หอระฆังถล่ม ทับร่างคนงาน เจ็บระนาว11


เพิ่มเพื่อน    

    เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรนำคนงานบูรณะหอระฆังวัดพระยาทำฯ ฝั่งธนบุรี ขณะดีดฐานขึ้น ตัวอาคารเกิดพังถล่มทับคนงาน มีผู้บาดเจ็บ 11 คน สาหัส 3 
    ประมาณเที่ยงเศษ วันที่ 25 กันยายนนี้ เกิดเหตุหอระฆังในวัดพระยาทำวรวิหาร ซอยอรุณอมรินทร์ 15 ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ พังถล่มลงมาทับคนงานจำนวนหนึ่งขณะทำงานตามโครงการบูรณะของกรมศิลปากร เบื้องต้นมีช่างก่อสร้างได้รับบาดเจ็บจากการถูกโครงสร้างและวัสดุหล่นทับ 6 คน โดย 5 คนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลศิริราช เหลือ 1 คนถูกโครงสร้างอิฐและปูนทรุดตัวทับต้นขาไว้ เจ้าหน้าที่เร่งเข้าช่วยเหลืออยู่นานกว่า 1 ชั่วโมง จึงสามารถนำตัวออกมาได้ ถูกนำส่ง รพ.ศิริราช  
    หอระฆังแห่งนี้ ชาวบ้านเรียกว่าเจดีย์ยักษ์ เนื่องจากทั้ง 4 ด้านมียักษ์ปูนปั้นยืนเฝ้าอยู่ เหตุเกิดระหว่างคนงานทำการดีดฐานตัวเรือนธาตุขึ้นเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์ ภายใต้การควบคุมดูแลของกรมศิลปากร จากการตรวจสอบพบว่าโครงสร้างของหอระฆัง มีรอยแตกร้าวบริเวณส่วนกลาง ฐานอาคารทรุดเอียง นอกจากนี้พบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด 11 คน บาดเจ็บเล็กน้อย 8 คน สาหัส 3 คน ซึ่งจากรายงานของเจ้าหน้าที่กู้ภัยระบุว่า ในจำนวนนี้มีชาย 61 ปี กระดูกเชิงกรานหัก และชายอายุ 58 ปี กระดูกขาซ้ายหัก มีแผลเปิด กะโหลกศีรษะร้าว
    สำหรับหอระฆังนี้มีบันทึกหลักฐานปรากฏตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แต่ชาวบ้านในพื้นที่คาดว่าอาจถูกสร้างมาก่อนสมัยธนบุรี มีสถาปัตยกรรมก่ออิฐถือปูน ตกแต่งด้วยถ้วยกระเบื้องจีน มีรูปปั้นประติมากรรมเป็นยักษ์ 4 ตน ยืนอยู่ด้านละ 1 ตน เหมือนคอยเฝ้ารักษาหอระฆัง ชาวบ้านจึงนิยมเรียนกันว่าเจดีย์ยักษ์ หรือกุฏิยักษ์ มีขนาดโดยรอบ 10 วา สูง 12 วา 3 ศอก มีคำพูดคล้องจองกันว่า “ยักษ์สี่ตน คนดำดิน ครุฑจับนาคินทร์ คชสารครึ่งตัว” ได้รับการบูรณะในปี 2537 และครั้งนี้มีการเริ่มดำเนินการงานบูรณะหอระฆังวัดพระยาทำฯ เมื่อ 18 พฤษภาคม 2561 กำหนดแล้วเสร็จวันที่ 22 มกราคม 2562
    น.ส.ศศกมล เหล่าลดา แม่ค้าขายกวยจั๊บด้านหน้าหอระฆัง กล่าวว่า หอระฆังดังกล่าวมีการบูรณะมาประมาณ 3 เดือน มีเจ้าหน้าที่มาควบคุมดูแลตลอดทุกวัน โดยเฉพาะวันนี้มีเจ้าหน้าที่ชุดใหญ่จากกรมศิลปากรมาดูแลการบูรณะตั้งแต่เช้า จนก่อนเที่ยงวันนี้ได้ยินเสียงช่างก่อสร้างส่งเสียงนับ 1 2 3 ยก ก่อนที่จะมีปูนแตกหักโดยยอดหอระฆังหักโค่นลงมาก่อน ตามด้วยปีกครุฑ จากนั้นได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือ มีคนได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก 
    ในช่วงบ่าย ตัวแทนจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้เข้าตรวจสอบ รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานฯ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าตัวของเจดีย์ยังไม่ล้มลงมาทั้งหมด วันที่ 26 ก.ย. จะนำเครื่องสแกน 3 มิติ (3D scanner) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บภาพหรือรายละเอียดจากวัตถุมาตรวจสอบ พร้อมขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรีตรวจสอบแนวดิ่งว่าอยู่ในระดับใด เช่น หากสูงเกิน 10 เมตร มีแนวดิ่งล้มลงมาประมาณ 2 เซนติเมตร ถือว่ามีความเสี่ยง หลังจากนั้นจะหาทางป้องกันไม่ให้ล้ม ส่วนสาเหตุที่แท้จริง ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"