'แม้ว'เฮ!คุก2ปีใกล้หมดอายุ


เพิ่มเพื่อน    

    คดีที่ดินรัชดาฯ ใกล้หมดอายุความ 21 ต.ค. แต่ "ทักษิณ" กลับยาก เหตุชนักติดหลักเพียบ   หมายจับเอ็กซิมแบงก์-หวยบนดิน-ปล่อยกู้กรุงไทย-แปลงสัญญาโทรคมนาคม-ก่อการร้ายปี 53 "ไพบูลย์" เชื่อไม่กล้ากลับแน่ ชี้ปมกรุงไทยหนักสุด หลังศาลตัดสินจำคุกอดีตบิ๊กกรุงไทย-กฤษดามหานคร 25 ราย โพลหนุน "นิวตู่ จตุพร" เล่นบทปรองดอง  
    คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีที่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ขณะนั้น) ซื้อที่ดินรัชดาฯ จำนวน 33 ไร่ 78 ตารางวา ในราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2561 และนายทักษิณได้หลบหนีคำตัดสินดังกล่าวอยู่นอกประเทศนั้นกำลังจะสิ้นสุดอายุความแล้ว 
    เพราะตามประมวลกฎหมายอาญา ในหมวด 9 เรื่องอายุความ มาตรา 98 ระบุว่า เมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้ใด ผู้นั้นยังมิได้รับโทษก็ดี ได้รับโทษแต่ยังไม่ครบถ้วนโดยหลบหนีก็ดี ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมาเพื่อรับโทษนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือนับแต่วันที่ผู้กระทำความผิดหลบหนีแล้วแต่กรณี เกินกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ เป็นอันล่วงเลยการลงโทษ จะลงโทษผู้นั้นมิได้ (1) ยี่สิบปี สำหรับโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุก ยี่สิบปี (2) สิบห้าปี สำหรับโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี (3) สิบปี สำหรับโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี (4) ห้าปี สำหรับโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีลงมาหรือโทษอย่างอื่น
    โดยหากตีความตามกฎหมายดังกล่าว เท่ากับอายุความการลงโทษของนายทักษิณจะครบ 10 ปี ในวันที่ 21 ตุลาคม 2561 นี้แล้ว 
    อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนายทักษิณยังตกเป็นจำเลยในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ อีกหลายคดี หลังจากมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ที่ยกร่างขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในฐานะกฎหมายลูก โดยกฎหมายดังกล่าว ให้ศาลฎีกาสามารถพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ ในกรณีที่โจทก์คือ ป.ป.ช.และอัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกา แล้วจำเลยไม่มาปรากฏตัวต่อศาล โดยไม่ตัดสิทธิ์จำเลยในการตั้งทนายความมาสู้คดี รวมถึงการอุทธรณ์คดี 
    ปัจจุบัน นายทักษิณตกเป็นจำเลยต่อศาลฎีกา เช่น คดีแปลงสัญญาสัมปทานโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท, คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้กับบริษัทในเครือกฤษดามหานคร, คดีปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์, คดีหวยบนดิน แต่สำหรับคดีทีพีไอ ศาลฎีกาได้ยกฟ้องนายทักษิณไปแล้ว แม้นายทักษิณจะไม่ได้ตั้งทนายความมาแก้ต่างในชั้นศาลก็ตาม  
    ซึ่งคดีที่นายทักษิณตกเป็นจำเลยดังกล่าวร่วม 4 คดี  ศาลฎีกาได้ออกหมายจับไปแล้ว หลังไม่มาปรากฏตัวต่อหน้าองค์คณะในการพิจารณาคดีนัดแรก จึงทำให้แม้คดีที่ดินรัชดาฯ จะหมดอายุความในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้   แต่นายทักษิณก็มีหมายจับของศาลฎีกาอีกหลายคดี  รวมถึงยังมีอีกบางคดีด้วย เช่น คดีที่อัยการยื่นฟ้องเอาผิดแกนนำ นปช.รวม 25 คน ในความผิดฐานก่อการร้ายตอนช่วงเสื้อแดงชุมนุมปี 2553 ซึ่งสำนวนดังกล่าวมีชื่อนายทักษิณที่ได้วิดีโอลิงก์มายังเวทีชุมนุมเสื้อแดงที่ผ่านฟ้าฯ และสี่แยกราชประสงค์ด้วย แต่อัยการยังไม่ได้ยื่นฟ้องนายทักษิณ เพราะอยู่ระหว่างการหลบหนีคดี จึงยื่นฟ้องเฉพาะแกนนำ นปช.ไปก่อน 
    นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป กล่าวถึงกรณีคดีที่ดินรัชดาฯ ของนายทักษิณจะหมดอายุความวันที่ 21 ต.ค.ว่า แม้คดีดังกล่าวจะหมดอายุความไป แต่สิ่งที่ต้องเจอหากกลับมาประเทศไทยคือ เข้ากระบวนการยุติธรรมในคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคดีปล่อยกู้กรุงไทย ที่นายทักษิณเป็นจำเลยที่หนึ่ง และได้มีการตัดสินจำเลยคนอื่นๆ ไปแล้ว และมีโทษถึง 18 ปี  ซึ่งถือว่าเป็นโทษหนักกว่าที่ดินรัชดาฯ มาก รวมทั้งคดีอื่นๆ ที่กำลังเดินไปตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ที่ยังไม่เป็นที่สิ้นสุดกระบวนการ และไม่มีปัญหาเรื่องอายุความ อีกทั้งสามารถพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ แตกต่างจากคดีรัชดาฯ ที่มีคำพิพากษาไปก่อนกฎหมายฉบับใหม่ประกาศใช้ ดังนั้นหากทักษิณกลับมาประเทศไทย อัยการและตำรวจจะต้องพาตัวไปศาลฎีกาเพื่อขออำนาจฝากขัง ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจศาลจะให้ประกันตัวหรือไม่ หากไม่ให้ก็ต้องติดคุก และต่อสู้คดีจนกว่าจะมีคำพิพากษา เชื่อว่านายทักษิณจะไม่กลับมาประเทศไทยอย่างแน่นอน
    วันเดียวกันนี้ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลโพลเรื่อง ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ในฝัน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 1,128 ตัวอย่าง โดยดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 19-22 กันยายน พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา
    ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.3 สนับสนุนท่าทีของนายจตุพร  พรหมพันธุ์ เคลื่อนไหวการเมืองด้วยความสงบสุข สู่ความปรองดองของคนในชาติ มีเพียงร้อยละ 3.4 ไม่สนับสนุน และร้อยละ 11.3 ไม่มีความเห็น และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.4 ไม่สนับสนุนท่าทีนักการเมือง ที่ใส่ร้ายป้ายสี ก่อความขัดแย้งภายในประเทศ เพราะบ้านเมืองเสียหาย ประชาชนเดือดร้อนไม่ได้ประโยชน์ มีแต่พวกแก่งแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตัว ครอบครัวและพวกพ้อง และไม่ต้องการนักการเมืองหัวรุนแรงแบบเดิมๆ เป็นต้น
     นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวถึงผลโพลดังกล่าว ที่ประชาชนสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.ว่า ท่าทีของนายจตุพรเองดูเหมือนว่าเขาต้องการสร้างความปรองดองจริง และมีความเข้าใจสถานการณ์ของบ้านเมืองขณะนี้ดีพอสมควร ซึ่งคงมีคนใน นปช.และประชาชนทั่วไปไม่น้อยที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวนี้ หากการเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างบริสุทธิ์และไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ตนมองว่าการเคลื่อนไหวในครั้งนี้จะช่วยสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่ายได้ไม่มากก็น้อย
    “เราต้องแยกภาพนายจตุพรออกจากนายทักษิณ ก่อน เพราะตัวนายทักษิณเองยังมีท่าทีแข็งกร้าว และพร้อมจะต่อสู้กับ คสช.ต่อไป แม้ที่ผ่านมา คสช. พยายามจะเสนอประเด็นการปรองดองในช่วงต้นของการยึดอำนาจ แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล จนเรื่องค่อยๆ เงียบหายไปตามกาลเวลา จนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งเรื่องความปรองดองไม่ใช่ประเด็นหลักในสังคมอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของสถานการณ์ช่วงก่อนมีการเลือกตั้งที่ประชาชนให้ความสนใจมากกว่า ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันนั้น พรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังคงเล่นตามเกมของ คสช.อยู่ แต่จะมีประเด็นเรื่องการคลายล็อกพรรคการเมืองเท่านั้นที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน แต่ผมเชื่อว่าหากไม่มีใครขุดประเด็นเก่าขึ้นมาโจมตีฝ่ายตรงข้าม สถานการณ์โดยรวมน่าจะดีขึ้น” นายพิชายกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"