25 ก.ย.61- "ร่างข้อบังคับพรรคเพื่อไทย ที่อยู่ระหว่างการเชิญชวนให้สมาชิกพรรคแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม คำประกาศอุดมการณ์ เจตนารมณ์ทางการเมือง และนโยบายของพรรค ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ของพรรค พบว่า ในหมวดที่ 2 เกี่ยวกับนโยบายพรรคนั้น มีหลายประเด็นน่าสนใจ
อาทิ คำปรารภที่ระบุว่า ที่ผ่านมาประเทศได้เผชิญกับความท้าทายภายในประเทศในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม การพัฒนาประชาธิปไตยไม่ต่อเนื่อง มีการรัฐประหารหลายครั้ง การเมืองขาดเสถียรภาพ มีปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ การบริหารงานขาดประสิทธิภาพ ระบบราชการมีขนาดใหญ่และขาดความคล่องตัว สัดส่วนงบประมาณส่วนใหญ่ยังเป็นงบประจำจนทำให้เหลืองบเพื่อการพัฒนาน้อย การจัดสรรงบประมาณไม่สอดคล้องกับความจำเป็นของประเทศ
การบริหารงานภาครัฐยังเป็นแบบรวมศูนย์และขาดการกระจายอำนาจ มีกฎหมายล้าหลังจำนวนมากการบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เศรษฐกิจยังไม่เติบโตเต็มศักยภาพ มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม การกระจายรายได้ยังไม่ทั่วถึงและเป็นธรรม รายได้ต่อหัวประชากรยังต่ำ ประเทศยังมีปัญหาเรื่อง ความยากจน ประชาชนจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงโอกาสทางสังคม ความรู้ ทุนและที่ดินทำกิน
ความเจริญยังกระจุกตัวในเมืองใหญ่ ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศยังอยู่ในอันดับที่ไม่น่าพอใจ โครงสร้างพื้นฐานยังไม่สมบูรณ์ ต้นทุนในการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ยังสูงกว่าหลายประเทศ พลังงานส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้า มีต้นทุนที่สูง และยังขาดประสิทธิผลในการใช้ คุณภาพและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังเป็นปัญหา
นอกจากนั้นสังคมไทยยังมีปัญหาเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายจนลดน้อยลง โดยเฉพาะทรัพยากรป่าไม้ มีปัญหาในการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ น้ำ ท่วมน้ำแล้งยังคงเป็นปัญหาซ้ำซาก ยาเสพติดยังเป็นภัยคุกคามสังคม
ในบริบททางเศรษฐกิจนั้น พลวัตของโลกส่งผลให้ประเทศไทยจำต้องปรับตัวเพื่อการดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีบทบาทที่สร้างสรรค์บนเวทีโลก ประเทศไทยมีระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก ดังนั้น การทำให้ประเทศมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก จำเป็นต้องมีการพัฒนาและยกระดับระบบเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีความเข้มแข็ง และมั่นคงและสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งต้องยกระดับความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาด้านนวัตกรรมและการมียุทธศาสตร์ การพัฒนาที่มีวิสัยทัศน์ของภาครัฐ โดยเฉพาะบทบาทภาครัฐที่มีลักษณะเป็นผู้สนับสนุนและผู้สร้างสภาวะที่เอื้อให้ภาคเอกชนเป็นหลักในการพัฒนา
พรรคเพื่อไทยเห็นว่า ในการสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง มั่นคง และกระจายความมั่งคั่งให้ทั่วถึงและเป็นธรรมนั้น เศรษฐกิจฐานรากเป็นหัวใจสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ พรรคเพื่อไทยมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายทรัพยากรและอำนาจอย่างเหมาะสม โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเองและท้องถิ่นของตนมากขึ้น ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม โดยป้องกันการผูกขาดของผู้ประกอบการรายใหญ่
สำหรับนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย อาทิ ดำเนินการพัฒนาและปฏิรูปประเทศในทุกด้าน โดยให้ประชาชนมีบทบาทสำคัญ เป้าหมายเพื่อเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยั่งยืน เป็นประเทศประชาธิปไตย ตามมาตรฐานสากล มีกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม เป็นไปตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม คุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ
สร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงให้เกิดขึ้นทั้งระบบการเมืองการปกครอง กฎกติกา ส่งเสริมให้สังคมยึดมั่นในหลักนิติรัฐ นิติธรรม เสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจในคุณค่าและวัฒนธรรมประชาธิปไตยอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ มีอิสรเสรีในการคิดสร้างสรรค์ และใช้สิทธิของตน สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งแตกต่างได้ด้วยวิถีทาง สันติวิธี
สนับสนุนระบบเศรษฐกิจเสรี ส่งเสริมให้มีการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม มุ่งขจัดการผูกขาด รัฐมีบทบาทสนับสนุนและสร้างสภาวะที่เอื้อให้ภาคเอกชนเป็นหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจ ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และมีการกระจายอย่างทั่วถึงเท่าเทียม ส่งเสริมให้ประชาชนได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ
นโยบายด้านการเมืองนั้น พรรคเพื่อไทยระบุว่า ยึดมั่นในหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ปวงชนชาวไทยซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยมีส่วนร่วมในทางการเมือง รวมทั้งร่วมกำหนดแนวทางและการบริหารงานภาครัฐ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการพัฒนาประเทศ อย่างแท้จริง ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
ส่งเสริมสนับสนุนให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตย สร้างจิตสำนึกของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของคนในสังคม ให้เกิดการยอมรับในกระบวนการเลือกตั้งและผลการเลือกตั้ง และระงับความขัดแย้งทางการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตย สันติวิธี และภายใต้รัฐธรรมนูญ
สร้างกลไกทางกฎหมายและการบริหาร มิให้ฝ่ายทหารเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองในทุกรูปแบบ โดยให้ถือว่าทหารและข้าราชการ คือองคาพยพหนึ่งที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาล คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน ส่งเสริมให้ประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้ง สิทธิและหน้าที่ของตนเองตามรัฐธรรมนูญ ยึดมั่นในคุณค่าและวัฒนธรรมประชาธิปไตย
ให้มีการปฏิรูประบบการเมืองการปกครอง ทั้งการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย มีความรับผิดชอบทางการเมือง การดำเนินการทางการเมือง มีธรรมาภิบาลและประสิทธิภาพ
ส่วนนโยบายการป้องกันประเทศและความมั่นคงของชาติ ปฏิรูปกองทัพให้เป็นกองทัพที่อยู่ภายใต้รัฐบาลตามหลักการสากล มีประสิทธิภาพ มีการใช้เทคโนโลยีทางทหารที่ทันสมัย มีการปฏิบัติงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้
จัดให้กองทัพมีโครงสร้าง อัตรา และกำลังพลที่เหมาะสมกับการป้องกันประเทศ พัฒนาระบบการบรรจุผู้เข้ารับราชการทหารเพื่อให้มีประสิทธิผลในการได้มาซึ่งบุคลากร ที่สมัครใจและตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ ปลูกฝังและพัฒนาให้บุคลากรในกองทัพมีความเป็นทหารอาชีพและมีจิตสำนึกประชาธิปไตย ส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้สามารถบูรณาการขีดความสามารถของภาครัฐและเอกชน เพื่อนำไปสู่การพึ่งพาตนในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |