เวที กกต.พบพรรคการเมืองคึกคัก 59 พรรค 84 กลุ่มเข้าร่วม "อิทธิพร" ย้ำเร่งปฏิบัติตาม กม.ลูก 2 ฉบับ ชี้ทำไม่ทันสิ้นสภาพ-ส่งผู้สมัครไม่ได้ เผย 1 พ.ย.ประกาศเขตเลือกตั้ง เร่งออกระเบียบหาเสียงทางโซเชียลฯ ห้ามใส่ร้าย-ซื้อเสียง พท.ข้องใจวิธีคัดเลือกผู้สมัคร รับรอง "อนาคตใหม่" ตั้งพรรคแล้ว
ที่โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 28 กันยายน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินกิจการแก่พรรคการเมืองและผู้ขอแจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง โดยมีนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการ กกต. กรรมการ กกต.ทั้ง 4 คน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต. และนายทะเบียนพรรคการเมือง นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการพรรค และผู้บริหารสำนักงาน เข้าร่วม
ทั้งนี้ มีพรรคการเมืองกลุ่มขอแจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองเข้าร่วมหารือ จำนวน 59 พรรค 84 กลุ่ม รวมจำนวน 451 คน อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรค, พรรคเพื่อไทย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล, พรรคชาติไทยพัฒนา นายธีระ วงศ์สมุทร หัวหน้าพรรค นายวราวุธ ศิลปอาชา ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรค, พรรคภูมิใจไทย นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาพรรค นายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรค นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรค, พรรคชาติพัฒนา นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรค, พรรคพลังประชารัฐ นายวิเชียร ชวลิต, พรรคอนาคตใหม่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล นายชำนาญ จันทร์เรือง เป็นต้น
โดยเวลา 09.30 น. นายอิทธิพรกล่าวชี้แจงแนวทางจัดการเลือกตั้งครั้งแรกหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้เริ่มมีความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้งแล้ว โดย กกต.ได้ทยอยออกระเบียบต่างๆ สำหรับการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดให้มี ส.ส. 500 คน แบบแบ่งเขต 350 คน บัญชีรายชื่อ 150 คน การลงคะแนนใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียวคือแบบแบ่งเขต แล้วนำคะแนนไปคำนวณจำนวนสมาชิกแบบบัญชีรายชื่อ นอกจากนี้คะแนนดังกล่าวยังมีผลต่อการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีด้วย ถือว่า กากบาทเลือก 1 ครั้ง ส่งผลถึง 3 ด้าน คือ ส.ส.แบ่งเขต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเสนอชื่อนายกฯ
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีกลุ่มการเมืองที่ขอแจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง 119 กลุ่ม มีพรรคที่ผ่านการรับรองจาก กกต. 6 พรรค และจะประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบอีก 2 พรรค เบื้องต้นจึงมีพรรคการเมืองเก่าและใหม่ที่จดทะเบียนถูกต้องได้รับการรับรองทั้งสิ้นแล้ว 74 พรรค สำหรับพรรคเก่ามีหลักเกณฑ์ต้องดำเนินการคือ ต้องมีทุนประเดิม 1 ล้านบาท และต้องจัดให้มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 500 คน ชำระค่าบำรุงไม่น้อยกว่า 500 บาท ภายใน 180 วัน ซึ่งนับตั้งแต่ 14 ก.ย. ในกรณีที่พรรคการเมืองดำเนินการไม่ทัน ขอขยายเวลาได้ 180 วัน จากนั้นหากทำไม่ทันให้ถือว่าพรรคนั้นสิ้นสภาพไป อย่างไรก็ตาม ในกรณีค่าบำรุงพรรคการเมือง คำสั่ง คสช. ผ่อนปรนให้ชำระได้ไม่น้อยกว่า 50 บาทต่อคน
สำหรับพรรคการเมืองใหม่ ต้องเร่งจัดทำคำประกาศอุดมการณ์การเมืองและนโยบายพรรค ให้ครบถ้วนสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคให้แล้วเสร็จก่อน 90 วัน หรือก่อนวันที่ 10 ธ.ค.นี้ หากไม่แล้วเสร็จขอขยายเวลาได้อีก 90 วัน เมื่อสิ้นสุดเวลายังดำเนินการไม่ทัน พรรคนั้นจะไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และ กกต.ไม่สามารถจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองให้ได้
10 พ.ย.ประกาศเขต ลต.
ประธาน กกต.กล่าวถึงการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองว่า จะประกอบไปด้วยกรรมการบริหารพรรค 4 คน ตัวแทนสมาชิก 7 คน พิจารณาสรรหาผู้สมัครโดยให้คำนึงถึงตัวแทนจากภูมิภาคต่างๆ โดยเสนอชื่อให้กรรมการบริหารพรรคเพื่อให้ความเห็นชอบ สำหรับการเตรียมความพร้อมการจัดการเลือกตั้งของสำนักงาน กกต.นั้น ขณะนี้ กกต.ได้ออกระเบียบว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้ง ประกาศจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตและจำนวนเขตเลือกตั้งแล้ว โดยระยะเวลาแบ่งเขตต้องแล้วเสร็จภายใน 53 วัน ซึ่ง กกต.จังหวัดจะเสนอรูปแบบการแบ่งเขตจำนวน 3 รูปแบบ และเริ่มปิดประกาศเพื่อรับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองและประชาชน ระหว่างวันที่ 4-13 ต.ค.นี้ หลังจากนั้น 3 วัน จะรวบรวมผลรับฟังความเห็นเสนอมายัง กกต. ภายในวันที่ 16 ต.ค. จากนั้นไม่เกิน 20 วัน กกต.จะพิจารณาเลือกรูปแบบที่ดีที่สุด โดยคำนึงถึงความเป็นธรรม และสามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ในวันที่ 10 พ.ย.นี้ เพื่อให้พรรคการเมืองมีเวลาหาสมาชิก
ส่วนเรื่องการเลือกตั้ง อยากให้นับตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. ที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะมีผลใช้บังคับ ซึ่งจะต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน โดยระยะเวลาของวันเลือกตั้งที่เร็วที่สุดคือเดือน ก.พ. ช้าสุดคือเดือนพ.ค. ซึ่งการจะเลื่อนจากวันที่ 24 ก.พ.2562 หรือไม่นั้น ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กกต.
จากนั้น พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวในที่ประชุมว่า การหาเสียงในโซเชียลมีเดีย กกต.อยู่ระหว่างยกร่างระเบียบการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้มีเสรีภาพในการหาเสียงในโซเชียลมีเดีย พรรคการเมืองเพียงแจ้งมายัง กกต.ว่าจะหาเสียงทางเฟซบุ๊กหรือไลน์ ในชื่อใดโดยไม่ต้องขออนุมัติ ซึ่งสาเหตุที่ต้องยกร่างระเบียบเนื่องจากในการหาเสียง จะทั้งกองเชียงและกองแช่ง ซึ่งกองแช่งมีมากกว่า อาจมีผู้อื่นเข้ามาใส่ร้าย ตามที่รู้กันดีว่าเฟซบุ๊กถูกปลอมเยอะ ซึ่งผู้ถูกแอบอ้างไม่รู้เรื่องเลย กกต.มีเจ้าหน้าที่เทคนิคคอยตรวจสอบ ซึ่งดิจิทัลสามารถสืบค้นไปถึงต้นทางได้ สำหรับข้อความในการหาเสียงในโซเชียลมีเดีย หลักการคือห้ามใส่ร้าย สัญญาว่าจะให้ หรือซื้อเสียง หากข้อความไม่เหมาะสม กกต.จะขอให้ลบ ถ้าไม่ลบ กกต.ก็จะลบให้
นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. ชี้แจงถึงการตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครของพรรคการเมืองว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 ทำให้การตั้งกรรมการสรรหาผู้สมัครแตกต่างไปจากเดิม แต่รายละเอียดการปฏิบัติทุกอย่างยังเหมือนเดิม ดังนั้นการจะเป็นผู้สมัครในจังหวัดหรือเขตใด สมาชิก ตัวแทนสาขา หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดนั้นๆ เป็นผู้ให้ความเห็น ฉะนั้นถ้าส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งทั่วประเทศ อย่างน้อยต้องมีการตั้งตัวแทนพรรคการเมืองหรือสาขาพรรคการเมืองประจำจังหวัด จังหวัดละ 1 คน หรือ 1 สาขา
ส่วนแนวทางการหาสมาชิกนั้น ยอมรับว่าการหาสมาชิกของพรรคการเมืองมีปัญหาอุปสรรค สำนักงาน กกต.เตรียมทำข้อหนังสือถึง คสช.เพื่อขอให้กำหนดแนวทางให้ชัดเจนขึ้น เพราะพรรคจะต้องหาสมาชิกเพื่อจัดตั้งสาขาและหัวหน้าสาขาพรรค ในกรณีที่จะส่งผู้สมัครทั่วประเทศต้องมีสมาชิก 7,700-10,000 คน ขณะนี้ยังตอบได้ไม่เต็มร้อยว่าทำได้แค่ไหน สำหรับประเด็นการใช้โซเชียลมีเดียในการติดต่อสมาชิกและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรค แต่การติดต่อกับสมาชิกนั้น จะทำได้ในประเด็นที่มีการคลายล็อกตามคำสั่ง คสช.ที่ 13/2561 และการติดต่อทางธุรการเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นยังถือว่าเข้าข่ายต้องห้ามตามคำสั่งคสช.ที่ 57/2557 ในเรื่องการหาเสียง กกต.ยอมรับว่าเป็นห่วงเพราะไม่ได้เป็นผู้ใช้ดุลพินิจ เรื่องเกี่ยวกับความไม่สงบเรียบร้อยอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงาน กกต. ทำได้แค่อธิบายไม่ให้เดินมาใกล้เหว
พท.ข้องใจวิธีคัดผู้สมัคร
หลังจากนั้น กกต.เปิดโอกาสให้ผู้แทนพรรคการเมืองซักถาม ซึ่งนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ถามว่า การชี้แจงของ กกต.ว่าต้องมีตัวแทนสาขาหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด เห็นว่าไม่ตรงกับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 แต่คำสั่งดังกล่าวไปยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ประเด็นเงื่อนไขการส่งผู้สมัครที่ว่าต้องมีสาขาหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำ นอกจากนี้ คำสั่งที่ 13/2561 ยังบอกว่าการจัดทำสาขาพรรคต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่ง คือวันที่ 14 ก.ย.61 ดังนั้นก่อนวันที่ 14 ก.ย.62 จึงไม่จำเป็นต้องตั้งสาขาพรรคให้เสร็จก่อนก็ได้ ถ้ามีการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ.62 พรรคการเมืองสามารถจัดส่งผู้สมัครได้โดยไม่ต้องมีสาขาพรรคครบทุกจังหวัด ขณะเดียวกันคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 ยังไปยกเลิกมาตรา 47 ของบทเฉพาะกาล เท่ากับพรรคไม่ต้องมีตัวแทนประจำจังหวัด ทั้งนี้เข้าใจว่า กกต.ตีความกฎหมายผิด ไม่รู้ว่าที่นายแสวงพูดเป็นมติ กกต.แล้วหรือยัง ซึ่งได้ทำหนังสือสอบถามมา 3สัปดาห์แล้ว ยังไม่ได้รับคำตอบ
ด้าน นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ผู้แทนพรรคชาติพัฒนา ได้แสดงความเห็นสนับสนุนนายชูศักดิ์ พร้อมระบุว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 45 กำหนดเพียงให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัคร เพราะฉะนั้นคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร น่าจะรับฟังความเห็นจากสมาชิกเพียงอย่างเดียวก็สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแล้ว
ต่อมานายแสวงชี้แจงว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้รับฟังความเห็นจากสมาชิกอย่างกว้างขวาง จึงต้องยึดรัฐธรรมนูญเป็นหลัก กกต.ยังไม่มีมติ แต่คงจะเป็นไปตามแนวทางที่ได้ชี้แจง หากมีหนังสือตอบพรรคเพื่อไทยจะทำหนังสือเวียนให้ทุกพรรคการเมืองทราบเช่นกัน
นายปิยบุตร แสงกนกกุล ว่าที่เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เรียกร้องให้ กกต.พิจารณารับรองการจัดตั้งพรรคการเมืองให้กับกลุ่มการเมืองทั้ง 119 กลุ่มโดยเร็ว เพราะ กกต.ใช้เวลาอนุมัติรับรองพรรคการเมืองประมาณ 97 วัน หรือ 2 เดือนเศษ หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 24 ก.พ.62 หรือยืดออกไปในเดือน พ.ค.62 กกต.คงอนุมัติไม่ทัน และพรรคยังต้องหาสมาชิก
นอกจากนี้ยังมีผู้แทนพรรคการเมืองแสดงความเห็นอย่างหลากหลาย อาทิ การยกเลิกเกณฑ์ต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนการเลือกตั้ง หรือถ้ายุบสภาใช้เวลา 30 วันในการสังกัดพรรค หากสภาครบวาระต้องสังกัดพรรคภายใน 90 วัน กรณี คสช.ยึดอำนาจต้องสังกัดพรรคภายในกี่วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้าก่อนการประชุม นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ว่าที่หัวหน้าพรรคเกียน พร้อมทีมงาน แต่งกายชุดกู้ภัยใส่หมวกโจรสลัดมาร่วมประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้าห้องประชุม เนื่องจากแต่งกายไม่เหมาะสม ทั้งนี้ นายสมบัติระบุว่า ขอความเป็นธรรม โดยได้เปลี่ยนชื่อพรรคจาก เกรียน เป็นเกียน แต่ กกต.ไม่ตอบรับในระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งหาก กกต.เห็นว่าคำว่า เกียน ขัดต่อศีลธรรมอันดี จะเปลี่ยนชื่อใหม่อีกเป็น พลังประชาลาก
ต่อมาในช่วงเย็น พ.ต.อ.จรุงวิทย์ระบุว่า ที่ประชุม กกต.เห็นชอบให้นายทะเบียนพรรคการเมืองรับรองการขอจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ ที่มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นหัวหน้าพรรค และพรรคประชาชนปฏิรูป ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นหัวหน้าพรรค เป็นพรรคการเมืองแล้ว ซึ่งสำนักงาน กกต.จะนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป โดยขณะนี้เหลือกลุ่มการเมืองที่ยื่นขอจดตั้งพรรค ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจเอกสารหลักฐานอีก 16 พรรค จะเร่งพิจารณารับรองในส่วนที่เหลือต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |