จะซ้ำรอยหรือไม่?
วันนี้บรรยากาศการเมืองกำลังย่ำรอยเดิมก่อนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬแล้วใช่หรือไม่
รสช.ตั้งพรรคสามัคคีธรรม
คสช.ตั้งพรรคพลังประชารัฐ
ประเทศไทยกำลังเดินเข้าสู่ความขัดแย้งทางการเมือง และจะพัฒนาไปถึงขั้นเสียเลือดเสียเนื้อกันอีกรอบใช่หรือเปล่า?
ทำไมหลายๆ คนถึงพูดเรื่องนี้กันมากขึ้น
ก่อกำเนิดของพรรคพลังประชารัฐ ที่ดูดเอาอดีต ส.ส. นักวิชาการ นักธุรกิจ นักการเมืองท้องถิ่น คือการสืบทอดอำนาจของ คสช.ใช่หรือไม่?
มากมายหลายคำถาม ที่ยังมีข้อสงสัยนี้ จะอธิบายอย่างไร?
ประการแรก คสช.สืบทอดอำนาจหรือไม่ ประเด็นนี้คงไม่ต้องถามอีกแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญระบุชัดเจน คสช.ยังจะมีบทบาทต่ออีก ๕ ปี ผ่านวุฒิสภา
ประการถัดมา พรรคพลังประชารัฐ มีขึ้นเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเรื่องที่ พรรคพลังประชารัฐ ไม่เคยปฏิเสธแม้ครั้งเดียว
แล้วการสืบทอดอำนาจ กับ การทำงานการเมืองต่อ มีความต่างอย่างไร?
แน่นอนว่าฝ่ายต่อต้าน คสช.มองเป็นเรื่องสืบทอดอำนาจ
ขณะที่ฝ่ายสนับสนุน คสช.ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ก็เพื่อสานงานต่อจากงานเดิมที่ทำไว้
แล้วเหตุผลฝ่ายไหนมีความน่าเชื่อถือกว่ากัน?
ทำนองเดียวกับมุมมองที่ว่า...นับจากนี้ไปประเทศไทยจะทำอะไร ต้องรอรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น รัฐบาลทายาทคณะรัฐประหารควรลาออกเพราะไม่มีประโยชน์ใดๆ ต่อประเทศ
เรื่องนี้น่าขบคิด เพราะวิธีการที่ต่างกันอาจนำมาซึ่งผลลัพธ์เดียวกัน
นักการเมืองศิษย์เก่าเดือนตุลาหลายคนที่ออกจากป่า ต่างก็รู้ดีว่า ทฤษฎีว่าด้วย "แมว" ของเติ้งเสี่ยวผิง คืออะไร และนำไปสู่อะไร
เติ้งเสี่ยวผิง ยกสุภาษิตชาวบ้านในมณฑลอานฮุยว่า
"ไม่ว่าจะเป็นแมวเหลือง แมวดำจับหนูได้ก็ถือเป็นแมวดี"
ทฤษฎีว่าด้วย "แมว" จึงโด่งดังขึ้นมา แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในช่วง "ปฏิวัติวัฒนธรรม"
หลายครั้ง "เหมาเจ๋อตง" มักวิพากษ์ "เติ้งเสี่ยวผิง" ว่า "ยังเป็นแมวดำแมวขาวอีก"
จึงกลายเป็น "ไม่ว่าจะเป็นแมวดำ แมวขาวจับหนูได้ก็ถือเป็นแมวดี"
แต่ที่น่าสนใจคือ แม้ "เติ้งเสี่ยวผิง" จะลุ่มๆ ดอนๆ ทางการเมืองหลายครั้งหลายครา
"ทฤษฎีว่าด้วยแมวดี" ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์หลายครั้งหลายครา ไม่เพียงไม่ได้ล้มเลิก นับวันกลับทรงอิทธิพลกว้างใหญ่ และมีบทบาทสำคัญต่อการปลดปล่อยความคิดของผู้คนในช่วงต้นของการปฏิรูปเปิดประเทศ
ในที่สุดแนวคิดนี้ชาวจีนต่างสรรเสริญเชิดชู "เติ้งเสี่ยวผิง" ว่า เป็นผู้นำที่ประเสริฐยิ่ง
มีความเป็นอัจฉริยบุรุษทั้งในฐานะ นักทฤษฎีลัทธิมาร์กซิสม์ นักปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพที่ยิ่งใหญ่ นักปกครอง นักการทหาร นักการต่างประเทศ
และ สถาปนิกใหญ่ผู้ออกแบบความทันสมัยให้ชาติและปฏิรูประบบสังคมนิยมจีน
เป็นรากฐานให้จีนก้าวกระโดดในวันนี้
ทฤษฎีนี้นำมาอธิบายการเมืองในไทยขณะนี้ได้หรือไม่?
ก็ต้องย้อนกลับไปช่วงกว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมา ประชาธิปไตยไทยเริ่มเบ่งบาน และเชื่อกันว่า การรัฐประหารวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) จะเป็นการทำรัฐประหารครั้งสุดท้าย
เพราะเชื่อว่าภายใต้รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ฉบับปฏิรูปการเมือง ประเทศไทยจะปฏิรูปในทุกด้าน
โดยเฉพาะประชาธิปไตย
แต่สุดท้าย รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งเป็นเพียงเครื่องมือการเข้าสู่อำนาจเท่านั้น
นักการเมืองคอร์รัปชันหนักกว่าเดิม
ปัญหาของประเทศไทยคือ....
ในอดีตไม่ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐประหาร ไม่เคยปลอดจากการคอร์รัปชัน
หนักเข้า.....รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สามารถสร้างความขัดแย้งของคนในชาติได้หนักหนาสาหัสกว่ารัฐบาลเผด็จการทหาร
พฤษภาทมิฬ เกิดขึ้นและดับลงตรงนั้น
ไม่ได้สร้างผลพวงแห่งความขัดแย้งต่อเนื่องยาวนาน อย่างเช่นความขัดแย้งที่เกิดจากรัฐบาลระบอบทักษิณเป็นตัวจุดชนวน
ถึงวันนี้ก็ยังไม่จบ!
จะเป็นเรื่องดีหากการสืบทอดอำนาจของ คสช. จะจบลงแบบพฤษภาทมิฬ เพราะจะได้จบและปิดฉากไปอย่างสมบูรณ์ในทันที
แต่ในข้อเท็จจริง มันเป็นไปไม่ได้ นอกจากบริบทที่แตกต่างแล้ว เหตุการณ์แบบพฤษภาทมิฬ จะไม่มีทางเกิดขึ้นอีก
พฤษภาทมิฬ เกิดขึ้นและดับลง เพราะการตกผลึกร่วมกันของ นักศึกษา ประชาชน ไม่มีการแบ่งสี แบ่งฝ่าย
เป็นประวัติศาสตร์ร่วมของคนไทยทั้งชาติ
แต่ ณ ปัจจุบัน ประชาชนที่ถูกการเมืองแบ่งแยก มีอะไรร่วมกันบ้าง
เสื้อแดงเขียนประวัติศาสตร์ของตัวเอง อ้างประชาธิปไตย เผาบ้านเผาเมือง
และอย่าลืมว่า พฤษภาคม ๒๕๕๓ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลเลือกตั้ง นักการเมืองบริหารประเทศ ไม่ใช่รัฐบาลทหาร
แค่ไม่ใช่รัฐบาลของพวกกู!
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ก็มีประวัติศาสตร์ของตัวเอง ต่างก็ต้องการล้มล้างระบอบทักษิณ ที่จ้องแต่จะคดโกง
ฉะนั้นถ้าจะเกิดวิกฤติการเมืองจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี อีกสมัย วิกฤติที่ว่าก็เป็นได้แค่ "การชิงอำนาจคืน" เท่านั้น
ไม่ใช่วิกฤติที่คนไทยทั้งชาติต่างจดจำร่วมกันในข้อเท็จจริงเดียวกัน ข้อมูลชุดเดียวกัน เช่นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
ฉะนั้นมองการเมืองวันนี้ต้องแยกให้ออก
การกระทำแบบไหน โดยใคร จะนำไปสู่อะไร
การเมืองคืออะไร?
วันนี้การเมืองเส็งเคร็ง ใช้การตลาดนำจนไร้ซึ่งจุดยืนที่แท้จริง
วันหนึ่งเราเห็นนักการเมืองไทย พากันยกย่องเชิดชู อองซาน ซูจี
ครั้งนั้น "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" พยายามใช้ภาพลักษณ์ของ "อองซาน" เพื่อขยับสถานะทางการเมืองของตนเองให้มีความเป็นสากล
มาวันนี้ มีนักการเมืองไทยหน้าไหนโหน "อองซาน" บ้าง
พวกยุโรป อเมริกา แคนาดา ริบโน่นนี่นั่นที่เคยให้แก่ "อองซาน" อ้างเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องโรฮีนจา ที่พม่าไม่ได้สร้างขึ้นเอง แต่เป็นฝีมืออดีตเจ้าอาณานิคมขี้ทิ้งเอาไว้
จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าทำไม "อองซาน" จึงนิ่งเฉยกับเรื่องนี้ ยอมถูกโลกตะวันตกชี้หน้าด่า แต่พม่าวันนี้ไม่มีความขัดแย้งภายในระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับกองทัพ
"อองซาน" ถูกริบรางวัล ในขณะที่พม่าโตขึ้นทุกวัน และไม่มีทีท่าว่าจะหยุด
กลับกันถ้าวันนี้ "อองซาน" บ้าจี้ตามตะวันตก ใช้กรณี โรฮีนจา มาเป็นเครื่องมือเพื่อไล่บี้กองทัพพม่าให้จนมุม
พม่าวันนี้จะเหลืออะไร?
แล้วทำไมคนที่ถูกจองจำโดยกองทัพมาร่วม ๒๐ ปี ถึงยอมถูกตราหน้าว่าเป็นพวกละเมิดสิทธิมนุษยชน
มิติการเมืองจึงไม่ใช่แค่เรื่องประชาธิปไตยและการเลือกตั้งเท่านั้น
ฉะนั้นการมองการเมืองอย่างเข้าใจ จะนำไปสู่การเห็นความต่างระหว่าง "บิ๊กสุ" กับ "บิ๊กตู่"
๔ ปีรัฐบาล คสช. ไม่ได้เลิศหรูอะไร แต่ไม่ได้แย่กว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลายๆ ชุด
การปฏิรูปยังมองไม่เห็น แต่ยอมรับกันหรือไม่ว่า มีการวางรากฐานเอาไว้มากกว่ารัฐบาลก่อนๆ ที่แทบไม่มีการพูดถึงการปฏิรูปประเทศเลย
มีแต่จ้องจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดทอนความเข้มข้นการตรวจสอบ การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลลง
โครงสร้างระบบขนส่งมวลชนถือเป็นการก้าวกระโดดของประเทศเพราะรัฐบาล คสช. ขณะที่รัฐบาลเลือกตั้งทุ่มไปกับนโยบายประชานิยมเพื่อสร้างฐานคะแนนเสียง
ปัญหาเศรษฐกิจย่ำแย่ในเวลานี้เป็นเรื่องจริง และเป็นเรื่องจริงเช่นกันว่า รัฐบาลจากการเลือกตั้งหลายๆ รัฐบาลก็เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนักเช่นกัน
วิกฤติต้มยำกุ้งเกิดจากรัฐบาลเผด็จการทหารหรือเปล่า?
แถมคนได้ประโยชน์ยังเป็นนายใหญ่พวกอ้างตัวเป็นฝ่ายประชาธิปไตยในวันนี้เสียด้วย
เหลือเพียงประเด็นว่าแล้วจะปล่อยให้รัฐบาล คสช.สืบทอดอำนาจไปอย่างนี้หรือ?
ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สืบทอดอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ แล้วประเทศไทยจะฉิบหาย ล้มครืนลงทันทีหรือไม่
หรือถ้า คสช.ยุติบทบาท ปล่อยให้นักการเมืองไปว่ากันเอง ประเทศจะสงบสุขกว่าอย่างนั้นหรือ?
ก็อยู่ที่คนตอบจะเป็นใคร
เป็นเช่นนี้เพราะความขัดแย้งที่สะสมมานานนับสิบปีโดยนักการเมืองใช้ผลประโยชน์ให้ประชาชนแตกเป็นสองฝ่าย
และถ้ามันจะเกิดขึ้นอีก ย่อมน่ากลัวกว่าพฤษภาทมิฬ
ไม่ใช่แค่เผาบ้านเผาเมือง
แต่มันจะเผาประเทศ.
ผักกาดหอม
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |