27 ก.ย.61 - ที่อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี กรมการปกครอง กระทรวง มหาดไทย ได้จัดประชุมสัมมนาเพื่อเตรียมความพร้อม ในการสนับสนุนการได้มาซึ่ง ส.ว. และการเลือกตั้ง ส.ส. ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้บริหารระดับจังหวัด ทั่วประเทศประมาณ 1,300 คน ร่วมประชุม โดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง มอบนโยบายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ว่า การเลือกตั้งทุกครั้งที่ประสบความสำเร็จได้ดี เพราะได้รับการสนับสนุนของกระทรวงมหาดไทย และหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนที่ดีต่อไป ทั้งนี้บ้านเมืองเราไม่ได้มีการเลือกตั้งมาหลายปีแล้ว แต่หลังจากมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เกิดความเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้งหลายอย่าง เช่น การได้มาซึ่ง ส.ว.จะเป็นการดำเนินการตามบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 โดย กกต.จะต้องเลือก ส.ว. 200 คน ให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.ไม่น้อยกว่า 15 วัน จากนั้นจะส่งรายชื่อให้ คสช.คัดเลือกเหลือ 50 คน ส่วน ส.ว.ที่เหลือ 194 คน จะมาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาที่ คสช.แต่งตั้งขึ้น ส่วนอีก 6 คน เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการทหารเรือ, ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
นายอิทธิพร กล่าวอีกว่า หลังจากมี พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. แล้ว กกต.ได้ออกระเบียบรองรับการสรรหา ส.ว. ให้เป็นไปโดยสุจริต จะเป็นการเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพต่างๆ 10 กลุ่ม โดยกระบวนการเลือก ส.ว.จะเริ่มขึ้นเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาการเลือก ส.ว. คาดว่าจะมีผลใช้บังคับประมาณวันที่ 30 พ.ย. จากนั้นจึงจะมีการประกาศวันรับสมัครผู้เข้ารับการคัดเลือก ส.ว. ประมาณวันที่ 5 ธ.ค. ส่วนการคัดเลือกแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับอำเภอ ที่จะเริ่มคัดเลือกประมาณวันที่ 30 ธ.ค. โดยมีนายอำเภอเป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือก มีข้าราชการรวมทั้งเจ้าหน้าที่ กกต.ร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งอำเภอหนึ่งจะมีผู้ได้รับเลือกประมาณ 60 คน รวมทั้งประเทศประมาณ 55,680 คน จากนั้นอีก 7 วัน จะเริ่มการคัดเลือกในระดับจังหวัด คือประมาณ 6 ม.ค. 2562 มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการระดับจังหวัดดูแล โดยจะคัดเลือกให้เลือกจากระดับอำเภอให้เหลือ 6,160 คน ต่อจากนั้นอีก 10 วัน ก็จะมีการคัดเลือกระดับประเทศ โดยมีประธาน กกต. และ กกต. เป็นคณะกรรมการระดับประเทศ โดยจะคัดผู้ที่ได้รับคะแนนสูงในแต่ละกลุ่ม กลุ่มละ 10 คน คาดว่ากระบวนการจะแล้วเสร็จในวันที่ 16 ม.ค.2562 จากนั้นภายในวันที่ 22 ม.ค.2562 กกต.ก็จะเสนอรายชื่อ 200 คน ให้ คสช.ต่อไป
“หากการเลือก ส.ว.ครั้งแรก เป็นไปด้วยความคึกคัก ผู้สมัครล้นหลาม เป็นไปด้วยความเข้าใจของผู้สมัครและผู้ปฏิบัติ ก็จะกลายเป็นพลวัตรที่ส่งผลทำให้บรรยากาศการเลือกตั้ง ส.ส.คึกคักตามไปด้วย ดังนั้นอยากให้ดำเนินการเพื่อให้มีผู้เข้ามาสมัคร ส.ว.ในทุกระดับจำนวนมากที่สุด”นายอิทธิพร กล่าว
นายอิทธิพร ยังกล่าวถึงการเลือกตั้ง ส.ส. ว่า จะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่ กกต.จะมีเครื่องไม้เครื่องมือหรือกฎหมายใหม่ๆ มาช่วยดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ทั้งเรื่องการสืบสวนไต่สวนคดีเลือกตั้ง หรือกรณี กกต. 1 คนสามารถสั่งระงับยับยั้งการเลือกตั้งบางหน่วยได้ การมีผู้ตรวจการเลือกตั้ง การคุ้มครองพยานรวมทั้งกันบุคคลไว้เป็นพยาน แต่การเลือกตั้งครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดการร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย โดยคาดว่าในวันที่ 11 ธ.ค. 2560 จะเป็นวันที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ ซึ่งจะเป็นวันแรกที่เริ่มนับกรอบเวลา 150 วันของการจัดเลือกตั้ง โดยที่ผ่านมา กกต.ได้ดำเนินการแบ่งเขตไปแล้ว ซึ่งในระดับจังหวัดคาดว่าจะประกาศรูปแบบการแบ่งเขต 3 รูปแบบเพื่อให้พรรคการเมืองและประชาชนเสนอความคิดเห็นในสัปดาห์หน้า และ กกต.จะพิจารณาแล้วเสร็จภายในวันที่ 5 พ.ย.นี้ ส่วนการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งนั้น ได้มีการคัดเลือกไว้แล้ว 616 คน และกำลังตรวจสอบข้อร้องเรียน คาดว่าอีกไม่นานก็จะเสนอให้ กกต.ชุดนี้พิจารณาต่อไปได้
ด้านนายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย กกต. มอบนโยบายเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมที่เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ว่า ข้าราชการกระทรวงมหาไทยทุกระดับถือว่ามีความสำคัญกับการคัดเลือกให้ได้มาซึ่ง ส.ว.ที่มีคุณภาพ จึงอยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัดคัดคนเก่งที่เป็นกลาง ไม่เป็นเครือญาตินักการเมืองเข้ามาทำงานในการคัดเลือก ส.ว.ทั้งระดับอำเภอและระดับจังหวัด และกำชับให้มีการหาข่าว โดยเฉพาะเรื่องของการรับสมัคร ว่าผู้สมัครจะต้องไม่มีการฮั้วกันมาสมัคร และเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่คิดว่าการเลือก ส.ว.ไม่ได้เกี่ยวกับตัวเองนั้น ให้มีความสนใจเป็นหูเป็นตา ไม่ให้การเลือก ส.ว.มีการทุจริต โดยควรจะต้องมีการตั้งศูนย์ปฎิบัติการในทุกระดับ ส่วนการเลือกระดับจังหวัดที่ กกต.วางปฏิทินไว้ในช่วง 30 ธ.ค. อาจจะเป็นปัญหากระทบกับกระทรวงมหาดไทยที่ติดภารกิจเรื่อง 7 วันอันตราย ทาง กกต.ก็จะไปหารือให้มีการปรับแผนการทำงานให้มีความเหมาะสม สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.อยากให้มีการใช้เครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยไปรณรงค์ให้ประชาชนมาใช้สิทธิให้มาก ให้ทางจังหวัดประสานกับกระทรวงแรงงาน เพื่ออำนวยความสะดวกการลงทะเบียนการเลือกตั้งนอกเขตสำหรับผู้ใช้แรงงาน และเน้นย้ำให้ข้าราชการวางตัวเป็นกลาง โดย กกต.จะทำหนังสือถึง ครม.ให้แจ้งเวียนคำสั่งขอให้ข้าราชการวางตัวเป็นกลางในการเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด
“คิดว่าการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะเกิดขึ้นเป็นเรื่องใหญ่ จำเป็นจะต้องมีการบูรณาการทั้งภาครัฐและเอกชน ทำเป็นเครือข่าย เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ที่จะทำให้วงจรอุบาทว์กลับมาอีก จึงต้องทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม” นายธวัชชัย กล่าว
ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นขณะนี้กฎหมายกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะแล้วเสร็จในช่วง ธ.ค. ดังนั้นหลังจากการเลือกตั้ง ส.ส.ไปแล้ว 90 วัน ก็จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่น ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเคยบอกไว้ และเมื่อใกล้ช่วงเวลาดังกล่าวทาง กกต.ก็จะได้หารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทยถึงเรื่องความร่วมมืออีกครั้งหนึ่ง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |