พายุไต้ฝุ่นมังคุดที่พัดถล่มราบมาตั้งแต่ฟิลิปปินส์ มาเก๊า เข้าเกาะฮ่องกง บ้านเมืองเสียหาย มีคนตายไปหลายคน แม้พายุผ่านไป แต่หางมังคุดก็ส่งผลกระทบให้ภาคเหนือและอีสานของไทยมีภาวะฝนตกหนักเพิ่มขึ้น เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ภาคใต้คลื่นลมแรง
แม้ไทยจะไม่เจอพายุมังคุดตรงๆ แต่การเกิดพายุมังคุดสะท้อนให้เห็นว่า เรามีความเสี่ยงภัยพิบัติสูงมากขึ้น ตามแนวโน้มการเกิดภัยพิบัติที่จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ในสายตานักวิชาการมองว่าพายุมังคุดถือเป็นความเสี่ยงลำดับต้นๆ ของไทย นอกจากนี้ จากหลายเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ผ่านมา ล้วนเป็นบทเรียนความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติด้วยวิธีคิดแบบเดิมๆ อาจใช้ไม่ได้อีกแล้ว
ในงานเสวนา "ความเสี่ยงภัย (ใหม่) ความหมายที่หลากหลายของภัยพิบัติ" ณ อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดยศูนย์เชื่อมโยงความรู้และวิจัยนวัตกรรมด้านภัยพิบัติ สถาบันวิจัยสังคม และเครือข่ายจัดการภัยพิบัติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันก่อน เปิดมุมมองประเด็นความหลากหลายของภัยพิบัติ ความเสี่ยงภัยใหม่ๆ มีตัวแทนทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม นักวิชาการด้านน้ำ นักจัดการภัยพิบัติ ร่วมคิดและเสนอทางออกในอนาคต
นายบุญเลิศ อาชีวะระงับโรค ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการวิจัยและพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ภาวะอากาศไทยมีลักษณะอากาศประจำถิ่นและอากาศจร อย่างมังคุดหากจรเข้ามาจะทำลายมหาศาล ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงหรือสองฝั่งมหาสมุทร อันดามันและแปซิฟิก เมื่อเกิดฝนฟ้าและพายุรุนแรงสุดขั้วจะส่งผลกระทบให้ฝนตกหนัก เกิดลูกเห็บ หิมะ ลมแรง แห้งแล้ง น้ำค้างแข็ง ฝุ่นละออง คลื่นความร้อน
"ไทยมีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ หากรุนแรงมากขึ้นจะมีความเสี่ยงภัยมากขึ้น และถ้าเกิดความกดอากาศที่ราบสูงทิเบตจะส่งผลคลื่นซัดฝั่งรุนแรงกัดเซาะทั้งนราธิวาสและสงขลา บ้านเรายังโชคดีมีลมบกลมทะเลเข้ามาเลี้ยงทำให้ไม่เสี่ยงภัยคลื่นความร้อนเหมือนที่ญี่ปุ่นเผชิญ ขณะที่พายุหมุนเขตร้อนหรือไซโคลนนานๆ จะจรเข้ามาไทย" นายบุญเลิศชี้ความเสี่ยงจากภาวะอากาศ
บุญเลิศ อาชีวะระงับโรค กรมอุตุนิยมวิทยา
