ดูตารางนี้แล้วไม่ต้องอธิบายมาก ชัดเจนว่าประเทศไทยมีอัตราผู้เสียชีวิตทางถนนมากที่สุดในโลก!
และดูเหมือนว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักว่านี่เป็น "วิกฤติ" ของสังคมไทยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและเป็นระบบ
เพราะเชื่อกันว่าเรื่องนี้ "ไม่มีใครเดือดร้อน"
ทั้งๆ ที่ความเสียหายที่เกิดจากการตายและบาดเจ็บจำนวนมหาศาลเช่นนี้เป็นการบ่อนทำลายทรัพยากรมนุษย์และงบประมาณอย่างรุนแรง
เพราะไม่มีใครร้องเรียน ไม่มีใครประท้วง ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อประเทศชาติอย่างประเมินค่ามิได้
ผมพบปะกับผู้ที่เป็นห่วงเป็นใยเรื่องนี้หลายท่าน และได้รับคำถามว่าทำไมสังคมไทยจึงยอมให้เรื่องเลวร้ายเช่นนี้เกิดขึ้น
เราสนใจแต่เพียง "7 วันอันตราย" เป็นช่วงๆ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว "ทุกวันอันตราย" เพราะคนตายทุกวัน
อาจารย์พูลพร แสงบางปลา ประธานสาขายานยนต์ของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และคุณหมอแท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ บอกผมว่าต้องช่วยกันรณรงค์ให้เรื่องนี้เป็น "วาระแห่งชาติ" เพื่อสร้างกระแสแห่งความสำนึกของคนทั้งประเทศ
ก่อนที่เราจะกลายเป็นประเทศที่ล้มเหลวเพราะไม่เห็นคุณค่าของมนุษย์ที่ตายต่อหน้าต่อตาจำนวนมากมายโดยไม่มีเหตุผล
เราต้องอายคนทั้งโลกที่ปล่อยให้คนตายกันง่ายๆ เพราะความไร้ประสิทธภาพของคน รัฐ และสังคม
คุณหมอนันทกา เทพาอมรเดช คุณหมอผ่าตัดสมองที่โรงพยาบาลจังหวัดยะลาบอกผมว่า คนไข้ส่วนใหญ่ที่ต้องผ่าตัดสมองคือเหยื่อของอุบัติเหตุจากการขับขี่มอเตอร์ไซค์ ซึ่งมากกว่าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่บาดเจ็บจากการทำหน้าที่ป้องกันและต่อสู้กับผู้ก่อเหตุร้ายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยซ้ำไป
อาจารย์พูลพรได้ทำหนังสือถึงอธิการบดีทุกมหาวิทยาลัย, ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคทั่วประเทศ, อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมัธยมทั่วประเทศ และผู้จัดการโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อ "ขอความร่วมมือรณรงค์อุบัติเหตุการขี่รถจักรยานยนต์"
อาจารย์พูลพรในวัย 82 สอนนักศึกษาด้านวิศวกรรมยานยนต์มา 60 ปี ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่าคนไทยเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์ปีละ 18,000 คน หรือวันละ 50 คน
ที่น่ากังวลมากคือ ส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตเป็นเยาวชนในวัย 15-25 ปี ซึ่งต้องถือว่าเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าต่อสังคมทั้งสิ้น
น่าเศร้าสลดยิ่งนักเมื่อเห็นสถิติทั่วโลก
ประเทศที่มีศึกสงครามยังมีจำนวนคนตายน้อยกว่าคนไทยที่เสียชีวิตบนท้องถนนด้วยซ้ำไป
อาจารย์ได้ประสานให้ 3 สมาคมที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันจัดสัมมนาเพื่อหาแนวทางในการแก้ไข เพราะเล็งเห็นว่าเป็นการเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากคนขับขี่ ถนนที่ไม่เหมาะสม และรถที่ไม่สมบูรณ์
สมาคมที่ร่วมกิจกรรมครั้งนี้มี วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย และสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
อาจารย์บอกว่าในขั้นต้น ระยะสั้นนี้จะพิจารณาเฉพาะผู้ขับขี่ก่อน หลังจากนั้นจะร่วมกันทำแผนระยะกลางและระยะยาวเพื่อเสนอต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องต่อไป
คุณหมอแท้จริงบอกว่าเรื่องนี้จะต้องให้นายกรัฐมนตรีลงมาทำเองจึงจะเกิดผล เพราะที่ผ่านมาแม้จะรณรงค์กันอย่างต่อเนื่อง แต่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่สามารถบูรณาการให้เกิดผลทางปฏิบัติอย่างแท้จริง
เริ่มด้วยการจะต้องทำให้คนทำตามกฎหมาย เช่นการสวมหมวกกันน็อกอย่างจริงจัง
หนทางที่จะทำให้เกิดผลเรื่องนี้ไม่ใช่ตามจับคนขับขี่จักรยานยนต์ที่ไม่สวมหมวก แต่ต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่นั้นๆ รับผิดชอบและต้องลงโทษกันอย่างจริงจัง มิฉะนั้นทุกอย่างก็จะกลับไปเหมือนเดิมหลังจากที่มีกระแสอยู่พักหนึ่ง
แทนที่จะสนใจเรื่องนี้เพียงปีละครั้งสองครั้งภายใต้หัวข้อ "7 วันอันตราย"
จะต้องทำให้คนไทยตระหนักว่า "ทุกวันอันตราย!"
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |