พญ.สกุณี ภระกูลสุขสถิตย์ ศูนย์การดูแลผู้สูงวัยแบบบูรณาการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า นับเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตที่สังขารย่อมร่วงโรยไปในอายุที่มากขึ้น เป็นเหตุให้ในผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัวต่างๆ มากกว่าคนในช่วงอายุอื่นๆ โดยปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
กลุ่มโรคเรื้อรังทั่วไป อาจพบโรคในกลุ่มนี้ได้ตั้งแต่ก่อนอายุ 60 ปี เกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรม หรือสาเหตุจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม เช่น การบริโภคมากเกินความต้องการของร่างกาย ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การดื่มสุรา สูบบุหรี่ ฯลฯ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดโรคในกลุ่มนี้ ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคตับอักเสบ เป็นต้น เมื่ออายุมากขึ้นมีโอกาสเกิดโรคมากขึ้น และหรือมีโรคร่วมอื่นๆ ทำให้มีอาการมากกว่า 1 โรค หากควบคุมโรคได้ไม่ดี เมื่อเวลาผ่านไปอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคไต โรคหัวใจ อัมพาต อัมพฤกษ์ ตามมาได้
กลุ่มโรคที่เกิดเฉพาะในผู้สูงอายุเกิดจากจากความเสื่อมถอยของร่างกายและอวัยวะภายในต่างๆ ตามอายุที่มากขึ้น เช่น การได้ยินลดลงหรือหูตึง การมองเห็นลดลง ตาฝ้าฟางในคนสูงอายุ ความจำแย่ลงจนอาจพัฒนาเป็นโรคสมองเสื่อม โรคกระดูกข้อเสื่อมต่างๆ เช่น ข้อเข่าเสื่อม ข้อสะโพกเสื่อม ข้อหลังเสื่อม ปัญหาเรื่องการกลั้นการขับถ่ายไม่อยู่ เป็นต้น
บางโรคอาจเกิดตามเพศตัวอย่างเช่น ในเพศหญิงมักจะมีอาการบางอย่างชัดเจนขึ้นในวัยหลังหมดประจำเดือน (วัยทอง) เช่น ผิวแห้ง ผมบาง กระดูกบาง กระดูกพรุน ส่วนในเพศชายอาจมีปัญหาเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก เช่น โรคต่อมลูกหมากโต เป็นต้น
พญ.สกุณีกล่าวต่อว่า เนื่องจากในวัยสูงอายุมีความเสี่ยงสูงที่จะมีปัญหาสุขภาพต่างๆ ส่วนใหญ่มักมีมากกว่า 1 ปัญหา และมักเป็นปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน ดังนั้นหากเราปรารถนาที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยสูงอายุจึงควรมีการเตรียมตัวให้ครอบคลุมปัญหาต่างๆ เหล่านั้น โดยควรมีการเตรียมพร้อมทั้ง 3 ด้าน ได้แก่
ด้านร่างกาย เป็นการดูแลเพื่อป้องกัน และลดความเสื่อมถอยของร่างกายและอวัยวะต่างๆ ประกอบด้วย การสร้างเสริมสุขภาพ เช่น การออกกำลังกาย การเลือกรับประทานอาหาร งดเว้นสุรา บุหรี่ สารเสพติด รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอ การป้องกันโรค เช่น การฉีดวัคซีน การตรวจสุขภาพประจำปี การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคแล้ว เช่น มีวินัยในการรับประทานยา และมารับการตรวจรักษาสม่ำเสมอ
ด้านจิตใจ ปัญหาด้านจิตใจในผู้สูงอายุ เป็นอีกด้านที่พบได้บ่อย เช่น เรื่องความสูญเสียเกี่ยวกับความสามารถของตนเอง การสูญเสียการยอมรับนับถือในสังคม รวมไปถึงการสูญเสียบุคคลในครอบครัว เป็นต้น ดังนั้นจึงควรฝึกจัดการกับความเครียด ฝึกปล่อยวางไม่ยึดติด และฝึกเคารพนับถือตนเอง ฯลฯ ซึ่งถือเป็นหนทางหนึ่งเพื่อช่วยลดการเกิดปัญหาสุขภาพจิตในคนสูงอายุได้
ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม การดูแลด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับวัยสูงอายุเป็นด้านที่มักถูกละเลย แต่หากมีการเตรียมตัวที่ดีถือเป็นอีกด้านที่ทำให้ผู้สูงอายุมีชีวิตอย่างมีความสุขและมีคุณค่า การเตรียมความพร้อมในด้านนี้ ได้แก่ การรักษาความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว การมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของสังคม เช่น การพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง การทำกิจกรรมจิตอาสาต่างๆ จะทำให้ลดความเหงา โดดเดี่ยว และรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง
การเตรียมบ้านให้เหมาะกับผู้สูงอายุ เช่น เรื่องแสงสว่างภายในบ้าน การจัดวางสิ่งของต่างๆ ในบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย การติดตั้งอุปกรณ์ช่วยการพยุงตัว เช่น ราวในห้องน้ำ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งสามารถช่วยลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุการพลัดตกหกล้มในบ้าน และนับเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อให้ผู้สูงอายุได้ดำรงชีวิตในบ้านอย่างมีความสุข.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |