เปิดฉากการเมือง วิบากกรรม “บิ๊กตู่”?


เพิ่มเพื่อน    

 ทันทีที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หงายไพ่ประกาศท่าทีความชัดเจน
“ผมสนใจการเมือง เพราะผมสนใจในสิ่งที่ผมทำลงไปว่าไปถึงไหน อย่างไร วันข้างหน้าจะได้รับการสืบสานต่อไปหรือไม่ จะติดตามรับฟังจากบรรดากลุ่มการเมือง พรรคการเมือง นักการเมืองต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้”
     ฝ่ายการเมืองทุกป้อมค่ายออกตัวมารับน้องใหม่กันอย่างเผ็ดร้อน มิยอมให้ “บิ๊กตู่” หาเสียงตีกินทางการเมืองแต่ฝ่ายเดียวผ่านการประชุม ครม.สัญจร อัดฉีดงบประมาณให้รากหญ้าทุกสัปดาห์ 
 พร้อมใช้อำนาจมัดจำทางการเมืองล่วงหน้าให้ผู้สนับสนุน ด้วยการมอบตำแหน่งสำคัญอย่างรายล่าสุด ด้วยมาตรา 44 โยกนายสนธยา คุณปลื้ม ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการเมืองไปนั่งตำแหน่งนายกฯ เมืองพัทยา พร้อมกระแสข่าวนำครอบครัวคุณปลื้มไปซบพรรคพลังประชารัฐตอบแทน  
 เช่นเดียวกับเกมใต้ดินให้ สนช.สายทหาร ทำหน้าที่ประสานงานคัดเลือกผู้สมัครให้แก่พรรคทหาร คู่ขนานกับกลุ่มสามมิตร นำโดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เดินหน้าดูด ส.ส.สายแข็งหลายเกรด เข้าซบรังทหาร จนเกิดความขัดแย้งไปทั่ว ขณะที่ตัวเองก็เจอปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกันเอง 
จนล่าสุด โฆษกกลุ่มสามมิตรขอเวลาไปทำโพลผู้สมัครในกลุ่ม และเลื่อนการเปิดตัวในวันที่ 29 ก.ย. ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐออกไป  
แต่ในวันดังกล่าวคาดว่าจะมีรัฐมนตรีใน ครม.ลุงตู่ สายตรงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และผู้มีบารมีด้านเศรษฐกิจไปแสดงตัว นำโดย นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม จะมาเป็นหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ จะมาเป็นเลขาธิการพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองหัวหน้าพรรค ขณะที่นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นโฆษกพรรค พร้อมด้วย นายอนุชา นาคาศัย แกนนำกลุ่มสามมิตร และหลานชายนายสุริยะ ไปนั่งเป็นคณะกรรมการบริหารพรรค 
รวมถึงเปิดตัว 3 อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมดที่มาร่วมงานพลังประชารัฐ คือ นายพุทธพงษ์ ปุณณกันต์ ที่ล่าสุดได้รับการแต่งตั้งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายณัฐพล ทีปสุวรรณ และนายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม. เป็นต้น 
 ส่วนคนอื่นเชื่อว่าอีกไม่นานจะเข้ามาสมทบ เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องมาลงสมัคร 1 ใน 3 บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ให้ชาวบ้านได้เห็นตัวในช่วงเลือกตั้ง ลดกระแสต่อต้านนายกฯ คนนอก ที่สุ่มเสี่ยงย้อนรอยนองเลือดพฤษภาทมิฬที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้นำรัฐประหาร สืบทอดอำนาจโดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง  
 กลับมาโฟกัสต่อ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะเพียงแค่คำว่า “ผมสนใจการเมือง” ก็ถูกท้าทายด้วยคำถามจี้ต่อมมารยาทและจริยธรรมทางการเมืองทันที หลังก่อนหน้านี้เคยโจมตีและแสดงท่าทีรังเกียจนักการเมืองมาตลอด 4 ปี 
 นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวทักท้วงต่อประเด็นที่ พล.อ.ประยุทธ์อนุญาตให้รัฐมนตรีไปสังกัดพรรคการเมืองว่า ควรระมัดระวังเรื่องการใช้อำนาจที่มีผลกระทบต่อการเลือกตั้ง ที่จะสุ่มเสี่ยงต่อความชอบธรรมได้ 
 ต่อด้วย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ พร้อมด้วยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ประสานเสียงเรียกร้องให้ “บิ๊กตู่” ลาออกจากตำแหน่ง โดยนายจตุพรกล่าวว่า ควรเสียสละลาออกจากหัวหน้า คสช. และตำแหน่งนายกฯ เพื่อมาเป็นผู้เล่นให้ถูกต้อง พร้อมขอให้ดู พล.อ.ชวลิต ที่ลาออกจาก ผบ.ทบ. เพื่อมาเล่นการเมืองเป็นตัวอย่าง  
“เมื่อเป็นเช่นนี้วันข้างหน้าจะพาประเทศเข้าสู่วิกฤติ เพราะแทนที่กรรมการจะส่งไม้ต่ออย่างสง่างาม แต่กลายเป็นผู้เล่นและกรรมการที่เป็นคนเดียวกันลงมาเล่นในเวทีเอง”
ถัดมาคือทัศนะของมือปั้นนายกฯ อย่างนายเสนาะ เทียนทอง จากพรรคเพื่อไทย รับน้องใหม่ว่า “อย่าไปหวั่นไหวว่าเขาจะตั้งรัฐบาลได้ ส่วน ส.ว. 250 คน ไม่ได้ทำให้เขาเป็นนายกฯ ได้ หรือต่อให้เป็นนายกฯ ได้ก็บริหารประเทศไม่ได้ ท้ายที่สุดก็มีอันเป็นไป”    
ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เดือดโต้กลับไม่สนรุ่นว่า “ไปพักผ่อนได้แล้ว แก่แล้ว ดูถูกคนไทยได้อย่างไร”  
 คำตอบของนายกฯ กลับถูกตั้งข้อสังเกต สวนทางกับผลโพล โดยเฉพาะผลโพลจากโทรทัศน์ช่องวัน 31 จัดทำหลัง พล.อ.ประยุทธ์สนใจงานการเมือง โดยมีผู้โหวตเลือก 12% ไม่เลือกสูงถึง 88% จากผู้โหวตทั้งสิ้น 3.5 แสนราย 
นี่แค่ออร์เดิร์ฟอาหารเรียกน้ำย่อยเท่านั้น เชื่อว่าเมื่อคำสั่ง คสช.ถูกปลดลง หลังมีการพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งช่วงเดือน ธ.ค.นี้ อาหารจานหลักจะตามมาไม่ขาดสาย ในช่วงที่สังคมจะถูกตีกรอบให้แคบลงเหลือระหว่างเลือกฝ่ายประชาธิปไตยกับเผด็จการ 
ตามมาด้วยสิ่งที่กำลังก่อตัวและทำท่าอาจจะเกิดขึ้นในบรรยากาศการเมืองที่ออกได้หลายหน้า คือกระแสการจับมือ 2 พรรคใหญ่ นำโดยพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อขับไล่เผด็จการ ด้วยการลดบทบาทนายทักษิณ ชินวัตร และชูนายชวน หลีกภัย คนที่น่านับถือขึ้นเป็นนายกฯ แทน 
กระทั่งพรรคภูมิใจไทยของนายอนุทิน ชาญวีรกูล ระยะหลังกระแสขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ถูกพูดถึงหลัง ส.ส.เกรดเอ ตบเท้าเข้าพรรค เพราะเชื่อมั่น “เสี่ยหนู” ที่เป็นมิตรกับทุกฝ่าย สามารถทำหน้าที่นายกฯ คนกลาง ด้วยบทบาทกาวใจ ลดความขัดแย้ง ถือเป็นอีกสูตรหนึ่งของทางออกบ้านเมืองที่น่าจับตา        
 แม้รัฐบาล คสช.จะมั่นใจว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จะคุมสถานการณ์ความวุ่นวายต่างๆ ในประเทศได้ทั้งหมด แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับ เพราะมีมาตรา 44 กดทับอยู่  
แต่เมื่อหันลงไปดูปัญหาปากท้อง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรตกต่ำ ค้าขายไม่ได้ หนี้สินทางการศึกษา อำนาจรัฐที่มากเกินไป ขณะที่โครงการไทยนิยมยั่งยืน หรือโครงการประชารัฐ ที่หวังใช้หาเสียงของรัฐบาลก็ถูกเย้ยแค่สินค้าก๊อบไร้เกรด    
หันมามองโครงการใหญ่ก็ถูกกล่าวหาเอื้อให้แก่นายทุนใหญ่ๆ ของประเทศ และปั้นตัวเลขให้ดูสวยหรูทางเศรษฐกิจ เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็สุ่มเสี่ยงสร้างปัญหาให้ชาวบ้านในอนาคต อาทิ สิ่งแวดล้อม แย่งชิงทรัพยากรน้ำ สุขภาพ และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะขาดการมีส่วนรวมเท่าที่ควร  
ไม่นับรวมตลอด 4 ปีที่ผ่านมา สูญเสียความศรัทธา การปฏิรูปประเทศที่ล้มเหลว ที่ตั้งคณะกรรมการมาหลายชุด โดยเฉพาะการปฏิรูปการเมืองที่ถึงขั้นสอบตก เสียงบประมาณจากภาษีประชาชนไปมหาศาล  
 ขณะที่ผลงาน สนช.ที่นั่งยาวมา 4 ปี แทบจะไม่มีอะไร แค่ข้อกล่าวหาสภาตรายาง ในหน้าสื่อก็เหนื่อยแล้ว อีกทั้งช่วงนี้ก็ขอรับเงินเดือน และใช้เวลาไปวิ่งเต้นนั่งในตำแหน่ง ส.ว.สรรหา จำนวน 250 คน ที่ คสช.แต่งตั้งให้สำเร็จ  
นอกจากนี้ อีกประเด็นที่ พล.อ.ประยุทธ์จำต้องระวังในช่วงก่อนเลือกตั้ง หากคนรอบตัวนึกสนุก ลงมาเล่นการเมืองอย่างเต็มตัวด้วย โดยเฉพาะ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรองหัวหน้า คสช. “พี่รอง” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ “เพื่อนสนิท” พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ ที่มีแต่ข่าวพัวพันกับกลิ่นตุๆ และยังไม่สามารถชี้แจงความสงสัยได้ ขณะที่กลไกการตรวจสอบในองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. และองค์กรอิสระอื่นๆ ก็ถูกมองว่าเป็นคนของ คสช.  
ปัญหาเหล่านี้จะถาโถมและเป็นวิบากกรรมต่อความน่าเชื่อถือและตกมาที่ พล.อ. ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐ ระหว่างหาเสียงเลือกตั้งที่ถูกรุมชกจนถึงขั้นยุบ หรือ  น่วม จนอาจสิ้นแรงในช่วงปลายยกก่อนจะปิดหีบเลือกตั้งหรือไม่       
อีกสิ่งที่น่าห่วงไม่แพ้กันคือ อารมณ์ของท่านผู้นำจะคุมได้หรือไม่ ด้วยบุคลิกโผงผาง ปากเร็วใจดี แค่เจอนักข่าวถามซักไซ้เรื่องทั่วไป อารมณ์ยังเคยพุ่งตะเพิดไล่ออกจากทำเนียบรัฐบาล หรือจะทุ่มด้วยโพเดียมใส่นักข่าวมาแล้ว   
 ยิ่งถ้าเจอการยั่วยุของนักการเมืองเขี้ยวลากดินแถลงข่าวด่าทุกวัน ไม่อยากจะคิด อารมณ์จะพุ่งกระฉูดเบอร์ไหน และอาจปวดใจถึงขั้นถอดใจไปก่อนหรือไม่
รวมทั้งศึกในหาก “บิ๊กตู่” พลาดพลั้ง อาจมีชื่อผู้นำสายพลเรือน คือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แกนนำกลุ่มสามมิตรขึ้นมาเสียบทำให้ภาพทหารเจือจางลง    
 ท้ายสุด หากกลับเข้ามาได้ พล.อ.ประยุทธ์จะยึดเก้าอี้ได้นานแค่ไหน ในวันที่ไร้ดาบอาญาสิทธิ์ มาตรา 44 คุ้มครอง.  
                                ทีมข่าวการเมือง
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"