"บิ๊กตู่" แจง "ไทยนิยม" ไม่ใช่ประชานิยม แต่ต่อยอดประชารัฐ 3 ประสาน "ราษฎร-รัฐ-เอกชน" ร่วมกันทำ ดีเดย์ 8 ก.พ. นายกฯ เดินสายขับเคลื่อน "บิ๊กป้อม" ปัดเป็นกองหนุนหาเสียง "กอบศักดิ์" ชี้ช่วยปลดล็อกปัญหาฐานราก เพื่อไทยโวยใช้งบหลวงสร้างคะแนนนิยม ปูทางสืบทอดอำนาจ
เมื่อวันที่ 26 มกราคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า ประเทศไหนจัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนประชาชนเข้าไปทำหน้าที่ออกกฎหมายและบริหารประเทศแล้วเรียกได้ว่าเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแล้วใช่หรือไม่ เรายึดเสียงส่วนใหญ่เป็นสรณะ โดยไม่สนใจเสียงส่วนน้อยเลย จะเรียกว่าประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้หรือไม่ ที่สำคัญอีกประการ คือหน้าที่พลเมืองและการเคารพกฎหมาย ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สะท้อนถึงระดับความเป็นประชาธิปไตยในสังคมนั้นๆ ว่ามีมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเสียงส่วนใหญ่ เสียงส่วนน้อย ต้องเคารพกฎหมาย
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อยากให้พวกเราทุกคนและสังคมโดยรวมได้ใช้สติทบทวนสิ่งที่ตนพูดว่าเรารู้อย่างลึกซึ้งถึงความเป็นไทยหรือไม่ พร้อมที่จะหลอมรวมกับความเป็นสากล โดยที่ไม่หลงประเด็น ประยุกต์ไม่เป็น จนเป็นเหตุให้มีแต่ความขัดแย้ง เพราะต่างก็อ้างว่าตัวเองรู้จริง แล้วไม่ยอมฟังเหตุผลของคนอื่น บางครั้งรับแนวคิด วัฒนธรรมของคนอื่นมายึดถือปฏิบัติ แม้จะทำได้ในหลักการ แต่หากขัดกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทย คงไม่สามารถประสบความสำเร็จเหมือนเขาได้ จึงเป็นที่มาของคำว่าไทยนิยมของตน ที่มอบให้กับสังคมไทยในวันนี้
สำหรับไทยนิยม ไม่ใช่การสร้างกระแสชาตินิยม เหมือนที่บางคนไม่เข้าใจสังคมของตัวเอง ไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลก แล้วพยายามบิดเบือนความคิดของตน โดยไม่ศึกษาให้ดี เพราะชาตินิยมจะใช้ได้ดี สำหรับป้องกันภัยคุกคาม ภัยจากภายนอกประเทศ จากการทำสงคราม หรือจากการเข้ามาครอบงำทางความคิดด้วยหลักคิดลัทธิของชาติอื่น จึงสร้างสำนึกความรักชาติ แต่สำหรับสถานการณ์ของประเทศในวันนี้เป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ต้องการการปฏิรูปที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นไทย โดยไม่ทิ้งหลักสากล
นอกจากนี้ ไทยนิยมไม่ใช่ประชานิยม เพราะประชานิยมเป็นการให้ในลักษณะที่เหมือนกับยัดเยียดทุกคน ได้ไป พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง ด้วยการสร้างแนวคิดบริโภคนิยม ที่ผ่านมาประชาชนชอบ พอใจ กลายเป็นว่าประชาธิปไตยกินได้ เหมือนกับนโยบายของที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริง อาจจะทำเพียงเพื่อต้องการความนิยม หรือต้องการคะแนนเสียงจากการเลือกตั้ง หลายๆ อย่างทำไม่ได้ เลยทำให้ปัญหาต่างๆ พอกพูนมาถึงรัฐบาล มาถึงการใช้จ่ายของภาครัฐงบประมาณต่างๆ
ต่อยอดประชารัฐ
"เพราะฉะนั้นคำว่าประชานิยมนั้นแตกต่างจาก ไทยนิยมนะครับ เพราะว่าไทยนิยมเป็นการต่อยอด ขยายผลจากประชารัฐ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการระเบิดจากข้างใน การมีส่วนร่วม การรับผิดชอบร่วม แล้วรัฐบาลจึงจะแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชน ภาควิชาการ ทำให้เกิดเป็น 3 ประสาน ก็คือ ราษฎร, รัฐ และเอกชน ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ใคร เพราะทุกคนนั้นอยู่ในห่วงโซ่เศรษฐกิจทั้งสิ้น เพราะอยู่ในประเทศของเราเองนะครับ อาจจะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาและสร้างการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน สนองความต้องการของคนในพื้นที่ แก้โจทย์ปัญหาที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน ด้วยกลไกประชารัฐของแต่ละท้องถิ่น และเมื่อมองในภาพรวมทั้งประเทศแล้ว ไทยนิยมจึงเป็นแนวคิดในการบริหารประเทศ ที่อยู่บนพื้นฐานของความต้องการตามความนิยมของคนไทยทั้งประเทศ" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
อย่างไรก็ตาม ต้องนิยมในสิ่งที่ถูกต้อง ในสิ่งดีๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการมีคุณธรรมจริยธรรมด้วย เพราะฉะนั้นต้องสร้างสรรค์ไทยนิยมในสิ่งดีๆ ให้มากยิ่งขึ้น ถูกต้อง มีคุณธรรม จริยธรรม รักความสงบ เหมือนในเพลงชาติไทย ระยะต่อจากนี้ไป มีความสำคัญมาก เราต้องการอนาคตอย่างไร ต้องทำปัจจุบันให้ดีที่สุด เพื่ออนาคตที่ดี ประวัติศาสตร์ที่ดีในวันข้างหน้า
นายฯ กล่าวว่า จะเห็นว่าประชารัฐและไทยนิยม จะมีความเชื่อมโยงกันอยู่เป็นเนื้อเดียวกัน ไทยนิยมจะเป็นกรอบใหญ่ของทั้งประเทศ คล้ายๆ กับยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะเป็นกรอบใหญ่ให้กับยุทธศาสตร์จังหวัด กลุ่มจังหวัด ภาค ในการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกประชารัฐ ทั้งนี้ หากเราสามารถสร้างความเข้มแข็ง เน้นการพึ่งพาตนเองได้ตั้งแต่ระดับฐานรากแล้ว จะนำมาสู่ความสำเร็จในภาพรวมของประเทศได้ในที่สุด จึงอยากให้คนไทยเข้าใจคำว่า ไทยนิยม, ประชารัฐ และยั่งยืน 3 คำมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันทั้งหมด
ส่วนความคืบหน้าของการปฏิรูปประเทศนั้น คณะกรรมการปฏิรูปได้จัดทำร่างแผนปฏิรูปประเทศเสร็จเรียบร้อยในขั้นต้นแล้วทั้ง 11 ด้าน อันได้แก่ การเมือง, การบริหารราชการแผ่นดิน, กฎหมาย, กระบวนการยุติธรรม, เศรษฐกิจ, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สาธารณสุข, สังคม, พลังงาน, สื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ และป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สำหรับขั้นตอนต่อไป จะมีการเสนอร่างแผนปฏิรูปให้กับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณา รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และขั้นตอนอื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบเป็นระยะๆ
