วิกฤติ! โรงเรียนในชนบทขาดครู-นร.แห่เข้าเมือง ส่อแววถูกยุบ13แห่ง


เพิ่มเพื่อน    

20 ก.ย. 61 – ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าปัญหาขาดแคลนครูของโรงเรียนระดับประถมศึกษาในพื้นที่ชนบทของจังหวัดพิจิตร ซึ่งก่อนหน้านี้ มีโรงเรียนหลายแห่งเหลือครูเพียงแค่คนเดียว  เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กนักเรียน 20-30 คน ขาดแคลนครูถึงขนาดที่ว่ากรรมการสถานศึกษารวมถึงผู้นำชุมชนต้องประกาศหาครูจิตอาสาหรือจัดการทอดผ้าป่าหาเงินไปจ้างครูให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนของรัฐบาล ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ล่าสุด ว่าที่ พ.ต.สุวิศิษฎ์ กันทา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิจิตร เขต 1 เปิดเผยว่า สพป.พิจิตร เขต 1 มีโรงเรียนระดับประถมศึกษาอยู่ในความดูแล 137 โรงเรียน มีครูอยู่ในความดูแล 1,137 คน มีเด็กนักเรียนที่อยู่ในความรับผิดชอบ 17,944 คน  สำหรับปัญหาของโรงเรียนที่มีครูเพียง 1 คน ขณะนี้มี 3โรงเรียน คือโรงเรียนวัดหงษ์ ต.ย่านยาว อ.เมืองพิจิตร มีเด็กนักเรียน 26 คน , โรงเรียนลำชะล่า ต.หัวดง อ.เมืองพิจิตร มีเด็กนักเรียน 6 คน และ โรงเรียนวังกระโดน ต.โพธิ์ประทับช้าง อ.โพธิ์ประทับช้าง มีเด็กนักเรียน 12 คน จากปัญหาที่เกิดขึ้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิจิตร เขต 1 ได้ดำเนินการจัดหาบุคลากรเข้าไปช่วยเหลือในด้านการเรียนการสอนแล้ว

 ส่วนปัญหาที่น่ากังวลว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต คือโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครู 2 คน จำนวน 13 โรงเรียน ได้แก่ 1.โรงเรียนวัดวังมะเดื่อ ต.ท่าฬ่อ อ.เมืองพิจิตร มีเด็กนักเรียน 27 คน 2.โรงเรียนวัดเนินสมอ ต.ป่ามะคาบ อ.เมืองพิจิตร มีเด็กนักเรียน 41 คน 3.โรงเรียนบ้านเนินยาว ต.หัวดง อ.เมืองพิจิตร มีเด็กนักเรียน 42 คน 4.โรงเรียนบ้านยางสามต้น ต.หนองพระ อ.วังทรายพูน ขณะนี้ไม่มีเด็กนักเรียน มีครู 2 คนก็ให้ย้ายไปช่วยสอนที่โรงเรียนใกล้เคียงแต่ตำแหน่งครูและโรงเรียนยังไม่ได้ปรับยุบอย่างเป็นทางการ

5.โรงเรียนบ้านห้วยคำตาล ต.ทุ่งใหญ่ อ.โพธิ์ประทับช้าง มีเด็กนักเรียน 20 คน 6.โรงเรียนบ้านหนองคล้า ต.เนินสว่าง อ.โพธิ์ประทับช้าง มีเด็กนักเรียน 41 คน 7.โรงเรียนวัดไผ่รอบ ต.ไผ่รอบ อ.โพธิ์ประทับช้าง มีเด็กนักเรียน 31 คน 8.โรงเรียนบ้านหนองไม้แดง ต.ไผ่รอบ อ.โพธิ์ประทับช้าง มีเด็กนักเรียน 32 คน 9.โรงเรียนวัดใหม่ราษฎร์บำรุง ต.สามง่าม  มีเด็กนักเรียน 41 คน

10.โรงเรียนบ้านหนองจั่ว ต.คลองทราย อ.สากเหล็ก มีเด็กนักเรียน 36 คน 11.โรงเรียนบ้านหนองสองห้อง ต.วังทับไทร  อ.สากเหล็ก มีเด็กนักเรียน 31 คน แต่หลังจากวันที่ 1 ต.ค. 2561 จะมีครูปลดเกษียณ 1 คน โรงเรียนนี้ก็จะเหลือครูเพียงคนเดียว 12.โรงเรียนบ้านคลองทรายราษฎร์อุทิศ  ต.หนองหญ้าไทร อ.สากเหล็ก มีเด็กนักเรียน 24 คน และ 13. โรงเรียนบ้านบัวยาง ต.หนองหลุม อ.วชิรบารมี  มีเด็กนักเรียน 26 คน

 

