เร่งสอบแก๊งโกงคนพิการ โฆษกพม.โบ้ยไม่เคยรู้เรื่อง


เพิ่มเพื่อน    

      "ดีเอสไอ" เร่งตรวจขบวนการหักหัวคิว-อมเงินคนพิการ 1.5 พันล้าน คาดสัปดาห์หน้ารู้ผลรับสืบสวนคดีหรือไม่ ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการ เข้าพบ "บิ๊กอู๋" ชงข้อมูลให้ กก.ตรวจสอบข้อเท็จจริง ปลัดแรงงานลั่นหากพบเจ้าหน้าที่มีเอี่ยวพร้อมดำเนินคดีทั้งอาญาและวินัย โฆษก พม.โบ้ยไม่เคยรู้เรื่องมาก่อน 
      ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) วันที่ 20  กันยายน ร.ต.อ ปิยะ รักสกุล ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ ดีเอสไอ กล่าวถึงกรณีนายปรีดา ลิ้มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการ พร้อมคนพิการที่ถูกละเมิดสิทธิ เข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เพื่อขอให้รับสอบสวนขบวนการหักหัวคิวการจ้างงานคนพิการ มูลค่าความเสียหาย 1,500 ล้านบาทว่า หลังจากรับเรื่องแล้วดีเอสไอจะตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่ากรณีดังกล่าวเข้าลักษณะคดีที่สมควรรับสอบสวนเป็นคดีพิเศษตามที่กำหนดไว้ในบัญชีความผิดแนบท้ายหรือไม่ และมีลักษณะการกระทำความผิดสลับซับซ้อนเชื่อมโยงกันเป็นองค์กรอาชญากรรมหรือไม่
    "ในสัปดาห์หน้าจะสามารถสรุปข้อเท็จจริงเบื้องต้นเพื่อทำความเห็นไปยังอธิบดีดีเอสไอได้ว่ามีพฤติการณ์แห่งคดีที่สามารถรับไว้สืบสวนสอบสวนได้หรือไม่ หากคำร้องทุกข์ไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ก็จะต้องส่งเรื่องไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อ แต่ถ้าพบข้อเท็จจริงเข้าข่ายสมควรรับไว้เป็นคดีพิเศษ ก็จะเสนอให้อธิบดีดีเอสไอส่งเรื่องไปยังกองคดีเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริงในระหว่างการสืบสวนสามารถให้ความคุ้มครองพยานได้ อย่างไรก็ตาม ในชั้นการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นตัวแทนเครือข่ายยังไม่ได้ให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน เป็นเพียงยื่นเรื่องร้องทุกข์เท่านั้น" ร.ต.อ.ปิยะ กล่าว 
    วันเดียวกัน นายปรีดา ลิ้มนนทกุล พร้อมคณะ เดินทางมาเข้าพบ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อหารือถึงเรื่องดังกล่าว โดยนายปรีดากล่าวว่า วันนี้ได้มาให้ข้อมูลในเบื้องต้นกับกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้กฎหมายการจ้างงานคนพิการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ รมว.แรงงานแต่งตั้ง เพื่อจะนำไปประกอบการพิจารณา
     พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว โดยมอบหมายให้ นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน มีรองอธิบดีกรมการจัดหางาน และรองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นกรรมการ การหารือร่วมกับประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการในวันนี้ เพื่อรับทราบข้อมูลและข้อเท็จจริงในเบื้องต้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบระบบขั้นตอนการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทราบผลภายใน 15 วัน
     นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การที่กระทรวงแรงงานได้เชิญนายปรีดาเข้ามาให้ข้อมูลในวันนี้ ถือเป็นพยานบุคคลที่สำคัญ กระทรวงแรงงานจะแสวงหาข้อเท็จจริงถึงที่สุด พร้อมที่จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย หากพบเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งทางอาญาและเอาผิดวินัย โดยไม่มีข้อยกเว้นแต่อย่างใด ทั้งนี้ สามารถแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมมาได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทรศัพท์ 1506 
     ด้านนางสุภัชชา สุทธิพล โฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ชี้แจงว่า จากกรณีดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 ประเด็น ดังนี้ 1.คนพิการที่ถูกจ้างงานจำนวน 25,000 คน แต่มีการทำงานจริงแค่ 20,000 คน ส่วน 5,000 คนและไม่รู้ว่าตนเองมีสิทธิได้รับสวัสดิการการจ้างงานเดือนละ 9,500 บาท จึงถูกสมาคมคนพิการและมูลนิธิช่วยเหลือคนพิการหักหัวคิวโดยจ่ายให้คนพิการเพียงเดือนละ 500-3,000 บาท ซึ่งข้อเท็จจริง ประจำปี 2561 มีการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 จำนวน 36,833 คน ซึ่งกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ไม่เคยได้รับเรื่องร้องเรียนจากคนพิการที่เป็นลูกจ้างของสถานประกอบการแต่อย่างใด แต่หากพบว่าสถานประกอบการไม่ได้ให้คนพิการทำงานจริง พก.จะตรวจสอบข้อเท็จจริง และหากปรากฏข้อเท็จจริงว่าสถานประกอบการไม่ได้จ้างคนพิการจริง จะเรียกให้สถานประกอบการส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และหากยังไม่นำส่ง จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
    ประเด็นที่ 2 การส่งเสริมอาชีพคนพิการตามมาตรา 35 เกิดการทุจริตในส่วนค่าจ้างวิทยากรและเงินในการจัดฝึกอบรม สร้างความเสียหายถึง 1,500 ล้านบาทต่อปี กรณีการปฏิบัติตามมาตรา 35 คือการส่งเสริมอาชีพอิสระให้กับคนพิการนั้น กฎหมายกำหนดให้สถานประกอบการยื่นขอดำเนินการกับกรมการจัดหางานเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากถูกต้อง กรมการจัดหางานจะเห็นชอบและจะแจ้งมาที่ พก. ซึ่ง พก.จะบันทึกเข้าระบบฐานข้อมูลการปฏิบัติตามกฎหมายไว้ และหากต่อมามีการร้องเรียนว่ามีการดำเนินการไม่ถูกต้อง พก.จะส่งเรื่องให้กรมการจัดหางานดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งหากไม่เป็นไปตามที่ได้รับความเห็นชอบ พก.จะแจ้งสถานประกอบการส่งเงินเข้ากองทุน และหากยังไม่นำส่งจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
    ส่วนประเด็นที่ 3 มีการเรียกร้องความเป็นธรรมและยื่นเรื่องที่ทำเนียบรัฐบาล แต่กลับถูกข่มขู่คุกคาม โดยเจรจาให้รับเงิน 20,000 บาท แลกกับการเซ็นยินยอมไม่ดำเนินคดี จึงเชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปสนับสนุนหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ข้อเท็จจริง พก.ไม่เคยทราบเรื่องในกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"