น่าจะปรับโหมดเข้าสู่การเลือกตั้งอย่างเต็มตัว หลังมีการประกาศ พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว ตั้งแต่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างแรกนั้นก็คือ การสรรหา ส.ว. อีกทั้งเมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ทาง กกต.ได้ออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือก ส.ว. เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งวันนี้จะมาทำความรู้จักกับวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว. ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560
ในวาระเริ่มแรกตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ส.ว.มีจำนวน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่ คสช.ถวายคำแนะนำ โดยมาจาก 3 ส่วน คือ 1.กกต.ดำเนินการจัดให้มีการเลือก ส.ว. จำนวน 200 คน โดยมาจาก 10 กลุ่มอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กลุ่มการศึกษาและการสาธารณสุข กลุ่มอาชีพกสิกรรม ปลูกพืชล้มลุก ทำนา ทำสวน ทำไร่ ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง
กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ รวมถึงอาชีพอิสระ กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณสุข ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ อัตลักษณ์อื่น ประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา สื่อสารมวลชน ผู้สร้างวรรณกรรม และกลุ่มอื่นๆ (ผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามย่อมมีสิทธิสมัครในกลุ่มอื่นๆ)
โดยคาดว่าหลังจากระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือก ส.ว.ออกมาแล้ว วันที่ 12 ต.ค. จะประกาศกำหนดวันลงทะเบียนองค์กรเพื่อเป็นองค์กรที่มีสิทธิเสนอชื่อผู้สมัคร ส.ว. และแจ้งให้สำนักงาน กกต.จังหวัดทราบ วันที่ 22-31 ต.ค. สำนักงาน กกต.จังหวัด รับลงทะเบียนองค์กร วันที่ 16 พ.ย. คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและนายกรัฐมนตรี นำพ.ร.ฎ.ให้มีการเลือก ส.ว. ทูลเกล้าฯ ถวายวันที่ 20 พ.ย. ประกาศรายชื่อองค์กรที่มีสิทธิแนะนำชื่อบุคคลเพื่อสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.แยกเป็นรายกลุ่ม
อีกทั้งคาดว่า วันที่ 30 พ.ย. พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือก ส.ว.มีผลใช้บังคับ วันที่ 5 ธ.ค. กกต.ประกาศเกี่ยวกับวันเลือก วันรับสมัครและสถานที่เลือก ซึ่งระดับอำเภอภายใน 20 วันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร ระดับจังหวัดภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกในระดับอำเภอ และระดับประเทศภายใน 10 วันนับแต่วันเลือกในระดับจังหวัด เปิดรับสมัคร ส.ว.วันที่ 10-14 ธ.ค. ซึ่งเป็นการเปิดรับสมัครไม่เกิน 15 วันนับแต่วันที่มี พ.ร.ฎ. และวันที่ 30 ธ.ค. จะเป็นวันเลือก ส.ว.ในระดับอำเภอ วันที่ 6 ม.ค.62 เลือก ส.ว.ในระดับจังหวัด วันที่ 16 ม.ค. เลือก ส.ว.ในระดับประเทศ วันที่ 17-21 ม.ค. กกต.รอไว้ 5 วันตามที่กฎหมายกำหนด และวันที่ 22 ม.ค. กกต.แจ้งรายชื่อผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-10 ของแต่ละกลุ่มแต่ละวิธีรวม 200 คน ให้ คสช.คัดเลือกเป็น ส.ว. 50 คน และคัดเลือกอีก 50 คน เป็นบัญชีสำรอง
ส่วนที่ 2 คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ที่แต่งตั้งโดย คสช.คัดเลือกทาบทามบุคคลที่มีความรู้ความสามารถจำนวนไม่เกิน 400 คน เพื่อนำรายชื่อส่ง คสช.คัดเลือกให้เหลือ 194 คน และส่วนที่ 3 ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวม 6 คน
ซึ่ง ส.ว.จำนวน 250 และ ส.ส.จำนวน 500 คน รวมสภาชิกในสภา 750 คน โดยปกติการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นอำนาจของ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ ส.ว.แต่งตั้ง และร่วมเลือกนายกฯ กับ ส.ส.
ด้วยเหตุนี้เอง ส.ว.จึงเป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกนายกฯ ไม่ว่าจะเป็นคนในหรือคนนอกก็ตาม อีกทั้งยังทำหน้าที่ให้กลุ่มการเมืองใดก็ตามที่จะเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศจะต้องทำตามยุทธศาสตร์ 20 ปีที่ คสช.ได้วางเอาไว้ เรียกได้ว่าถึงแม้จะไม่ใช่รัฐบาลทหาร แต่ทหารก็คงไม่ได้กลับเข้ากรมกองซะทั้งหมด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |