เลื่อนโรดแมป ขยับเลือกตั้ง ในทัศนะ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร


เพิ่มเพื่อน    

เลื่อนโรดแมป 2561 ไม่มีเลือกตั้ง 
.........................................
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่สำคัญ 2 ฉบับ ที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง คือร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ไปเมื่อ 25 และ 26 ม.ค.ที่ผ่านมาตามลำดับ 
โดยร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ซึ่ง สนช.เห็นชอบ มีการเขียนให้มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว 90 วัน ซึ่งหากสุดท้ายร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวประกาศใช้ตามนี้ ก็อาจทำให้การเลือกตั้งไม่เกิดขึ้นในปลายปีนี้ ทำให้โรดแมปที่ คสช.เคยประกาศไว้ต้องขยับออกไป 
ศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ทัศนะและวิเคราะห์โรดแมปการเลือกตั้ง ตลอดจนทิศทางการเมืองไทย เช่น อนาคตการเมืองของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.หลังจากนี้ โดยเฉพาะความเห็นว่าเพราะเหตุใดโรดแมปการเลือกตั้งจึงต้องเลื่อนออกไป ด้วยข้อคิดเห็นและทัศนะที่ยังไม่เคยมีใครพูดมาก่อน 
เมื่อถามถึงผลการประชุมของ สนช.เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีมติเห็นชอบในมาตรา 2 เรื่องการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ที่ให้มีผล 90 วันหลังประกาศใช้ เรื่องดังกล่าวจะมีผลต่อโรดแมปการเลือกตั้งของประเทศต่อจากนี้อย่างไร ศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวว่า การเลือกตั้งก็ต้องถูกเลื่อนออกไปจนอาจถึงกลางปี 2562 โดยเรื่อง 90 วันดังกล่าว ปัญหาตอนนี้คือ พ.ร.บ.พรรคการเมืองที่ประกาศใช้แล้ว พรรคการเมืองจะต้องทำทะเบียนสมาชิกพรรคให้ทันสมัย การทำเรื่องนี้ได้จะต้องให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมการเมืองได้ แต่เมื่อ คสช.ไม่ยอมยกเลิกคำสั่ง คสช.เพื่อไปสู่การปลดล็อก ก็เลยมีเงื่อนไขเวลา พรรคการเมืองทำไม่ทัน สนช.เลยจะไปขยายเวลา จะไปด่าว่า สนช.ฝ่ายเดียวก็กระไรอยู่ และทำให้ที่เคยมีการคาดการณ์กันว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.61 ก็อาจเลื่อนไปเป็นกุมภาพันธ์ 2562 
...หากพิจารณาโรดแมปทั้งหมด พิจารณาแบบเต็มที่เผื่อเหลือเผื่อขาดในช่วงต่างๆ เต็มที่ก็จะอยู่ในช่วงต้นปีหน้า จะอยู่ในช่วงประมาณนั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดมาก 
...ประเด็นคือหากมีการเลือกตั้งกุมภาพันธ์ 2562 แน่นอน ถามว่าจะจบไหม หากถึงตอนนั้นไม่มีการเลือกตั้ง มันเรื่องใหญ่ เพราะดูตามโรดแมปของรัฐธรรมนูญแล้วก็จะอยู่ช่วงนั้นไม่น่าเลื่อน เว้นแต่จะมาแก้ไข รธน.ที่ก็จะเป็นเรื่องใหญ่อีก 
การไม่ขยายเวลาเลือกตั้งออกไป ผมก็ยังนึกไม่ออกว่าจะไม่ขยายได้ยังไง ในเมื่อการทำทะเบียนสมาชิกมันใกล้จะหมดเวลาแล้ว ยกเว้นว่าอาจจะใช้วิธีอนุโลม คือทำทะเบียนสมาชิกพรรคไปด้วย แล้วก็ให้พรรคทำกิจกรรมอย่างอื่นไปด้วย โดยให้ทำกันให้เร็ว ซึ่งการทำให้เร็วก็จะเป็นประโยชน์กับพรรคการเมืองที่อยากให้เลือกตั้งเร็ว ในเมื่อนักการเมืองบอกว่าไม่ต้องมาขยายเวลาก็ได้ พรรคการเมืองทำได้   
- หากไม่มีการเลือกตั้งในปีนี้ ความเชื่อมั่นเชื่อถือต่อพลเอกประยุทธ์จะมีปัญหาหรือไม่ โดยเฉพาะจากการเฝ้ามองของนานาประเทศ? 
ผมคิดว่ามันน่าจะมีปัญหาพอสมควร เพียงแต่ต้องดูว่าต่างประเทศเขาให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งในประเทศไทยมากแค่ไหน ซึ่งมันจะเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของไทยกับต่างประเทศด้วยว่ามีความเกี่ยวข้องกันแค่ไหน 
ประเด็นคือแม้การเลือกตั้งจะเลื่อนออกไปเป็นปี 2562 แต่หากนายกรัฐมนตรีประกาศเรื่องการเลือกตั้งให้ชัดเจนก็ไม่น่าจะมีปัญหา จะเลื่อนก็เลื่อนไป แต่ต้องประกาศให้ชัดเจน แน่วแน่แน่นอนว่าจะมีการเลือกตั้งช่วงไหน แล้ว คสช.ก็ทำการเริ่มปลดล็อก แต่หากไม่พูดอะไรเลย เช่นบอกจะเลือกตั้งปีหน้า แต่ไม่ทำการปลดล็อกอะไรเลย ไม่มีแผนงานอะไรออกมาให้เห็น ก็อาจทำให้ต่างชาติคิดว่าปีนี้ไม่มีเลือกตั้งแล้ว และปีหน้าก็อาจจะไม่ได้เลือก แบบนี้จะยิ่งไปกันใหญ่ 
ถามอีกว่าที่ผ่านมาพลเอกประยุทธ์ประกาศเรื่องโรดแมปการเลือกตั้งหลายครั้ง โดยเฉพาะครั้งล่าสุดหลังเดินทางไปพบประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวและให้ข้อมูลประกอบว่า ตอนที่พลเอกประยุทธ์ไปเจอกับโดนัลด์ ทรัมป์เมื่อปีที่แล้วบอกว่าปี 2561 จะประกาศกำหนดการเลือกตั้ง คนก็ไปตีความว่านายกฯ บอกจะให้มีการเลือกตั้งในปี 2561 แล้วพอเดินทางกลับมาสื่อไปถามเรื่องนี้ พลเอกประยุทธ์ก็บอกว่าผมไม่ได้พูดว่าจะมีการเลือกตั้งปี 61 เพียงแต่บอกว่าจะประกาศกำหนดวันเลือกตั้งปี 61 
ต่อมาหลังจากนั้นไม่กี่วัน ก่อนพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 2 สัปดาห์ พลเอกประยุทธ์ก็ย้ำอีกครั้งว่าไม่ได้บอกว่าจะมีการเลือกตั้งปี 2561 เพียงแต่จะบอกว่าปี 2561 จะบอกได้ว่ามีการเลือกตั้งเมื่อใด หลังจากนั้นอีก 2 วันก็บอกว่า พ.ย.61 จะให้มีการเลือกตั้ง 
ขยับโรดแมป เหตุผลไม่มีใครเอ่ยถึง? 
    ศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวต่อไปว่า ท่าทีของพลเอกประยุทธ์ที่ยืนยันจะมีการเลือกตั้งในปี 2561 ขณะเดียวกัน หลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ อย่าลืมว่าเราต้องมีพระราชพิธีสำคัญครั้งประวัติศาสตร์ที่มีการเปลี่ยนรัชกาล การขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ประเด็นคือพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะมีก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง ก็จะเกี่ยวพันคล้ายๆ กับพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ  
...สมมุติว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีก่อนเลือกตั้ง โดยที่ก็ไม่รู้ว่าจะเลือกตั้งเมื่อใด ประเทศที่ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย เขาก็อาจต้องพิจารณาว่าจะส่งใครมาเป็นตัวแทนในการเข้าร่วม ซึ่งพิธีดังกล่าวจะต้องสมพระเกียรติ ขณะเดียวกันถ้ามีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหลังการเลือกตั้ง ก็จะมีความชัดเจนว่าหลังเลือกตั้งแล้ว เราก็จะเป็นประชาธิปไตยแล้ว บรรดาประเทศต่างๆ ก็จะรู้สึกว่าไม่มีข้อสงวนอะไร 
“ประเด็นคือว่า ถ้าจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหลังการเลือกตั้ง เรายังนึกไม่ออกเลยว่า หลังเลือกตั้งแล้วจะจัดตั้งรัฐบาลกันอย่างไร เพราะมันจะอีนุงตุงนังมาก ทั้งเรื่องตัวเลขจำนวน ส.ส. เรื่องนายกฯ คนนอกหรือนายกฯ จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง” 
อีกทั้ง รธน.ฉบับปัจจุบันไม่ได้บัญญัติเรื่องระยะเวลาว่าหลังมีการเปิดประชุมรัฐสภานัดแรกแล้ว จะต้องจัดตั้งรัฐบาลให้แล้วเสร็จภายในกี่วัน รธน.ไม่ได้บัญญัติไว้ เป็นฉบับแรกที่ไม่ได้บอก แต่ รธน.ก่อนหน้านี้เคยบัญญัติเรื่องเวลาเอาไว้ เช่นไม่เกิน 30 วัน แต่ รธน.ปัจจุบันไม่ได้บัญญัติไว้ แล้วโอกาสที่อาจจะไม่ได้นายกฯ ทั้งคนในและคนนอกก็มี เพราะขึ้นอยู่กับตัวเลข ส.ส.ที่แต่ละพรรคได้รับในการเลือกตั้ง 
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวอีกว่า สมมุติว่ามีพรรคการเมืองไหนได้ ส.ส.เข้ามามาก แล้วรวบรวม ส.ส.ได้เกิน 250 คน จนไปยื่นต่อวุฒิสภาว่าต้องการปลดล็อกเพื่อขอให้เลือกนายกฯ นอกบัญชีรายชื่อ แต่การจะปลดล็อกเพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาเอาด้วยกับการปลดล็อกเพื่อนำไปสู่การมีนายกฯ คนนอก จะต้องได้เสียงจากสมาชิกรัฐสภาจำนวน 2 ใน 3 หรือ 500 คน ที่ก็คือ ส.ว.ก็จะต้องมีส่วนร่วมด้วย 
แต่ประเด็นคือหากเพื่อไทยได้ ส.ส.มาประมาณสัก 200 เสียง โดยมีพรรคสำรองหรือพรรคอะไหล่ของเพื่อไทย ได้ ส.ส.ติดเข้ามาด้วยจำนวนหนึ่ง จนได้เสียงเกิน 250 เสียง ในการตั้งรัฐบาล โดยที่พวก ส.ว.ที่อาจไม่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ไม่สนับสนุนคนที่พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อตอนเลือกตั้ง ได้เข้ามาเป็นนายกฯ โดยที่พรรคเพื่อไทยก็ไม่สามารถหาเสียง ส.ส.จากพรรคอื่นๆ มารวมกันจัดตั้งรัฐบาลแล้วได้เสียง ส.ส.เกิน 376 เสียง เพื่อโหวตเห็นชอบนายกฯ จากเพื่อไทย จนอาจทำให้เกิดปัญหา เลือกนายกฯ คนนอกก็ไม่ได้ จะเลือกคนไหนก็ไม่ได้อีก มันก็จะยุ่งเป็นทางตัน และ รธน.ก็ไม่ได้บัญญัติการแก้ปัญหาไว้ อันแตกต่างจากประเทศอื่นที่ รธน.บางประเทศบัญญัติไว้ว่า หลังเลือกตั้งหากตั้งรัฐบาลไม่ได้ภายในกี่วัน ให้ยุบสภาฯ เพื่อแก้ทางตัน 
...ในทัศนะของผมมองว่าเมื่อ รธน.ไม่ได้บัญญัติไว้ หากเจอทางตันแบบที่บอกไว้ข้างต้นแล้วจะทำกันอย่างไร ก็ต้องว่ากันไปตามประเพณีปกครอง คือ มาตรา 5 ที่บัญญัติไว้เหมือนกับมาตรา 7 ใน รธน.ฉบับปี 2540 กับ 2550 ที่บัญญัติไว้ว่าเรื่องไหนที่ไม่ได้บัญญัติไว้ใน รธน.ก็ให้เป็นไปตามประเพณีการปกครอง ที่ก็ต้องดูที่อังกฤษ กรณีที่เปิดประชุมรัฐสภาแล้วคุยกันไม่รู้เรื่อง เลือกนายกฯ ไม่ได้ ก็ต้องยุบสภาฯ 
...เรื่องการยุบสภาฯ ถามว่า จะให้อำนาจใครยุบสภาฯ จะให้พลเอกประยุทธ์ยุบ หรือประธานสภาฯ ยุบสภาฯ ก็ยังไม่รู้อีก แล้วอีกอันที่เป็นประเพณีการปกครองก็คือกรณีที่ไม่ได้นายกรัฐมนตรี เพราะคะแนนเสียงโหวตไม่ถึงตามที่ รธน.บัญญัติไว้ ก็ให้คนที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดในสภาฯ แต่ไม่ถึง 376 เสียง ก็ให้เสนอชื่อเขาเป็นนายกรัฐมนตรี คือเป็นนายกฯ ของรัฐบาลเสียงข้างน้อย 
“สิ่งที่ผมพูดก็คือ หากจะให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหลังเลือกตั้ง ก็จะเป็นประเด็นอ่อนไหวมากว่าหากจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ จะยุ่งเหยิง แล้วจะทอดเวลาพระราชพิธีบรมราชาภิเษกออกไปอีกนานแค่ไหน” 
ประเด็นคือ รัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล กับสถาบันพระมหากษัตริย์คือว่า รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลการเมือง ดูแลอะไรให้มันเรียบร้อย เวลาจะมีพระราชพิธีอะไร ก็จะได้ทำประสานกันได้อย่างสะดวก 
ตอนนี้ที่เราเข้าใจว่า คสช.ยื้อเวลา เพราะว่าจะตั้งพรรคทหาร อันนั้นก็อาจเป็นส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งผมเข้าใจว่า รัฐบาลก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า ประเด็นนี้เราจะทำอย่างไร เพราะหากนำมากล่าวอ้าง ว่าที่ยังไม่รู้เวลาเลือกตั้งแน่นอน เพราะเรายังไม่รู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก อันนี้เป็นการนำสถาบันมาโหน แบบนี้ก็ไม่ถูก แต่ความจริงก็มีอยู่บ้างว่า รัฐบาลก็คงกังวลเรื่องนี้ ว่าตกลงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะอย่างไร เพราะก็ขึ้นอยู่กับสำนักราชเลขาธิการ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก 
- ก็คือมองว่า หากจะมีการเลื่อนโรดแมปก็ต้องมีเหตุผล?
แต่อธิบายลำบากเรื่องนี้ 
ศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวหลังถามว่า แต่หากเลื่อนโรดแมปอีกจะมีผลอะไรหรือไม่ เพราะอย่างก่อนหน้านี้อียูก็ออกแถลงการณ์พร้อมกลับมาสร้างสัมพันธ์กับรัฐบาล คสช. แต่ขอให้ดำเนินการตามโรดแมปการเลือกตั้ง หากสุดท้ายเลื่อนออกไปอีกจะมีปัญหาตามมาหรือไม่ โดยให้ความเห็นว่า ประเด็นก็คือว่าทุกวันนี้การเมืองระหว่างประเทศมันเปลี่ยนไปเยอะ มันไม่เหมือนเดิม การที่จะมาแทรกแซงกันด้วยหลักการ อุดมการณ์ทางการเมือง มันลดทอนเบาลงไปเยอะ
...อย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ก็เป็นคนเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองระหว่างประเทศ จีนก็มีส่วนเปลี่ยน เพราะจีนไม่ได้แคร์ว่าประเทศไหนจะต้องเป็นประชาธิปไตย 
หากยุโรปกับสหรัฐมายึดติดประเด็นนี้ ก็จะมีปัญหาว่าพื้นที่เศรษฐกิจที่จะมาลงทุนแข่งขันก็อาจจะพลาด เสียทีกับประเทศที่ไม่ได้แคร์เรื่องนี้ ตัวละครมันเปลี่ยน ภูมิทัศน์มันเปลี่ยน เพราะอย่างปัจจุบัน เหตุใดหลายประเทศยังทำการค้ากับจีน ทั้งที่จีนก็ไม่ได้เป็นประเทศประชาธิปไตยในทัศนะของตะวันตก 
ประเด็นนี้คิดว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เรื่องการต่อรองแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจมากกว่า 
เมื่อตั้งคำถามเพื่อขอให้วิเคราะห์ว่า ทำไม คสช.และแม่น้ำ 5 สายจึงพยายามยื้อ ไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง เพราะไม่พร้อมให้เลือกตั้งหรือไม่พร้อมลงจากอำนาจ ศ.ดร.ไชยันต์ มองว่า เรื่องการลงจากอำนาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เป็นเรื่องว่าจะทำอย่างไรที่จะประคับประคองให้มันเกิดความเรียบร้อย ให้เกิดสมดุล การเปิดพื้นที่ให้เสรีภาพทางการเมืองเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง สองอย่างบางทีมันก้ำกึ่ง เพราะพระราชพิธีบรมราชาภิเษกยังไม่เกิดขึ้น แต่หากมีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ตรงนี้วางใจได้แน่นอนแล้ว ก็น่าจะมุ่งไปสู่เส้นทางประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่นายกฯ เคยบอก ได้สะดวกขึ้น 
คือมันมีอะไรต้องคิดเยอะ เพราะหากต้องการความสงบ แต่ไม่แน่ใจว่า พรรคการเมืองจะสามารถเล่นกันอยู่ในกติกาได้ 
ไม่ใช่ถึงเวลา พรรคหนึ่งก็เป็นรัฐบาล แต่อีกพรรคหนึ่งก็ไปลงท้องถนน สลับกันไปแบบนี้ คือ คสช.ไม่ต้องการให้เกิดแบบนี้ แต่ยังไงก็ตาม ผมคิดว่าถ้าไม่มีเรื่องเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คสช.ก็อาจปล่อยให้การเมืองว่ากันไปตามกระแสการเมือง แล้วในที่สุดก็เกิดความวุ่นวายมากๆ ก็กลับเข้าสู่วงจรอุบาทว์ทางการเมือง 
ถามความเห็นว่า หาก คสช.ยื้อไปเรื่อยๆ ระยะยาว กระแสการยอมรับจะมีปัญหาไหม โพลล่าสุด คะแนนนิยมตัวนายกฯ ก็ลดลง แล้วก็ยังมีปัญหากรณีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ นักรัฐศาสตร์-ศ.ดร.ไชยันต์ มองสิ่งที่เกิดขึ้นว่า กรณีปัญหาพลเอกประวิตร ยังไง คสช.สมัยนี้ก็ยังมีลักษณะคล้ายกับคณะ รสช. ปี 2534-2535 คือ คสช.เขามาด้วยกัน ร่วมเป็นร่วมตาย ซึ่งช่วงปี 2534 ยุค รสช.ตอนนั้นคำขวัญที่โดดเด่นของ จปร.ห้า ก็คือ ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน มีความสามัคคีในหมู่ รสช. ซึ่ง คสช.ก็อยู่ในสภาพแบบนั้น คือมาด้วยกัน ร่วมเป็นร่วมตาย เสี่ยงทำรัฐประหาร แต่ภาพลักษณ์ของพลเอกประวิตรก็จะมีลักษณะเป็นคนกว้างขวาง มีเครือข่าย เป็นคนโซเชียลของสังคม ที่แตกต่างจากภาพของลุงตู่ แต่ คสช.จำเป็นต้องมีทั้ง 2 คน โดยคนหนึ่งก็เล่นบทบาทหนึ่งไป มีเครือข่าย มีเพื่อนฝูง อีกคนก็อยู่ในลักษณะที่มีภาพที่พอเพียง ไม่ค่อยวุ่นวายกับใคร แต่เมื่อเกิดปัญหาในเวลานี้ พูดง่ายๆ พลเอกประยุทธ์ก็ไม่สามารถยืนบนลำแข้งของตัวเองได้ เราจะวัดได้อย่างไรว่า ใครจะชอบไม่ชอบ ที่ถามว่ากระแสนิยมพลเอกประยุทธ์ลดลง มันลดลงเพราะกรณีของพลเอกประวิตร หรือเพราะ คสช.หมดเลย แต่ประเด็นคือหากพลเอกประยุทธ์สามารถกลับมาเป็นนายกฯ ได้หลังเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นกรณีมาจากนายกฯ จากบัญชีรายชื่อ เพราะพลเอกประยุทธ์ยอมให้พรรคการเมืองเสนอชื่อตอนเลือกตั้งและได้รับคะแนนเสียงถล่มทลาย พลเอกประยุทธ์ก็อาจไม่ต้องพึ่งพิงทีมงานเก่ามากนัก เพราะประชาชนค้ำไว้อยู่ แต่ตอนรัฐประหาร พี่น้องผองเพื่อนเขาช่วย
 ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ลักลั่นอยู่ว่าจะเอาอย่างไร จะไป ทิ้งพี่ตอนนี้ ก็ไม่ใช่นิสัย น้ำใจทหาร ที่ร่วมเป็นร่วมตาย แต่หากพลเอกประวิตรมีสปิริต ลาออกขึ้นมาเอง เรื่องก็จบ คะแนนของ คสช.และพลเอกประยุทธ์ก็อาจกลับมา ที่ก็ต้องดูว่าพลเอกประวิตรจะไปทำงานอยู่เบื้องหลังให้กับพลเอกประยุทธ์หรือไม่ เช่น การติดต่อเครือข่าย เพราะพลเอกประวิตรที่จบจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล มีเซนต์คาเบรียลคอนเน็กชั่น แต่บิ๊กตู่จบวัดนวลนรดิศ ก็เลยมีเครือข่ายคนละแบบ 
- หากสุดท้ายปีนี้ไม่มีการเลือกตั้ง มองว่าประชาชนส่วนใหญ่รับได้หรือไม่?
ปีนี้ไม่มีการเลือกตั้ง ประชาชนเขารับได้อยู่แล้ว แต่ต้องบอกให้ชัดเจนว่า จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกกี่วัน โดยต้องประกาศให้มั่นเหมาะ จะไม่มีการบิดเบือน บิดพลิ้ว ต้องฟันธง เพราะที่ผ่านมาใช้มาตรา 44 ฟันธงหลายเรื่องได้ ก็ฟันธงเรื่องการเลือกตั้งได้เช่นกัน แต่อย่างที่บอกว่าจะเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรือไม่ อันนี้ฟันธงไม่ได้ ก็ต้องเข้าใจสถานการณ์ตรงนี้ 
ศ.ดร.ไชยันต์ นักรัฐศาสตร์ จากจุฬาฯ กล่าวหลังเราถามว่า หาก คสช.ยื้อเรื่องโรดแมป มองว่าอะไรจะเป็นจุดตาย จุดเสื่อมของ คสช. โดยตอบว่า หากมีการเลือกตั้ง ยังไง คสช.ก็ต้องลงอยู่แล้ว เพียงแต่พลเอกประยุทธ์จะกลับมาหรือไม่ แต่หากไม่มีการเลือกตั้ง แล้วยื้อ มันก็ลงไม่สวย ลงไม่สวยก็คือ เขาไล่ คือถ้ายังกำหนดวันเลือกตั้งไม่ชัดเจน แล้วไหลเลื่อนไปเรื่อยๆ โดยไม่มีเหตุผลที่ดี ผมว่า ประชาชน กองหนุน ที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ บอก คือกองหนุน เขาไม่ค่อยมีเหตุผลอยู่แล้ว แต่ถ้ามีคำอธิบายที่ทำให้เขานำไปอธิบายให้กับเพื่อนของเขาได้ ว่าที่ คสช.ต้องอยู่เพราะมีเหตุผลอย่างไร 
จุดเสี่ยง คสช.ที่รออยู่ 
...ทุกวันนี้ประชาชนที่เป็นกองหนุน ผมเดาว่าเขาคิดแบบนี้ คือลุงตู่ทำอะไรก็ทำเถอะ ใช้วิธีการอะไรก็ทำเถอะ แต่ขอให้บรรลุเป้าหมาย เพราะประชาชนสนใจผลสำเร็จมากกว่าวิธีการ กองเชียร์จะเชียร์แบบประเภทที่เคยใช้วิธีการยื้อกฎหมายมาตั้งหลายฉบับเพื่อให้เสียเวลา พวกประชาชนที่เป็นกองหนุนรับได้ เพราะเขากำลังรอดูผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่จะเกิดกับสังคมและประเทศ ถ้ามันเกิดผลสำเร็จ วิธีการแปลกๆ ที่ยื้อกันมาประชาชนเขาก็ไม่ว่าอะไร 
- ประชาชนรออะไร?
นี่คือความเสี่ยงของ คสช. เพราะประชาชนคิดว่าพลเอกประยุทธ์มีความตั้งใจดี และมีเป้าหมายอะไรบางอย่างที่กำลังจะบรรลุแล้วจะเกิดผลดีต่อประเทศชาติ ประชาชนเข้าใจแบบนั้น จึงยอมให้ใช้วิธีการอะไรก็ได้ที่อาจทำให้ช้า แล้วมีเหตุผลการเลื่อนออกไปแบบแปลกๆ แต่หากสามารถที่จะนำไปสู่มรรคผลที่สำเร็จ ประชาชนก็จะลืมวิธีการแปลกๆ ว่ามันเคยแปลกมาก่อน แต่ตอนนี้มันสำเร็จแล้ว
 แต่อันนี้ก็เสี่ยงสูงมาก เพราะหากไม่สำเร็จเขาก็จะไล่กลับไปหมด ว่าที่ทำมาตั้งแต่เม็ดแรกเพราะคิดไม่ดี ก็จะล้างบางไปให้หมด ยิ่งความเสี่ยงตอนนี้สูง เห็นประชาชนเงียบๆ เขากำลังคิดว่าท่านจะนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญบางอย่าง 
เมื่อถามย้ำว่าที่บอกว่าประชาชนรอ ใช่เรื่องการปฏิรูปหรือไม่ ศ.ดร.ไชยันต์ ระบุว่าอะไรแบบนั้น  ซึ่งถ้ามันไม่เกิดท่านก็จะซวย เช่นที่คนชอบตีความไปว่าถึงเดือน พ.ย.ปีนี้ การปฏิรูปเศรษฐกิจที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทำไว้จะเห็นมรรคผล หลังเอาเงินไปลงในที่ต่างๆ มันจะเกิด ผมบอกว่ามันไม่เกิดหรอก อะไรจะเกิดเร็วขนาดนั้น มันค่อยๆ เกิด อย่างสมัยพลเอกเปรมต้องใช้เวลาถึง 7-8 ปีฐานถึงจะมั่นคง พอเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น การเมืองเริ่มเติบโตขึ้น ปัญหาคอมมิวนิสต์หมดไป  พอถึงเวลาทุกคนมีจิตสำนึก ทุกคนแข็งแรง ก็มาไล่ป๋า มันเป็นเรื่องปกติ แต่ตอนนี้ยุคพลเอกประยุทธ์ สำเร็จก็ไม่สำเร็จ แล้วแถมยังจะโดนไล่โดยที่งานยังไม่สำเร็จด้วยหรือไม่ สมัยป๋าเปรมยังเปรียบเสมือนว่าเป็นเด็กที่เพิ่งหัดเดิน ยังล้มลุกคลุกคลาน เจอปัญหาเรื่องคอมมิวนิสต์ เรื่องเศรษฐกิจที่ต้องรัดเข็มขัด แต่ก็นำพาประเทศชาติจนมีเงินทุนสำรองประเทศ เศรษฐกิจเริ่มเติบโตเพราะการเมืองมันนิ่ง ไม่ได้ตีรันฟันแทงกันมาก แต่ตอนนี้ผลงานของ คสช.และรัฐบาลยังไม่เห็นผลชัดเจน แล้วจะไปคาดหวังให้เห็นผลใน 2-3 ปี ผมก็เชื่อว่ามันจะเป็นไปได้ มันต้องใช้เวลานาน 
แล้วอย่าลืมว่าป๋าเปรมไม่ได้มาด้วยการทำรัฐประหาร แต่มาด้วยวิธีการปกติทางการเมือง พลเอกเปรมไม่ได้ทำรัฐประหารเอง ไม่ได้เกี่ยวข้อง ไม่เหมือนกับพลเอกประยุทธ์ ตรงนี้เป็นโจทย์ที่ลำบากของพลเอกประยุทธ์ 
 ศ.ดร.ไชยันต์ ยังกล่าวตอบหลังถามถึงกระแสข่าวความเคลื่อนไหวการตั้งพรรคทหารเพื่อรองรับ คสช.ว่าตอนนี้ก็เกิดแล้ว ที่เห็นก็อย่างพรรคของนายไพบูลย์ นิติตะวัน หรือที่มีข่าวพรรคของอดีตทหารที่จะไปตั้งพรรค (พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ อดีตคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ) แต่ คสช.จะไปล่มหัวจมท้ายกับพรรคพวกนี้ หรือพรรคพวกนี้ตั้งมาเพื่อหวังมีตำแหน่งทางการเมืองผมก็ไม่รู้ แต่คงไม่เหมือนกับลักษณะการทำพรรคแบบพรรคสามัคคีธรรมช่วงเกิดพฤษภาทมิฬปี 2535 เพราะตอนนั้นชัดเจนว่าคือพรรคทหาร แต่ที่เป็นข่าวออกมายังไม่ชัด เพราะการจะให้ คสช.ไปประกาศตัวชัดเจนว่าจะไปเข้ากับใครคิดว่า คสช.คงไม่ทำ
แต่ผมก็เคยเสนอว่า หากตัวพลเอกประยุทธ์กล้าที่จะให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งนำชื่อไปประกาศเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตอนหาเสียงเลือกตั้ง แล้วถ้าเกิดคะแนนเสียงเลือกตั้งอยากได้ลุงตู่มาเต็มที่ เช่นสมมุติว่าพรรคคุณไพบูลย์ได้ชื่อพลเอกประยุทธ์มา โดยประชาชนไม่ชอบพวกนักการเมืองอะไรต่างๆ อีกแล้ว จนไปเลือกพรรคคุณไพบูลย์ ทำให้จากพรรคเกิดใหม่เล็กๆ จนกลายเป็นพรรคที่โตมาก ก็จะทำให้พลเอกประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ คนในจากบัญชีรายชื่อ จะทำให้พลเอกประยุทธ์มีฟรีแฮนด์ที่จะบอกได้ว่าจะเอาใครมาทำงาน ไม่ต้องมาเกรงใจพี่น้องผองเพื่อนแล้ว ไม่ต้องเกรงใจพลเอกประวิตร, พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ไม่ต้องเกรงใจบิ๊กทหารทั้งหลาย
แนะ พท.-ปชป. จับมือสกัดนายกฯ คนนอก 
สำหรับโอกาสและความเป็นไปได้ของนายกฯ คนนอกในการเมืองไทยต่อจากนี้ ศ.ดร.ไชยันต์ ให้ทัศนะว่า จริงๆ แล้วผมคิดว่าสิ่งที่น่าพึงปรารถนาที่สุดเลยก็คือ พรรคใหญ่สองพรรคคือเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ หรือพรรคการเมืองทุกพรรคที่ได้เสียง ส.ส.ในสภา มีการตั้งปณิธานว่าเราจะรักษาผลประโยชน์ของสภา โดยการที่ว่าจะทำให้คนในสภา คนของพรรคการเมืองได้เป็นนายกฯ เพราะ ส.ส.ในสภาที่มี 500 คน หากคุยกันได้ ได้เสียงรวมกันสัก 400 เสียงโดยไม่ต้องพึ่ง ส.ว.เลย ก็ได้นายกรัฐมนตรีที่เป็นนายกฯ ซึ่งเกิดจากข้อตกลงกันของพรรคการเมืองทุกพรรคในสภา สิ่งนี้คือสิ่งที่ดีที่สุด เพราะแสดงให้เห็นว่าพรรคการเมืองคุยกันรู้เรื่องปรองดอง 
“สมมุติอุดมคติที่สุดคือ พรรคใหญ่จับมือกันแล้วมาเป็นรัฐบาล ก็ในเมื่อสิ่งที่ คสช.ต้องการที่สุดคือการปรองดอง ถ้าพรรคสองพรรคที่เป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งรุนแรงมาสิบปี พวก ส.ว.ก็ควรสนับสนุนสิ่งนี้ ทหารเองก็ควรเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุน บอกเมื่อเอ็งดีกันแล้วก็ว่ากันไป  อย่าให้ซ้ำรอยอดีตอีก อันนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าหากนักการเมืองคิดถึงผลประโยชน์องค์รวมของสภาแล้วคุยกันให้รู้เรื่อง”
เช่นถ้าพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเลือกตั้งมาก และยอมอย่างชัดเจนว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับสามตระกูลคือ ชินวัตร-วงศ์สวัสดิ์-ดามาพงศ์ เพื่อไทยปฏิรูปตัวเอง หลุดพ้นจากการเป็นนอมินี ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ตกลงแล้วคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยมีบาดแผลตอนกระชับพื้นที่ในช่วงการชุมนุมปี 53 พี่น้องเสื้อแดงไม่แฮปปี้ ก็เปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก่อนเลือกตั้ง แล้วถึงเวลาสองพรรคนี้จับมือกัน แล้วดูว่าจะให้ใครเป็นนายกฯ เช่นจะให้คุณชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ หรือจะให้ฝั่งของพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นคนที่ยอมรับได้ในวงกว้าง 
สูตรนี้คือสูตรที่ผมอยากให้เกิด เป็นรัฐบาลปกติ ไม่ใช่รัฐบาลแห่งชาติ คือไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับพวก ส.ว. เพราะถ้า ส.ส.ด้วยกันเองคุยกันได้ นายกฯ ก็มาจากคนในแน่นอน แต่ถ้าคุยกันไม่รู้เรื่อง เพื่อไทย ก็ไม่ยอม ประชาธิปัตย์ก็ไม่ยอม ก็แน่นอนว่าถึงเวลาแล้วหานายกฯ จากคนในไม่ได้ ก็ต้องไปหานายกฯ คนนอก 
...หรืออีกสูตรหนึ่งที่น่ารัก ถ้าเป็นนายกฯ คนนอก ซึ่งจะเป็นพลเอกประยุทธ์หรือใครก็ได้ ที่เป็นทหารหรือคนใน คสช. ถึงเวลาเลือกนายกฯ โดยที่พรรคขนาดกลาง ขนาดเล็ก ที่ยังไงคนของพรรคก็เป็นนายกฯ ไม่ได้ โดยที่หลังเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์รวมกันแล้วเกิดมี ส.ส.ไม่ถึง 250 เสียง พรรคขนาดกลาง-ขนาดเล็กก็มาจับมือกัน แล้วแห่ไปเชียร์คนนอก โดยไปจับมือกับ ส.ว. แล้วให้คนของ คสช.มาเป็นนายกฯ ในที่สุด โดยที่พวกพรรคขนาดกลางขนาดเล็กเหล่านั้นก็ได้ตำแหน่งรัฐมนตรี โดยปล่อยทิ้งให้เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน อันนี้ก็เป็นสูตรที่ดี เพราะยังไงสองพรรคนั้นก็จะต้องจับมือกัน แต่หากเสียงของพรรคขนาดกลางและเล็กที่จับมือกัน รวมกันแล้วเสียงก้ำกึ่งกับเสียงของเพื่อไทยบวกประชาธิปัตย์ มันก็อาจถึงทางตัน
เพราะจะไปปลดล็อกก็ไม่ได้ จะไปเลือกนายกฯ คนในก็ไม่ได้ เลือกนายกฯ คนนอกก็ไม่ได้ ก็อาจถึงทางตัน ผมว่ามันมีโอกาส แล้วถ้าหากเวลาผ่านไปยาวๆ โดยตั้งรัฐบาลไม่ได้ มันจะเกิดอะไรขึ้น  เพราะเมื่อยังไม่มีรัฐบาล ก็ทำให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์รักษาการไปเรื่อยๆ และหากถึงตอนนั้นที่ สนช.ก็สิ้นสภาพไปแล้ว ไม่มีฝ่ายนิติบัญญัติ หากช่วงนั้นต้องออกกฎหมายเช่น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ ก็จะยุ่งมากเลย 
เรื่องนายกฯ คนนอกจึงมองว่าก็ยังไม่แน่ ที่คาดกันว่าลุงตู่จะกลับมาเป็นนายกฯ ดูแล้วมันก็อาจไม่จริง มันมีได้หลายสูตร เช่นสูตรคุณชวน หลีกภัย หากคุณชวนเป็นหัวหน้าพรรค เพื่อไทยเขารับได้ ตัวเลือกไม่ได้มีแค่ลุงตู่ มันยังมีลับ ลวง พรางอีกเยอะ ที่เราบ่นๆ กันตอนนี้ว่าที่เตรียมอะไรกันตอนนี้จะทำพรรคทหาร ที่จริงอาจไม่ใช่มันมีหลายปัจจัยมาก 
- ข้อเสนอให้สองพรรคใหญ่จับมือกัน ในความเป็นจริงมวลชนคนสนับสนุนอาจรับไม่ได้ เช่นกลุ่มที่เคยหนุน กปปส.ก็อาจไม่เอาด้วย?
ถ้าเพื่อไทยเขาชัดเจนว่าไม่ได้อยู่ใต้ร่มทักษิณ ไม่เอาชินวัตร-ดามาพงศ์-วงศ์สวัสดิ์มาอีกแล้ว ผมคิดว่าในแง่นี้ อย่าง กปปส.น่าจะต้องยอมลดลงมาหรือไม่ แล้วถ้าถึงเวลาคุณชวนขึ้นมา คน กปปส.ไม่น้อยก็บอกว่าคุณชวนก็เป็นคนดี ถ้าคุณชวนเป็นนายกฯ แล้ว เพื่อไทยเขารับได้ มันก็น่าจะดีกว่าการที่จะให้ทหารมาหรือไม่ 
โดยหากคุณชวนเป็นนายกฯ ฝ่ายทหารก็อยู่ในค่าย ทำหน้าที่ ไม่ออกมาวุ่นวาย ทำหน้าที่เป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็ก ทำหน้าที่ควบคู่ไปกับประชาชน ทหารคอยประคับประคองให้การเมืองเดินต่อไปภายใต้การทำงานของพลเรือนที่เป็นนักการเมืองอาชีพ ภาพแบบนี้ คือภาพที่สวยที่สุด ไม่ใช่หรือ 
- ประเมินผลการเลือกตั้งในอนาคตอย่างไร? 
หากมีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนก็จะส่งผลต่อการเลือกตั้งระดับชาติในแบบหนึ่ง แต่หากเลือกตั้งท้องถิ่นหลังเลือกตั้ง ส.ส. มันก็จะไปอีกแบบหนึ่ง 
ดังนั้นหากให้ประเมินการเลือกตั้ง ส.ส.ตอนนี้ก็ยาก เพราะยังไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้นก่อนเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่ เพราะนักการเมืองไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทย บางทีเขาทนไม่ไหว  เขาก็ไปลงเลือกตั้งท้องถิ่นเพื่อความชัวร์กว่า การวิเคราะห์การเลือกตั้ง ถ้าให้ตอบตอนนี้จึงตอบได้ยากมาก แต่พูดเป็นออปชันได้อย่างที่บอกเช่น ถ้าผลเลือกตั้งออกมาพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง โดยได้เสียงส.ส.เช่น 200 เสียง แล้วเพื่อไทยกับพรรคอะไรก็แล้วแต่ จับมือกันแล้วได้เสียงเกิน 250 เสียง โดยฝ่ายนี้ยืนยันไม่เอานายกฯ คนนอก ก็ทำให้คนที่ต้องการให้มีนายกฯ คนนอก แล้วจะไปหาเสียงจากไหนมาให้ได้มากกว่าฝ่ายเพื่อไทย ก็ไปปลดล็อกให้มีนายกฯ คนนอกไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันเพื่อไทยอยากเป็นรัฐบาล แต่ตอนโหวตเลือกนายกฯ ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส.กับ ส.ว.รวมกัน คือต้องได้ 376 เสียงขึ้นไป แล้วเพื่อไทยจะไปหาเสียง ส.ส.จากที่ไหนอีกร้อยกว่าคน จะไปหาจากในฝ่าย ส.ส.ก็ไม่ได้อีก จะไปเอาจากพวก ส.ว.เขาก็คงไม่ให้เสียงสนับสนุน ก็เช่นเดียวกันกับสูตรนี้ ฝ่ายที่ต้องการนายกฯ คนนอกก็ทำไม่ได้อีกเช่นกัน หากฝ่ายเพื่อไทยกับพรรคพันธมิตรฯ มี ส.ส.รวมกันแล้วเกิน 250 เสียง แค่นี้มันก็ไปไหนไม่ได้แล้ว เรื่องคนนอกไม่ต้องพูดถึง จบ. 
.......................................

ประชาธิปไตยไทยนิยม 
    “เราจะต้องมีประชาธิปไตยแบบไทยนิยม ต้องเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ” คำกล่าวของพล.อ.ประยุทธ์เมื่อ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถูกนำไปตีความถอดรหัสทางการเมืองกันมากมาย ยิ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 23 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 21/2561 เรื่องแต่งตั้ง คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน โดยให้ทุกส่วนราชการสนับสนุนกลไกขับเคลื่อนในพื้นที่ทุกระดับตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ก็ยิ่งทำให้ ไทยนิยม ในยุค คสช.ถูกจับตามองมากขึ้น 
ทัศนะนักรัฐศาสตร์ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ให้ความเห็นต่อกรณีประชาธิปไตยไทยนิยมที่นายกฯ สื่อออกมา โดยบอกว่าไม่เข้าใจว่าพลเอกประยุทธ์หมายความว่าอย่างไร แต่หากพูดถึงประชาธิปไตยแบบไทยๆ เวลานักวิชาการเราพูดหรือสอนเรื่องประชาธิปไตย ก็จะบอกว่าการปกครองของประเทศต่างๆ เป็นอย่างไร เช่น สหรัฐอเมริกาที่จะมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐและประมุขของฝ่ายบริหารด้วย ส่วนประชาธิปไตยแบบอังกฤษ คือประชาธิปไตยแบบระบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประชาธิปไตยแบบฝรั่งเศส คือประชาธิปไตยแบบที่มีประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี เรียกว่าระบอบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา 
ลักษณะการปกครองสามแบบข้างต้นก็เป็นแม่แบบให้ประเทศอื่นๆ นำไปใช้ แต่บางประเทศที่นำไปใช้เช่น สิงคโปร์ที่นำแบบของฝรั่งเศสไปใช้ เขาก็ใช้แบบสิงคโปร์ ก็ไม่ได้เหมือนกับฝรั่งเศส หรือ เดนมาร์กที่นำรูปแบบของอังกฤษไปใช้ ก็ไม่ได้ใช้เหมือนกับของอังกฤษทุกอย่าง 
ประเทศไทยก็เช่นกันที่นำแบบของอังกฤษมาใช้ แต่ของไทยก็ไม่ได้เหมือนกับของอังกฤษเป๊ะ เรามีประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่เรามี และทุกประเทศต่างก็มีประชาธิปไตยในแบบของตัวเอง 
หากเราเปรียบเทียบการปกครองแบบผสม เป็นเมล็ดพันธุ์พืช เมื่อนำไปปลูกที่สหรัฐฯ ก็เกิดประชาธิปไตยแบบอเมริกาฯ เช่นเดียวกับประชาธิปไตยแบบอังกฤษ เมื่อมาโตที่ไทยก็ต้องมีกลิ่นอาย ความเป็นไทย 
นักรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ย้ำว่าเพราะฉะนั้นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ถึงแม้จะมีความเป็นเอกลักษณ์ของไทย แต่ก็ต้องมีความเป็นประชาธิปไตยที่ดีที่เหมือนกับสากลด้วย ผมก็เลยไม่รู้ว่าประชาธิปไตยไทยนิยมที่พลเอกประยุทธ์พูดคืออะไร เพราะนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้พูดชัดเจน 
- ประชาธิปไตยแบบไทยที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นคืออะไร?
เผด็จการทหารอยู่ได้ไม่นาน อำนาจนิยมพลเรือนก็อยู่ได้ไม่นาน เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน 
ศ.ดร.ไชยันต์ ยังได้พูดถึงการทำงานของ คสช.ที่ใกล้จะครบสี่ปีในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าว่า ในแง่ของความมั่นคง การทำให้เกิดความสงบเรียบร้อย คสช.เขาก็ทำตรงนี้ได้ แต่ตอนนี้ไปเน้นเรื่องโจทย์เศรษฐกิจค่อนข้างมากที่มองว่าไม่จำเป็น อย่าไปทำอะไรที่เกินความถนัดของตัวเอง 
- คสช.ควรเร่งทำเรื่องใดในช่วงเวลาที่เหลืออยู่? 
ไม่ต้อง คือการทำรัฐประหารถึงตอนนี้มันไม่เสียของแล้ว เพราะนักการเมืองก็เริ่มพูดกันรู้เรื่องในระดับหนึ่ง และที่สำคัญประชาชนก็ไม่อยากหวนกลับไปสู่ความขัดแย้งบนท้องถนน เพราะฉะนั้นอย่าอยู่ยาวเลย รีบๆ ไปเถอะ แต่หากจะกลับมาด้วยวิธีไหนก็ค่อยว่ากันอีกที 
ถามย้ำว่าเหตุใดถึงคิดว่ารัฐประหารไม่เสียของ ศ.ดร.ไชยันต์ ขยายความเห็นว่า ก็พรรคการเมืองไม่ได้โกรธกันขนาดนั้นแล้ว เขาพูดภาษาเดียวกันแล้วว่าไม่เอาไม่ชอบกฎหมายฉบับนี้ร่วมกัน และอะไรอีกต่างๆ และขณะนี้ถ้าพรรคการเมืองไหนจะมาเคลื่อนไหว แล้วมาก่อให้เกิดการปะทุมีความขัดแย้ง  พรรคการเมืองกลุ่มการเมืองนั้นก็จะหมาก่อนเพื่อน 
 ศ.ดร.ไชยันต์ ยังตอบข้อซักถามที่ว่า ช่วงหลังเริ่มมีนักวิชาการหรือคนที่เคยมีบทบาทในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 เตือนว่า การเมืองไทยหลังจากนี้อาจซ้ำรอยเหตุการณ์ปี 35 โดยยืนยันว่า จะไม่ซ้ำขนาดนั้น มันไม่เหมือนกัน เพราะสมัย รสช. พลเอกสุจินดา คราประยูร ตอนนั้นมีการสร้างกระแสว่า จปร.5 มีการใส่ร้ายป้ายสีอะไรต่างๆ แล้วพฤติกรรมของนายทหาร จปร.5 ตอนนั้น มีหลายคนเหมือนกับพลเอกประวิตร แต่พลเอกประวิตรก็ไม่ได้เป็นคนกร่าง แต่ยุค จปร.5 ตอนนั้นก็มีบางคนที่อาจจะกร่างๆ ทำให้คนหมั่นไส้เยอะ อีกทั้งพลเอกสุจินดาเคยบอกว่าจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรี จะรักษาสัตย์วาจา แต่พลเอกประยุทธ์ไม่เคยบอกว่าจะไม่เป็นนายกฯ ดังนั้นจะไปเล่นงานอะไรเขามากมายก็ไม่ได้ 
“แต่ว่าหากอยู่ยาวแบบไม่มีเหตุมีผล คนก็ขึ้นมาไล่ แต่คงไม่รุนแรงขนาดนั้น แต่ก็ทำให้สิ่งที่เคยได้รับคำชื่นชมยอมรับมันก็เสียดาย แล้วประเทศชาติก็จะเสียหายว่าทำไมต้องเกิดความขัดแย้งวุ่นวาย ทำไมคนออกมา ทนไม่ไหวออกมาไล่ แทนที่จะรู้ว่าควรต้องไปเอง แล้วหากว่าจะกลับมา ก็ให้กลับมาเมื่อชาติต้องการจะดีกว่า” 
ถามปิดท้ายว่า จุดอ่อนหรือปัญหาสำคัญของ คสช.ในช่วงที่มีอำนาจกว่า 3 ปีที่ผ่านมาคืออะไร ศ.ดร.ไชยันต์ ระบุว่า ก็คือการที่ไม่ค่อยรู้วิธีการที่จะปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง รู้แต่เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย แต่เรื่องอื่นทำไม่ค่อยได้. 
..................................
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"