โรงเรียนทั้ง 13 แห่งนี้ วันนี้ยังมีครู 2 คน ซึ่งถ้าพิจารณาดูแล้วในอนาคตไม่มีเด็กนักเรียนเพิ่มขึ้นก็จะหนีไม่พ้นที่จะต้องเข้าสู่ภาวะวิกฤติที่ไม่มีเด็กนักเรียนก็ไม่ได้อัตรากำลังครูผู้สอนเพิ่มตามหลักการที่วางเอาไว้ ว่า ถ้ามีเด็กนักเรียน 20 คน ก็จะได้ครู 1 คน ดังนั้นหากไม่เป็นไปตามหลักการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิจิตร เขต 1 ก็มีความจำเป็นที่จะต้องยุบรวมโรงเรียนที่ไม่เข้าหลักการให้เด็กนักเรียนไปเรียนรวมกันในโรงเรียนที่ใกล้เคียง ซึ่งทุกวันนี้ก็มีการดำเนินการแบบนี้แล้วหลายแห่ง โดย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิจิตร เขต 1 มีงบประมาณในการว่าจ้างรถรับส่งนักเรียนให้อีกด้วย

รอง ผอ.สพป.พิจิตรเขต 1  กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2551-2561 มีการประกาศเลิกสถานศึกษา หรือปิดโรงเรียนในพื้นที่ชนบทที่มีนักเรียนเหลือน้อย ไปแล้วไม่น้อยกว่า 40 โรงเรียน ล่าสุดวันที่ 1 ต.ค. 2561 โรงเรียนดงป่าคำ ต.ดงป่าคำ อ.เมือง จ.พิจิตร โรงเรียนนี้มีเด็กนักเรียน 12 คน ก็จะต้องถูกยุบโรงเรียนให้ย้ายรวมไปเรียนรวมกันที่โรงเรียนดงกลาง ซึ่งอยู่ในตำบลเดียวกัน เช่นเดียวกับ อีกทั้งเมื่อเร็วๆนี้ โรงเรียนวัดหนองจิกเภา ต.หนองปล้อง อ.วังทรายพูน , โรงเรียนบ้านหนองปลาไหล ต.หนองปลาไหล ก็ได้ถูกประกาศยุบโรงเรียนไปแล้วเนื่องจากไม่มีเด็กนักเรียนด้วยเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สาเหตุของการยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบทเนื่องจากจำนวนประชากรหรือจำนวนของเด็กที่เกิดใหม่มีจำนวนลดลง , การคมนาคมสะดวกขึ้น ผู้ปกครองจึงมีค่านิยมส่งลูกหลานให้ขึ้นรถรับ-ส่งนักเรียนเสียเงินค่ารถ 800-1,000 บาท มาจากพื้นที่ต่างอำเภอเดินทางระยะทาง 15- 40 กม. เพื่อเข้ามาเรียนในเมืองพิจิตรทั้งโรงเรียนของรัฐและของเอกชน ซึ่งเด็กๆต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 กลับถึงบ้าน 5 โมงเย็น จึงทำให้เกิดธุรกิจโรงเรียนเอกชนผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดแถมได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลทั้งการอุดหนุนเงินให้เป็นค่าจ้างครูและเงินอุดหนุนให้กับโรงเรียนเอกชนที่มีนักเรียนตามจำนวนรายหัวอีกด้วย

รวมถึงเกิดธุรกิจรถรับ-ส่งนักเรียน จากชนบทพาเด็กๆเข้ามาเรียนในเมืองจำนวนหลายร้อยคัน อีกทั้งครูที่วิ่งเต้นขอย้ายหนีจากโรงเรียนบ้านนอกเข้ามาอยู่ในเมืองเพื่อรับจ้างสอนพิเศษมีรายได้เพิ่ม ดีกว่าเป็นครูอยู่โรงเรียนบ้านนอก ครูโรงเรียนบ้านนอกที่อยู่จนถึงปลดเกษียณพอถึงเวลาปลดเกษียณออกไปแล้วก็ไม่มีครูใหม่มาทดแทน ผู้ปกครองที่พอมีฐานะเล็งเห็นแล้วว่าถ้าให้ลูกหลานฝืนเรียนอยู่ในโรงเรียนใกล้บ้านที่ไม่มีครูอนาคตก็จะไม่สดใส จึงต้องกัดฟันทนหาเงินส่งลูกเข้ามาเรียนในเมือง

ส่วนโรงเรียนใกล้บ้านหรือโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลความเจริญเด็กที่ยังมีเรียนอยู่ก็ล้วนเป็นลูกของชาวไร่ชาวนา หรือลูกของชนชั้นแรงงานที่หาเช้ากินค่ำ แต่พอถึงวันนี้โรงเรียนใกล้บ้านที่ฝากความหวังว่าลูกคนจนจะมีสิทธิมีเสรีภาพทางด้านการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันตามที่เขียนไว้อย่างสวยหรูในรัฐธรรมนูญ แต่ความเป็นจริงคือ วิกฤติปัญหาการศึกษาที่เกิดขึ้นดังกล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"