คำปราศรัยของโดนัลด์ ทรัมป์ที่สหประชาชาติเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นการพลิกนโยบายของมหาอำนาจสหรัฐฯ ครั้งสำคัญตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองกันเลยทีเดียว
ทรัมป์ประกาศยกเลิกแนวทาง Ideology of Globalism หรือ "อุดมการณ์โลกาภิวัตน์" ที่อเมริกาเคยเป็นผู้ประกาศเป็นนโยบายหลักของวอชิงตันมาตลอด และจะทดแทนด้วย Doctrine of Patriotism หรือ "ลัทธิรักชาติ"
ไม่ต้องสงสัยว่าผู้นำสหรัฐฯ คนนี้กำลังจะเดินตามคำมั่นสัญญาระหว่างหาเสียงคือ America First
นั่นหมายถึงว่าต่อแต่นี้เป็นต้นไป อเมริกาจะสนใจเฉพาะเรื่องที่ตนได้ประโยชน์เป็นหลัก อะไรอย่างอื่นจะกลายเป็นเรื่องที่มีลำดับความสำคัญรองลงมา
ทรัมป์บอกด้วยว่าที่ผ่านมาสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือประเทศอื่นมากที่สุด "แต่น้อยประเทศจะให้อะไรเรา"
พร้อมทั้งประกาศว่าภายใต้การนำของเขา อเมริกาจะให้ความช่วยเหลือก็แก่ประเทศที่ "เคารพเรา" และ "เป็นมิตรกับเรา"
ว่าแล้วทรัมป์ก็ร่ายยาวถึงประเทศที่ "เป็นมิตร" ด้วยการเอ่ยถึงคิมจองอึนแห่งเกาหลีเหนือเป็นชื่อแรก มิใช่ยุโรปอย่างที่เคยเป็นรูปแบบเหนียวแน่นมาตลอดหลายสิบปี
ตามมาด้วยซาอุดีอาระเบีย, ยูเออี และโปแลนด์ (ซึ่งผู้นำเพิ่งไปเยือนทำเนียบขาวพร้อมกับประกาศว่าจะตั้งชื่อฐานทัพสหรัฐฯ ในประเทศตนว่า Fort Trump หรือ "ปราการแห่งทรัมป์")
ศัตรูหมายเลขหนึ่งของอเมริกาในสายตาทรัมป์คืออิหร่าน และประเทศใดก็ตามที่ไม่ยอมทำตามเงื่อนไขของทรัมป์
การยกเลิกนโยบาย Globalism ของทรัมป์มีผลที่สำคัญมากต่อดุลอำนาจของเวทีการเมืองระหว่างประเทศ เพราะเท่ากับเป็นการเขียนกติกาใหม่สำหรับโลก
อเมริกาเคยผลักดันนโยบาย "โลกาภิวัตน์" เพราะต้องการจะเป็นผู้กำหนดทิศทางของโลกให้เดินตาม "อุดมการณ์" หรือ Ideology ในเรื่องประชาธิปไตย, ตลาดเสรี, สิทธิมนุษยชน, ธรรมาภิบาลซึ่งเป็น "ค่านิยม" ตะวันตกที่มีมาช้านาน
ไม่แต่เท่านั้น สหรัฐฯ ยังไปชักชวนประเทศตะวันตกในยุโรปที่มีแนวความคิดเช่นนี้ให้มาเป็นพันธมิตรด้านนี้
แน่นอนว่านโยบาย Globalism ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการต้องการทำความดีความงามเพื่อช่วยเหลือประเทศอื่นอย่างเดียว หากแต่เป็นเพราะการที่สหรัฐฯ เรียกร้อง, กดดัน, บังคับให้ประเทศอื่นๆ ยอมเดินตามแนวทางของตนนั้น ทำให้วอชิงตันกลายเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจของโลก และได้ประโยชน์มหาศาลในการกำหนดทิศทางที่ตนเองได้ประโยชน์สูงสุด
แต่เพราะสหรัฐฯ ไม่สามารถบริหารทรัพยากรของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ สร้างหนี้สินมโหฬารเพราะสามารถพิมพ์เงินออกมาเท่าไหร่ก็ได้ และใช้เงินทองในการทำสงครามในประเทศต่างๆ ที่ไม่เป็นมิตรกับตน กลุ่มชนชั้นกลางผิวขาวจำนวนหนึ่งก็รู้สึกว่าพวกตนไม่ได้ประโยชน์อะไรจากนโยบาย "โลกาภิวัตน์"
มิหนำซ้ำชนชั้นกลางมะกันเหล่านี้ยังมองว่าประเทศอื่นๆ เอารัดเอาเปรียบสหรัฐฯ เพราะได้สิทธิพิเศษในการค้าขายกับอเมริกา ขณะที่อุตสาหกรรมสหรัฐฯ ถูกประเทศอื่นแย่งโอกาสไปมากมาย
ความรู้สึกต่อต้านสิ่งที่เรียกว่า Globalism ในหมู่คนอเมริกันจำนวนหนึ่งจึงเกิดขึ้นและกระจายตัวไปหลายๆ จุดในสหรัฐฯ จนกลายเป็นฐานเสียงใหญ่ที่หนุนเนื่องให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งเหนือความคาดหมายของคนส่วนใหญ่ในอเมริกา
มาถึงวันนี้ทรัมป์จึงพยายามจะขี่กระแสนี้เพื่อจะยึดอำนาจทางการเมือง และหวังจะชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในสมัยที่สองด้วยการประกาศนโยบาย "สหรัฐอเมริกาต้องมาก่อน"
แนวทาง Doctrine of Patriotism ของเขาไม่ใช่เรื่อง "รักชาติ" หากแต่เป็นการสร้างกระแส "ชาตินิยม" ในประเทศอเมริกาเพื่อให้เขาเป็น "ขวัญใจ" ของชนชั้นกลางผิวขาวที่พร้อมจะเทคะแนนให้เขาโดยไม่สนใจว่าทรัม์ปกำลังจะ "ป่วน" การเมืองมะกันและสร้างความสับสนให้แก่ประชาคมโลกด้วยนโยบายใหม่นี้อย่างไร
สิ่งที่จะตามมาคือ การกลับไปสู่การประกาศว่าอเมริกาจะเป็น "นักเลงโต" ที่ไม่สนใจเรื่องศีลธรรมและความถูกต้องชอบธรรมตราบเท่าที่ตนได้ประโยชน์ในกติกาใหม่
คำว่า Might is Right หรือ "ใครกล้ามใหญ่คนนั้นครองโลก" ก็จะกลับมาเป็นแนวทางที่น่ากลัวสำหรับประเทศที่ไม่มีอำนาจต่อรองกับ "ตำรวจโลก"
คำประกาศของทรัมป์ครั้งนี้จึงเท่ากับเป็นการเขียนกติกาใหม่ให้บทบาทของสหรัฐฯ ที่ประเทศไทยเราจะต้องวิเคราะห์ค้นคว้าหาข้อมูล เพื่อปรับแนวทางให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญครั้งนี้อย่างเร่งรีบ รอบด้าน และชาญฉลาด
ชัดเจนเช่นกันว่าเมื่อทรัมป์เลือกจะเดินเส้นทางที่ไม่เอาประชาคมโลก ก็เท่ากับเปิดช่องว่างให้จีนเข้ามาแทนที่ในฐานะเป็นชาติใหญ่ที่ยื่นมือร่วมแรงแข็งขันกับประเทศต่างๆ เพื่อคานอำนาจมะกัน
ประเด็นนี้กำลังจะเป็นหัวข้อใหญ่สำหรับทุกประเทศทุกภูมิภาค
เราตื่นจากความ "สบายๆ" และความงัวเงียแล้วหรือยัง?
ผมจับประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด ขอความรู้และความเห็นหลากหลายจากทุกฝ่ายเพื่อนำเสนอในคอลัมน์นี้ต่อไปครับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |