กนง.เสียงแตก 5 ต่อ 2 คงดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% จับตาสงครามการค้า-เลือกตั้ง "ขุนคลัง" ส่งซิกยังไม่เหมาะขึ้น ดบ.ถึงสิ้นปี กรุงไทยคาดปรับเพิ่ม 0.25% ธ.ค. "สมคิด" สั่งพาณิชย์หามาตรการรับมือส่งออก หวั่นศึกสหรัฐ-จีนยืดเยื้อ
เมื่อวันที่ 19 กันยายน นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กนง. ว่า ที่ประชุมมีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยกรรมการส่วนใหญ่ยังต้องการให้คงดอกเบี้ยไว้ เพราะเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่มีแรงส่งต่อเนื่อง โดยการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอลงบ้างจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องจากปัจจัยด้านรายได้ และการจ้างงานที่ปรับดีขึ้น แต่หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจะทำให้การฟื้นตัวมีความค่อยเป็นค่อยไป ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวน้อยกว่าที่ประเมินไว้
นายจาตุรงค์กล่าวว่า กนง.มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยประเมินว่าปี 2561 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 4.4% เท่ากับประมาณการครั้งก่อน มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 9% การลงทุนภาครัฐอยู่ที่ 6.1% ลดลงจากเดิมที่ 8.9% การลงทุนภาคเอกชนอยู่ที่ 3.7% การบริโภคภาคเอกชนอยู่ 4.2% และจำนวนนักท่องเที่ยว 38.3 ล้านคน ส่วนในปี 2562 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 4.2% เท่ากับประมาณการครั้งก่อน มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 4.3% ลดลงจากเดิมที่ 5% จากผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยว 40.6 ล้านคน
“เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนอยู่ 2 เรื่องที่ต้องติดตามในระยะต่อไป คือ 1.นโยบายกีดกันทางการค้า ที่สุดท้ายแล้วจะต้องดูว่าได้ข้อตกลงที่ชัดเจนหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจไทย และจะเห็นผลกระทบชัดเจนในปี 2562 และจะมีผลกระทบมากขึ้นในปี 2563-2564 และ 2.การจัดการเลือกตั้งทั่วไป ที่สุดท้ายแล้วต้องดูว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งประมาณการล่าสุดยังไม่ได้รวมปัจจัยด้านการเลือกตั้งเข้าไป” นายจาตุรงค์ ระบุ
เลขานุการ กนง.กล่าวว่า ความจำเป็นในการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากๆ จะลดน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่ง กนง.ไม่ได้บอกว่าจะเลิกนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากๆ ในช่วงใด ซึ่งในการประชุม กนง.ทุกครั้งจะมีการอัพเดตตัวเลข ข้อมูลทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ให้ที่ประชุมพิจารณา ทั้งนี้ ปัจจุบันภาวะการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ แต่ยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ นอกจากเรื่องสงครามการค้า ที่ให้น้ำหนักมากที่สุด เช่น พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน การแข่งขันในตลาดที่อยู่อาศัยที่ส่งผลให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อลดลง ตลอดจนหนี้ครัวเรือนที่ยังไม่ปรับตัวดีขึ้น
ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังคงไม่สามารถไปสั่งการเกี่ยวกับการตัดสินใจเรื่องนโยบายอัตราดอกเบี้ยของ กนง.ได้ แต่อยากให้พิจารณาถึงจังหวะและภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศตอนนี้ด้วยว่า จังหวะแบบนี้ไม่ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ควรจะยืนในระดับเดิมไว้ก่อน ส่วนการประชุมของ กนง.ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ควรพิจารณาปัจจัยเกี่ยวกับความผันผวนของตลาดโลก ต้องดูปัจจัยต่างๆ ทั้งหมดประกอบกัน หากยังไม่มีความจำเป็นใดๆ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปีนี้ควรจะนิ่ง ไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลง
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลังและโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยยังต้องการนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการขยายตัว แม้ว่าเศรษฐกิจจะขยายได้ดีขึ้น ซึ่ง กนง.ควรจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายปีนี้ไว้เท่าเดิม เพราะตอนนี้ยังไม่มีแรงกดดันเรื่องเงินอัตราเงินเฟ้อสูง กนง.จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการใช้นโยบายการคลัง ที่มีการเร่งการใช้จ่ายและการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กนง.ได้ส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตอย่างชัดเจน โดยมีข้อความเพิ่มเติมในผลการประชุมคราวนี้ว่า “แต่การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะทยอยลดความจำเป็นลง” ซึ่งไม่มีในการประชุมครั้งก่อน ทำให้ทาง Krungthai Macro Research คาดการณ์ว่า กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมในเดือน ธ.ค.นี้ 0.25% ต่อปี จากปัจจุบันที่ 1.5% ต่อปี เป็น 1.75% ต่อปี
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากว่า 3 ปี นับตั้งแต่เมษายน 2558 และดอกเบี้ยขาขึ้นครั้งสุดท้ายคือช่วง 2553-2554 การส่งสัญญาณให้ทุกภาคส่วนมีการเตรียมตัวก่อนจึงจำเป็น โดยเฉพาะในช่วงนี้ ที่มีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา ทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่เริ่มกระจายตัวที่ดีขึ้นในระยะหลัง ขณะที่ปัจจัยภายนอก ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และความผันผวนในตลาดเงิน ตลาดทุนของตลาดเกิดใหม่ ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการส่งออกลดลง
วันเดียวกัน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายทำงานให้ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เตรียมมาตรการดูแลการส่งออก หากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ใช้มาตรการตอบโต้ทางภาษีสินค้าระหว่างกัน ซึ่งเป็นการเตรียมการเพื่อไม่ให้เกิดความประมาท และยังได้ขอให้เน้นการผลักดันธุรกิจบริการให้เพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นภาคธุรกิจที่ใหญ่ และสามารถเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประเทศได้
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จะเรียกประชุมผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าไทยในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ทั่วโลก ที่จะเดินทางมาร่วมงานแสดงสินค้าไลฟ์สไตล์ในวันที่ 19-21 ต.ค.2561 เพื่อประเมินสถานการณ์การส่งออกและปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อการส่งออก โดยเฉพาะสงครามการค้าที่ยืดเยื้ออยู่ในขณะนี้ โดยเบื้องต้นคาดว่าการส่งออกสินค้าไทยปี 2561 จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 8% แต่จะมีการปรับเป้าหมายใหม่หรือไม่ ต้องรอการประเมินก่อน และจะประเมินตัวเลขส่งออกของปี 2562 ด้วย
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึงผลการวิเคราะห์กรณีสหรัฐใช้มาตรการขึ้นภาษีสินค้าจีน 5,745 รายการ ในอัตรา 10% มูลค่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ มีผลตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.2561 ก่อนปรับเป็น 25% ในวันที่ 1 ม.ค.2562 ว่า ไทยมีศักยภาพส่งออกสินค้าทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐเพิ่มขึ้นหลายรายการ ได้แก่ ข้าวสี ยางแท่ง มะพร้าว ฝรั่ง มะม่วง มังคุด น้ำผึ้งธรรมชาติ กรดซิตริก เครื่องยนต์สันดาปภายใน เป็นต้น ทั้งนี้ จีนได้ประกาศตอบโต้สหรัฐ โดยจะขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐ 5,207 รายการ ในอัตรา 5-25% มูลค่ารวม 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่ง สนค.จะมีการติดตามผลอย่างใกล้ชิดและประเมินผลกระทบและโอกาสของไทยต่อไป
“สนค.ประเมินว่าสงครามการค้ายังไม่มีทีท่ายุติในระยะอันใกล้ แต่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงและมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานรัฐ ภาควิชาการ และความมั่นคง มาร่วมหารือเพื่อกำหนดจุดยืนที่เหมาะสมในช่วงที่เกิดสงครามการค้า และกำหนดแนวทางการรับมือที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับไทยแล้ว โดยได้ข้อสรุปว่า ไทยควรให้ความสำคัญกับการหาพันธมิตรทางการค้า และต้องระวังในประเด็นด้านความมั่นคงที่จะเชื่อมโยงกับนโยบายเศรษฐกิจมากขึ้น จึงต้องเตรียมรับมือ และควรใช้โอกาสเป็นประธานอาเซียนปี 2562 ผลักดันกลไกที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้อาเซียน” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |