จะเกิดอะไรอีกไม่รู้! ‘บิ๊กตู่’แจงพร้อมกั๊กเลือกตั้งสนช.ถูลู่ถูกังหั่นส.ว.10กลุ่ม


เพิ่มเพื่อน    

 “บิ๊กตู่” ปัดไม่ก้าวล่วงมติ สนช.ขยาย 90 วันบังคับใช้ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ทิ้งปริศนาเลื่อนหรือไม่เลื่อนเลือกตั้งยังไม่ได้ข้อยุติ จะเกิดอะไรขึ้นอีกก็ไม่รู้ โบ้ยเป็นเรื่องกลไกกฎหมาย "ป้อม" ลั่นดีแล้ว เลื่อนแค่ 3 เดือนเอง "เพื่อไทย" ซัดเป็นไปตามเจตนา คสช. จ่อหาช่องยื่นศาล รธน.สกัด "ปชป." ชี้กระทบความเชื่อมั่น "บรรเจิด" หวั่นวิกฤติศรัทธาซ้ำรอยยุคทักษิณ สนช.ไฟเขียวหั่นกลุ่มอาชีพผู้สมัคร ส.ว.เหลือ 10 กลุ่ม มาได้ 2 ทาง สมัครเอง-องค์กรส่งเข้าประกวด และให้เลือกกันเองไม่เลือกไขว้  

    ภายหลังที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ..... โดยให้บังคับใช้ภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน เมื่อวันศุกร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ระหว่างไปร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ที่กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ว่าตนรับทราบจากข่าว เป็นเรื่องของมติ สนช. ซึ่งเคยยืนยันไปแล้วว่าการทำงานของรัฐบาลนั้นมีโรดแมป โดยโรดแมปนั้นเป็นไปตามที่ได้ประกาศไว้ การแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องของ สนช. ตนไม่สามารถก้าวล่วงได้ จำไว้ว่าเรื่องของกฎหมายเป็นส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณา หากเราไปยุ่งเกี่ยวมากๆ ก็จะทำให้ทุกอย่างล้มตามกันไปหมด จึงขอให้ฟังเหตุผลของ สนช.ว่าคืออะไร
    “ผมเองพร้อมที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และหลักการทุกประการตามขั้นตอนกฎหมาย หลายคนอาจมองว่าผมส่งสัญญาณอะไรหรือเปล่า ผมไม่อาจจะส่งสัญญาณได้หรอก และผมจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในช่วงเวลาที่ยังมีหน้าที่อยู่ การที่จะเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตาม ถือว่าเป็นขั้นตอนกฎหมาย ผมขอความเข้าใจจากประชาชน จากนักการเมืองและพรรคการเมืองด้วย ท่านก็ควรทำในส่วนของท่านให้ดีที่สุด เพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ว่าจะไม่ทำให้เกิดความเสียหายอีกในอนาคต ผมว่าคงไม่เกิดปัญหาอะไรอีกทั้งสิ้น” 
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทุกคนอยากจะเลือกตั้ง แต่เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งแล้วตนก็จะไม่ไปขัดแย้งกับใครทั้งสิ้น แต่อยากให้คิดว่าเมื่อถึงเวลาเลือกตั้งแล้วสถานการณ์จะสงบหรือไม่ เหตุการณ์เดิมๆ จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ใครจะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินในวันข้างหน้าก็ยังไม่ทราบ แต่สิ่งที่รัฐบาลคิดตอนนี้คือ ทำให้บ้านเมืองมีเสถียรภาพ ทั้งที่ผ่านมาวันนี้และอนาคต จึงอยากฝากประชาชนทั้งประเทศให้ช่วยกันคิด เพราะเราไม่ควรมองเพียงด้านเดียว แต่ต้องมองในทุกปัญหาพร้อมเตรียมทุกมาตรการรองรับ คนที่อยู่ในห่วงโซ่ประชาธิปไตยคือคนไทยทั้งประเทศ ดังนั้น ทุกคนควรประพฤติปฏิบัติดี มองแต่ละฝ่ายด้วยสายตาอันเป็นธรรม
    เมื่อถามว่า หากการเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปเป็นเดือน ก.พ.2562 ได้วางแผนที่จะบริหารประเทศอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถ้าต้องเป็นเช่นนั้นจริง ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ซึ่งตนก็ทำงานไปตามโรดแมปและขั้นตอนต่างๆ ที่วางไว้ 
    “การเลือกตั้งจะเลื่อนหรือไม่เลื่อน วันนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ จะเกิดอะไรขึ้นอีกผมยังไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องของกลไกกฎหมาย แต่ถือว่าผมรับทราบก็แล้วกัน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
     ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ประชุม สนช.เห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ส่งผลให้อาจมีการเลือกตั้งในเดือน ก.พ.62 ว่า ดีแล้ว เพราะคนเขาก็ถามว่าเลือกตั้งเมื่อไร ซึ่งเลือกตั้งแน่นอน ไม่มีปัญหาอะไร 
     ผู้สื่อข่าวถามว่า เตรียมคำชี้แจงกับนานาชาติเอาไว้แล้วหรือยัง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า โอ๊ย ไม่ต้องชี้แจงหรอกนะ คสช.เขาพิจารณาเห็นชัดเจนอยู่แล้ว และก็ไม่กระทบความเชื่อมั่น ต่างชาติต้องการให้เลือกตั้ง ก็ต้องเลือกตั้งแน่นอนอยู่แล้ว ไม่เห็นมีอะไรเลย เพียงแค่เลื่อนออกไปแค่ 3 เดือนเอง
    เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า สนช.สร้างสถานการณ์ขึ้นมาให้เป็นแบบนี้ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เขาอภิปรายเรื่องนี้กันทั้งวันทั้งคืน จะไปสร้างสถานการณ์อะไร คนระดับนี้แล้ว ไปคิดได้อย่างไรว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ เดือน ก.พ.62 จะมีการเลือกตั้งแน่ เพราะมันชัดเจนอยู่แล้ว เป็นไปตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว มันไม่มีทางเลื่อนไปได้หรอก และไม่น่าจะมีปัจจัยอะไรให้เลื่อนอีก ถ้าพวกเราอยู่กันสงบเรียบร้อยแบบนี้ ก็ไม่มีอะไร ส่วนเรื่องการปลดล็อกพรรคการเมืองนั้น เมื่อดำเนินการขั้นตอนต่างๆ เรียบร้อยแล้วหลังจากนั้นจะมีการปลดล็อกให้
เป็นไปตามใบสั่ง
    ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า เป็นไปตามคาด ที่พรรคเพื่อไทยมองไว้แล้วว่าเป็นไปตามเจตนาของ คสช. เนื่องจากคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไม่ได้เขียนไว้ จึงมาใช้ช่องตามรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้สามารถตั้งกรรมาธิการเสนอให้สนช.พิจารณาลงมติเห็นชอบได้ สนช.ก็เป็นคนของ คสช. แต่ยังดีที่ไม่เอาความคิดของสมาชิกบางคนที่เสนอให้ขยายเวลาไป 3 ปี 5 ปีมาใช้ ซึ่งสะท้อนความนึกคิดของคนเหล่านี้ว่าไม่แคร์กฎหมาย และสนใจความคิดของผู้คนในสังคม
    "แม้จะขยายเวลาเลือกตั้งออกไปอีก 90 วัน ก็ไม่มีประโยชน์ต่อพรรคการเมืองเก่า เพราะหมายถึงจะขยายเวลาปลดล็อกออกไปอีก 90 วัน เพื่อไม่ให้มีเวลาเตรียมตัว แต่ตรงกันข้าม เป็นการเปิดทางให้พรรคการเมืองใหม่มีเวลาเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่การเลือกตั้งที่ คสช.เตรียมไว้ การเดินเกมทั้งหมดของ คสช.เพื่อถ่วงเวลาขยายอำนาจให้ คสช. และเปิดทางให้นายกรัฐมนตรีคนนอก และไม่เชื่อว่าในปี 2562 จะมีการเลือกตั้ง และหากมีการบังคับใช้กฎหมายนี้จริง ทางพรรคจะหาช่องทางร้องต่อศาลและสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อขัดขวางกฎหมายดังกล่าว" นายชูศักดิ์ กล่าว และว่า เรื่องนี้ยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของผู้นำประเทศที่ไม่มีสัจจะ เพราะได้ประกาศช่วงเวลาของการเลือกตั้งไว้กับเวทีโลกแล้ว 
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าจะออกมาในรูปนี้ แต่ คสช.และรัฐบาลจะต้องตระหนักว่าควรทำให้เกิดความเชื่อมั่น หากจำเป็นต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ก็ควรประกาศให้ชัดตรงไปตรงมา เพราะเหตุผลที่ต้องขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวออกไป ไม่สะท้อนความจริงที่เป็นผลมาจากการไม่ปลดล็อกทางการเมืองของ คสช. ความไม่แน่นอนดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตัวรัฐบาลและประเทศ จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ ในส่วนของพรรค เมื่อกติกาออกมาอย่างไรก็ต้องปฏิบัติตาม รวมทั้งกรณีการทำไพรมารีโหวต ที่ถูกวิจารณ์จาก สนช.ว่าพรรคการเมืองไม่อยากทำ แต่เห็นว่าหากทำตามคำสั่งคสช.ที่ออกมา จะกลายเป็นเพียงแค่พิธีกรรม ไม่ได้ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และปมทั้งหมดอยู่ที่ คสช.ยังไม่ยอมให้การปฏิบัติตามกฎหมายเดินไปตามปกติ 
     นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ยังถือว่ากระบวนการยังไม่สิ้นสุด เพราะต้องขึ้นอยู่กับสามฝ่ายที่เกี่ยวข้องคือ  กรรมาธิการ กกต. รัฐบาล จะต้องหารือกันอีกครั้ง เชื่อว่าทุกคนต่างมีเหตุมีผลด้วยกันทั้งสิ้น ก็ยังหวังว่ายังไม่ใช่ก๊อกสุดท้าย 3 ฝ่ายนี้ ที่จะต้องมาพิจารณาว่าเห็นด้วยตามมติที่ประชุม สนช.หรือไม่ วันนี้สังคมไทยและสังคมโลกกำลังจดจ่ออยู่กับเรื่องการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นตามโรดแมปภายในเดือน พ.ย.61 นี้ ท่าทีของสหรัฐอเมริกาที่มีออกมาก็น่าเป็นห่วง สหรัฐและอียูออกมาให้สติ ก็น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจได้ แต่เมื่อลงมติไปแล้ว หากเกิดผลกระทบต่อประเทศทุกคนก็ต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วยในฐานะนักการเมืองที่มีใจเป็นนักกีฬา เมื่อเขาออกกติกามาอย่างไรเราพร้อมก็ลงเล่น ถ้าไม่พร้อมก็ไม่ต้องลงไปเล่น 
    นายบรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นมุมที่น่าคิดว่าจะเป็นชนวนที่ทำให้เกิดวิกฤติศรัทธากับผู้นำประเทศหรือไม่ จากการที่นายกรัฐมนตรีเคยประกาศให้เลือกตั้งในเดือน พ.ย. 2561 และเมื่อพิจารณาควบคู่การดำเนินการปฏิรูป ที่ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม ทำให้เป็นส่วนผสมที่ทำให้เกิดวิกฤติของผู้นำประเทศได้ในที่สุด ในสมัยของนายทักษิณ ชินวัตร กรณีการซุกหุ้น ครั้งนั้นแม้ไม่เกิดจากผู้นำโดยตรง แต่เกิดจากตัวองค์กร เมื่อนำมาพิจารณาจุดเริ่มต้นของวิกฤติศรัทธาเกิดจากองค์กรที่ทำงานให้รัฐบาลเช่นกัน
ปลุกม็อบขวาง
    นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ฟังเหตุผลของ สนช.ในการอภิปรายว่าที่ควรมีมหรสพเพราะต้องการเปิดมิติใหม่ของการเลือกตั้ง พรรคใหญ่และพรรคที่มีคอนเนกชั่นย่อมได้เปรียบพรรคเล็ก พรรคใหญ่ย่อมส่งผู้สมัครได้มากกว่า ทั้ง ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะจ้างวงดนตรีหมอลำ หมอลำซิ่ง หนังตะลุง ไปจนถึงวงร็อกสตาร์ชั้นนำของไทยก็ไม่ยาก ในส่วน กกต.มีขีดความสามารถในกำหนดกติกาให้เกิดความเป็นธรรมได้หรือไม่ พูดแล้วดูง่าย และเชื่อในความสามารถของ กกต. แต่แค่การจัดรายการมหรสพก็ยุ่งแล้ว มากมายจนบรรยายไม่ไหว กกต.ใหม่งานงอกแน่นอน การเลือกตั้งกำลังย้อนยุคสู่ยุคฉายหนังกลางแปลงในอดีต เลือกตั้งครื้นเครง ประชาชนชื่นใจ พรรคใหญ่อมยิ้ม
    ขณะที่กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) นำโดย นายรังสิมันต์ โรม แกนนำ โพสต์เฟซบุ๊กผ่านเพจกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group - DRG นัดรวมพลประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช. ระบุว่า เมื่อ สนช.มีมติเห็นชอบวาระสอง ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. โดยให้เลื่อนการใช้บังคับออกไปเป็น 90 วัน จะส่งผลให้การเลือกตั้งอาจต้องถูกเลื่อนไปเป็นในเดือน ก.พ.2562 นี่คือมุกของ คสช. ในการเพิ่มเวลาหาเสียงของตัวเอง เพื่อจะได้สืบทอดอำนาจต่อ หากครั้งนี้เรายอมให้มันเกิดขึ้นโดยไม่ทำอะไรเลย ในอนาคต คสช.ก็จะหาทางเลื่อนเลือกตั้งอีกเรื่อยไป จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกท่านที่เบื่อหน่ายกับการเลื่อนเลือกตั้งไม่รู้จบ มาร่วมแสดงพลังส่งเสียงของพวกเราให้ คสช. ได้ตระหนักว่าเราจะไม่ทนกับการใช้อำนาจแบบเอาแต่ได้ของพวกเขาอีกต่อไปในวันเสาร์ที่ 27 ม.ค.2561 เวลา 17.30 น. ณ Skywalk สี่แยกปทุมวัน 
    ช่วงเช้าวันเดียวกัน ที่รัฐสภา ในการประชุม สนช. ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธาน เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในวาระ 2 และวาระ 3 ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว
     ก่อนการพิจารณาเป็นรายมาตรา นายสมชาย แสวงการ สนช. เสนอต่อที่ประชุมว่า สืบเนื่องจาก สนช.เห็นชอบให้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น เห็นว่าร่าง พ.ร.ป.ส.ว.ควรต้องปรับแก้ให้สอดคล้องกัน
    ทำให้นายพรเพชรขอให้ทาง กมธ.รับไปตรวจสอบและแก้ไขให้สอดคล้องกัน และเสนอต่อที่ประชุม ซึ่งนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธาน กมธ. กล่าวว่า ทาง กมธ.จะรับไปพิจารณาว่าควรแก้ไขร่างกฎหมาย ส.ว.ให้สอดคล้องกับกฎหมาย ส.ส.หรือไม่
หั่นผู้สมัคร สว.เหลือ 10
     จากนั้นที่ประชุมเริ่มพิจารณาเรียงรายมาตรา โดยในมาตรา 11 ว่าด้วยการแบ่งกลุ่ม ส.ว. ซึ่ง กมธ.เสียงส่วนใหญ่มีมติแก้ไขให้เหลือ 15 กลุ่ม และมี กมธ.เสียงข้างน้อย สมาชิก สนช. ขอสงวนความเห็นและแปรญัตติ 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.ตัวแทน กรธ. ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อยให้คงตามร่างเดิม คือ 20 กลุ่มอาชีพ 2.นายสมชาย แสวงการ และ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ให้แบ่งกลุ่มเพียง 10 กลุ่ม 3.นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ ให้กลุ่มสตรีแยกออกจากกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มชาติพันธุ์ 4.นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ แบ่งให้เหลือ 5 กลุ่ม และ 5.นางนิพัทธา อมรรัตนเมธา เสนอให้แบ่งแยกกลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนผู้เคยเป็นข้าราชการทหาร และส่วนพนักงานรัฐวิสาหกิจ
     ภายหลังที่สมาชิกได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง  นายสมคิดชี้แจงว่า หลังจากฟังสมาชิกอภิปรายและได้หารือนอกรอบ กมธ.เห็นควรให้แบ่งเป็น 10 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 การบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ได้แก่ ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน, กลุ่มที่ 2 กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน, กลุ่มที่ 3 การศึกษา ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานการศึกษา บุคลากรทางการศึกษา และการสาธารณสุข ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นแพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน, กลุ่มที่ 4 อาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก ทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน, กลุ่มที่ 5 พนักงาน ลูกจ้าง ซึ่งไม่ใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานรัฐ ผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
     กลุ่มที่ 6 ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์ สาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน, กลุ่มที่ 7 ผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น และผู้ประกอบกิจการอื่นๆ ผู้ประกอบธุรกิจ หรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน, กลุ่มที่ 8 สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์, กลุ่มที่ 9 ศิลปวัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา สื่อสารมวลชน ผู้สร้างวรรณกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน และกลุ่มที่ 10 กลุ่มอื่นๆ
     นายสมคิดระบุถึงเหตุผลที่แบ่งกลุ่มใหม่ว่า 10 กลุ่มน่าจะพอกับการคำนวณ เพราะจะได้กลุ่มละ 20 คน ส่วนแนวคิดที่เสนอให้แบ่ง 15 กลุ่มนั้น จะมีปัญหา เพราะจะมีกลุ่มละ 13 คน ซึ่งถือว่าไม่ลงตัวและลำบากต่อการคำนวณ ดังนั้น ทาง กมธ.จึงนำ 20 กลุ่มของ กรธ.มาแบ่งใหม่เป็น 10 กลุ่ม           
     ด้านนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. อภิปรายติง กมธ.ว่า ไม่มีเหตุผลว่าที่ลดเหลือ 10 กลุ่มดีกว่า 15กลุ่มที่เสนอไว้ก่อนหน้าที่อย่างไร ทั้งที่เสนอมา 15 กลุ่ม พอมีสมาชิกเสนอ 10 กลุ่ม กมธ.ก็เอาด้วย เห็นด้วยทันทีโดยไม่มีเหตุผลเลย การขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย ส.ส. 90 วันยังมีเหตุผลดีกว่าด้วยซ้ำ
     นายสมคิดจึงชี้แจงว่า การลดเหลือ 10 กลุ่ม กมธ.ก็ไม่ได้ไปตัดสิทธิ์กลุ่มใด ไม่ได้ไปตัดสิทธิ์ใครทั้งสิ้น ยังมีครบทุกกลุ่มอาชีพอยู่ อย่างไรก็ตาม เห็นว่าการแบ่งกลุ่มไม่ว่าจะ 10 กลุ่มหรือ 20 กลุ่มก็สามารถมีการฮั้ว หรือการล็อกได้ไม่มากก็น้อยเช่นกัน แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับ กกต.จะกำหนดกติกาด้วย
    กระทั่งเวลา 12.30 น. ที่ประชุมลงมติเห็นชอบให้การแก้ไขของ กมธ. แบ่งออกเป็น 10 กลุ่ม ด้วยคะแนน 166 ต่อ 35 งดออกเสียง 5 เสียง
เลือกกันเองไม่เลือกไขว้
    จากนั้นที่ประชุมเข้าสู่การพิจารณามาตรา 15 ว่าด้วยวิธีการสมัคร ส.ว. เนื่องจากนายสมชาย แสวงการ และ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ขอแปรญัตติ ให้ผู้สมัครรับเลือกเป็น ส.ว. มี 2 ประเภท ได้แก่ 1.ผู้สมัครแบบอิสระ และ 2.ผู้สมัครซึ่งเป็นตัวแทนขององค์กร ทำให้นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานการประชุมขณะนั้นสั่งพัก เพื่อให้ กมธ.และสมาชิก สนช.ที่สงวนคำแปรญัตติได้หารือกันนอกรอบในมาตราซึ่งเชื่อมโยงกับมาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 เกี่ยวกับรูปแบบการเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม ตามที่ กรธ.เสนอ แต่ กมธ.เสียงข้างมากปรับแก้ให้ใช้การเลือกกันเองภายในกลุ่ม ไม่เลือกไขว้ อีกทั้งเพื่อให้หารือข้อเสนอเพิ่มค่าสมัครจาก 2,500 บาท เป็น 5,000 บาท
    ภายหลังหารือหนึ่งชั่วโมงเต็มได้เปิดประชุมอีกครั้ง นายสมคิดแจ้งว่า ทาง กมธ.จะปรับแก้ให้มีวิธีการสมัคร ส.ว. 2 วิธีตามที่นายสมชายขอแปรญัตติไว้ คือ 1.สมัครด้วยตนเองโดยตรง และ 2.เสนอชื่อผ่านองค์กร
    อย่างไรก็ตาม นายอุดม รัฐอมฤต กมธ.เสียงข้างน้อย ท้วงติงว่า ตนเป็นห่วงว่าการกำหนดดังกล่าวจะเกิดปัญหาว่าเป็นการเขียนกรอบนอกรัฐธรรมนูญ เพราะจะกลายเป็นว่าเรากำลังสร้างรูปแบบที่มาของส.ว.มาจาก 2 ประเภท
     ในช่วงเย็น ที่ประชุมพิจารณาเรียงเป็นรายมาตราจนจบมาตราสุดท้าย และได้กลับไปพิจารณามาตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 ที่แขวนไว้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวิธีการเลือกในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ซึ่งเป็นประธานการประชุมขณะนั้นสั่งพักการประชุมในเวลา 18.30 น. เป็นเวลา 10 นาที เพื่อให้ กมธ.ผู้แปรญัตติ และสมาชิก สนช.ร่วมหารือและปรับปรุงถ้อยคำให้สอดคล้องกับมาตรา 15
     จากนั้น เวลา 18.55 น. ได้กลับมาประชุมอีกครั้งหลังจากที่มีการพักการประชุมเป็นครั้งที่ 3 โดยนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ชี้แจงว่า ทาง กมธ.ดำเนินการปรับปรุงถ้อยคำมาตรา 40-42 แต่สาระสำคัญยังคงเป็นไปตามที่ กมธ.เสียงข้างมากแก้ไข คือในการเลือกแต่ละระดับยังคงให้เลือกกันเอง จากเดิมในร่าง กรธ.ให้เลือกไขว้ รวมถึงกรณีที่ในกลุ่มใดมีผู้ไม่ได้รับคะแนนเลือกเลยมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวนผู้สมัคร และแสดงตนในกลุ่มนั้นแต่ไม่น้อยกว่าสามคนให้สันนิษฐานว่ามีการสมยอมกันในการเลือก และถือว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอดำเนินการให้ผู้สมัครในกลุ่มนั้นเลือกกันเองใหม่ โดยให้ผู้ไม่ได้รับคะแนนเลือกนั้นหมดสิทธิ์ที่จะเลือกและได้รับเลือก และต้องออกจากสถานที่เลือก
    นายสมคิดกล่าวต่อว่า ยังได้แก้ไขมาตรา 91 ว่าด้วย คสช.เลือกผู้ที่ได้รับเลือกเป็น ส.ว. จากจำนวน 200 คน ให้เหลือ 50 คน โดยไม่ระบุกลุ่ม สำหรับกรณีที่มีสมาชิก สนช.เสนอในมาตรา 2 ให้แก้ไขการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.ส.ส. ที่ขยายเวลาการบังคับใช้ 90 วันนั้น ทาง กมธ.เห็นว่าขอให้กฎหมายมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาทันที
     ต่อมาที่ประชุมได้ลงมติเรียงรายมาตรา โดยมาตราที่ได้รับความสนใจ อาทิ มาตรา 40 ที่ประชุมเห็นชอบ 203 ไม่เห็นด้วย 1 งดออกเสียง 6 ส่วนมาตรา 41 เห็นด้วย 202 ไม่เห็นด้วย 1 งดออกเสียง 7 สำหรับมาตรา 42 เห็นด้วย 203  ไม่เห็นด้วย 1 งดออกเสียง 7  อย่างไรก็ตาม ในวาระที่ 3 ที่ประชุม สนช.เห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวทั้งฉบับ ด้วยคะแนน 197 ต่อ 0 งดออกเสียง 7 เสียง ทั้งนี้ สนช.จะได้ส่งให้กับองค์กรอิสระ กกต.และ กรธ.พิจารณาต่อไป และประธานได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 20.15 น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"