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ว่าดีแล้ว แต่ไม่ได้เป็นการหาเสียงให้นายกฯ ไม่ได้ไปหาเสียงกับใคร เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ลงไปรับเลือกตั้ง รวมทั้งไม่ได้เป็นการสร้างกองหนุนใหม่ให้กับนายกฯ คิดกันไปเอง อย่างไรก็ตาม การดึงทุกฝ่ายมาร่วมเป็นกรรมการในครั้งนี้ถือว่าดีที่ทุกฝ่ายได้มาร่วมมือกัน
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการไทยนิยม ยั่งยืน เป็นโครงการที่นายกรัฐมนตรีมีความตั้งใจว่าในปี 2561 เป็นปีที่รัฐบาลลงไปสู่ฐานราก เพื่อช่วยประชาชนทั่วประเทศ โดยโครงการสวัสดิการแห่งรัฐนั้นจะเป็นตัวชี้ว่าประชาชนคนไหนคือคนที่มีรายได้น้อยตามที่มีรายชื่อระบุมาแล้ว 11.4 ล้านคน ที่กระจายตัวอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย รวมทั้งรัฐบาลมีรายชื่อแล้วว่าในพื้นที่ของจังหวัดใดที่มีปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งนายกฯ ได้พยายามเวียนไปตามจังหวัดเหล่านั้น และในต้นเดือน ก.พ.นี้จะไปจังหวัดตราด โดยพื้นที่ที่มีปัญหา ภาครัฐจะต้องเข้าไปปลดล็อกและสร้างศักยภาพ
"นายกฯ จึงมีความคิดว่าจะต้องทำให้ทั่วทุกจังหวัดโดยอาศัยคณะกรรมการระดับประเทศ จังหวัด ตำบล เข้าไปขับเคลื่อนกับประชาชน โดยให้แต่ละจังหวัดต้องหามาว่าปัญหาและอุปสรรคสำคัญของตัวเองคืออะไร จะต้องปลดล็อกอะไรบ้าง และหาศักยภาพคืออะไร เพื่อให้รัฐบาลส่งทีมงานลงไป ให้ถึงระดับตำบลและหมู่บ้านเพื่อช่วยยกระดับขึ้นเพื่อให้เกิดรายได้ เพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเริ่มในเดือน ก.พ.นี้" นายกอบศักดิ์ระบุ
8 ก.พ.เดินสายไทยนิยม
ที่กระทรวงมหาดไทย มีการประชุมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2561 ในส่วนของการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลกว่าแสนล้านบาท และแนวทางปฏิบัติของกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการบริหารเชิงพื้นที่ ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธาน ทั้งนี้ พล.อ.อนุพงษ์ แจ้งให้ที่ประชุมทราบแนวทางการขับเคลื่อนประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอกำกับดูแลทีมระดับตำบล เพื่อนำสัญญาประชาคมไปชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ
สำหรับกลไกในการขับเคลื่อนนั้น ในวันที่ 7-13 ก.พ. คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน จะมีการประชุมมอบนโยบายและกรอบแนวทางการปฏิบัติร่วมกันในพื้นที่ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้ที่เกี่ยวข้อง และในวันที่ 14-23 ก.พ. คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล จะประชุมถ่ายทอดการปฏิบัติงานร่วมกัน โดยภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืนนี้ ทีมงานฝ่ายเลขานุการวางกรอบให้ พล.อ.ประยุทธ์เดินทางไปขับเคลื่อนโครงการในพื้นที่ทั่วประเทศทุกสัปดาห์ ครบทั้ง 18 กลุ่มจังหวัด เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ.นี้ มีเป้าหมายหลักคือพบกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนไว้
นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค กล่าวว่า การทำประชาธิปไตยไทยนิยม การจัดตั้งโครงการต่างๆ ขึ้นมา ที่จะส่งคนไปอยู่ที่ต่างๆ ก่อนหน้ามีการตั้งคณะกรรมการมาตลอด แสดงให้เห็นว่าผู้นำเอาแต่เดินสาย ตั้งคนมาทำหน้าที่ ทำให้คนรู้สึกว่าเอาเปรียบ หาเสียงใช้งบประมาณหลวง หากเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยเขาห้ามทำ เราจะตรวจสอบ หน้าที่เราคือ ชี้ให้ประชาชนเห็น ประชาชนก็เห็นแล้ว รัฐปัจจุบันฉ้อฉล ใช้อำนาจ ใช้งบประมาณหวังจะสืบทอดอำนาจกลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้ง ประชาชนคงจะตัดสินใจในวันเลือกตั้ง เป็นคำตอบที่ดีที่สุดจากประชาชน
นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ข้อกังวลว่าเป็นการหาเสียงหรือไม่นั้น โดยรวมแล้ว คสช.ต้องการอยู่ในอำนาจนานๆ จะกลับมามีอำนาจได้อย่างไร ต้องการทำลายพรรคการเมืองเก่า โจทย์ยากคือ หาพรรคใหม่หรือเก่าจะมาสนับสนุนให้เกิน 250 เสียงได้อย่างไร ถ้ายังไม่มี จะให้มีการเลือกตั้งไม่ได้ ดังนั้นนายกฯ ต้องลงต่างจังหวัด ตั้งคณะกรรมการต่างๆ เพื่อสร้างความนิยมให้นายกฯ คนนอก
"ช่วงหลังเห็นถึงความพยายามตั้งพรรค การดูด ส.ส. อาจเข้ามามีอำนาจได้ แต่ตั้งนายกฯ ไม่ได้ ถ้าไม่มีส.ส. 250 เสียง ในปี 2562 อาจมีเลือกตั้งก็ได้ ถ้าเขามี 250 เสียงในกระเป๋า มีพรรคพร้อมสนับสนุน โจทย์เขาคือต้องมีการเลือกตั้งให้ คสช.เป็นรัฐบาลต่อ ภายใต้คนตรวจสอบต้องเป็นคนของเขาด้วย รวมทั้งเป็นการหาเสียงเพื่อรองรับนายกฯ คนนอก ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องไปจ๊ะจ๋า เวลาลงพื้นที่ก็ต้องมีงบประมาณลงไปด้วย พล.อ.ประยุทธ์หากไปอยู่ในบัญชีพรรคใดพรรคหนึ่ง เสี่ยงเกินไป อับอายที่พรรคนั้นจะแพ้ยับเยิน" นายจาตุรนต์ระบุ
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.การคลัง เขียนบทความ “Thailand RESET หรือ 'ไทยนิยม'?” โพสต์ลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า แม้รัฐบาลโดย คสช. จะมีแนวคิด “ไทยนิยม” โดยมีการออกประกาศตั้งคณะกรรมการเข้าไปแก้ปัญหาในระดับชุมชน แต่ยังมีปัญหาในเชิงรูปแบบ เพราะการขับเคลื่อนที่จะสะท้อนปัญหาเฉพาะของแต่ละชุมชนได้อย่างจริงจังนั้น จะต้องเป็นการคิดอ่านและวางโครงการจากระดับล่างขึ้นไปสู่ระดับบน (Top Down) แต่ประกาศของภาครัฐกลับมิได้กำหนดให้อำนาจหรือสิทธิขาดแก่คณะกรรมการระดับตำบลหรือหมู่บ้านอย่างจริงจัง จึงหนีไม่พ้นการขับเคลื่อนจากระดับบนลงไประดับล่าง เป็นไปตามวิธีการทำงานปกติของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งนิยมธรรมเนียมการรวบอำนาจมานานแล้ว
"เมื่อใดที่การเมืองปกติกลับเข้าไปครอบงำกระทรวงมหาดไทย โครงการต่างๆ จะ Top Down ไปด้วย และจะกลายเป็นแหล่งผลประโยชน์ส่วนตนมหาศาลอีกแหล่งหนึ่ง อันจะเป็นมรดกตกทอดจากรัฐบาล คสช.ไปยังรัฐบาลในอนาคต” อดีต รมว.การคลังระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |