แม้วันนี้สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในทุกพื้นที่กรุงเทพมหานครจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติอยู่ในค่ามาตรฐาน แต่ปรากฎการณ์สภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ ทำให้มลพิษทางอากาศสะสมตัวในปริมาณมากจนค่าฝุ่นมลพิษ PM 2.5 พุ่งสูงเกินมาตรฐานเมื่อสามวันก่อน จนกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)ออกโรงเตือนไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพให้คนกรุงหลีกเลี่ยงการอยู่นอกอาคาร สะท้อนปัญหาฝุ่นละอองมลพิษในอากาศที่ถูกเพิกเฉยและคุณภาพชีวิตคนเมืองถูกละเลย รวมทั้งรัฐบาลไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหามลพิษอากาศที่เหมาะสม
ฝุ่น PM 2.5 ที่ลอยปะปนอยู่ในอากาศเป็นภัยร้ายขนาดเล็กที่คุกคามสุขภาพรุนแรงที่สุดและสามารถเข้าสู่ทั่วร่างกาย สารมลพิษนี้สามารถผ่านขนจมูกและเข้าสู่กระแสเลือด หากสะสมอยู่ในอวัยวะก็เพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งของอวัยวะนั้นๆ องค์กรอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) จึงกำหนดอย่างเป็นทางการให้ PM 2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง
ในงานเสวนา “Right to Clean Air - The Art Exhibition ขออากาศดีคืนมา” เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ณ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดโดยกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอีกครั้งที่เรียกร้องให้ คพ.ใช้ค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยเพื่อปกป้องคุณภาพชีวิตของประชาชนและสร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ
เวทีเสวนาปัญหาพิษภัยฝุุ่นขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ที่คนในเมืองยังไม่ตระหนักพิษภัยและคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ทั้ง ๆที่เราเสี่ยงที่จะ
สูดดมเข้าสู่ร่างกาย และเป็นสาเหตุการเกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมา
รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Data Center : CCDC )สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า กรณีมลพิษทางอากาศล่าสุดของ กทม. ฝุ่นมลพิษเกินค่ามาตรฐาน นอกจากเมืองกรุงเจอสภาพอากาศนิ่ง ที่น่าสงสัยยังมีแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศหลักจากการเผาในที่โล่งในพื้นที่เกษตรกรรมรอบ กทม. ศูนย์ฯ ตรวจพบจุดความร้อน Hot Spot บริเวณ จ.ปทุมธานี จ.อยุธยา และอีกหลายจุดมีการเผาไร่อ้อย เผาที่นา เป็นวิถีชาวบ้านในการจัดการแปลงเกษตรแบบง่ายๆ ทำให้มลพิษแพร่กระจายในอากาศ ซึ่งฝุ่นจากการเผาในที่โล่งจะมีปริมาณมากและกระจายได้ไกล เกิดผลกระทบในระยะสั้น ประกอบกับการปล่อยมลพิษจากการจราจรการขนส่ง ทำให้สภาพอากาศกทม.ขมุกขมัว ซึ่งคนกรุงไม่เคยได้รับผลกระทบสภาวะหมอกควันเหมือน จ.เชียงใหม่ ทำให้ไม่เตรียมตัวสวมหน้ากากป้องกัน บางคนใช้ผ้าปิดจมูก ซึ่งไม่สามารถป้องกันฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ได้ อากาศไม่ดียังมีคนออกกำลังกายนอกสถานที่ส่งผลอันตรายต่อร่างกาย เพราะขาดองค์ความรู้ ปรากฎการณ์มลพิษที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนของคนกรุงเทพฯ ส่วนภาครัฐต้องทบทวนหาทางป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ
รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มช.
" มลพิษทางอากาศเป็นวิกฤตสุขภาพของคนไทย ภาคเหนือเผชิญปัญหาใหญ่เกี่ยวกับหมอกควันมา 8 ปีแล้ว ซึ่งระยะหลังรุนแรงมากขึ้น พีคสุดพบค่า PM 10 เกิน 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่าพุ่งสูงมาก เพราะค่ามาตรฐาน 120 ไมโครกรัม คน กทม.ที่ไม่เคยรู้ว่าปัญหาหมอกควันเชียงใหม่เป็นอย่างไร แต่กลางสัปดาห์ที่ผ่านมาประสบด้วยตัวเอง คนเมืองรู้สึกมลพิษใกล้ตัวมากขึ้น สิทธิการมีอากาศดีหายใจเป็นของทุกคน แต่อากาศจะดีได้ ต้องควบคุมดูแลแหล่งกำเนิดมลพิษ " รศ.ดร.เศรษฐ์ ย้ำ
นักวิชาการผู้ทำงานแก้ปัญหาหมอกควันเชียงใหม่ กล่าวด้วยว่า สำหรับภาคเหนือมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเครื่องตรวจวัดค่า PM 2.5 มีน้อย เชียงใหม่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแค่ 4 สถานี ทั้งที่ในพื้นที่ควรมีไม่น้อยกว่า 50 สถานี คนจะนึกว่ามีปอดเหล็ก แต่ฝุ่น PM 10 ก่อให้เกิดโรคหลอดลม ภูมิแพ้ โรคระบบทางเดินหายใจ แต่ที่ร้ายกว่า PM 2.5 เป็นสารก่อมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด ทุกปีที่เกิดปัญหาหมอกควัน เด็กป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ ผู้สูงอายุเสียชีวิตจากมลพิษอากาศ
รศ.ดร.เศรษฐ์ เผยว่า ขณะนี้ศูนย์ฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาสร้างนวัตกรรมใหม่เครื่องตรวจจับและเก็บตัวอย่างฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์ 24 ชั่วโมง ใช้ไฟฟ้าสถิตไปที่ธาตุฝุ่น ไม่ได้เก็บปริมาณมวลฝุ่นหาค่าแบบ คพ. โดยติดตั้งครั้งแรกปีที่เชียงดาวและดอยสะเก็ตปีที่แล้ว ปีนี้จะขยายผลติดตั้งเครื่องดังกล่าวเพิ่ม 10 สถานีในพื้นที่โรงเรียนและโรงพยาบาลภายในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อรายงานค่าฝุ่นอันตราย แล้วยังมีรถโมบายเก็บข้อมูลอากาศเฉพาะพื้นที่ แม้การตรวจวัดไม่ถูกต้อง 100% แต่คลาดเคลื่อนไม่เกิน 10% เป็นค่าที่ใช้ประกอบการตัดสินใจเตือนกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุที่มีอัตราเสี่ยงภัยมลพิษอากาศมากกว่าคนทั่วไป
" ถึงเวลาแล้วที่จะให้กำเนิดสถานีตรวจวัดที่ประชาชนเป็นเจ้าของ เครื่องต้นแบบ Dust DETEC คนไทยประดิษฐ์ขึ้นภายในประเทศ ราคาถูกกว่า 3 เท่า แต่มีขีดความสามารถเทียบเท่าเครื่องมือต่างประเทศ กว่า เป็นอีกหนทางปกป้องสุขภาพ คนไทยต้องมีอายุยืนยาวตามค่าเฉลี่ยของมนุษย์ ไม่ควรเสียชีวิตก่อนวัยอันควร " รศ.ดร.เศรษฐ์ กล่าว
ด้าน เพ็ญโฉม แช่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ซึ่งติดตามปัญหามลพิษต่อเนื่อง กล่าวว่า ที่ผ่านมารณรงค์ปัญหาเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และมลพิษทางอากาศแพร่กระจายได้ระยะไกล ทั้งสารปรอทและสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม เช่น สารไดออกซิน ตัวการก่อมะเร็ง แต่ผู้กำหนดนโยบายก็ไม่ตระหนักถึงภัยคุกคามนี้ รัฐบาลต้องหามาตรการลดและกำจัดสารพิษเพื่อดูแลสุขภาพของคนไทย เพราะสารปรอทที่สะสมในห่วงโซ่อาหารเป็นภัยต่อชีวิตผู้คนมาก สำหรับแหล่งกำเนิดสารปรอทสู่สิ่งแวดล้อมมาจากอุตสาหกรรมเหล็กมากที่สุด ถัดมาการเผาไหม้ขยะ มีรายงานว่าภูมิภาคเอเชียปล่อยสารปรอทสู่สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะทางอากาศสูงสุดกว่า 60% รวมถึงประเทศไทยที่มีอัตราปล่อยสูงด้วย
เพ็ญโฉม แช่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ
ส่วนทางออกเรื่องมลพิษอากาศ ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ เห็นว่า ตราบใดที่ผู้กำหนดนโยบายไม่เข้าใจเรื่องมลพิษ ไม่เห็นความสำคัญเพียงพอ หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน สถานการณ์มลพิษทางอากาศของไทยจะไม่มีทางดีขึ้น การทวงคืนอากาศบริสุทธิ์เป็นไปได้ยาก ปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายเรื่องกระเตื้องขึ้นด้วยพลังภาคประชาชน ถ้าประชาชนไม่ลุกขึ้นต่อสู้จะถูกกลืนหายไปกับกระแสการเร่งรัดพัฒนาอุตสาหกรรมและการเติบโตของสังคมเมือง
" คนกทม.น้อยมากที่ตื่นตัวเรื่องสารมลพิษหรือฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ปะปนในอากาศ เห็นว่าการรณรงค์และให้ความรู้ภัยที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพต้องทำอย่างเข้มข้น ควรเน้นที่กลุ่มผู้รักสุขภาพ นักวิ่ง นักปั่นจักรยาน เพราะกิจกรรมจะสัมพันธ์กับอากาศที่ดี แล้วขยายผลคนเมือง ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ จัดระบบขนส่งมวลชนที่สะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนในเขตอุตสาหกรรมก็ต้องมีการควบคุม ลดการปล่อยก๊าซและมลพิษ โดยเฉพาะมลพิษอากาศแพร่กระจายได้ระยะไกลน่ากลัวมาก หากสารพิษคงทนตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม คนจะอยู่อย่างไร อันตรายต่อระบบภูมิคุ้มกัน ระบบประสาท การสืบพันธุ์ของมนุษย์ รวมถึงส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก เราไม่เคยศึกษาหาสาเหตุการเกิดภาวะพิการของทารก ซึ่งแนวโน้มมีเพิ่มขึ้น " เพ็ญโฉม กล่าว
วันชัย พุฒทอง ช่างภาพอิสระที่ร่วมสร้างความตระหนักมลพิษทางอากาศผ่านภาพถ่ายวิกฤตหมอกควันที่สงขลาและภาคใต้ กล่าวว่า เมื่อปี 2558 เกิดปัญหาหมอกควันไฟป่าจากอินโดนีเซียพัดมาปกคลุมภาคใต้ ค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตอนนั้นคนไม่รู้คิดว่าเหมือนเมืองในหมอก แต่กลับเป็นหมอกที่ทำให้แสบตา หายใจขัด ชาวสงขลาที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษข้ามพรนแดนมีการเรียกร้องที่สถานกงศุลอินโดนีเซีย สงขลา ถือเป็นทุกข์ร่วมกันของคนใต้ มีการจัดเวทีหาทางออกและปรับทุกข์ ปัญหาเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกปี แต่ไม่มีการจัดการอย่างจริงจัง แต่ความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว คือ สุขภาพของคน มีอาการเจ็บป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แม้ปี 60 สถานการณ์จะไม่รุนแรง แต่ปัญหายังมีอยู่
" มลพิษทางอากาศที่สะสมและปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมของเดิมยังไม่มีการตรวจวัด ทดสอบ แล้วยังมีมลพิษเข้ามาใหม่ ผมเห็นว่าต้องมีการศึกษาและตรวจวิเคราะห์ว่า นอกจากฝุ่นละอองไฟป่าแล้ว มีฝุ่นพิษจากอุตสาหกรรมด้วยหรือไม่ ปัญหายังไม่หมด แต่อินโดนีเซียจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกจำนวนมาก " วันชัยกังวลใจมลพิษอากาศข้ามพรมแดน
ด้าน ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า จากการศึกษาของธนาคารโลก ชี้ว่าคนเมือง 80% กำลังเผชิญกับคุณภาพอากาศที่เต็มไปด้วยมลพิษสูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์กรอนามัยโลก ในปี 2560 ระดับมลพิษในอากาศที่บันทึกโดยสถานีตรวจสอบ 19 แห่งใน 14 พื้นที่ทั่วประเทศไทยยังคงเกินค่ามลพิษจำกัดสูงสุดของ WHO พื้นที่ที่มีค่าเฉลี่ยฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ตลอดทั้งปีสูงที่สุดคือ สระบุรี และ ธนบุรี ในกรุงเทพฯ ส่วนพื้นที่ที่อยู่ในเกณฑ์เสี่ยง ได้แก่ สมุทรสาคร ราชบุรี ขอนแก่น และเชียงใหม่ สำหรับผลกระทบจากฝุ่นละอองมลพิษในอากาศที่กรุงเทพฯ เป็นสัญญาณชี้รัฐเพิกเฉยการจัดการควบคุมมลพิษที่แหล่งกำเนิด
ธาา บัวคำศรี จากกรีนพีซ
“กรีนพีซต้องผลักดันต่อไปเพื่อให้กรมควบคุมมลพิษยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศในไทยให้เข้มงวดยิ่งขึ้นและเรียกร้องให้ใช้ดัชนีคุณภาพอากาศอันใหม่ ใช้ค่า PM 2.5 นำมาคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพของประชาชน ต้องรายงานค่าฝุ่นมลพิษในทุกสถานี คนจะได้เฝ้าระวัง เตรียมพร้อมรับมือและป้องกันสุขภาพอย่างถูกวิธี ไม่ควรจะต้องมาเสี่ยงกับภัยทางสุขภาพ " ธารา กล่าวทิ้งท้ายทางออกปัญหามลพิษอากาศที่กระทบชีวิตผู้คน
เครื่องต้นแบบ Dust DETEC เก็บตัวอย่างฝุ่น PM 2.5 แบบเรียลไทม์
สถานีตรวจวัดค่า PM 2.5 ในพื้นที่เชียงใหม่ รายงานค่าฝุ่นมลพิษเพื่อปกป้องสุขภาพประชาชน