ศาลรธน.ไต่สวนหุ้น'ดอน' 'กกต.-2เอกชน'ซดกันนัว!


เพิ่มเพื่อน    

    ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนนัดแรกปมความเป็นรัฐมนตรีของ “ดอน” กรณีเมียถือครองหุ้น ประธานไต่สวน กกต.จัดหนัก ซัดทำเอกสารย้อนหลัง ส่วน 2 เอกชนตีมึน โยนสำนักบัญชีบริษัทจัดการ นัดไต่สวนครั้งต่อไป 17 ต.ค.
    เมื่อวันอังคาร องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 และต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสองหรือไม่ 
    ทั้งนี้ เป็นการไต่สวนพยาน 3 ปาก คือ นายมนัส สุขสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวของสำนักงาน กกต., นายภัฏฏการก์ บุนนาค กรรมการผู้จัดการบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จำกัด และนายตรีวัฒน์ ทังสุบุตร กรรมการผู้จัดการบริษัท ปานะวงศ์ จำกัด เข้าไต่สวน โดยมีนายดอนและนายเสรี สุวรรณภานนท์ ทนายความของนายดอนเข้าร่วมรับฟังและซักถามพยานด้วย
    โดยการไต่สวน ศาลได้สอบถามเรื่องข้อบังคับบริษัทเกี่ยวกับการโอนหุ้น การลงรายการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท การมีหนังสือนำส่งรายงานการโอนหุ้นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และการจัดประชุมสามัญและวิสามัญประจำปีของบริษัท ซึ่งมีข้อสังเกตว่าวาระการประชุมของปี 2557-2559 มี 5 วาระที่ดำเนินการเป็นประจำในทุกปี โดยไม่พบว่ามีเรื่องการรับรองการแจ้งเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นเลย แต่มาพบเป็นวาระการประชุมเดียวในการประชุมวิสามัญของปี 2560
    นายมนัสชี้แจงว่า ในการสอบสวนเมื่อมีเหตุสงสัยเรื่องพยานเอกสาร ได้ให้โอกาสนายดอนมาชี้แจงหลายครั้ง แต่ไม่มา ส่งเป็นเอกสารมาเท่านั้น โดยพยานเอกสารที่ส่งมาแม้เป็นหนังสือของนางนรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย ภรรยา ที่แสดงเจตนาโอนหุ้นให้นายเพื่อน ปรมัตถ์วินัย บุตรชาย ในวันที่ 10 เม.ย.2560 และโอนหุ้นในวันที่ 27 เม.ย. และวันที่ 30 เม.ย. ถ้ามีการดำเนินการจริงในวันเวลาดังกล่าว ทำไมจึงไม่มีการแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้รับทราบ และแจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่าได้เปลี่ยนแปลงการถือหุ้นในบริษัทแล้ว ขณะเดียวกันกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และประธาน ป.ป.ช.แจ้งมาเมื่อวันที่ 3 ส.ค.2560 ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ไปแล้ว 4 เดือน ว่าการถือหุ้นของนางนรีรัตน์ในบริษัททั้งสองยังคงเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้น ประกอบกับทั้งสองบริษัทเป็นบริษัทภายในครอบครัว จึงทำให้คณะกรรมการไต่สวนเห็นว่าการชี้แจงของนายดอนที่ว่าภรรยาโอนหุ้นให้บุตรใน 30 วันหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ไม่น่าเชื่อถือ
    "ได้มีหนังสือไปยังประธานบริษัททั้งสองเมื่อวันที่ 1 ส.ค.2560 ขอให้ชี้แจงว่าระหว่างปี 2558-2560 นางนรีรัตน์ได้ถือหุ้นในบริษัทเท่าไร คิดเป็นร้อยละเท่าไรจนถึงปัจจุบัน และได้หุ้นมาด้วยวิธีใด ซึ่งบริษัทก็ตอบมาเมื่อวันที่ 3 ส.ค.2560 ว่าการถือหุ้นเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะบริษัท ปานะวงศ์ฯ ระบุว่านางนรีรัตน์ถือหุ้น 7,200 หุ้น คิดเป็น 12% ตรงกับข้อมูลที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและประธาน ป.ป.ช.ส่งมา เมื่อพยานหลักฐานเป็นเช่นนี้ คณะกรรมการไต่สวนก็ไม่อาจฟังเป็นอย่างอื่นได้" นายมนัสกล่าว
    นายมนัสยังได้ยอมรับกับคำถามที่นายเสรีซักค้านว่า ที่นายมนัสเห็นว่าพยานหลักฐานที่นายดอนนำเสนอไม่น่าเชื่อถือ และทำย้อนหลังนั้นเป็นความเห็นส่วนตัว ไม่มีอยู่ในมติของคณะกรรมการไต่สวนหรือในการพิจารณาของ กกต. เป็นเพียงการตอบในประเด็นที่ศาลขอความเห็นว่ามีความเห็นเพิ่มเติมกรณีนี้อย่างไร
    ด้านนายภัฏฏการก์ชี้แจงว่า หุ้นของบริษัทเป็นใบหุ้นระบุชื่อโดยมีข้อบังคับว่า ถ้ามีการโอนหุ้นต้องแจ้งบริษัททราบ เพื่อป้องกันคนนอกไม่ให้เข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อโอนหุ้นแล้วต้องเข้าที่ประชุมเพื่อรับทราบทุกครั้ง ก่อนมอบสำนักบัญชีไปแจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ส่วนการโอนหุ้นในอดีตเคยมีของนายตรีวัฒน์โอนให้บุตร แต่จำไม่ได้ชัดว่าปีไหน แต่ในปี 2557-2559 ไม่มี เพิ่งปรากฏเป็นครั้งแรกคือกรณีนางนรีรัตน์ ซึ่งเมื่อบริษัทรับทราบสัญญาการโอนหุ้นในวันที่ 30 เม.ย. ก็ถือว่าการโอนหุ้นมีผลตามกฎหมายในวันดังกล่าว
    นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสอบถามถึงการแจ้งการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นไปยังกรมธุรกิจการค้าว่าต้องมีหนังสือนำส่ง นายภัฏฏการก์ ได้เคยเซ็นหรือเห็นหนังสือฉบับนี้หรือไม่ เพราะในการประชุมสามัญปี 2560 ไม่มีวาระเหล่านี้ และมามีในการประชุมวิสามัญครั้งที่ 2 ซึ่งก็ไม่มีวาระในเรื่องแต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีและค่าตอบแทน หลังจากครั้งแรกที่กำหนดวาระเป็นการรับรองการโอนหุ้นแล้ว โดยนายภัฏฏการก์ตอบว่า หนังสือนำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจำไม่ได้ว่ามีหรือไม่ เพราะมอบให้สำนักบัญชีไปดำเนินการ โดยสำนักบัญชีขอไว้ 6 เดือนหลังที่ประชุมรับรองการโอนหุ้น เนื่องจากต้องปิดงบดุลของหลายบริษัท ส่วนเรื่องวาระการประชุมปี 2560 ไม่มีเรื่องผู้ตรวจสอบบัญชี เพราะยังไม่มีการแต่งตั้งและใช้บริษัทเก่าเป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากไม่มีปัญหาอะไร
ขณะที่นายตรีวัฒน์ชี้แจงว่า หุ้นของบริษัทเป็นประเภทระบุชื่อ บริษัทไม่มีข้อบังคับ แต่เมื่อโอนหุ้นต้องเข้าที่ประชุมเพื่อแจ้งผู้ถือหุ้นทราบ โดยจะนำเข้าที่ประชุมหลังแจ้งเปลี่ยนแปลงกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว โดยการเปลี่ยนแปลงจะมีอยู่ในสมุดบัญชีผู้ถือหุ้น ยืนยันการเปลี่ยนแปลงหุ้นในกรณีนี้มีบันทึกอยู่ในสมุดทะเบียน
    นายตรีวัฒน์ยังระบุว่า การประชุมสามัญประจำปี 2560 มีวาระ 2 เรื่องคือ รับรองงบการเงินกับเรื่องอื่น ไม่มี 5 วาระเหมือนปี 2557-2559 รวมทั้งไม่มีวาระแต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ส่วนการแจ้งการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ดำเนินการ จึงไม่ทราบเรื่องหนังสือนำส่งและกระบวนการ เพราะแจ้งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 
    “คณะกรรมการไต่สวนของ กกต.ส่งหนังสือมาสอบถามเรื่องการถือหุ้นของนางนรีรัตน์นั้น เจ้าหน้าที่บริษัทได้ตอบตามเอกสารที่ปรากฏกับกระทรวงพาณิชย์ แต่ไม่ได้ตอบตามการโอนหุ้นจริง เพราะยังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการอยู่ ประกอบกับเจ้าหน้าที่เร่งรัดเรื่องการตอบโดยให้เวลาเพียง 10 วันนับแต่วันที่ 1 ส.ค.2560 ซึ่งบริษัทก็ตอบภายใน 3 วัน” นายตรีวัฒน์กล่าว
    ทั้งนี้ หลังการไต่สวนเสร็จสิ้น นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้แจ้งต่อคู่กรณีว่านัดพิจารณาคดีนี้ในครั้งต่อไปวันที่ 17 ต.ค. เวลา 13.30 น. ขณะที่นายดอนได้เดินทางกลับโดยไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"