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาระบุไทยมีเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านภาวะอากาศกับทั่วโลกที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ต้องยอมรับว่าประเทศที่มีทรัพยากรเยอะจะลงทุนสูงด้านนี้ เพราะเกี่ยวข้องทั้งชีวิตผู้คนและเศรษฐกิจ มีดาวเทียมตรวจสภาพอากาศ ปล่อยทุ่นลอย ปล่อยบอลลูน ยิงเรดาร์วิเคราะห์ข้อมูลถี่ ขณะที่ไทยก็พัฒนางานด้านนี้อย่างต่อเนื่อง สองปีที่ผ่านมาลงทุนด้านพยากรณ์ไปมาก
"ที่เรากลัวปีนี้ปริมาณฝนยังต่ำกว่าค่าปกติ ห่วงว่า ก่อนหมดฤดูฝนจะมีพายุมาเติมหรือเปล่า กรุงเทพฯ ถือว่ายังไม่พ้นวิกฤติ ยังต้องเฝ้าระวังตลอด ขณะที่ฝนรายปีของไทยมีความผันแปร ไม่มีแนวโน้มชัดเจน ปริมาณฝนสูงสุดใน 1 วัน ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นในภาคเหนือ กลางและภาคใต้ฝั่งตะวันออก" นายบุญเลิศเผย
ประเด็นความแห้งแล้งซ้ำซากเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงภัย ซึ่งเขาระบุ กรมอุตุฯ ได้ติดตามการระเหยหรือการสูญเสียของน้ำ ซึ่งเป็นดัชนีวิเคราะห์สภาวะความแห้งแล้งได้ชัดเจนมาตลอด มีผลวิเคราะห์ปี 2522 แล้งรุนแรงที่สุด ฝนทิ้งช่วงกลางฤดูฝนยาวนาน
อุทกภัยจากฝนตกหนักต่อเนื่อง นายบุญเลิศย้ำไทยน่ากลัวถ้าเจอพายุหมุนเขตร้อน พายุดีเปรสชัน พายุโซนร้อน ไต้ฝุ่น ร่องความกดอากาศต่ำ หย่อมความกดอากาศต่ำ เหมือนโดมิโน ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง ภาวะอากาศเป็นปัจจัยทำให้เกิดปัญหาภัยพิบัติ มีกรณีตัวอย่างปี 2532 พายุไต้ฝุ่นเกย์เข้าชุมพร เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ แต่ก็ทำให้เกิดการพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติ ส่วนมหาอุทกภัยปี 2554 มีพายุจรเข้ามา 3 ลูก เป็นภัยพิบัติที่มูลค่าความเสียหายติดอันดับโลก ปี 2560 พายุโซนร้อนเข้าสกลนคร เกิดน้ำท่วมฉับพลัน จมทั้งเมือง
"ภาพรวมสภาวะอากาศรุนแรงของไทย อุณหภูมิไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะ 5 ปีล่าสุด สูงกว่าค่าปกติต่อเนื่องตลอด เมษายนปี 59 อุณหภูมิทำลายสถิติ 44.6 องศา ที่ จ.แม่ฮ่องสอน ภาพรวมจำนวนวันที่หนาวจะลดลง ส่วนกรุงเทพฯ โอกาสจะเจออุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศา น้อยมาก" นายบุญเลิศเผย
ประเด็นการรับมือภัยพิบัติ ผู้เชี่ยวชาญอุตุนิยมวิทยา ยอมรับว่า ภาวะอากาศและธรรมชาติสามารถพยากรณ์ได้ระดับหนึ่ง เราต้องการศาสตร์ใหม่ๆ มาเสริม สร้างการเชื่อมโยงกัน เพราะข้อมูลสนับสนุนจะทำให้พยากรณ์ได้ดีกว่าเก่า ปัจจุบันมีเรดาร์ตรวจสภาพอากาศทุกๆ 2 นาที ทำให้ติดตามภัยได้ชัดเจน ความเสี่ยงภัยจะลดลงและจัดการกับภัยใหม่ๆ ได้เท่าทัน
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต
ด้าน รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จากเหตุการณ์กลายเป็นภัยพิบัติมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น เกิดในพื้นที่เปราะบางหรือล่อแหลม อย่างหมูป่าเข้าถ้ำมีความเปราะบาง เมื่อหมูป่าติดถ้ำจึงเป็นภัยพิบัติ ทางแก้ไม่ใช่ห้ามคนเข้าถ้ำ แต่ต้องลดความเปราะบาง ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้พัฒนาพื้นที่เปราะบางให้เข้าใจความเสี่ยงภัยเดิมและภัยใหม่ๆ แล้วหรือยัง เรายังขาดการเสริมสร้างศักยภาพการจัดการภัยพิบัติในหลายพื้นที่ กรณีน้ำท่วมใหญ่ปี 54 หากเจอน้ำมาเหมือนครั้งนั้น มีการประเมินพื้นที่ภัยพิบัติหรือไม่ เพราะผ่านมา 7 ปี ปฏิเสธไม่ได้ว่า สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป มีกำแพง โครงสร้างป้องกันน้ำ เกิดถนนขวางทางน้ำ สิ่งปลูกสร้างที่จะทำให้ภัยรุนแรงขึ้น
"คนกรุงเทพฯ เบื่อหน่ายน้ำท่วม เราก้าวไม่พ้นเสียที น้ำรอระบายเมื่อฝนตกหนัก 80 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงเกิดปัญหาแล้ว ถัดมาน้ำท่วมใหญ่ แนวโน้มจะมีฝนรุนแรง ทำให้ กทม.เจอน้ำท่วมใหญ่ แต่ปีนี้กรุงเทพฯ ไม่เจอน้ำเหนือหลาก รอดไป บันไดขั้นที่ 3 ที่ก้าวไม่ข้าม คือ น้ำท่วมถาวร จากการคาดการณ์ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นสูงสุด 2.50 เมตร กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะกระทบเพียงไร ภาครัฐควรลงทุนเพื่อประเมินความเสี่ยงภัยและรักษาตัวเอง มีหลายคนเสนอให้ร่วมกันเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เมืองฟองน้ำ เป็นนวัตกรรมหนึ่งให้ก้าวข้ามภัยน้ำท่วม" รศ.ดร.เสรีสะท้อนความเสี่ยง
"สภาพอากาศรุนแรงในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อนาคต 30 ปี ไทยจะแล้งหนัก ส่วนการคาดการณ์เอลนีโญปี 62 ทั้งปีจะแห้งแล้ง ถ้าปีนี้มีพายุเข้าสู่ประเทศไทย ถ้าเข้าในพื้นที่อีสานใต้หรือภาคเหนือจะเกิดประโยชน์ ฉะนั้น ไม่ต้องกลัวพายุ ส่วนมังคุดที่พลังรุนแรง เพราะจุดกำเนิดไกล เดินทางผ่านทะเลนานก่อนเข้าถล่มฟิลิปปินส์ ฮ่องกง หันมาดูไทยปีหน้าแล้งชัวร์ ถามว่าน้ำต้นทุนมีปริมาณเท่าไหร่ที่จะบริหารจัดการ ที่ผ่านมาเอดีบีให้คะแนนไทยจัดการน้ำ 2.3 เต็ม 5 คะแนน แล้วไทยให้คะแนนหรือประเมินตัวเองรึยัง" นักวิชาการด้านภัยพิบัติย้ำ
พร้อมระบุว่า ปีหน้าคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) จะประชุมอย่างเข้มข้น วางแผนรองรับ ปรับตัวสภาวะโลกร้อน ขณะที่รายงานไอพีซีซีฉบับที่ 6 ใกล้จะตีพิมพ์แล้ว ทราบว่าจะลงรายละเอียดมากขึ้น ฉายภาพสถานการณ์ภัยต่างๆ ฝากให้หน่วยงานรัฐ นักวิชาการไทยติดตาม เพราะเป็นผลจากการระดมความเห็นของนักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านสภาวะอากาศกว่า 500 คน และจะเกิดประโยชน์มาก หากมีการแปลเป็นภาษาไทยเผยแพร่ให้คนทุกเพศทุกวัยรับรู้สถานการณ์โลกร้อนล่าสุด
ความเสี่ยงภัยใหม่ ต้องอาศัยฐานข้อมูลช่วยรับมือ ประเด็นนี้ ดร.สมพร ช่วยอารีย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำและภัยพิบัติในไทยต้องจัดการความรู้ เทคโนโลยี ต้องมีคลังข้อมูลสภาวะอากาศแห่งชาติควบคู่กับระบบสารสนเทศเชิงรุกด้านสภาวะอากาศ ทำอย่างไรให้มีข้อมูลกลางเพื่อให้นักวิจัยนำไปประเมินผล ผลิตข้อมูลอีกชุดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์บรรเทาเสี่ยงภัยพิบัติ นอกจากนี้ ต้องมีการเตรียมพร้อมทรัพยากรมนุษย์เพื่อการรับมือการเปลี่ยนแปลง หากทำนายฝนฟ้าอากาศแม่นยำมากยิ่งขึ้น เกษตรกรสวนยางกรีดยางไม่ได้ ฝนหนัก จะมีอาชีพรองรับอย่างไร ชาวประมงออกเรือไม่ได้จะเตรียมพร้อมอย่างไร เพราะฝนฟ้าอากาศมีผลต่อลมหายใจมนุษย์ คลังข้อมูลสภาวะอากาศแห่งชาติ การบริหารจัดการภัยพิบัติเชิงรุก เครือข่ายอาสาสมัครเพื่อการสื่อสารด้านภัยพิบัติ
ขณะที่ ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ถ้ามีความเสี่ยงภัยใหม่เข้ามา วิธีการที่ชุมชนและรัฐเคยใช้รับมือจะยังเอาอยู่หรือไม่ ปริมาณฝนมากขึ้น จำนวนวันที่แดดออกน้อยลง กระทบต่อวิถีชีวิต สังคม รวมถึงการท่องเที่ยว ความหลากหลายของภัยพิบัตินี้ประชาชนจะปรับตัวอย่างไรเพื่อรับมือและจัดการได้
"แม้พื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคตะวันออกมีสัดส่วนจีดีพี 65% ของประเทศไทย รัฐต้องไม่มองว่าจะช่วยแค่พื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่ต้องกระจายความช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้ชาวบ้านในพื้นที่จีดีพีรองลงมาด้วย อย่างพื้นที่ลุ่มน้ำโขงก็มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น การสนับสนุนเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติไม่ควรมองข้ามหรือกระจุกพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง" ดร.พงษ์ศักดิ์แสดงทัศนะ
นักวิชาการจุฬาฯ คนเดิมชี้ด้วยว่า รัฐบาลสูญเม็ดเงินปีละหมื่นล้านเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติภัย ซึ่งกว่า 90% มาจากเรื่องน้ำท่วมและฝน อนาคตถ้ามีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ ต่อให้ภัยเท่าเดิม แต่การพัฒนาเพิ่มขึ้น เงินช่วยเหลือมูลค่าจะสูงมากขึ้น อีกทั้งจะวางแผนบรรเทาความเสี่ยงจากภัยเสี่ยงขาประจำและขาจรอย่างไร
ดร.วิเชียร เกิดสุข สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาสังคม ม.ขอนแก่น
พื้นที่ลุ่มน้ำโขงถือเป็นตัวอย่างชาวบ้านเจอความเสี่ยงภัยใหม่แล้วบอบช้ำไปตามๆ กัน ดร.วิเชียร เกิดสุข สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ลุ่มน้ำโขงมีปริมาณฝนมากที่ลาวและพม่า พื้นที่รับน้ำโขงใหญ่สุดอยู่ที่ลาว ไทย และจีน รวมแล้ว 7.9 แสนตารางกิโลเมตร แต่ตัวที่ทำให้เสี่ยงน้ำท่วมมากขึ้น นอกจากปริมาณน้ำฝนที่มีแนวโน้มมากขึ้นเฉลี่ย 10% ก็คือ เขื่อนลุ่มน้ำโขง แม้ผลดีเขื่อนช่วยผลิตพลังงาน แต่ผลลบกระทบปลาในน้ำโขง ปริมาณน้ำโขงไม่เป็นธรรมชาติ สองปีที่ผ่านมาน้ำโขงล้นตลิ่งเยอะมาก ผลจากการปล่อยน้ำเขื่อนและปริมาณน้ำฝน เวลานี้เขื่อนกั้นน้ำโขงที่จีน 9 ตัว สร้างเสร็จไป 8 ตัว ในไทย ลาว กัมพูชา จะมีเขื่อนอีก 11 ตัว
ดร.วิเชียร เผยว่า ภูมิอากาศในลุ่มน้ำโขง ฤดูฝนจะมีฝนมากขึ้น ฤดูแล้งจะแห้งแล้งมากขึ้น อีกตัวที่น่ากลัว พายุที่พัดเข้ามาในลุ่มน้ำโขง อย่างพายุทกซูรี เมื่อปี 60 ทำระดับแม่น้ำโขงเพิ่มสูง ปริมาณน้ำในอ่างหลักใกล้เต็ม จากข้อมูลพายุที่กระทบไทยโดยตรงปี 60 มีจำนวนนับ 10 ลูก ล่าสุดพายุไต้ฝุ่นมังคุด ถึงไม่เข้าไทยแต่แค่หางก็ทำให้ฝนตกหนักภาคอีสาน เหนือ
"จากการติดตามน้ำโขงช่วงปีหลังวิกฤติหนักกว่าเดิม น้ำโขงเอ่อล้นตลิ่ง มีการระบายน้ำจากลำน้ำสาขาช้า ไร่นาในอำเภอที่ติดน้ำโขงจมมิด กระทบต่อชุมชนลุ่มน้ำโขงหลักๆ นครพนม หนองคาย บึงกาฬ มุกดาหาร พื้นที่เกษตร วิถีปลูกพืชริมโขงเสียหายหมด เหลือแต่ตะกอนดิน กรณีลุ่มน้ำก่ำ ปี 60 น้ำท่วมนาข้าวเสียหาย 7 พันไร่ ปีนี้ผ่านมาครึ่งปีนาข้าวเสียหายไปแล้ว 2.5 หมื่นไร่ ยังไม่พูดถึงผลกระทบการประมงในน้ำโขง ฤดูการวางไข่ของปลาเปลี่ยนแปลง ชาวประมงหาปลายากขึ้น กระทบการอพยพของปลา ปลาหลายชนิดหายไป ตลิ่งพังทลายมากขึ้นคล้ายปัญหากัดเซาะชายฝั่งอ่าวไทย" ดร.วิเชียรฉายภาพผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว
สำหรับแนวทางลดผลกระทบและป้องกันในอนาคต นักวิชาการ ม.ขอนแก่น เสนอว่า ไทยจะแก้ปัญหาประเทศเดียวไม่ได้ เป็นความเสี่ยงใหม่ จะต้องประสานความร่วมมือกับประเทศในลุ่มน้ำ GMS จีน ลาว กัมพูชา เวียดนาม ไทยและเมียนมา จะขัดแย้งกันอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเจรจากับจีนเรื่องการปล่อยน้ำ ไม่ให้กระทบวิถีคนทั้งลุ่มน้ำ เพิ่มกลไกบูรณาการบริหารจัดการน้ำโขง การพร่องน้ำจากเขื่อนต้องมีเวทีเจรจา ปัจจุบันเกิดกรณีพิพาทในหลายประเทศ
"จะต้องจำลองสถานการณ์อุทกภัย จำลองจากน้ำฝน พายุ การปล่อยน้ำจากเขื่อน เพื่อทราบพื้นที่เสี่ยงภัย ต้องมีการเตรียมความพร้อม ไม่ใช่ปล่อยให้ท่วมแล้วหนีตายเหมือนกรณีเขื่อนแตกลาว อีกส่วนต้องทำระบบป้องกันและเตือนภัย ต้องวางแผนทั้งสิ่งก่อสร้างและไม่ใช้โครงสร้าง เพราะบริบทแต่ละพื้นที่ต่างกัน รวมถึงการปรับระบบปลูกพืช ปลูกก่อนน้ำมา ลักษณะอาคารบ้านเรือนของชุมชนเสี่ยงภัย" ดร.วิเชียรกล่าวถึงการรับมือ
ไมตรี จงไกรจักร์ มูลนิธิชุมชนไท
นายไมตรี จงไกรจักร์ มูลนิธิชุมชนไทและทีมเตรียมความพร้อมภัยพิบัติบ้านน้ำเค็ม กล่าวว่า บทเรียนภัยพิบัติที่ผ่านมาหน่วยงานแค่จ่ายเงินชดเชย แต่ชุมชนคือผู้สูญเสียและต้องฟื้นฟู ประเทศไทยตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการแปรปรวนสภาพภูมิอากาศ ถ้าจะลดความสูญเสียของชาวบ้าน สามารถทำได้ อาศัยการเฝ้าระวังและเตือนภัย จากประสบการณ์ยังพบการสื่อสารในภาวะวิกฤติของรัฐยังขาดประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม สำคัญสุดคือชุมชนต้องเป็นผู้จัดการภัยพิบัติ ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชน งานภัยพิบัติรอไม่ได้
"องค์ความรู้และประสบการณ์ ทั้งภัยและสภาพชุมชน ไม่มีใครรู้จริง แผนที่ชุมชนหรือเส้นทางอพยพต้องทำโดยชุมชน เมื่อมีภัยหรือเหตุฉุกเฉิน ไม่มีผู้ใดหรือหน่วยงานใดมากำกับดำเนินงานได้ทันท่วงที ถ้าเราไปส่งเสริมให้ชุมชนลุกขึ้นมาทำเรื่องภัยพิบัติเองจะมีความยั่งยืน เพราะมีความเป็นเจ้าของ ถ้ารัฐทำโครงการขาดกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนก็เป็นแค่ทางผ่านของเงิน" นายไมตรีกล่าว
ในการเปิดมุมมองครั้งนี้ ไมตรี ซึ่งทำงานจัดการภัยพิบัติระดับพื้นที่ทั่วไทยและมีโอกาสไปช่วยภัยพิบัติเขื่อนแตกที่ลาว บอกว่า กรณีเขื่อนแตกลาวสร้างความสูญเสียไม่ต่างจากสึนามิ ต้องได้รับการช่วยเหลือเยียวยา การฟื้นฟูระยะยาว ชาวลาวซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์จะไม่ได้กลับเข้าพื้นที่เดิม นอกจากนี้ ตนพบว่าการพัฒนาระบบการช่วยเหลือกู้ภัยลาว 1623 ก้าวหน้าไปมาก อย่างไรก็ตาม เห็นว่า ระเบิดเวลาอาเซียนคือเรื่องภัยพิบัติจากเขื่อนลุ่มน้ำโขง ขณะเดียวกันหันกลับมาที่บ้านเรา อยากให้เขื่อนเก่าของไทยมีการสำรวจและวิเคราะห์ความเสี่ยงจากมากสุดไปน้อยสุด หากปล่อยน้ำจะมีพื้นที่น้ำท่วมมากน้อยแค่ไหน และเตรียมรับมือเขื่อนแตกอย่างไรในอนาคต พร้อมส่งเสริมการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย เพราะการจัดการภัยพิบัติแบบรวมศูนย์ อาจไม่ใช่คำตอบของความเสี่ยงภัยใหม่
นอกจากงานเสวนาวิชาการ โอกาสนี้ยังเป็นการเปิดตัวศูนย์เชื่อมโยงความรู้และวิจัยนวัตกรรมด้านภัยพิบัติ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ซึ่ง รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ผอ.สถาบันวิจัยสังคม กล่าวว่า เป็นความพยายามสนับสนุนให้อาจารย์ศึกษาความรู้และวิจัย คาดหวังสร้างองค์ความรู้เชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายที่ทำงานจัดการภัยพิบัติ ศูนย์นี้จะเชื่อมประสาน ติดตาม และร่วมปฏิบัติการระดับพื้นที่ เพื่อสังเคราะห์ความรู้และสื่อสารความเสี่ยงภัยพิบัติไปยังสังคมอีกทางหนึ่ง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |