เปิดคำชี้แจง "ชำนาญ" 9 ประเด็น ตอบโต้ "สืบพงษ์" กับพวกยื่นถอดถอนพ้น ก.ต. ซัดแต่งเรื่องขึ้นเป็นเรื่องร้ายแรง ลั่นผู้พิพากษาต้องกระทำในสิ่งถูกต้อง ไม่บิดเบือนสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง มีจิตสำนึก หากรู้แล้วยังฝ่าฝืนทำผิดก็ไม่ควรปล่อยไว้ให้เป็นเยี่ยงอย่าง เพราะจะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและเสื่อมเสียแก่องค์กรนี้
เมื่อวันที่ 24 ก.ย. นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา และกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ต.) ในศาลฎีกา เผยแพร่เอกสารคำชี้แจงจำนวน 13 หน้า แบ่งเป็น 9 ประเด็น กรณีที่ถูกกลุ่มผู้พิพากษาเข้าชื่อกันจำนวน 1,734 ราย ขอให้ถอดถอนนายชำนาญพ้นจากตำแหน่ง ก.ต. โดยกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ซึ่งวันนี้ (24 ก.ย.) เป็นวันครบกำหนดตามกรอบเวลาที่ให้ส่งคำชี้แจง ก่อนการลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนโดยผู้พิพากษาทั่วประเทศ โดยนายชำนาญได้ยื่นเอกสารคำชี้แจงนี้ผ่านผู้อำนวยการสำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เป็นผู้แทนรับหนังสือดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป
คำชี้แจงของนายชำนาญมีเนื้อหาสรุปได้ดังนี้ 1.หลังวิกฤติที่ ก.ต. 2 คนแย่งกันเป็นประธานศาลฎีกา เป็นเหตุให้ผู้พิพากษา 11 คนถูกไล่ออกจากราชการ ผมเป็นคนนำหลักสำคัญที่ว่า "ข้อเท็จจริงที่เป็นผลร้ายต่อผู้พิพากษาที่ถูกกล่าวหาไม่ว่าในทางใด ต้องให้ผู้พิพากษานั้นรู้ข้อเท็จจริงโดยถูกต้อง ครบถ้วน และต้องให้โอกาสผู้พิพากษานั้นชี้แจงอย่างเต็มที่"
2.ก.ต.ยังคงฝ่าฝืนหน้าที่ต้องฟังความ 2 ฝ่าย ดังกรณีของนายศิริชัย วัฒนโยธิน อดีตประธานศาลอุทธรณ์ ซึ่งมติ ก.ต.เสียงข้างมากไม่เห็นชอบให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาตามลำดับอาวุโส ที่โต้แย้งว่าการพิจารณาแต่งตั้งตำแหน่งประธานศาลฎีกาเมื่อปีที่ผ่านมาไม่ชอบ เนื่องจากมีเพียงบัตรสนเท่ห์และเป็นเรื่องที่อนุ ก.ต.หยิบยกขึ้นมาเอง การพิจารณาของอนุ ก.ต.และ ก.ต.ยังไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจงอย่างเต็มที่ จนปัจจุบันก็ยังไม่มีผลสรุปว่านายศิริชัยกระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา แต่ผลของการกระทำเป็นเหตุให้นายศิริชัยไม่ได้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา
3.หลังวิกฤติ ก.ต. ที่ ก.ต.ฝ่ายชนะรังแกผู้พิพากษาที่อยู่ข้างฝ่ายแพ้ ผมจึงเสนอให้มี ก.ต.บุคคลภายนอกเพื่อตรวจสอบและคานอำนาจ แต่ปรากฏว่า ก.ต.บุคคลภายนอกไม่ได้ทำหน้าที่สมดังเจตนารมณ์ ดังกรณีนายศิริชัยที่ถูกกล่าวหาว่าโอนสำนวนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนถึงปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่ามีสำนวนใดเป็นเช่นนั้น ก.ต.บุคคลภายนอกจึงไม่จำเป็นและไม่มีประโยชน์ที่จะมีอีกต่อไปในโครงสร้าง ก.ต. จึงต้องมีการสังคายนาวิธีปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ต.และอนุ ก.ต. โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการแต่งตั้งประธานศาลฎีกา เพราะเป็นเรื่องง่ายที่จะแกล้งกล่าวหากัน ไม่ใช่หนทางสุภาพบุรุษ
4.แม้ผมจะเป็นคนวางหลักการฟังความ 2 ฝ่าย และหลักข้อเท็จจริงที่เป็นผลร้ายต้องแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบและมีโอกาสชี้แจงอย่างเต็มที่ แต่ในการพิจารณาความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกาของผมเมื่อวันที่ 6 ส.ค.2561 ทั้งอนุ ก.ต. และ ก.ต.กลับไม่ยึดถือหลักการดังกล่าว แม้อนุ ก.ต.จะเห็นว่าผมเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา แต่ในการพิจารณา ก.ต.และอนุ ก.ต.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ปกปิดข้อเท็จจริงที่เป็นผลร้ายต่อผม ไม่ได้แจ้งและให้ผมชี้แจงข้อเท็จจริงที่ น.ส.มณี สุขผล ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ซึ่งถูกร้องเรียนกล่าวโทษว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ นายพัลลอง มั่นดี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา และนายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 ยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกาและให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่ออนุ ก.ต.ที่เป็นผลร้ายต่อผมในการไต่สวนเพื่อแต่งตั้งผมให้ดำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา
5.การให้ความเป็นธรรมเบื้องต้นในการบันทึกคำเบิกความพยานให้ถูกต้องครบถ้วนเป็นหน้าที่สำคัญของผู้พิพากษา แต่ น.ส.มณี ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีนี้ ปฏิบัติผิดแผกแตกต่างจากผู้พิพากษาอื่น ผมจึงร้องเรียนนายสืบพงษ์ในวันที่ 25 มิ.ย.2561 และเป็นที่มาของการแต่งเรื่องเท็จในครั้งนี้ของ น.ส.มณี, นายพัลลอง เพื่อปกปิดการกระทำของ น.ส.มณี ในวันนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 22 มิ.ย. 2561 และเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อปกปิดการกระทำของนายสืบพงษ์กับพวกที่กระทำต่อเนื่องมาในวันที่ 3 ส.ค.2561
6.คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยฐานยักยอกทรัพย์บริษัท ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกภรรยาของผมกับโจทก์และจำเลยในคดีดังกล่าวเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา เป็นคดีที่ภรรยาผมมีส่วนได้เสียโดยตรง หากขึ้นสู่ศาลฎีกา ผมไม่อาจพิจารณาพิพากษาคดีได้เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดี ผมจึงไม่ใช่เป็นเพียงสามีของพี่โจทก์เท่านั้นดังที่นายสืบพงษ์กับพวกบิดเบือน โดยการนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 22 มิ.ย.2561 ทนายโจทก์ได้ถามค้านจำเลย น.ส.มณี บันทึกคำเบิกความด้วยเสียงเบาจนทนายโจทก์ไม่สามารถรู้ได้ว่าบันทึกอย่างไร ตรงและครบถ้วนในสาระสำคัญหรือไม่ เมื่อเสร็จการพิจารณาและฟังคำเบิกความ ทนายโจทก์บอกผมว่า น.ส.มณีไม่บันทึกคำเบิกความที่จำเลยตอบคำถามค้าน และบันทึกคำเบิกความไม่ตรงกับที่จำเลยเบิกความ
25 มิ.ย.2561 ทนายโจทก์ได้ขอคัดถ่ายสำเนาคำเบิกความของจำเลยมาให้ ผมอ่านแล้วปรากฏว่าเป็นดังที่ทนายโจทก์แจ้ง เช่น ทนายโจทก์ถามค้านจำเลยว่า ที่จำเลยอ้างว่าขายที่ดินได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน 50 ล้านบาทนั้น มีโฉนดที่ดินหรือมีหลักฐานใดมาแสดง จำเลยตอบว่า "ให้ทนายโจทก์ไปหาเอง" แต่ น.ส.มณีก็ไม่บันทึก ทั้งที่รู้ว่าเป็นประเด็นสำคัญในคดีเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงิน การที่จำเลยตอบให้ไปหาเองแสดงให้เห็นว่า จำเลยไม่มีหลักฐานที่มาของเงินที่จะนำมาซื้อที่ดินนี้ แต่ปรากฏว่า น.ส.มณีไม่ยอมบันทึกคำถามและคำเบิกความดังกล่าว
7.นายสืบพงษ์รู้อยู่แล้วว่า น.ส.มณีถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย.2561 มีหน้าที่ต้องตรวจสอบและแก้ไข กลับเพิกเฉยเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ สนับสนุนการแต่งเรื่องอันเป็นความเท็จ ทั้งยังเสนอตัวมาให้ถ้อยคำต่ออนุ ก.ต. โดยที่อนุ ก.ต.ไม่ได้เชิญ ผิดปกติวิสัยของอธิบดีผู้พิพากษาทั่วไป ยิ่งกว่านั้นยังส่งนายวราวุธมานั่งพิจารณาคดีในวันที่ 3 ส.ค.2561 ทั้งที่ในวันที่ 2 ก.ค.2561 ไม่ส่งมาตามที่เสนอกับผม ยังให้ น.ส.มณี กับ น.ส.ตรีทิพย์ วิเศษจินดา ขึ้นพิจารณาคดีพร้อมกับนายวราวุธทั้งที่รู้ว่าโจทก์ร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของ น.ส.มณี และให้ถ้อยคำต่ออนุ ก.ต.เป็นปฏิปักษ์ต่อผม ไม่เพียงแต่ขัดต่อจิตสำนึก แต่ยังขัดต่อจริยธรรมของคนเป็นผู้พิพากษา
8.การร้องเรียนในเรื่องนี้มีข้อน่าสงสัย โดยที่ น.ส.มณีแต่งเรื่องขึ้น โดยทำเป็นบันทึกรายงานนายสืบพงษ์วันเดียวกับที่จำเลยในคดียื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธานศาลฎีกา โดยเป็นวันเดียวกันกับที่ทนายจำเลยยื่นคำแถลงร้องเรียนที่ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราอีกฉบับ ทั้งที่ทนายจำเลยติดว่าความในคดีอื่นที่โจทก์ฟ้องในศาลแขวงสมุทรปราการ จึงน่าแปลกใจว่า วันเดียวกันมีหนังสือร้องเรียนเรื่องเดียวกันถึง 3 ฉบับ และยังพบพิรุธว่า เมื่อเทียบคำต่อคำในบันทึกของ น.ส.มณี และคำแถลงทนายจำเลย ประมาณ 10 บรรทัดเหมือนกันเกือบ 100% ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกที่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนกับจำเลยสามารถจดจำได้ตรงกันแทบไม่ผิดเพี้ยน ทั้งที่ระยะเวลาผ่านไป 10 วัน และตรงกับที่ น.ส.มณีบันทึกไว้ในคำเบิกความจำเลยแทบจะไม่มีข้อตำหนิ ทั้งที่ยังอยู่ระหว่างทนายโจทก์ถามค้าน ซึ่งตามกฎหมายจำเลยไม่สามารถขอคัดถ่ายคำเบิกความได้
9.ภายหลังโจทก์ขอโอนคดี มีผู้พิพากษาระดับสูงในภาค 2 นำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาของจำเลยมาลงเผยแพร่ในไลน์กลุ่มผู้พิพากษา โดยไม่เกรงกลัวความผิด ไม่สมควร ทั้งมีข้อสงสัยว่าหนังสือของจำเลยในคดีมาอยู่ที่ผู้พิพากษาได้อย่างไร การกระทำของบุคคลกลุ่มนี้เริ่มจากการแต่งเรื่องเท็จ จากนั้นเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จทางโซเชียลมีเดีย โดยตรวจพบที่มาจากผู้พิพากษากลุ่มหนึ่งในภาค 2 ปลุกระดมชวนเชื่อว่ามีเหตุการณ์ตามที่แต่งเรื่องเกิดขึ้นจริง จากนั้นให้ถ้อยคำต่ออนุ ก.ต.ขัดแย้งกันเองเป็นพิรุธ เมื่ออนุ ก.ต.มีมติเห็นว่าผมเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา ก็ให้ข่าวต่อสื่อมวลชนกดดันการลงมติ ก.ต.และล่ารายชื่อถอดถอน ทั้งที่ข้อเท็จจริงยังไม่มีการยุติว่ามีการกระทำเกิดขึ้นจริงหรือไม่ หรือนายสืบพงษ์, น.ส.มณี กับพวกปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบตามที่โจทก์ร้องเรียน การกระทำผิดเช่นนี้ผิดวิสัยผู้พิพากษา เสื่อมเสียเกียรติยศเกียรติศักดิ์ของตุลาการ
นายชำนาญระบุทิ้งท้ายว่า การกระทำที่นายสืบพงษ์กับพวกที่แต่งเรื่องขึ้นเป็นเรื่องร้ายแรง ผู้พิพากษาต้องกระทำในสิ่งถูกต้อง และหาอาจอ้างการกระทำไม่ถูกต้องมาบิดเบือนสร้างความชอบธรรมว่าตนกระทำสิ่งที่ถูกต้องได้ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นผู้พิพากษาคือ "จิตสำนึก" หากรู้ว่าสิ่งที่กระทำไม่ถูกต้องยังฝ่าฝืนกระทำลงไป ก็ไม่ควรปล่อยไว้ให้เป็นเยี่ยงอย่าง เพราะจะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและเสื่อมเสียแก่องค์กรนี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |