ศาลรับตีความต่ออายุปปช.


เพิ่มเพื่อน    

เสื่อม! “โพล” เชื่อ "รัฐบาล-คสช.” ไม่โปร่งใส แทรกแซง ป.ป.ช.ทำหน้าที่ตรวจสอบ "เพื่อแม้ว" ได้ทีขอร่วมวงสับรัฐแก้โกงเหลว อัด ป.ป.ช.เป็นไฮเตอร์ฟอกขาว ทำหน้าที่ทนายแก้ต่าง ด้าน "บิ๊กป้อม" ยิ้มออก แต่ตีมึนปม "บิ๊กกุ้ย" ถอนตัวพิจารณาคดีนาฬิกาหรู ศาล รธน.รับคำร้อง 32 สนช. ตีความปมต่ออายุแล้ว 


    เมื่อวันที่ 26 ม.ค. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารผลการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  กรณีได้พิจารณาคำร้องที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวน 32 คน ขอให้ศาลวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ..... มาตรา 185 ที่บัญญัติว่า ให้ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.และกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่กฎหมายนี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนครบวาระตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 19 เว้นแต่กรณีตามมาตรา 19 (3) ในส่วนที่เกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติ ตามมาตรา 9 และลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 11 (1) และ (18 ) มิให้นำมาใช้บังคับนั้น มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
    ทั้งนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเห็นว่าคำร้องดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 267 วรรคห้า มาตรา 81 มาตรา 145 และมาตรา 263 จึงมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้แจ้งประธาน สนช.ทราบและพิจารณามอบหมายให้ผู้แทนสมาชิก สนช.ที่ลงมติเห็นชอบในวาระ 3 และนายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สมาชิก สนช. ซึ่งเป็นผู้แทนของฝ่ายเสนอความเห็นจัดทำความเห็นเป็นหนังสือ รวมทั้งให้ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและประธาน ป.ป.ช. จัดทำความเห็นเป็นหนังสือส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 5 ก.พ.นี้
    ขณะเดียวกัน ในช่วงเช้า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นกรณี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ถอนตัวจากการพิจารณาเรื่องนาฬิกาหรู โดยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า "โอ๊ย ผมจะไปรู้เรื่องอะไรเขาล่ะ" เมื่อถามต่อว่า ตอนนี้สบายใจขึ้นหรือยัง พล.อ.ประวิตรไม่ตอบ พร้อมเดินออกจากวงสัมภาษณ์ โดย พล.อ.ประวิตรมีสีหน้าสดใสยิ้มแย้มขึ้นเล็กน้อย
    ขณะที่พรรคเพื่อไทย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค, นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค พร้อมคณะแกนนำและฝ่ายกฎหมาย ประกอบด้วย นายจาตุรนต์ ฉายแสง, นายชูศักดิ์ ศิรินิล, นายวัฒนา เมืองสุข และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ร่วมแถลงข่าวความล้มเหลวในการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาล คสช. โดย พล.ต.ท.วิโรจน์กล่าวว่า ขอร้องเรียนท้วงติงการทำงาน ป.ป.ช. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) องค์กรอิสระที่ทำงานในการตรวจสอบ ไม่มีประสิทธิภาพทำให้การคอร์รัปชันเฟื่องฟูมากขึ้น การปฏิบัติขององค์กรอิสระเลือกปฏิบัติ เห็นแก่พวกพ้อง 
    นพ.ชลน่านกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยได้ตรวจสอบ 5โครงการที่ยังคาใจประชาชน ประกอบด้วย 1.โครงการขุดลอกคูคลองทั่วประเทศขององค์การทหารผ่านศึก (อผศ.) ตามที่ อผศ.ไปรับจ้างกว่า 1,300 สัญญา มูลค่ากว่า 4.8 พันล้านบาท โดยเงื่อนไขทางสัญญาระบุต้องไม่มีการจ้างช่วง แต่กลับมีการจ้างช่วง บางโครงการจ้างช่วงถึง 4 ช่วง 2.โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อภายใต้ร่มพระบารมีเพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน งบประมาณกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท กระจายไปยังพื้นที่ชุมชุม กระทรวงเกษตรฯ หวังให้จ้างงาน แต่กลับเกิดความไม่บังควรเกิดขึ้น มีการร้องเรียนหลายเรื่อง อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างเกินจริง 3.การจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดหรือ GT200 มูลค่า 419 ล้านบาท แม้ไม่ได้เกิดในรัฐบาลนี้ แต่เมื่อเรียกร้องการตรวจสอบกลับไม่เกิดขึ้น 4.บุคคลผู้ใกล้ชิดนายกฯ กระทำไม่ชอบ พบการโอนเงินหลวงเข้าบัญชีภรรยาอดีตแม่ทัพภาคที่ 3 ที่เป็นน้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งมีข่าวบุตรชายใช้พื้นที่กองทัพเปิดบริษัทรับงานจากกองทัพโดยตรง 5.การยกป่ารอยต่อชุมชนหวยแม็ก 31 ไร่ ให้บริษัทเอกชนชื่อดังใน จ.อุบลราชธานี โดยรายงานระบุป่าที่เช่ายังสมบูรณ์ ไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรม มีการรุกล้ำที่สาธารณะ ปิดถนน ใช้พื้นที่เกินจริงจากการเช่า 
    นายวัฒนากล่าวว่า การทำหน้าที่ ป.ป.ช. เรื่องนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร ก่อนหน้า นายศรีสุวรรณ จรรยา นายวีระ สมความคิด ร้องให้ตรวจสอบ พล.อ.ประวิตรปกปิดบัญชีทรัพย์สินและร่ำรวยผิดปกติ ป.ป.ช.หากเห็นว่าเข้าข่ายต้องดำเนินการยึดหรืออายัดเพื่อไม่ให้หลักฐานเปลี่ยนแปลง แต่ ป.ป.ช.กลับทอดเวลาให้ผู้ถูกกล่าวหามีเวลา รวมทั้งเลขาฯ ป.ป.ช. ทำหน้าที่เหมือนโฆษกและทนายความ พล.อ.ประวิตร ตามหลักป.ป.ช.ต้องให้จำเลยพิสูจน์ตัวเอง หากพิสูจน์ได้นำทรัพย์สินกลับคืน พิสูจน์ไม่ได้ก็ยึด เหมือนที่เคยทำกับนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ, นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม นอกจากนี้พล.อ.ประยุทธ์ลงนามตั้งตัวเองเป็นประธานต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ยังปกป้องคนทำผิด ปล่อยเวลาให้เวลาผู้ต้องหาแสวงพยานหลักฐานกลบเกลื่อนการกระทำของตัวเอง หากปล่อยให้ ป.ป.ช.ทำหน้าที่ต่อไป ไม่เพียงไม่ตรวจสอบ จึงไม่แปลกใจที่องค์กรแห่งนี้ถูกตั้งให้เป็น องค์กรไฮเตอร์
    นายชูศักดิ์กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของ ป.ป.ช.ที่ผ่านมา ที่เรามักตั้งคำถามคือ เป็นกลางหรือไม่ เป็นเครื่องมือของใครหรือไม่ ได้ทำหน้าที่เที่ยงธรรม ไม่เลือกปฏิบัติหรือไม่ คิดว่า ป.ป.ช.ตอบคำถามไม่ได้ หากติดตามการแต่งตั้ง ป.ป.ช. แท้จริงแล้ว ป.ป.ช.มีฐานที่มาจาก คสช.คงจะไม่ผิดมากนัก ปัญหาที่จะเป็นวิกฤติต่อองค์กรอิสระและระบบกฎหมายคือ สนช.มีมติเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมาให้ ป.ป.ช.อยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ 9 ปี ทั้งที่กรรมการ ป.ป.ช. 7 ใน 9 ขาดคุณสมบัติ มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่องค์กรอื่น เช่น กกต.กรรมการสิทธิมนุษยชน กลับมีการเซตซีโร หลายเรื่องที่เราบอกเป็นเหมือนการโกงกฎหมายเพื่อพวกพ้อง 
    นายจาตุรนต์กล่าวว่า การตรวจสอบทุจริตคนในรัฐบาล คสช.มีปัญหามาอย่างต่อเนื่อง แต่ ป.ป.ช.ไม่ดำเนินการอย่างจริงจัง สร้างความเสียหายต่อราชการ กรณีล่าสุดมีการเรียกร้องให้ตรวจสอบนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร แทนที่ ป.ป.ช.ควรดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สิน แต่เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.กลับทำหน้าที่โฆษกแก้ต่างให้ผู้ต้องหา การตรวจสอบคอร์รัปชันล้มเหลวสิ้นเชิง หากปล่อยให้ทำหน้าที่ต่อ จะเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ป.ป.ช.ขาดความชอบธรรมในการตรวจสอบทุจริต จึงควรเปลี่ยนกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งชุด ควรให้มาจากกระบวนการสรรหา มีคุณสมบัติไม่มีคุณลักษณะต้องห้ามตรงตามเจตนารมณ์ 
    วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้าโพล) เผยแพร่ผลสำรวจในหัวข้อ “ความเชื่อมั่นต่อการทำงานตรวจสอบรัฐบาล/คสช.ของ ป.ป.ช.” โดยสอบถามความคิดเห็นประชาชนกลุ่มตัวอย่าง 1,250 คน ระหว่างวันที่ 24-25 ม.ค. พบว่า 1.เกี่ยวกับ “ความโปร่งใส” ของรัฐบาลโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.32 ระบุว่าไม่โปร่งใส มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น มีเพียงร้อยละ 16.64 เท่านั้นที่ยังเชื่อมั่นว่าโปร่งใสไม่มีสิ่งผิดปกติ
    2.ความกล้าของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการตรวจสอบรัฐบาล คสช. “อย่างตรงไปตรงมา เที่ยงธรรม” มีความใกล้เคียงกันระหว่างกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 49.60 ที่ตอบว่า ป.ป.ช.จะกล้าตรวจสอบ กับกลุ่มตัวอย่างอีกส่วนหนึ่ง ร้อยละ 46.88 ที่ตอบว่าไม่กล้าตรวจสอบ เช่นเดียวกับ 3.ความเป็นกลางของ ป.ป.ช. ในการตรวจสอบรัฐบาล คสช. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.64 ตอบว่าเป็นกลาง รองลงมาร้อยละ 42.96 ตอบว่าไม่เป็นกลาง
    4.ความรวดเร็วของ ป.ป.ช. ในการตรวจสอบรัฐบาล คสช. พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.24 ระบุว่าน่าจะล่าช้า รองลงมาร้อยละ 35.52 ตอบว่าปกติ และร้อยละ 11.36 ตอบว่าน่าจะรวดเร็ว และ 5.การแทรกแซงจากรัฐบาล คสช. ต่อการทำงานของ ป.ป.ช. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.04 เชื่อว่ามีการแทรกแซง ขณะที่ร้อยละ 28.72 เชื่อว่าไม่มีการแทรกแซง.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"