ย้ำผลวิจัย"ดื่มในระดับที่ปลอดภัย..ไม่มีจริง"


เพิ่มเพื่อน    


    องค์การอนามัยโลกศึกษาพบว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดโรคมากกว่า 200 โรค ทำให้มีผู้เสียชีวิตปีละกว่า 3 ล้านคนทั่วโลก ในส่วนประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตกว่า 26,000 คนต่อปี ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานตระหนักถึงภัยดังกล่าว และได้ออกมารณรงค์ให้คนไทยหันมาลด ละ เลิกอย่างต่อเนื่อง
    ล่าสุด สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ร่วมกับศูนย์ศึกษาปัญหาสุรา (ศวส.) เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา และเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ ได้จัดเวทีเพื่อพูดคุยในหัวข้อ “ดื่มในระดับที่ปลอดภัย...มีจริงหรือ” เพื่อเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียง ส่งผ่านให้สังคมได้รับทราบว่าการดื่มน้ำเมา หรือความเชื่อว่าดื่มนิดๆ หน่อยๆ แท้จริงแล้วไม่มีระดับไหนที่ปลอดภัยต่อร่างกาย

(ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว)

    ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ (CE-HSMR) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยงานวิจัยเรื่องภาระโรคจากการดื่มสุรา ปี 1990-2016 ของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ในปี 2016 สุราถือเป็นปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพลำดับ 7 ที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตและทุพพลภาพ และในปี 2016 ประชากรโลกเสียชีวิตจากสุราถึง 2.8 ล้านคน โดยงานวิจัยเตือนว่า การดื่มสุราเพียงเล็กน้อยแม้อาจลดความเสี่ยงของโรคหัวใจชนิดเส้นเลือดอุดตัน แต่จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคอื่นๆ กว่า 200 โรคที่มีสาเหตุจากแอลกอฮอล์ เช่น กลุ่มโรคมะเร็ง (ตับ เต้านม ช่องปาก หลอดอาหาร กล่องเสียง ลำไส้ใหญ่) วัณโรค เส้นเลือดในสมองแตก หัวใจวายจากความดันโลหิตสูง เป็นต้น   
    ทั้งนี้ ขอยกตัวอย่าง เช่น หากดื่มสุราในปริมาณ 1 ดริงก์ (10 กรัม) แม้อาจลดความเสี่ยงจากการเกิดเส้นเลือดหัวใจอุดตันได้เพียงน้อยนิด แต่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่นๆ ตามที่กล่าวมา ทำให้ในภาพรวมการดื่มสุราจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในทุกปริมาณการดื่ม ในทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะในเพศชาย เพราะการดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดภาระโรคในระดับที่สูงกว่าเพศหญิง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งตับ โรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองแตก ฯลฯ 
    ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์กล่าวว่า จากงานวิจัยดังกล่าวความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเริ่มตั้งแต่การดื่มเพียง 1 ดริงก์ต่อวันขึ้นไป (จากเดิมที่เคยเชื่อว่าการดื่ม 1-2 ดริงก์อาจลดอัตราการเสียชีวิตได้) จึงถือว่าไม่มีระดับที่ปลอดภัยในการดื่ม สอดคล้องกับคำแนะนำจาก UK Chief Medical Officers’ Low Risk Drinking Guidelines ที่ออกในปี 2016 ที่ระบุว่า ไม่มีระดับการดื่มที่ไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง จึงควรจะดื่มให้น้อยที่สุดหรือไม่ดื่มเลย รวมถึงคำแนะนำจาก World Cancer Research Fund ร่วมกับ American Institute for Cancer Research ปี 2018 ที่ระบุว่า “เพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง การไม่ดื่มเลยจะดีที่สุด” 


    “เมื่อก่อนอาจมีความเชื่อว่าดื่มเหล้า-เบียร์เล็กน้อยไม่เป็นไร คุณอาจคิดผิด ผลวิจัยงานวิจัยที่ใช้ข้อมูลจากทั่วโลกชิ้นนี้ยืนยันชัดเจนว่า ไม่ว่าดื่มปริมาณเท่าใดก็ส่งผลต่อสุขภาพ ดื่มแล้วเกิดผลกระทบมากมาย ไม่มีระดับไหนที่ดื่มแล้วปลอดภัย การดื่มแม้ดื่มเพียงแค่ 1 ดริงก์ต่อวัน (เทียบเท่าเบียร์ 1 กระป๋อง) จะเพิ่มการตาย 4 คนในประชากร 1 แสนคน และท้ายนี้ขอฝากไปยังธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำการตลาดทางสื่อโซเชียลต่างๆ ขอให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย ทำการค้าอย่างมีจริยธรรม หยุดทำให้คนเข้าใจผิดด้วยการ ปล่อยบทความผลดีของการดื่มเหล้า ดื่มแล้วดีต่อหัวใจ ดื่มแล้วสุขภาพจิตดีขึ้น แล้วแชร์ตามเพจต่างๆ ควรหยุดการกระทำที่ทำให้คนสับสนเข้าใจผิด” นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรากล่าวทิ้งท้าย
    นายไพบูลย์ เนียมมณี แกนนำผู้ชายเลิกเหล้า กทม. ระบุว่า ก่อนผันตัวเองมาเป็นแกนนำผู้ชายเลิกเหล้าได้ ก็เคยดื่มเหล้าหนักมาก่อน เริ่มดื่มตั้งแต่อายุ 13 ปี ตอนนั้นทำงานในโรงงาน ตกเย็นเลิกงานก็สังสรรค์ เพราะเชื่อมาตลอดว่าดื่มพอเป็นกระสาย ดื่มเหล้าแล้วทำให้กินข้าวอร่อย ดื่มแล้วทำให้นอนหลับสบาย กระทั่งดื่มทุกวันจนติด จากเหล้าแบน เปลี่ยนเป็นขวด และเมื่อร่างกายเริ่มแย่ตรวจพบว่าเป็นไตอักเสบ แต่ก็ยังดื่มหนักจนเกิดปัญหาครอบครัว หนี้สินค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ 
    อยากฝากเตือนถึงผู้ที่จะลองดื่มเหล้าว่า อย่าพยายามที่จะดื่ม อย่ามีครั้งแรก เพราะการดื่มแบบปลอดภัยไม่มีอยู่จริง มันเป็นอุปาทาน อ้างดื่มนิดหน่อยไม่เป็นไร แต่คำว่านิดหน่อยนี่แหละที่มันนำไปสู่การติดเหล้า และสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมา ซึ่งอยากให้เอาเรื่องของตนเป็นอุทาหรณ์ และตอนนี้ตัดสินใจเลิกดื่มเหล้าเด็กขาดมาได้ 7 เดือนแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากลูกสาวที่เป็นแรงบันดาลใจทำให้หยุดดื่ม 
    นายถาวร เบ็ญพาด อดีตผู้ที่เคยดื่มเหล้าจนติดและสามารถเลิกดื่มได้ กล่าวว่า ดื่มเหล้ามานานกว่า 20 ปี ช่วงนั้นดื่มหนักดื่มทุกวัน เพราะอยากสังสรรค์กับเพื่อนฝูง เกิดปัญหาทะเลาะวิวาทบ่อยครั้ง จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุเมาแล้วขับ รักษาตัวในโรงพยาบาลนาน ช่วงนั้นความสัมพันธ์กับภรรยาเริ่มจืดจาง มีเพียงลูกที่คอยดู และทำให้คิดได้ว่าช่วงรักษาตัวในโรงพยาบาลก็หยุดดื่มได้ ไม่ดื่มก็ไม่เป็นไร จนทำให้เลิกดื่มได้ และในช่วงปี 59 เจ็บแน่นหน้าอก หมอระบุว่าเป็นเส้นเลือดหัวใจตีบ 3 เส้น จนต้องทำบอลลูน อาการหนักมาก ผ่าตัดถึง 3 ครั้ง เกือบเอาชีวิตไม่รอด หมอระบุเกิดจากการสะสมของการดื่มเหล้าเป็นเวลานาน และค่าใช้จ่ายในการรักษาเกือบ 5 แสนบาท    
    “ดื่มแล้วจะหยุดไม่ได้ แต่จะเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ ไม่เมาไม่เลิก ถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะไม่แตะต้องสุรา อยากฝากถึงคนที่ดื่มอยู่ให้กลับตัวเลิกดื่ม ส่วนคนที่กำลังจะดื่มก็ขอให้หยุดคิด เพราะผลที่ตามมาจากโรคต่างๆ จะอยู่กับคุณไปตลอดชีวิต” นายถาวรกล่าว


    “เคยเชื่อว่าดื่มพอประมาณ ดื่มนิดหน่อยให้เจริญอาหาร ไม่รู้คำพูดเหล่านี้มีที่มายังไง แต่แล้วก็หยุดไม่ได้ มันจะเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ อยากฝากถึงคนที่ดื่มอยู่ให้กลับตัวเลิกดื่ม ส่วนคนที่กำลังจะดื่ม ขอให้คิดถึงผลที่ตามมาจากโรคต่างๆ จะอยู่กับคุณไปตลอดชีวิต และในวันที่ต้องรักษาตัวมีแต่ครอบครัวลูกเมีย ส่วนเพื่อนฝูง แม้กระทั่งคนขายเหล้า ร้านเหล้า เขาไม่มารับผิดชอบอะไรด้วย” นายถาวรกล่าวทิ้งท้าย      
    เห็นงานวิจัยและประสบการณ์ของผู้ติดสุรา ทำให้มั่นใจว่าการดื่มเพียงเล็กน้อยทำให้เกิดประโยชน์นั้นไม่มีอยู่จริง ยังแถมปัญหาตามมาอีกมากด้วย.  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"