'มกุฏ อรฤดี' ผู้ยืนหยัดสู้ให้ไทยมีระบบหนังสือแห่งชาติ


เพิ่มเพื่อน    

 


    กว่า 40 ปีที่ มกุฏ อรฤดี ทุ่มเทสร้างงานวรรณกรรม และยังเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อที่จัดพิมพ์หนังสือคุณภาพมาต่อเนื่องยาวนาน โดยหนังสือหลายเล่มได้ไปอยู่ในความทรงจำของผู้อ่าน เช่นเดียวกับงานเขียนทุกเรื่องที่อาจารย์มกุฏเขียนขึ้น ทั้งในนามปากกา "นิพพานฯ" "วาวแพร" ที่มุ่งกระตุ้นสำนึกด้านดีของมนุษย์ อีกทั้งมีแนวคิดเสนอรัฐบาลจัดตั้งสถาบันหนังสือแห่งชาติ หวังพัฒนาระบบหนังสือทั้งระบบ อีกทั้งเป็นผู้สร้างหลักสูตรบรรณาธิการศึกษาและวิชาหนังสือขึ้นในมหาวิทยาลัย รวมถึงโครงการระบบหนังสือหมุนเวียนในโรงเรียนและมัสยิด, โครงการห้องสมุดหนังสือดี, โครงการสมุดบันทึกวัยเยาว์ และโครงการฝึกฝนผู้มีดวงตาพิการให้เขียนหนังสือ         
    ผลงานและจิตวิญญาณที่อยู่กับหนังสือทั้งหมดนี้ ทำให้คณะกรรมการตัดสินรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ประจำปี 2561 มีมติมอบรางวัลแด่ มกุฏ อรฤดี นักเขียนผู้เป็นศิลปินแห่งชาติ  
    ในงานประกาศผลและมอบรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ครั้งที่ 15 ณ ห้อง Convention Hall บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เมื่อวันก่อน มีคนทำหนังสือ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ต่างๆ นักอ่าน และลูกศิษย์ที่ร่ำเรียนวิชาบรรณาธิการศึกษา นักเขียนผีเสื้อเด็กๆ มาร่วมแสดงความยินดีต่อนักเขียนผู้นี้อย่างอบอุ่น 

 

เมตตา อุทกะพันธุ์ ผู้บริหาร บ.อมรินทร์ฯ มอบรางวัลชูเกียรติฯ ให้มกุฏ อรฤดี 


    เมตตา อุทกะพันธุ์ ประธานกรรมการ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งฯ กล่าวว่า คุณมกุฏ  อรฤดี เป็นเพื่อนร่วมอาชีพธุรกิจสิ่งพิมพ์กับคุณชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ และมีหลักคิดแนวทางใกล้เคียงกัน คุณชูเกียรติเคยกล่าวไว้ว่า คนไทยมีศักยภาพในการเรียนรู้ไม่แพ้คนชาติอื่น ขอเพียงให้มีสื่อหนังสือที่เขาพอใจ 
    "คุณมกุฏ อรฤดี ให้ความสำคัญกับการอ่านสูง เพราะถ้ารักการอ่านแล้วจะพัฒนาสิ่งใดก็จะเป็นเรื่องง่าย สิ่งดีงามจะตามมาเอง เพราะหนังสือเป็นสื่ออย่างเดียวที่ถ่ายทอดความคิดความรู้ได้อย่างสุขุม ซึมซับเข้าในสมอง ในหัวใจ คุณมกุฏอยากให้คนไทยได้อ่านหนังสือดีเสมอกัน พยายามปลูกฝังหว่านเมล็ดพันธุ์การอ่านลงไปที่เยาวชนตลอด ยิ่งปัจจุบันพฤติกรรมคนอ่านเปลี่ยนเพราะโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทสูง เกิดวิกฤติสิ่งพิมพ์ คนอ่านหนังสือน้อยลง หนังสือ นิตยสาร และสำนักพิมพ์บางแห่งปิดตัวลง  แม้บริษัทอมรินทร์ฯ ก็ได้รับผลกระทบนี้รุนแรง แต่ดิฉันเชื่อว่าหนังสือดีจะไม่มีวันหมดไปจากโลก เช่นเดียวกับคุณมกุฏเป็นแบบอย่างคนทำหนังสือที่เพียรพยายามสู้ไม่ถอย" เมตตากล่าวพร้อมแสดงความยินดี
    ในพิธีมอบรางวัล ทุกคนใจจดจ่อรอช่วงปาฐกถาพิเศษของมกุฏ ผู้คลุกคลีอยู่ในวงการหนังสือมายาวนาน ซึ่งนักเขียนชั้นครูบอกเล่าความในใจและความเชื่อของเขาที่มีต่อการเขียน การอ่าน และการทำหนังสือ เผยให้เห็นตัวตนอย่างแจ่มชัด 

 

มกุฏ อรฤดี ปาฐกถาพิเศษในงานมอบรางวัลชูเกียรติฯ
 

      มกุฏกล่าวว่า หนังสือเป็นมากกว่าเครื่องมือถ่ายทอดความคิดและความบันเทิงเริงรมย์ หนังสือคือผลก้อนใหญ่จากการอ่าน การเขียน และความคิด แต่ประเทศไทยขาดความสนใจเรื่องหนังสือ และไม่พยายามจัดการระบบหนังสือของตนเอง ท้ายสุดเราตามคนอื่นไม่ทัน การพัฒนาชาติต้องใช้ความรู้ในตัวคน 
    นักเขียนวัย 68 ปีประกาศชัดว่า หน้าที่ในการจัดการเรื่องความรู้ ภาคเอกชนอาจทำได้เพียงจัดกิจกรรม แต่โครงสร้างเป็นหน้าที่รัฐบาลจะต้องทำ โรงเรียนประถมในไทยมีเกือบ 4 หมื่นแห่ง คนที่พูด ถ้ารัฐบาลไม่ทำ เราทำเอง จะมีเงินไปซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดได้สักกี่ปี อุปสรรคในการแก้ปัญหาคือ รัฐบาลไม่ทำอะไร เพราะเอกชนบอกว่าเรามีโครงการ สังคมไทยเสียเวลามา 15 ปีแล้ว นับแต่รัฐบาลประกาศวาระแห่งชาติว่าด้วยการก่อตั้งสถาบันหนังสือแห่งชาติ แล้วก็เปลี่ยนใจไปทำอย่างอื่นที่ง่ายกว่า  ซึ่งประชาชน 80% ในต่างจังหวัดไม่มีโอกาสอ่านหนังสือดีหรือสื่อกระดาษ ชาวบ้านยังเฝ้ารอรัฐบาลเอาเครื่องมือความรู้ไปให้ 
    เขาบอกอีกว่าไม่มีแม้สักคนในรัฐบาลคิดจัดการหนังสือเป็นระบบ จึงมีแต่กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน  เริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ก็นับหนึ่งใหม่ปีละพันล้าน แต่ไม่เคยติดตามหรือประเมินผล สังคมไทยไม่ได้อะไรเลย 
    "โครงสร้างระบบหนังสือชาติจำเป็นสำหรับเรา แม้เรามีฐานะดี ความรู้ดี แต่อีก 80% ไม่มีเลย เราอาจเดือดร้อนจากความไม่รู้ของเพื่อนร่วมชาติ อนาคตลูกหลานจะลำบาก ขณะที่เราเปิดประตูอ้าซ่ารับเออีซี แต่คนของเรามีความรู้เฉลี่ยน้อยมากเทียบกับเพื่อนบ้าน นี่คืออันตรายในอีก 30 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นที่ตักตวงผลประโยชน์ จากนั้นเหลือแค่ซากให้คนไทยเก็บกวาด" มกุฏย้ำชัดๆ
    ส่วนที่คนพูดถึงยุคโซเชียลมีเดียเข้ามาแทนหนังสือ มกุฎบอกว่าเราพูดถึงสื่อออนไลน์เหมือนคนไทยอยู่ในนครนิวยอร์ก หรือชาวบ้าน 90% เข้าถึงอินเทอร์เน็ตทั้งหมด แต่ไม่ได้พูดถึงหนังสือสื่อกระดาษที่เป็นพื้นฐานความรู้   
    "ผมอยากพูดถึงชาวไทยมุสลิม จ.ยะลา ได้ไปทำโครงการระบบหนังสือหมุนเวียนในมัสยิด บังคนนี้จบ ป.6 เป็นกรรมกรรับจ้างรายวัน หลังอ่านหนังสือได้ 1 ปี โดยเฉพาะหนังสือดอกเตอร์ดูลิตเติล เกิดความคิดตั้งกองทุนหมู่บ้าน เก็บเงินสมาชิกวันละบาท ปีละ 365 บาท สร้างสวัสดิการ อีกเล่มอ่านเรื่องยุงลาย จากที่รัฐรณรงค์คว่ำกะลาไม่ให้น้ำขัง กำจัดที่เพาะยุง บังให้ชาวบ้านเก็บกะลามาขายเพื่อเผาเป็นถ่าน รายได้เดือนละ 4 หมื่นบาท ทุกวันนี้มีกิจการนับสิบ นี่คือผลจากการอ่านที่รัฐบาลยังไม่ทำ ห้องสมุดที่รัฐทำไม่มีหนังสือให้ชาวบ้าน ชาวประมง ชาวนาอ่าน จะทำอะไรให้จับปลามากขึ้น ทำนาได้ผลผลิตมากขึ้น" มกุฏกล่าว

 


    มกุฏบอกด้วยว่า ขณะที่คนวิตกว่าหนังสือขายไม่ได้ คนไทยไม่อ่านหนังสือ มีภาพตลาดอยู่แค่เมืองกรุง แต่เราลืมตลาดชนบทที่เป็นตลาดใหญ่ของประเทศ ถ้าเปิดตลาดนี้ได้ธุรกิจหนังสือจะยืดอายุไปได้อีก 25 ปี ผลประโยชน์จะตกกับคนในวงการหนังสือเพิ่มขึ้นถึง 80 เท่า 
    การที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ในปีนี้ "มกุฏ" ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ บอกว่า ตนรับรางวัลในฐานะคนทำหนังสือในยุคสมัยนี้ ขอขอบคุณผู้ร่วมทำงานตั้งแต่ต้น ทำให้สำนักพิมพ์ผีเสื้อโบยบินมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนคุณผกาวดี อุตตโมทย์ ผู้อุปถัมภ์สำนักพิมพ์ผีเสื้อมากว่า 30 ปี การทำงานหนังสือไม่ได้คิดแค่ธุรกิจ แต่ลมหายใจต้องอยู่กับหนังสือ
    ในวันนี้จะเรียกว่าอาจารย์มกุฏ ครูมกุฏ หรือ "คุณตามกุฎ" ของเด็กๆ นักเขียนผีเสื้อ บุคคลผู้นี้ก็คือนักเขียนที่รังสรรค์วรรณกรรมจนเป็นที่ยอมรับ งานมอบรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ครั้งที่ 15 พลอย-สโรชา กิตติสิริพันธุ์ สาวน้อยดวงตาพิการผู้เขียนหนังสือเรื่อง "จนกว่าเด็กปิดตาจะโต" ซึ่งเรียนวิชาบรรณาธิการศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กับอาจารย์มกุฏ มาร่วมพูดคุยถึงแรงบันดาลใจจากศิลปินผู้นี้ด้วย 

 

พลอย-สโรชา กิตติสิริพันธุ์ สาวน้อยดวงตาพิการผู้เขียนหนังสือ


    เธอเล่าว่าวิชานี้แตกต่างจากวิชาอื่นๆ นอกจากอาจารย์มกุฏสอนให้ทำหนังสือแล้ว ยังสอนให้เขียนหนังสือ การบ้านคือการเขียนบันทึกประจำวัน สังเกตประโยคที่เขียนผิดและหาวิธีแก้ให้ถูกต้อง การเขียนหนังสือยากมาก ต้องนึกภาพรอบตัว เราไม่เห็นจะเขียนได้อย่างไร แต่ครูแนะและสอนให้เขียนจากสิ่งที่อยู่ในตัวเรา แล้วสื่อสารให้คนอื่นรับรู้ จนกลายเป็นหนังสือเล่มแรกในชีวิต "จนกว่าเด็กปิดตาจะโต"  รวบรวมบันทึกประจำวันของตน สิ่งที่พิเศษมากคือ วิชานี้นิสิตมีสิทธิ์ออกแบบข้อสอบตามความสนใจของตนเองและไปค้นหาคำตอบมานำเสนอ ซึ่งตนทำ 2 หัวข้อ คือ คนมองไม่เห็นเข้าถึงหนังสือสิ่งพิมพ์ได้ และการจัดระบบหนังสือเสียง จากการศึกษาได้ข้อค้นพบไม่ต่างจากที่อาจารย์บอก คือหนังสือต้องเลือกให้เหมาะกับคนกลุ่มต่างๆ 
    "หลังเรียนจบได้เข้ามาในสำนักพิมพ์ผีเสื้อกับอาจารย์มกุฏ นอกจากฝึกฝนเขียนหนังสือ ก็ฝึกวาดภาพประกอบและเขียนลายมือ แล้วก็ศึกษาปริญญาโทจิตวิทยาการปรึกษาควบคู่ไปด้วย การร่วมงานกับอาจารย์เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตครั้งสำคัญ เมื่อก่อนไม่เชื่อมั่นตัวเอง ไม่เห็นกลัวทำไม่ได้ ไม่กล้าทำ กลัวทำผิดแล้วตลก ก็กลับมามองตัวเอง เริ่มจากสิ่งที่มี เรามีความรู้สึก นำประสาทสัมผัสมาใช้ให้ดีที่สุด ที่ผ่านมาไม่ได้ใช้เต็มศักยภาพ ตอนนี้ก็ยังมีความกลัวอยู่ แต่ไม่ได้ปิดกั้น อาจารย์มกุฏให้พลอยเดินทางเอง เป็นอีกจุดเปลี่ยนเราได้ข้อมูลในการเขียนมากขึ้นจากสิ่งที่ได้ยินและรับรู้ รู้สึกว่าเห็น ซึ่งการเดินทางทำให้เห็นความยากลำบากของคนอื่น เป็นที่มาของหนังสือเล่มที่ 3 เรื่อง 'เห็น' จะตีพิมพ์เร็วๆ นี้" พลอย-สโรชากล่าวขอบคุณและระลึกถึงคุณครูในงานครั้งนี้ด้วย 

นักเขียนผีเสื้อเด็กๆ มาร่วมแสดงความยินดีกับคุณตามกุฏ 

    สำหรับรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ กำเนิดขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่คุณชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ และเชิดชูบุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นแบบอย่างการทำงานสร้างสรรค์ รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานและพัฒนาให้ผู้คน โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ มีเงินรางวัล 5 แสนบาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ย้อนไปบุคคลที่ได้รับรางวัลปีที่ผ่านมา ได้แก่ อาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์, นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร, ดร.สาทิศ อินทรกำแหง, นางรตยา จันทรเทียร, นายเดชา ศิริภัทร, พระราชสุทธิประชานาถ, นายเอนก  นาวิกมูล, ศ.สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์, ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร และล่าสุดคือ มกุฏ อรฤดี บุคคลสำคัญในแวดวงวรรณกรรมไทย     

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"