'คนรวย'รวยขึ้น'คนจน'จนลง ปัญหาและทางออก


เพิ่มเพื่อน    

           

โลกทุกวันนี้แม้จะเจริญก้าวหน้าแต่การพัฒนาไม่ได้เกิดเท่ากัน หลายส่วนยังขาดการพัฒนาอีกมาก ความแตกต่างเกิดในหลายระดับ เช่น ระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับกำลังพัฒนา ระหว่างเมืองกับชนบท แม้กระทั่งระหว่างเมืองด้วยกันเอง

            ความรวยความจนเป็นประเด็นระดับโลก มีผลต่อความเป็นไปของโลกทั้งทางบวกและลบ สร้างปัญหาต่อประเทศอื่นๆ เช่น แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ผู้อพยพเข้าเมืองจากภัยธรรมชาติ ต้นเหตุอาชญากรรมหลายประเภท

            ความยากจนยังหมายถึงกำลังซื้อที่ลดต่ำ หากเศรษฐกิจสหรัฐโตน้อยกว่าคาดจะส่งผลกระทบทั่วโลก

การแก้ไขจึงเป็นระดับโลก เช่น พูดถึงระบบเศรษฐกิจโลก แนวคิดแก้ไขความยากจนโลก แต่ไม่ใช่ทุกประเทศจะเห็นตรงกันและขึ้นกับนโยบายของแต่ละรัฐบาล รัฐบาลบางชุดเพิ่มงบประมาณช่วยเหลือประเทศยากจน ในขณะที่บางชุดปรับลดงบประมาณ

คนเพียงร้อย 1 ที่ครองรายได้ร้อยละ 82 ของโลก :

Oxfam International รายงานว่าปีที่แล้วช่องว่างคนรวยกับคนจนถ่างกว้างขึ้น ปัจจุบันทั้งโลกมีมหาเศรษฐีพันล้าน 2,043 คน ปีที่แล้วเพียงปีเดียวทั้งหมดรวยขึ้น 762,000 ล้านดอลลาร์ (เฉลี่ยคนละ 373 ล้านดอลลาร์)

            ข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่าปีที่แล้วมหาเศรษฐี 500 คนแรก มีรายได้รวมกันถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ มากกว่าปีก่อนหน้านั้น (2016) ถึง 4 เท่า ส่วนหนึ่งมาจากราคาหุ้นที่ขยับสูงขึ้น

Winnie Byanyima จาก Oxfam International ชี้ว่า “เป็นความล้มเหลวของระบบเศรษฐกิจ” คนเย็บเสื้อ คนงานประกอบโทรศัพท์ ชาวไร่ชาวนาถูกขูดรีด และเป็นเรื่องน่าละอายของรัฐบาลทั้งหลายที่คนเพียงร้อยละ 1 ถือครองความมั่งคั่งที่ส่วนใหญ่ ในขณะที่คนนับพันล้านคนต้องปากกัดตีนถีบ

            นับจากปี 2010 เป็นต้นมา รายได้ของพวกมหาเศรษฐีพันล้านเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 13 ต่อปี ในขณะที่รายได้ของคนทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ต่อปี บ่งชี้ว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนถ่างกว้างขึ้นเรื่อยมา มหาเศรษฐีธุรกิจเสื้อผ้าทำงานเพียง 4 วันจะมีรายได้เท่ากับช่างเย็บเสื้อผ้าบังคลาเทศทำงานทั้งชีวิต รายได้ของ CEO อเมริกันเพียงวันเดียวเท่ากับค่าแรงทั้งปีของคนอเมริกันทั่วไป

            แรงงานสตรีอยู่ในกลุ่มมีรายได้ต่ำสุด เป็นเช่นนี้ทั่วโลก เรื่องค่าแรงเป็นประเด็นหนึ่งเท่านั้น แรงงานหญิงหลายคนต้องทำงานไกลบ้าน จากลูกกับสามี เพียงเพื่อได้ค่าแรงต่ำๆ บางคนไม่เห็นหน้าลูกคราวละหลายเดือน แรงงานบางประเภทในสหรัฐต้องใส่ผ้าอ้อมเพราะไม่อนุญาตให้เข้าห้องน้ำขณะทำงาน

เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะบริษัทมุ่งให้ประโยชน์แก่เจ้าของกิจการกับผู้ถือหุ้น พยายามตักตวงประโยชน์จากแรงงาน ละเมิดสิทธิแรงงาน บริษัทเอกชนรายใหญ่มีอิทธิพลกำกับนโยบายรัฐ แนวทางที่นายทุนใช้คือให้แรงงานส่วนใหญ่พออยู่ได้ มุ่งบริโภคสินค้าราคาถูก เป็นโอกาสนายทุนตักตวงผลประโยชน์จากการนี้

ทางออก :

            Oxfam เสนอแนวทางหลายข้อ เริ่มจากต้องจำกัดผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นกับผู้บริหารระดับสูง แรงงานทุกคนจะต้องมีรายได้มากพอสำหรับคุณภาพชีวิตที่ดี ยกตัวอย่าง อัตราค่าแรงขั้นต่ำของไนจีเรียควรสูงกว่านี้ 3 เท่า แก้ปัญหาค่าแรงเหลื่อมล้ำระหว่างหญิงกับชาย ปกป้องสิทธิสตรี ผู้มีรายได้สูงต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าและไม่เปิดช่องให้เลี่ยงเสียภาษี เพิ่มงบประมาณด้านสาธารณสุขและการศึกษา หากเศรษฐีพันล้านจ่ายภาษีเพิ่มร้อยละ 1.5 จะมีงบประมาณให้เด็กทุกคนทั่วโลกได้เรียนหนังสือ

Byanyima ชี้ว่าปัญหาใหญ่ที่สุดคือไม่ใช่คนไม่รู้ปัญหา นักการเมือง นักธุรกิจล้วนรู้ปัญหา แต่น้อยคนนักที่หาคนผู้ลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ตรงกันข้ามผู้มีอำนาจไม่ว่าจะการเมืองหรือเศรษฐกิจพยายามลดภาษี ละเมิดสิทธิแรงงาน

ระบบเศรษฐกิจเป็นประโยชน์แก่ใคร :

            ลำพังจะโทษปัจจัยภายนอก ปัจจัยระดับประเทศเท่านั้นไม่ถูกต้อง สังคมไม่ควรส่งเสริมคนขี้เกียจ ไม่เก็บออม อยู่ไปวันๆ ควรตอบแทนคนขยัน ตั้งใจทำงาน รู้จักเก็บออม นี่คือมาตรฐานเบื้องต้นที่ควรยึดถือ

            แต่ทำไมคนขยันคนเก็บออมบางประเทศจึงไม่มั่งคั่งเท่ากับคนอีกประเทศหนึ่ง ...

            เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่าระบบเศรษฐกิจทุนนิยมไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยธรรมชาติ เป็นผลจากความคิด การบังคับใช้ ตั้งแต่ระดับโลก ระดับประเทศ จนถึงระดับล่างสุดของสังคม

            ชาติตะวันตกโดยเฉพาะรัฐบาลสหรัฐเป็นผู้วางระบบเศรษฐกิจโลกปัจจุบันและผลักดันให้นานาชาติใช้ ประเทศพัฒนาแล้วมักกดประเทศกำลังพัฒนาให้อยู่ในฐานะเสียเปรียบ สภาพเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในยุคอาณานิคมหมู่ประเทศเจ้าอาณานิคมจะให้อาณานิคมผลิตและขายพวกวัตถุดิบ อย่างเช่นฝ้าย ข้าว ยางพารา อ้อย น้ำมัน แร่ชนิดต่างๆ ในราคาถูก ส่วนพวกเขาจะนำเข้าวัตถุดิบเหล่านี้ผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปส่งขาย เช่น เสื้อผ้า เครื่องจักรกล รถยนต์ ในราคาที่สูงกว่ามาก

ผลคือประเทศเจ้าอาณานิคมเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า ได้ประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศมากกว่า สภาพเช่นนี้ยังพอเห็นได้ในปัจจุบันเพียงเปลี่ยนเป็นประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา

            หากจะแก้ปัญหาความยากจนจึงต้องรู้และเข้าใจเรื่องทำนองนี้ นำสู่การแก้ไขตรงจุด

            ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้วิพากษ์การใช้ลัทธิปกป้องการค้า (protectionism) โดยรัฐบาลทรัมป์ ความจริงแล้ว รัฐบาลสหรัฐใช้ลัทธิปกป้องการค้ามาหลายครั้ง พูดให้ถูกต้องกว่านี้คือใช้เรื่อยมา ต่างตรงระดับความเข้มข้นเท่านั้น

            เหตุการณ์หนึ่งที่ควรเอ่ยถึงคือ เดิมนั้นเศรษฐกิจสหรัฐตามหลังอังกฤษ Alexander Hamilton นำเสนอ “Report on Manufactures” แนวทางคือใช้ลัทธิปกป้องการค้า ด้วยการตั้งกำแพงภาษีเพื่อกีดกันสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ เปิดทางให้ผู้ประกอบการในประเทศได้ลงทุนค้าขายโดยปราศจากคู่แข่ง จนมีกำไรกลายเป็นบริษัทที่เข้มแข็งสู้ต่างชาติได้

สิ่งที่รัฐบาลทรัมป์ทำจึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพียงแต่ประธานาธิบดีทรัมป์พูดตรงไปตรงมามากกว่าอดีตประธานาธิบดีบางท่าน และพึงเข้าใจว่า “การค้าเสรี” หมายถึงการค้าในหมวดหมู่สินค้าบริการที่ประเทศเขาได้ประโยชน์ จึงให้ทุกประเทศเปิดเต็มที่ เพื่อตักตวงผลประโยชน์ได้มากที่สุด อนึ่ง ประเทศที่เปิดเสรีด้วยก็ได้ประโยชน์เช่นกัน จุดสำคัญคือต้องเป็นข้อตกลงที่ประเทศมหาอำนาจหรือมีอำนาจเหนือกว่าเป็นฝ่ายได้มากกว่า การปรับแก้ไขข้อตกลงการค้ากับประเทศอื่นๆ เช่น NAFTA เป็นกรณีตัวอย่างที่ดี (ปรับแก้เพื่อคงความเป็นผู้ได้ผลประโยชน์มากกว่า)

ผู้มีบารมีครองโลก :

            ถ้ามองในกรอบเศรษฐกิจอย่างเดียวอาจตีความว่านายทุนคือผู้ครองโลก หากมองให้กว้างขึ้นนายทุนหรือนักธุรกิจพันล้านไม่ได้ทำงานคนเดียว เป็นผลอันซับซ้อนจากระบบอำนาจโลกในหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร นักวิชาการบางส่วน ฯลฯ

            คนเหล่านี้ไม่ใช่คนพวกเดียวหรือเป็นกลุ่มเดียวกัน ทั้งหมดเห็นผลประโยชน์ในส่วนที่ตนได้ อาจกล่าวรวมๆ ได้ว่าคือความร่วมมือของผู้มีบารมีที่ยึดผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม

            แม้กระทั่งนักวิชาการบางส่วนบางสถาบันที่พร่ำสอนประโยชน์ของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ตำราที่สอนให้เข้าใจการค้าเสรีอย่างบิดเบือน

            ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจคือตัวย่างข้อเสียที่เอ่ยถึงตั้งแต่เริ่มทุนนิยม ที่ผ่านมาถูกปกปิด ลดทอน ให้มองเป็นปัญหาเล็ก แต่ปัจจุบันการสื่อสารดีขึ้น คนมีความรู้การศึกษาสูงขึ้น เข้าถึงข้อมูลมากขึ้น จึงมีผู้นำเสนอความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่องชัดเจน

            และบัดนี้สังคมโลกไม่อาจปฏิเสธช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่ถ่างกว้างออกมาขึ้นทุกที ทั้งๆ ที่คนจนหลายคนขยันทำงาน พยายามเก็บออม มีเพียงส่วนน้อยที่สามารถเขยิบฐานะเศรษฐกิจ ในขณะที่คนจำนวนมากขาดโอกาส เข้าไม่ถึงแหล่งทุน ทรัพยากร

ความสุดโต่ง 2 ด้าน ยากจนกับรวยเกิน :

            ความยากจนไม่ใช่เรื่องดี ทำไมต้องยากจนถึงขนาดสูญเสียโอกาส เช่น เป็นเด็กยากจนจึงไร้การศึกษา ไม่สามารถหาการงานที่ดีพอเลี้ยงครอบครัว ยากจนถึงขั้นต้องทำงานผิดกฎหมาย อยู่ในสังคมที่โหดร้ายทารุณ

            ในขณะที่ การให้ทุกคนมีเท่ากันทั้งๆ ที่ขยันตั้งใจต่างกันก็ไม่สมเหตุผล

            คนขยันทำงาน มีความคิดอ่านและเก็บออมควรร่ำรวย แต่ความร่ำรวยที่มากเกินพอ ไม่สร้างประโยชน์ต่อสังคม มีแต่ทำให้สังคมมุ่งแสวงหาความสุขจากวัตถุ กดขี่เบียดเบียนผู้อื่น ก่อปัญหามากมายอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

            แนวทางที่เหมาะสมคือต้องมุ่ง “ต่อต้านความยากจนและร่ำรวยเกินพอ” เริ่มด้วยการปรับทัศนคติ โลกต้องชื่นชมเศรษฐีผู้สร้างความร่ำรวยเพื่อมุ่งช่วยเหลือสังคมให้เป็นอารยะ ไม่ส่งเสริมยกย่องเศรษฐีที่ไม่ดูแลสังคมอย่างจริงจัง

            พร้อมกับต่อต้านความเกียจคร้าน อยู่ไปวันๆ ไม่ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า

             ในระบบประชาธิปไตยหรือระบอบปกครองใดๆ ผู้นำประเทศ นักการเมือง พรรคการเมืองที่ยึดอุดมการณ์ต่อต้านความยากจนและร่ำรวยเกินเช่นนี้ควรได้รับการสนับสนุน

            แทนที่จะหาเสียงด้วยการช่วยให้หายจนเพียงอย่างเดียว ต้องสนับสนุนคนรวยหรืออยากรวยเพื่อช่วยสังคมด้วย ยึดหลัก “เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข” อยากเห็นผู้อื่นมีความสุขเหมือนตนเอง

----------------------------

ภาพ : พนักงานตัดเย็บเสื้อผ้าในบังคลาเทศ

ที่มา : https://www.oxfam.org/sites/www.oxfam.org/files/file_attachments/bp-reward-work-not-wealth-220118-en.pdf


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"