การตระหนักและหันมาดูแลคุณภาพชีวิตเด็กนับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า อีกทั้งยังสร้างสังคมที่ดีและยั่งยืน เพราะเยาวชนที่ดีและมีคุณภาพเป็นกลุ่มคนที่จะนำพาประเทศเจริญ แต่ทว่าปัจจุบันปัญหาเด็กถูกทำร้ายทารุณมีให้เห็นหลายรูปแบบ ทั้งถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกลิดรอนสิทธิ์ เช่น ไม่ได้รับศึกษาที่ดี ไม่ได้กินอาหารอย่างเพียงพอ อีกทั้งบางรายถูกทอดทิ้ง หรือเกิดในสังคมไทยแต่ไม่ได้รับชื่อและสัญชาติไทย ฯลฯ ทว่าการจะแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเด็กที่กล่าวมาจำเป็นต้องใช้ทั้งงบประมาณ รวมถึงกำลังคนในการช่วยเหลือ ให้ความรู้ถึงการคุ้มครองสิทธิเด็กแพร่ออกไปในวงกว้าง เพื่อกระตุ้นให้คนในสังคมหันมาตระหนักเรื่องนี้
“มูลนิธิสายเด็กฯ” ที่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2546 โดย หม่อมราชวงศ์สุพินดา จักรพันธุ์ เพื่อคุ้มครองสิทธิเด็กตามสนธิสัญญาขององค์กรนานาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ด้วยการเปิดให้บริการโทร.ฟรี 24 ชั่วโมง 365 วันตลอดปี เพื่อให้คำแนะนำ ปรึกษาในทุกๆ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเด็กและครอบครัว โดยเฉพาะด้านสิทธิเด็ก จึงได้จัดเสวนาหัวข้อ “งานคุ้มครองเด็กมีความสำคัญอย่างไร” เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในสังคมที่กระตุ้นเตือนความจำเป็นในการพิทักษ์ ดูแลสิทธิและสวัสดิภาพของเยาวชนไทย
ดร.ธาริษา วัฒนเกส ประธานกรรมการมูลนิธิสายเด็ก 1387 สะท้อนว่า อันที่จริงแล้วเด็กทุกคนควรเติบโตและได้รับการเลี้ยงดูอย่างอบอุ่น ทั้งด้วยความรักและการเอาใจใส่ แต่ทุกวันนี้เด็กถูกทำร้ายทารุณหลากหลายรูปแบบ กระทั่งการถูกลิดรอนสิทธิ์ต่างๆ ที่เด็กควรจะได้ เช่น เกิดในประเทศไทย แต่ไม่มีชื่อและไม่ได้รับสัญชาติไทย ซึ่งเด็กต้องทนทุกข์กับความทรมานเหล่านี้โดยที่เขาไม่มีความผิด
“ที่ผ่านมาเรามักละเลย หรือทำให้เด็กไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ที่ดี ดังนั้นจึงคิดว่าทุกคนต้องหันมาช่วยเหลือเด็กคนหนึ่งในสังคม เพื่อให้หลุดพ้นจากสภาพเลวร้าย ดังนั้นการลงทุนดูแลเด็กจึงนับเป็นการสร้างสังคมที่ดี และตรงกับปรัชญาการพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืน ที่แม้จะดูเหมือนเป็นคนละเรื่องกัน แต่ท้ายที่สุด ถ้าเด็กเติบโตด้วยการเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพ เขาก็จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ดังนั้นประเด็นการคุ้มครองสิทธิเด็กจึงเป็นเรื่องของคนในสังคมที่ควรหันมาช่วยการดูแลสอดส่อง"
ขณะที่ ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะองค์กรผู้สนับสนุนหลักในการดำเนินงานมูลนิธิ มองว่า หากสังคมเติบโตอย่างซับซ้อน ปัญหาเด็กก็จะซับซ้อนตามไปด้วย ดังนั้นถ้าเราสามารถช่วยเหลือคนละไม้คนละมือได้ก็ควรที่จะทำ เพราะนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะช่วยเหลือคนในสังคม โดยเฉพาะเด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติ
“ส่วนตัวผมยอมรับว่าเรื่องเด็กควรได้รับความสนใจ โดยเฉพาะสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ที่เด็กควรจะได้รับ รวมถึงปัญหาเด็กถูกกระทำรุนแรงด้านต่างๆ ที่จำเป็นต้องทำให้ลดและหายไปจากสังคมไทย ในฐานะตัวแทนของ ธ.กรุงเทพ ก็รู้สึกยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยจรรโลงสังคม อีกทั้งฟื้นฟูให้เด็กกลับมามีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และเป็นพลังในการพัฒนาประเทศต่อไป"
อิเลีย สมินอฟ จากมูลนิธิสายเด็ก 1387 เล่าภาพรวมถึงการทำงานที่ผ่านมา นอกจากการสายด่วนให้คำปรึกษาเรื่องเด็กตลอด 24 ชั่วโมง ที่มีผู้ใช้บริการปีละไม่ต่ำกว่า 1 แสน 5 หมื่นรายแล้ว ยังมี “เดอะฮับ สายเด็ก” ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือกับมูลนิธิเอกซอดัส ประเทศออสเตรเลียเมื่อ พ.ศ.2554 ณ บริเวณใกล้เคียงสถานีรถไฟหัวลำโพง ว่า “อันที่จริงแล้ว “เดอะฮับ สายเด็ก” ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งพักพิงของเด็กเร่ร่อนและเด็กด้อยโอกาสที่เดินทางมาจากทั่วประเทศ ไม่ให้ถูกล่อลวงไปในหนทางของมิจฉาชีพ และใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมทักษะด้านต่างๆ ให้เด็กและเยาวชนสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนอยู่ในความดูแลของศูนย์เดอะฮับฯ กว่า 100 คน ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะมีเด็กมาใช้บริการประมาณ 7,500 รายต่อปี ซึ่งในอนาคตต้องมีการพัฒนาในบริการที่มี รวมถึงเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ตอบสนองต่อการแก้ปัญหาเด็กได้มากยิ่งขึ้น”
ปิดท้ายกันที่ ม.ร.ว.สุพินดา จักรพันธุ์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสายเด็กฯ กล่าวว่า การทำงานที่ผ่านมาเราช่วยเหลือหลายรูปแบบ มีทั้งเคสของเด็กที่เกิดในประเทศไทยจนกระทั่งอายุ 15 ปี แต่ไม่ได้รับสัญชาติไทย ทำให้เขาไม่สามารถไปโรงเรียน หรือทำธุรกรรมทางธนาคารได้ กระทั่งเด็กชาวมอแกน ที่แม้จะมาตั้งแต่ถิ่นฐานในประเทศไทยราว 200 ปีแล้ว ก็ยังไม่ได้รับสัญชาติ กระทั่งเด็กที่ถูกพ่อเลี้ยงทารุณกรรม แต่แม่ปกปิดไม่ให้ข้อมูล ตรงนี้เมื่อเราได้รับเรื่องร้องเรียนก็จะไปรับตัวเด็กมาไว้ที่บ้านพักเด็กก่อนเบื้องต้น กระทั่งการที่เด็กไทยกินอาหารไม่ครบถ้วน สิ่งเหล่านี้เราพยายามให้การช่วยเด็กผ่านการทำงานของมูลนิธิ เพื่อต้องการสังคมที่แข็งแรงอย่างยั่งยืน
นอกจากการดูแลเด็กให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานทั้ง 9 ประเด็นแล้ว การมีเจ้าหน้าให้คำปรึกษาสายด่วนปัญหาเด็กอย่างเพียงพอก็สำคัญเช่นเดียวกัน “ที่ผ่านมาเราได้ทำงานร่วมกับองค์กรอื่น อาทิ สาธารณสุขจังหวัด, โรงพยาบาล, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อปกป้องสิทธิเด็กทั้ง 9 ประการ ซึ่งไม่ใช่องค์กรที่เก็บเด็กมาเลี้ยงดู แต่เมื่อทราบปัญหาของเด็กๆ ในรูปแบบต่างๆ แล้ว เราก็จะส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลแก้ไขเป็นอย่างดี ซึ่งบางครั้งบางกรณีก็ต้องใช้เวลาในการดำเนินงานที่ค่อนข้างยาวนานกว่าเด็กจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่เขาควรได้ อาทิ การขอสัญชาติให้เด็กไทยที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาเราพยายามทำงานให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ควบคู่ไปกับการหาเงินทุนสนับสนุนให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน ยกตัวอย่างว่า ถ้ามีเราเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอในการรับสายปรึกษาปัญหาเด็ก ผู้ที่โทร.เข้ามาแล้วไม่ติด 1-2 ครั้ง เขาก็จะเลิกโทร.เข้ามาปรึกษา เป็นต้น ดังนั้นการมีเจ้าหน้าที่ให้บริการอย่างเพียงพอจึงถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นกันค่ะ”
ทั้งนี้ ผู้สนใจร่วมสนับสนุนกิจกรรมของมูลนิธิสายเด็ก 1387 เพื่อสิทธิเด็กและครอบครัวให้เข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดี ตามมาตรฐานอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็กสามารถติดต่อได้ทางโทรศัพท์ 0-2561-0981 อีเมล [email protected] และติดตามงานของมูลนิธิได้ที่ www.childlinethailand.org และ facebook.com/childlinethailand.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |