“วิษณุ” กระตุก “กำนันเทือก” อย่าทำอะไรสุ่มเสี่ยง ชี้ทุกฝ่ายจับตาเดี๋ยวซ้ำอดีตเลือกตั้งโมฆะ ย้ำ “รัฐมนตรี” นั่งหัวหน้าพรรคได้ “กอบศักดิ์” ลั่นรอไม่ได้มีเซอร์ไพรส์แน่ “สามมิตร” โวพร้อมทุกอย่างทั้ง “กระสุน บารมีและนโยบาย” ดูดล็อตใหญ่ทั้ง ส.ส.ปชป.ภาคตะวันออก 4 ราย ชทพ.อีก 1 พ่วง ส.ส.เพื่อไทยเชียงใหม่อีก 2-3 ราย ถาวรเตรียมหารือมาร์คยังข้องใจกฎเลือกหัวหน้า
เมื่อวันพฤหัสบดี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีการเผยแพร่ภาพรถแห่ของกลุ่มประชาภิวัฒน์และชาวพิษณุโลก เชิญชวนแสดงความคิดเห็นและจัดทำนโยบายร่วมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ว่าไม่ขอตอบ เพราะมีเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่ ทั้งตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คงไม่ไปวินิจฉัยอะไร แต่ถ้าให้เตือนสามารถเตือนได้ว่าให้ระมัดระวัง เพราะทุกอย่างอยู่ในสายตา ที่ถึงวันหนึ่งจะมีการนำมาใช้ประโยชน์ เมื่อถึงวันที่รู้ผลแพ้ชนะเลือกตั้งอาจยกมาเป็นเหตุผล ซึ่งวันนั้นจะอันตราย เช่น การเลือกตั้งที่ผ่านมาที่กลายเป็นโมฆะไปเลย
เมื่อถามว่า การอนุญาตให้พรรคการเมืองประชาสัมพันธ์หาสมาชิกจะสุ่มเสี่ยงเป็นช่องให้หาเสียงได้หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ไม่ได้อยู่ที่ถ้อยคำ แต่อยู่ที่เนื้อหา รูปแบบ วิธีการเป็นสำคัญ ส่วนการเปิดนโยบายหาสมาชิกพรรคนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่จะบอกว่าพรรคตัวเองกำลังคิดอะไร เพราะฉะนั้นไม่ใช่การหาเสียง การแสดงนโยบายหรือคิดว่าประเทศควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่พูดได้ แต่เมื่อไรที่วกกลับเข้ามาว่าจงเลือกพรรคของเรา หมายเลขนี้ นายคนนี้ ถ้าแบบนี้คือหาเสียง
เมื่อถามว่า พรรคการเมืองยังตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับห้ามใช้สื่อโซเชียลมีเดียประชาสัมพันธ์ นายวิษณุกล่าวว่า ห้ามเฉพาะช่วงนี้เท่านั้น เมื่อปลดล็อกแล้วทุกพรรคก็ใช้ได้ แต่ที่วันนี้ห้ามไว้ อย่าว่าแต่ใช้สื่อโซเชียลหาเสียงเลย ใช้อะไรก็ไม่ได้ จึงไม่รู้จะพูดกันทำไม ส่วนยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง แต่ละพรรคเริ่มออกมาโจมตีกันนั้น ก็เป็นสิ่งที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้น จึงระมัดระวังในช่วง 90 วันนี้ที่คลายล็อก เพราะหากปลดล็อกยิ่งจะเชิญชวนให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเร็ว
ถามถึงความชัดเจนของรัฐมนตรีที่เข้าสังกัดพรรคการเมืองว่าสามารถดำรงตำแหน่งอยู่ได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ความชัดเจนมีมานานแล้ว ว่ารัฐมนตรีไปทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องลาออก แต่หากเสี่ยงต่อคำครหานินทาก็แล้วแต่ความรับผิดชอบแต่ละบุคคล ที่สำคัญรัฐมนตรีลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ แต่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ ได้ เพราะไม่มีอะไรห้าม
"ไม่น่าจะตำหนิ แต่กลับเป็นการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยด้วยซ้ำไป ข้อสำคัญคือ ต้องไม่ใช้ความเป็นรัฐมนตรีไปทำประโยชน์ให้พรรคที่เป็นสมาชิกหรือเป็นหัวหน้า" นายวิษณุตอบถึงกรณีสังคมจะตำหนิหรือไม่หากรัฐมนตรีไปเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงอนาคตทางการเมืองหลังมีกรณีกระแสข่าวจะมาเป็นโฆษกพรรคพลังประชารัฐว่า รอก่อน อดใจรออีกนิด รอดูเซอร์ไพรส์ รอไม่นาน ขอให้รอดูแล้วกัน เมื่อถามอีกว่าพร้อมทำงานการเมืองใช่หรือไม่ นายกอบศักดิ์ตอบว่า ตอนนี้ก็ทำงานการเมืองอยู่แล้ว คือดูแลพี่น้องประชาชน ก็ขอให้รอดู อดใจรอ เดี๋ยวก็ถึงเวลา
จากนั้นผู้สื่อข่าวได้พยายามกระเซ้าถามนายกอบศักดิ์ว่า รอเจอวันที่ 29 ก.ย. ที่พรรคพลังประชารัฐประชุมเลยใช่ไหม นายกอบศักดิ์ไม่ตอบ เพียงแต่ยิ้มและยักคิ้ว
เพื่อนร่วมรุ่น“บิ๊กตู่”ไขก๊อก
ขณะเดียวกัน ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า พล.อ.ยุวนัฏ สุริยกุล ณ อยุธยา ขอลาออก ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา ทำให้สมาชิก สนช.คงเหลือ 245 คน โดยให้เหตุผลว่า เพราะสุขภาพไม่แข็งแรง จึงอยากจะกลับไปรักษาตัวก่อน
ทั้งนี้ พล.อ.ยุวนัฏเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 12 (ตท.12) โดยมีรายงานว่า พล.อ.ยุวนัฏ กำลังไปช่วยงานพรรคพลังประชารัฐ เพราะในสมัย ครม.ตู่ 1 เคยมีกระแสว่า พล.อ.ยุวนัฏจะไปเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
วันเดียวกัน นายวิษณุเป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนานักบริหารภาครัฐเพื่อบูรณาการการพัฒนาประเทศไทย ตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) โดยระบุว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อกฎหมายลูก 6 ฉบับเสร็จสิ้น ซึ่งคาดว่าจะเสนอ สนช.ได้ในวันที่ 4 ต.ค. ใช้เวลาพิจารณา 3 เดือน ก็เสร็จราวเดือน ธ.ค. จากนั้นนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีก 3 เดือน ก็จะเสร็จประมาณเดือน มี.ค. ดังนั้นหากการเลือกตั้งใหญ่มีขึ้นในวันที่ 24 ก.พ.2562 การเลือกตั้งท้องถิ่นก็น่าจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ค.
ส่วนนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์สมาคมเรื่อง "กกต.ต้องเรียกนายกฯ ชี้แจงกรณีมีคนชวนเลือกตั้งทำบัตรเสีย-โหวตโน" ว่าการแพร่หรือไขข่าวของนายกฯ เป็นการสร้างความสับสนให้เกิดบรรยากาศที่ไม่ดีต่อกระบวนการเลือกตั้ง หากปล่อยเลยตามเลย อาจเป็นช่องทางที่ทำให้มีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเพื่อความกระจ่างและระงับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น กกต.ต้องเรียกหรือเชิญนายกฯ ให้มาชี้แจงต่อ กกต.
“กกต.เรียกนายกฯ มาสอบแล้ว ไม่ปรากฏข้อมูลหรือหลักฐานอันเชื่อได้ว่ามีพฤติการณ์ดังกล่าวจริง นายกฯ ต้องแสดงความรับผิดชอบ เพราะเป็นการเต้าข่าว แต่หาก กกต.ไม่เรียกหรือดำเนินการตามข้อเรียกร้องนี้ กกต.ก็จะเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 โดยสมาคมจะยื่นเรื่องดังกล่าวในวันศุกร์ที่ 21 ก.ย.นี้”
นายศรีสุวรรณยังกล่าวเพิ่มด้วยว่า สมาคมจะร้องเรียน กกต.กรณีมีขบวนรถแห่ประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนให้มาร่วมการจัดทำนโยบายพรรค โดยมีชื่อนายสุเทพที่ จ.พิษณุโลก และการจัดประชุมชาวบ้านเพื่อจัดทำนโยบายที่ จ.สมุทรสาคร ด้วยว่าเข้าข่ายการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 และคำสั่งที่ 13/2561 หรือไม่
สำหรับความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ นั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงประชุมพรรคการเมืองกับ กกต.ในวันที่ 28 ก.ย.ว่า จะมีตนเอง เลขาธิการพรรค และผู้อำนวยการพรรคไปร่วม แต่ไม่ค่อยแน่ใจว่าจะได้คุยแค่ไหน ซึ่งสิ่งที่เราอยากได้คำตอบมากๆ เร็วๆ และคิดว่าอยู่ในใจของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ คือ 1.กระบวนการในการสมัครสมาชิกอย่างไรที่จะทำให้สะดวก และ 2.ปัญหาที่บอกว่าสื่อสารได้ ห้ามหาเสียง แค่ไหนที่จะให้เราทำได้
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) แถลงว่า ในการประชุมใหญ่วันที่ 5 ต.ค.นี้ พรรคเตรียมปรับนโยบายใหม่ โดยชูนโยบายทางการศึกษา และเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ รวมทั้งจะเสนอชื่อหัวหน้าพรรคเข้าไว้ในบัญชีนายกฯ แน่นอน ทั้งนี้ หลักตัดสินใจร่วมรัฐบาลนั้น จะให้ความสำคัญกับนโยบาย ว่าร่วมกับใครได้เราก็พร้อม แต่หากไม่สามารถบรรจุนโยบายของพรรคเข้าสู่รัฐบาลได้ เราก็พร้อมเป็นฝ่ายค้านเช่นกัน
นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรค ชทพ. กล่าวว่า พรรคจะส่งผู้สมัครทั่วประเทศแล้วตั้งเป้าไว้ที่ 30 ส.ส. หวังแบบการเมืองเพียงพอ ส่วนกรณี พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า พรรคการเมืองใดที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดจะได้จัดตั้งรัฐบาลและตั้งนายกฯ นั้น ตีความได้ 2 แนวทางคือ พรรคการเมืองที่ได้เสียงมากที่สุดเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล กับพรรคการเมืองที่สามารถรวบรวมเสียงหลายพรรคให้ได้มากที่สุด ซึ่งเดาไม่ถูกว่าจะออกมาเป็นแบบไหน
สามมิตรโอ่ผลงานดูด
“ตอนนี้ตำแหน่งนายกฯ ยังเป็น 3 ขยักอยู่ คือมาจาก ส.ส. มาจากชื่อบุคคลที่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งโดยตรง แต่อยู่ในรายชื่อของพรรคการเมืองที่ถูกเสนอต่อสาธารณะก่อนการเลือกตั้งแล้ว หรือที่เรียกว่านายกฯไฮบริด มาจากชื่อบุคคลภายนอกเลย โดยที่ชื่อบุคคลนั้นไม่เคยถูกพรรคการเมืองเสนอชื่อมาให้ทราบก่อน แต่ตรงนี้ต้องใช้เสียงในสภาถึง 500 เสียงทั้งสองสภา ซึ่งถือว่าไม่ง่ายเลยในสถานการณ์ที่กระจัดกระจายขนาดนี้” นายนิกรระบุ
ส่วนที่ศูนย์ประสานงานกลุ่มสามมิตร จ.นครราชสีมา นายภิรมย์ พลวิเศษ แกนนำและเลขาฯ กลุ่มสามมิตร ประเมินว่าตัวเลข ส.ส.ของพรรคประชารัฐหรือกลุ่มสามมิตร เฉพาะภาคอีสาน จะได้กว่า 50 คน รวมปาร์ตี้ลิสต์ด้วย และมั่นใจว่าภาคอีสานจะได้ไม่ต่ำกว่าเขตละ 30,000 เสียงได้แน่นอน ส่วนภาคเหนือเกิน 7 ล้านเสียงแน่นอน ซึ่งไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน
“เรามีทุกอย่าง ทั้งนโยบาย บารมี และกระแสได้หมด ที่สำคัญตัวสุดท้ายคือ กระสงกระสุน เสบียงกรัง และจะมีเซอร์ไพรส์ในอีก 2-3 วันที่จะมีผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย จ.เชียงใหม่ เปิดตัว 2-3 คน ถือเป็นเมืองหลวงของพรรคเพื่อไทย และมีแนวโน้มว่าจะมาจากภาคตะวันออก 5 คน จากพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนพรรคพลังชลตอนนี้อยู่ในขั้นตอนร่วม ส่วนเรื่องเข้าสังกัดพรรคไหนใดเราอยู่ระหว่างตัดสินใจ เพราะยังมีเวลา” นายภิรมย์กล่าว
นายภิรมย์กล่าวต่อว่า การเลือกตั้งพรรคอันดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาลก็เป็นครรลองประชาธิปไตย แต่ว่าสถานการณ์จริงในอนาคตเรายังไม่รู้ เพราะการโหวตเป็นนายกฯ ถ้ารวมกันเกินครึ่งคนนั้นก็เป็นนายกฯ หรือต้องอาศัย ส.ว.มาช่วย ก็เป็นไปตามกรอบกฎหมาย ฉะนั้นใครจะได้ที่หนึ่ง สอง สาม ก็ไม่แน่จะได้เป็นนายกฯ อาจจะสอง สาม สี่ ห้า รวมกันแล้วเป็นนายกฯ ก็ได้
ขณะเดียวกัน ที่ร้านอาหารเพลิน ย่านวิภาวดีรังสิต อดีต ส.ส.ภาคตะวันออกของ ปชป. ประกอบด้วย นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ อดีต ส.ส.ชลบุรี, พล.ต.ท.พิทักษ์ จารุสมบัติ อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทรา, นายบุญเลิศ ไพรินทร์ อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทรา, นายวิชัย ล้ำสุทธิ อดีต ส.ส.ระยอง และนายชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทราพรรคชาติไทยพัฒนา ได้ร่วมรับประทานอาหารและหารือกับแกนนำกลุ่มสามมิตร
โดยนายพิทักษ์กล่าวว่า อยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจะลงเลือกตั้งในนาม ปชป. หรือ พปชร. โดยจะตัดสินใจชัดเจนในช่วงต้นเดือน พ.ย.เป็นอย่างช้า
เช่นเดียวกับนายวิชัยที่กล่าวว่า อยู่ระหว่างการตัดสินใจเช่นกัน
ขณะที่นายสรวุฒิระบุว่า เราต้องตัดสินใจให้ดี เพราะเสียดายเช่นกันที่จะต้องไปอยู่พรรคอื่น เพราะอยู่ ปชป.มานานเป็นเวลาหลายปี แต่ถ้าโอกาสมาแล้วมันดี ทำให้ประเทศชาติสงบ ก็ต้องตัดสินใจเหมือนกัน
สำหรับชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค ปชป.นั้น นายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา และอดีตรองหัวหน้า ปชป. ที่สนับสนุน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก ลงชิงตำแหน่ง กล่าวว่า ได้หารือกับทีมงานและอดีต ส.ส.หลายคน ซึ่งยังสงสัยในระเบียบข้อบังคับพรรคในการเลือกหัวหน้าพรรคที่ทีมงานของนายอภิสิทธิ์ยกร่าง ซึ่งยังมีบางประเด็นไม่ชัดเจน ดังนั้น ในวันที่ 21 ก.ย. ตนเองและ นพ.วรงค์ รวมถึงทีมงานบางส่วน จะเข้าพบนายอภิสิทธิ์ในเวลา 13.00 น.ที่พรรค เพื่อขอทราบความชัดเจนของกติกา ก่อนนำเข้าที่ประชุมใหญ่ของพรรคในวันที่ 26 ก.ย.นี้ เพราะที่ผ่านมาเป็นการประชุมกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรค โดยที่อดีต ส.ส.ไม่ได้ทราบรายละเอียด จึงเกิดคำถามอยู่ในใจ ก็ต้องไปพูดคุยให้เกิดความกระจ่าง
“มีหลายประเด็นที่ยังมีข้อสงสัย เช่น สิทธิของสมาชิกพรรคที่จะลงคะแนนหยั่งเสียง แทนที่จะนับคะแนน 1 คน 1 เสียง แต่กลับคำนวณเป็นสัดส่วนไม่เท่าเทียมกับอดีต ส.ส.และตัวแทนที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาเป็นองค์ประชุมใหญ่ ทั้งที่มีความเป็นสมาชิกเท่ากัน อีกปัญหาหนึ่งคือ แอปพลิเคชันที่จะใช้ลงคะแนนก็ควรมีคนกลางตรวจสอบ แทนการใช้คนเพียงคนเดียวประสานบริษัทเอกชนออกแบบ เพราะแม้จะอ้างเป็นเทคโนโลยี แต่ก็ทราบดีว่าปัจจุบันสามารถแฮ็ก เจาะข้อมูลได้ หากมีคนไปพูดขยายความว่าคนนั้นคนนี้ทำ พรรคก็จะเสียหาย” นายถาวรกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |