สุดวิสัย! กรมศิลป์ สั่งหยุดกระทำการใดๆ"เจดีย์ฯ "ตรวจพบแตกร้าวเสียหายหมด  


เพิ่มเพื่อน    

26ก.ย.61-กรมศิลป์รุดตรวจสอบโครงสร้างหอระฆังวัดพระยาทำ  พบเจดีย์แตกร้าวเสียหายหมด สั่งหยุดงานทั้งหมด ระดมทีมค้ำยันโบราณสถานไม่ให้พังทลายเพิ่ม ก่อนเข้าบูรณะเสริมความมั่นคงให้แข็งแรง  มั่นใจกลับคืนงดงามดังเดิม สั่งหาสาเหตุสุดวิสัยหรือประมาท ให้ บ.ผู้รับจ้างเยียวยาผู้ตาย-บาดเจ็บทุกราย

 

  ที่วัดพระยาทำวรวิหาร นายอนันต์ ชูโชติ  อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยนายอารักษ์  สังหิตกุล  อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมโครงสร้าง กรมศิลปากร ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายหอระฆังของวัดพระยาทำวรวิหาร ซึ่งมีลักษณะศิลปกรรมแบบพระราชนิยมสมัยรัชกาลที่ 3 ที่พังถล่มลงมาทับคนงานระหว่างที่มีการปรับยกระดับของหอระฆัง โดยมีทีมวิศวกรของกรมศิลปากร และวิศวกรของบริษัทผู้รับจ้างเข้าร่วมตรวจสอบสภาพความเสียหาย
นายอนันต์ กล่าวว่า ก่อนที่จะลงพื้นที่ได้มีการประชุมหารือกับทีมวิศวกรของกรมศิลปากรและวิศวกรผู้รับจ้าง โดยได้เชิญนายอารักษ์ สังหิตกุล อดีตอธิบดีกรมศิลปากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านโครงสร้างวิศวกรรมมาเป็นที่ปรึกษา และกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาไว้ 3 ด้าน คือ 1.สั่งให้หยุดการปฏิบัติงานทั้งหมดเพื่อหาสาเหตุ 2. หามาตรการเร่งด่วนปกป้องคุ้มครองตัวโบราณสถานไม่ให้พังทลายเพิ่มโดยให้วิศวกรของทั้งสองทีมไปร่างแบบตัวค้ำยันให้แล้วเสร็จ และ 3. สำรวจสภาพพื้นที่โดยละเอียดเพื่อจัดทำแผนบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่เนื่องจากโครงสร้างของเจดีย์เสียหายทั้งหมดแล้ว


อธิบดีกรมศิลปากร  กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการบูรณนั้น  กรมศิลปากรได้มีการถอดแบบ  ด้วยการสแกนภาพสามมิติของโบราณสถาน ก่อนที่จะทำการบูรณะไว้แล้ว โดยจะนำมาใช้ประกอบการบูรณะให้คงเอกลักษณ์เดิมมากที่สุด    ซึ่งตามขั้นตอนอาจจะต้องถอดตัวองค์เจดีย์หรือใส่โครงสร้างเข้าไปใหม่ซึ่งจะต้องมีการหารือและออกแบบการบูรณะอีกครั้ง เมื่อแบบแล้วเสร็จจะเริ่มดำเนินการทันที ซึ่งค่าใช้จ่ายของการดำเนินการใหม่ผู้รับจ้างจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ส่วนการเอาผิดกับบริษัทผู้รับจ้างจะต้องตรวจสอบรายละเอียดให้แน่ชัดอีกครั้งว่าเป็นเหตุสุดวิสัย หรือความประมาทของผู้รับจ้าง เบื้องต้นทราบว่าทางบริษัทที่รับจ้างได้มีการจ้างทีมวิศวกรมาเป็นที่ปรึกษา   ซึ่งผ่านการยกปรับระดับตัวโบราณสถานและงานสถาปัตยกรรม ถือว่ามีประสบการณ์และทำงานกับกรมศิลปากรเป็นเวลาหลายสิบปี ที่ผ่านมายังไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ทั้งนี้ทราบว่าทางบริษัทผู้รับจ้างจะเข้าไปเยียวยาผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ซึ่งถือเป็นคนงานของบริษัทอย่างเต็มที่ ขณะที่กรมศิลปากรขอแสดงความเสียใจกับการสูญเสีย และขอให้กำลังใจกับญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บทุกคน   


ด้าน นายอารักษ์    กล่าวว่า ก่อนที่เข้ามาดำเนินงานบูรณะ  กรมศิลปากร  มีการวางแผนงานที่เป็นระบบ   โดยให้บริษัทผู้รับจ้างจัดทำรายการรูปแบบการบูรณะ วิธีการบูรณะ และส่งช่างเข้ามาควบคุม โดยมีคณะกรรมการของกรมศิลปากรร่วมตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรายงานให้แก่ผู้บริหารรับทราบอยู่แล้ว  กรณีนี้คิดว่าไม่ได้มีความผิดพลาดที่กระบวนการ ส่วนบริษัทผู้รับเหมาที่รับจ้างงานนี้  พบว่า มีประสบการณ์การทำงานลักษณะนี้มาพอสมควร  สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เท่าที่ตรวจสอบ การทำงานด้านเทคนิค ไม่มีความผิดพลาด  รวมทั้งบุคลากรที่เข้ามาทำงานนี้ มีความน่าเชื่อถือ แต่ สันนิษฐานว่า สาเหตุหลักอาจเกิดจากเครื่องมืออุปกรณ์ ไฮโดรลิคและความโชคร้ายของคนทำงานที่อยู่ๆ ยกแล้ว แก้ปัญหาความเอียงแล้ว ก็ยังทำให้โบราณสถานทรุดตัวลงได้ ทั้งๆ ที่โครงสร้างได้มีการตอกเข็ม คานเหล็กรองรับไว้ก่อนหน้านี้แล้ว    


นายอารักษ์ กล่าวต่อว่า   จากการประเมินโครงสร้างโบราณสถาน หอระฆังภาพรวม พบว่า รวน แตกร้าว หมดแล้ว ทั้งอิฐก่อ ฐาน โบราณสถาน ซุ้ม ประตู  จนมีความน่าห่วงและมีความอันตรายมาก โอกาสจะให้กลับคืนที่เดิมคงจะยากแล้วจึงได้ให้มีการค้ำยัน ตัวโบราณสถานเพื่อกันไว้ไม่ให้ทรุดตัวเพิ่ม  หลักการบูรณะจากนี้ต้องเร่งเสริมความมั่นคงตัวโบราณสถานให้แข็งแรง  จัดทำโครงสร้างใหม่ และตัดแต่งส่วนประดับออกมาทั้งหมด  จัดทำโครงสร้างใหม่ในระดับแนวดิ่งที่ต้องการด้วยการยึดอิฐเก่าและอิฐใหม่ให้เข้ากัน เสร็จแล้วค่อยนำส่วนประดับไปติดให้คืนสู่สภาพเดิมตามหลักการ เช่นเดียวกับการบูรณะพระธาตุพนม จ. นครพนม  ที่เคยล้มลงมาได้นำส่วนประดับตกแต่งองค์พระธาตุออกมาก่อน แล้วจึงเสริมความมั่นคงโครงสร้างองค์พระธาตุ ก่อนนำส่วนตกแต่งไปประดับตามเดิม   ซึ่งเป็นการคงจิตวิญญาณ  และคงเอกลักษณ์ของโบราณเอาไว้ 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"