเตอร์เผยสถิติในช่วงปีที่ผ่านมาสื่อบันเทิงประเภท “เกม” ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10.7% คิดเป็นมูลค่าประมาณ $116 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่สื่อทีวีมีแนวโน้มขยายตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง 8% คิดเป็นมูลค่าประมาณ $105 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้รายได้จากสื่อประเภทเพลงและสตรีมมิ่งคิดเป็นมูลค่าราว $17 พันล้านเหรียญฯ ส่วนรายได้ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์มีมูลค่ารวม $41 พันล้านเหรียญฯ เมื่อเทียบสถิติรายได้ของอุตสาหกรรมเกมมีมูลค่าสูงเกือบ 3 เท่าของรายได้อุตสาหกรรมภาพยนตร์
จะเห็นได้ว่าคนในอุตสาหกรรมนี้ทำรายได้มหาศาล และในปัจจุบันมีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเกมอีกหลากหลาย ล้วนทำรายได้ทั้งสิ้น ทั้งวิศวกร ผลิตเครื่องเกม นักเขียนชอฟต์แวร์ นักสร้างคอนเทนต์ และกราฟฟิกดีไซน์ ขณะที่ฝั่งผู้บริโภคที่เป็นผู้เล่น ก็ยังมีผู้เล่นมืออาชีพ เป็นนักกีฬาอีสปอร์ต หรือหากไม่เก่งในการเล่น แต่เก่งในการเล่าเรื่อง ก็สามารถหาเงินจากการแคสเกม ซึ่งเป็นอาชีพใหม่ที่สร้างรายได้ให้กับผู้เล่นหลายคนมาแล้ว
โดยในปัจจุบันผู้ที่ครองตลาดเกมของโลก ก็มีไม่กี่ประเทศ สหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน และแน่นอนไทยเราแม้จะไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ผลิตคอนเทนต์ แต่เราก็สามารถเป็นได้ หากได้รับการส่งเสริมและพัฒนาต่อยอด อนาคตอุตสาหกรรมของไทยก็อาจจะมีความหวังขึ้นมาได้
ทั้งนี้ มีการประเมินกันว่ามูลค่าการเติบโตของตลาดเกมในประเทศไทยปี 2559 อยู่ที่ 8.7 พันล้านบาท และเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2560 ที่ 10.3 พันล้านบาท ทำให้ประเทศไทยมีความต้องการบุคลากรที่เข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจเกม ธุรกิจอีสปอร์ต ผลิตเกม นักสร้างเกม หรืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับเกมจำนวนมาก
ดังนั้น เรื่องเกมจึงไม่ใช่เรื่องเหลวไหลที่มองเป็นเพียงของเล่นฆ่าเวลาอีกต่อไป ล่าสุด มหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่ง เริ่มเปิดหลักสูตรเกี่ยวกับธุรกิจเกมขึ้นมา โดยนายชัชชัย หวังวิวัฒนา หัวหน้าหลักสูตรธุรกิจเกมและอีสปอร์ต คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (มกค.) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการบุคลากรที่เข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจเกม ธุรกิจอีสปอร์ต ผลิตเกม นักสร้างเกม หรืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับเกม อย่างนักกราฟฟิก นักพัฒนาแอปพลิเคชันเกมในอุปกรณ์
และจากที่ทราบกับคนในแวดวงอี-สปอร์ตในปัจจุบันมีเงินรางวัลในการแข่งขันสูงมาก และสูงมากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่า กีฬาหลายประเภทในปัจจุบัน เนื่องจากอุตสาหกรรมเกมเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ทั้งในแง่ของผู้สร้างเกม ผู้สร้างอุปกรณ์ และผู้จัดงาน เรียกว่าพอมีการแข่งขันสูง ทำให้การแย่งชิงความสำเร็จก็เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ฉะนั้นจึงอยากให้คนไทยลองปรับความคิด และเปิดรับข้อมูลใหม่ๆ แล้วจะรู้ว่าการเล่นเกมในปัจจุบัน หากมีการแบ่งเวลาถูกต้อง และมีการฝึกฝน หรือแม้กระทั่งมีไอเดียดี สามารถต่อยอดและสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างแน่นอน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |