ร้องDSIสางโกงคนพิการ ทำคดีพิเศษฟันขรก.ขี้ฉ้อ


เพิ่มเพื่อน    

    "บิ๊กป้อม" ลั่นต้องจัดการโกงเงินผู้พิการ  "เครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการ" ร้อง "ดีเอสไอ" รับคดีโดนเจ้าหน้าที่รัฐอมเงินเป็นคดีพิเศษ พร้อมขอการคุ้มครองพยาน งัดหลักฐานโต้ พม.ขบวนการหักหัวคิวทำงานฟันเงินกว่า 1.5 พันล้านบาท  
    เมื่อวันที่ 19 ก.ย. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการร้องให้ตรวจสอบมูลนิธิต่างๆ ล่ารายชื่อคนพิการส่งไปยังกรมส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และกรมการจัดหางาน เพื่อเสนอโครงการจัดอบรมคนพิการ และขอรับเงินสนับสนุนแล้วมีการหักหัวคิวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปดำเนินการตามกฎหมาย หากพบความผิดก็ต้องดำเนินการ 
    "ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุไว้แล้วว่าใครทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องเงินทองให้ออกจากตำแหน่งโดยทันที และเมื่อวันอังคารก็ได้สั่งการชัดเจนในที่ประชุม ครม." รองนายกฯ กล่าว
    ขณะที่นายปรีดา ลิ้มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการ พร้อมคนพิการที่ถูกละเมิดสิทธิ เข้ายื่นหนังสือต่อ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ผ่านนายบัณฑิต สังขนันท์ ผู้อำนวยการส่วนพิจารณาสำนวนร้องทุกข์ เพื่อขอให้รับกรณีเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิและปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อคนพิการเป็นคดีพิเศษ และขอให้มีการคุ้มครองพยาน
    นายปรีดากล่าวว่า เรื่องนี้มีความซับซ้อน จึงได้พยายามรวบรวมข้อเท็จจริง เพื่อเปิดโปงให้เห็นถึงขบวนการมาเฟียคนพิการที่มีการละเมิดสิทธิคนพิการหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการจ้างงานตามมาตรา 33 ที่ระบุให้สถานประกอบการที่มีพนักงานในสัดส่วน 100 คน ต้องรับคนพิการเข้าทำงาน 1 คน หรือจ่ายเงินสมทบกองทุนคนพิการเพื่อส่งเสริมอาชีพให้คนพิการ  
    "ที่ผ่านมาแม้จะมีการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 ปรากฏว่าตัวเลขการจ้างงานไม่ตรงกับสิทธิของคนพิการ โดยพบว่าสถานประกอบการจำนวนมากจ่ายค่าหัวคิวให้กับขบวนการนี้ แต่ไม่มีคนพิการเข้าทำงานจริง หากสถานประกอบการไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงาน ก็ควรจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนคนพิการแทนการจ่ายค่าหัวคิว ซึ่งเรื่องนี้เจ้าหน้าที่รัฐที่ลงพื้นที่ตรวจสอบทราบดี แต่ไม่ดำเนินการให้ถูกต้อง จนทำให้คนพิการถูกละเมิดสิทธินับล้านคนทั่วประเทศ และมีมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่าปีละ 1,500 ล้านบาทต่อปี" นายปรีดากล่าว
    ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการกล่าวว่า ผู้พิการทั่วประเทศมีมากกว่า 1 ล้านคน มีการลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมคนพิการ กรมการจัดหางาน และสถานประกอบการเพื่อหางานให้แก่คนพิการจำนวน 65,000 คน  โดยมีการจ้างงานคนพิการ 25,000 คน แต่มีคนพิการทำงานจริงจำนวน 20,000 คน ไม่ได้ทำงานจริง 5,000 คน คิดเป็นความเสียหายประมาณ 500 ล้านบาท  
    "การหักเงินสมทบตามมาตรา 34 ที่สถานประกอบการส่งเงินเข้ากองทุนคนพิการ 12,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้คิดแล้วเป็นการจ้างงานคนพิการเพียง 15,000 ราย ขณะที่มาตรา 35 เป็นเงินช่วยเหลืออื่นๆ รวมทั้งการฝึกอบรมจากสมาคมและมูลนิธิคนพิการ มีการแจ้งจำนวน 25,000 คน แต่ข้อเท็จจริงมีเพียง 15,000 คน ซึ่งรวมความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตตามมาตรา 33, 34 และ 35 รวมเป็นวงเงินมากกว่า 1,500 ล้านบาท" ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการกล่าว 
    ถามว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ออกมาแถลงไม่มีการทุจริตเกี่ยวกับเงินคนพิการ นายปรีดากล่าวว่า พม.แถลงข่าวเร็วเกินไป ควรที่จะตรวจสอบก่อน และจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตนไม่เชื่อว่าจะไม่มีการทุจริต โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือการตรวจสอบการจ้างงานจากกรมการจัดหางานระบุว่า บริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรีรับคนพิการรายหนึ่งเข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.59 และผู้พิการรายนี้ได้ลาออกวันที่ 29 พ.ย.59  
    นายปรีดากล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าผู้พิการคนนี้ยังอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยไม่เคยเข้าไปทำงานที่จังหวัดชลบุรี แต่ได้รับเงินเดือนเดือนละ 7,000 บาท ส่วนอีก 2,000 บาท ถูกหักเป็นค่าหัวคิว หรือในกรณีที่จังหวัดเพชรบูรณ์ มีบุคคลมารับบัตรคนพิการในตำบลหนึ่งจำนวน 100 คน หลังจากนั้นได้นำบัตรพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง พร้อมเงิน 500 บาท มามอบให้เท่านั้น โดยไม่มีการทำงานจริง ทั้งหมดสามารถตรวจสอบได้ 
    "ยอมรับว่าจำนวนคนพิการที่มาร้องเรียนมีจำนวนน้อย ซึ่งที่มาร้องเรียนผ่านตนเองก็มีไม่ถึง 50 คน เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่กล้าออกมา และไม่ทราบสิทธิ์ของตัวเอง รวมทั้งขอวิงวอนไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่าอย่าโทร.มาข่มขู่คุกคาม ขอให้กลับไปแก้ปัญหา ถ้าแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ใช้เวลาไม่น่าเกินหนึ่งเดือนในการตรวจสอบ เนื่องจากรายชื่อคนพิการทั้งหมดเข้าไปอยู่ในระบบ สามารถตรวจสอบได้" ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการกล่าว 
    ด้านความคืบหน้ากรณีนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตรองประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านกลไกในการปราบปรามการทุจริต คณะกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่การท่าอากาศยานไทย (ทอท.) จำกัด รวม 14 คน, เอกชนกลุ่มคิงเพาเวอร์ 3 บริษัท และกรรมการผู้มีอำนาจ เป็นจำเลย ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, เป็นกรรมการหรือผู้บริหารไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบฯ และเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทกระทำการหรือไม่กระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ฯ ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จากกรณีจำเลยได้ร่วมกันกระทำผิดข้อสัญญาที่ก่อหรือเอื้อประโยชน์ให้เอกชนได้รับผลประโยชน์เกินกว่าที่สัญญาระบุไว้หรือไม่ จากการที่สัญญาระหว่าง ทอท.กับคิงเพาเวอร์ ให้เก็บรายได้เข้ารัฐ 15% จากยอดการขายสินค้าหรือบริการที่สนามบินสุวรรณภูมิ แต่คณะกรรมการฯ อนุมัติให้เก็บเพียง 3% ก่อให้เกิดความเสียหายกับรัฐมูลค่า 14,290,660,119 บาทนั้น
    มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งคดีดังกล่าวในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ที่โจทก์ยื่นฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อท.352/2560 ซึ่งศาลได้ไต่สวนพยานบุคคลและหลักฐานเอกสารที่โจทก์นำสืบ และที่ฝ่ายจำเลยเสนอให้ศาลเรียกมาไต่สวนแล้ว
    ศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า การกระทำที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นความผิดตามฟ้องนั้น เกิดขึ้นก่อนที่โจทก์จะเข้าเป็นผู้มีชื่อถือหุ้นในบริษัทกลุ่มคิงเพาเวอร์ โจทก์จึงมิได้เป็นผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องฝ่ายจำเลยได้ จึงพิพากษายกฟ้อง
    วันเดียวกัน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นหนังสือต่อถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ดำเนินการเรียกชดใช้เงินแผ่นดินคืนจากผู้ที่เกี่ยวข้องกรณีหน่วยงานของรัฐจัดซื้อเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด (จีที 200) ตามแนวคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภค
    นายเรืองไกรกล่าวว่า กรณีนี้เกี่ยวกับเครื่องจีที 200 ในสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มีหนังสือเรื่องการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องจีที 200 เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ ซึ่ง ครม.ได้ประชุมกันเมื่อวันที่ 23 ก.พ.2553 และมีมติว่ารับทราบผลการทดสอบประสิทธิภาพ รวมถึงให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดำเนินการประสานงานกับกระทรวงกลาโหม และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องชี้แจงทำความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและประชาชนในพื้นที่ที่ได้นำเครื่องจีที 200 ไปใช้ เกี่ยวกับประสิทธิภาพของเครื่องดังกล่าว รวมถึงให้ร่วมกันพิจารณาดำเนินการที่เหมาะสมให้การตรวจสอบวัตถุระเบิดของเจ้าหน้าที่ และให้ใช้เครื่องมืออื่นทดแทนเมื่อมีการยุติการใช้งานของเครื่องจีที 200 
    "เหตุนี้เกิดขึ้นตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2553 ย่อมเป็นเหตุหนึ่งที่อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อแผ่นดิน เพราะมีการรับทราบผลการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องจีที 200 และให้ดำเนินการต่อไปโดยไม่ให้กระทบต่อเงื่อนไขหรือข้อผูกพันตามสัญญาที่หน่วยงานผู้ซื้อมีต่อบริษัทผู้จัดจำหน่าย และไม่พบข้อมูลว่ามีการรับไปพิจารณาตามความคิดทางกฎหมายของบริษัทผู้จำหน่ายเครื่องจีที 200 ตามมติ ครม.อย่างไรหรือไม่ เรื่องดังกล่าวจึงเงียบหายไป ดังนั้นเมื่อผลการฟ้องคดีของกรมราชองครักษ์ปรากฏออกมา พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี จึงต้องตรวจสอบว่ามีการปล่อยปละละเลยเรื่องนี้หรือไม่ ตั้งแต่เมื่อใด หมดแล้วมูลค่าความเสียหายต่อเงินแผ่นดินมีจำนวนทั้งสิ้นเท่าใด และจะต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายต่อไปทั้งในทางแพ่งและทางอาญา" นายเรืองไกรกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"