1ต.ค.60-ลูกหนี้กยศ.เริ่มรู้ร้อนรู้หนาว"ชัยณรงค์เผยเดือนสิงหาคม แห่โทรเข้ามาติดต่อขอชำระหนี้ 2แสนราย จากปกติมีแค่50,000 ราย ตั้งเป้า ปี 62 หักเงินเดือนชำระหนี้เต็มรูปแบบ ส่วนปี 61 เก็บยอดชำระหนี้ได้ 2.6 หมื่นล้านบาท คาดปีหน้าจะมีการชำระหนี้กว่า3 หมื่นล้านบาท พร้อมนำระบบขอกู้ย้ม แบบดิจิทัล (DSL)มาใช้ในปีการศึกษา 2563 ทำสัญญาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ต้องใช้กระดาษ
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการหักเงินเดือนของผู้กู้ กยศ. เพื่อชำระหนี้ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ว่า ปัจจุบัน กยศ.เริ่มนำร่องหักเงินในส่วนของกรมบัญชีกลางแล้ว และในเดือนตุลาคมนี้จะเดินหน้าหักในที่ภาคส่วนของหน่วยงานราชการ และข้าราชการองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อีกทั้งในช่วงต้นปี 2562 จะเริ่มในกลุ่มภาคเอกชน ที่มีพนักงานจำนวน เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นต้น โดยขณะนี้ทาง กยศ.ได้ดำเนินการหารือ เพื่อประสานงานระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งหากระบบการหักเงินเดือนสมบูรณ์ กยศ.ก็จะเดินหน้าหักหนี้จากผู้กู้ได้หมดทุกคนภายในปี 2562 อย่างไรก็ตาม สำหรับจำนวนลูกหนี้ทำงานในหน่วยงานราชการ ที่รับเงินเดือนผ่านระบบจ่ายตรง มีประมาณ 200,000 คน ข้าราชการ อปท. อีกประมาณ 200,000 คนและภาคเอกชน ประมาณ 900,000 คน
โดยขณะนี้ กยศ.สามารถเข้าถึงข้อมูลของลูกหนี้ได้ แต่ก็มีกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่อยู่ในระบบ ที่ไม่สามารถติดต่อได้อยู่ประมาณกว่า 1 ล้านคน ซึ่ง กยศ.ก็จะดำเนินการบังคับคดี ด้วยวิธีปกติอยู่แล้ว ทั้งนี้ในปี 2561 กยศ. สามารถเก็บยอดชำระหนี้ได้ ประมาณ 26,000 ล้านบาท ทั้งจะระบบปกติและระบบหักจากเงินเดือน และในปี 2562 กยศ. คาดว่าจะมีการชำระหนี้กว่า 30,000 ล้านบาท
“จากการนำร่องหักเงินเดือนของผู้กู้ กยศ.เพื่อชำระหนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จไม่มีปัญหาอะไร อีกทั้งลูกหนี้ของ กยศ.ก็ให้ความร่วมมืออย่างดี ซึ่งหากเราสามารถดำเนินการได้อย่างครบวงจรก็จะทำให้ปัญหาการค้างชำระหนี้ลดลง นอกจากนี้ในปัจจุบันมีผู้เข้ามาติดต่อเพื่อชำระหนี้ กยศ.เพิ่มมากขึ้นจำนวนมาก โดยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีผู้ติดต่อเรื่องเกี่ยวกับการชำระหนี้ทางโทรศัพท์มากถึง 200,000 สาย จากเดิมที่มีประมาณ 50,000 สายเท่านั้น รวมถึงผู้ที่มาติดต่อที่สำนักงานก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นถึง 2 เท่าตัว ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ปกครองของผู้กู้”ผู้จัดการ กยศ.กล่าวและว่า ในปีการศึกษา 2563 กยศ.จะนำระบบกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา แบบดิจิทัล (DSL) ซึ่งระบบดังกล่าวเป๋นการพัฒนาขึ้นมา เพื่อลดเอกสารในรูปแบบกระดาษและทำสัญญาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์.