กกต.ประกาศจำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัดแล้ว เผย 23 จังหวัด ส.ส.ลดลง คงที่ 54 อีสานหาย 10 ที่นั่ง กทม.เหลือ 30 คาดแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. 350 คนเสร็จภายใน 60 วัน "อิทธิพร" ย้ำมีการเลือกตั้งแน่ทุกอย่างเตรียมการตามขั้นตอน ปชป.รับต้องปรับคนให้เหมาะสมกับจำนวน ส.ส. "เพื่อแม้ว" ไม่หวั่นแบ่งเขตใหม่ โวเหนือ-อีสานชาวบ้านยังหนุน ขณะที่อดีต ส.ส.ตบเท้าเข้าพรรคถกลุยเลือกตั้งพร้อมดัน "วิโรจน์" ขึ้นแท่นหัวหน้า "สนธิรัตน์" นัดประกาศจุดยืน 1 ต.ค.นี้ "วัชระ" ทิ้ง ชทพ.ซบพลังประชารัฐ ลุ้น "สมคิด-บิ๊กตู่" มาร่วม
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันที่ 19 กันยายน นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. แถลงถึงการออกระเบียบว่าด้วยแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และการแบ่งเขตเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดว่า เมื่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีเวลา 90 วัน ก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ โดยจะแบ่งเขตเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน และอีก 30 วันที่เหลือ เปิดให้พรรคการเมืองตั้งกรรมการสรรหาคัดเลือกผู้สมัคร สำหรับขั้นตอนการแบ่งเขตจะเริ่มในวันนี้ คือผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดจะใช้เวลา 14 วัน นับจากวันนี้เป็นต้นไป เพื่อกำหนดรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง 3 รูปแบบ โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ในระเบียบ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 3 ต.ค.2561 และใช้เวลาอีก 10 วัน ประกาศให้ประชาชน พรรคการเมือง ให้ความเห็น
จากนั้นผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดจะรวบรวมความเห็นภายใน 3 วัน คือ วันที่ 13 ต.ค. เพื่อส่งให้กกต.พิจารณาภายใน 20 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 5 พ.ย. และนำส่งเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา รวมแล้วประมาณ 55 วัน หากทำเสร็จเร็วก็จะทำให้พรรคการเมืองมีเวลาในการหาตัวผู้สมัคร โดยมีเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน
"ยืนยันว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นไปตามหลักการเรื่องจำนวนราษฎรและจำนวน ส.ส.ที่เปลี่ยนแปลงไป ยึดประชาชนเป็นหลักพร้อมรับฟังความคิดเห็น ไม่ได้คำนึงว่าจะต้องให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะต้องจัดการเลือกตั้งให้เป็นธรรม จึงไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้ใครทั้งสิ้น" นายอิทธิพรกล่าว
ประธาน กกต.กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ระบุว่ามีขบวนการชักชวนประชาชนให้กาบัตรเสียหรือโหวตโนว่า หากมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก็เป็นหน้าที่ กกต.ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน หากมีมูลก็ต้องรีบดำเนินการหาหลักฐาน ตนในฐานะ กกต. มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งและทำให้เกิดความมั่นใจว่ามีความพร้อมที่จะดำเนินการ ส่วนการหาเสียงยังต้องอยู่ภายใต้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 57/2557 จนกว่าจะมีการเปิดโอกาสให้มีการหาเสียงได้ ซึ่งการหาเสียงต้องไม่กระทบกับการเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรม
"ทุกอย่างชัดเจนแล้ว มีกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. กฎหมาย ส.ว.มีผลแล้ว กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.จะมีผล 11 ธ.ค. ทำให้มั่นใจการออกระเบียบเตรียมบุคลากร เราจะมีการเลือกตั้ง 150 วัน หลังจากนั้น ทุกคนต้องมีความพร้อม ข่าวก็เป็นความเห็นของปัจเจคบุคคลที่มีความห่วงใยได้ ส่วนการเชิญพรรคการเมืองหารือในวันที่ 28 ก.ย. เพื่อเป็นการสร้างความชัดเจนและความเข้าใจร่วมกันเพื่อตอบข้อสงสัย"
นายอิทธิพรกล่าวถึงเรื่องการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์หาเสียงว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 ถือเป็นการคลายล็อกแล้ว แต่การหาเสียงคำสั่ง คสช.ที่ 57/2557 ยังคงอยู่ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ก็ยังอยู่ ดังนั้นจึงยังหาเสียงไม่ได้ ส่วนระเบียบการหาเสียงทางโซเชียลมีเดียขณะนี้การยกร่างความคืบหน้าไปอย่างน่าพอใจ คงไม่ห้ามหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่หาเสียงอย่างไรให้เหมาะสม ไม่กระทบกับการเลือกตั้ง ไม่ถึงกับการควบคุม เพียงแต่อาจจะมีบทบัญญัติว่าจะทำอะไรให้แจ้ง แต่เบื้องต้นยังไม่ได้ข้อยุติ
ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. แถลงว่า กกต.ได้เห็นชอบระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว สำหรับจำนวนราษฎรที่จะใช้ในการแบ่งเขตเลือกตั้งใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศที่สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ประกาศเรื่องจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธ.ค.2560 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 23 ก.พ.2561 โดยถือได้ว่าเป็นประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งตามที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.กำหนดไว้ ซึ่งจำนวนประชากรต่อ ส.ส. 1 คน จะใช้ประชากร 189,110 คน และแม้ว่าในอนาคตการเลือกตั้งจะไม่ใช่วันที่ 24 ก.พ.62 และมีการประกาศจำนวนราษฎรใหม่ก็ไม่กระทบกับการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ดำเนินการไปเพราะกฎหมายยึดประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง
อีสาน ส.ส.ลด 10 ที่นั่ง
วันเดียวกัน ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศ กกต. เรื่องจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด โดยกำหนดให้ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งมีจำนวน 350 คน แต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวน ส.ส. 1 คน จังหวัดใดมีจำนวน ส.ส.ได้ไม่เกิน 1 คน ให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และจังหวัดใดมีจำนวน ส.ส.ได้เกิน 1 คน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้ง มีจำนวนเท่ากับจำนวน ส.ส.ที่พึงจะมี
โดยใช้จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธ.ค.60 ซึ่งมีจำนวน 66,188,503 คน เป็นฐานในการแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยจำนวนราษฎรโดยเฉลี่ย 189,110 คนต่อ ส.ส. 1 คน มีการเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส.ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2557 ทั้งสิ้น 23 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร เดิม 33 คน เหลือ 30 คน, กระบี่ เดิม 3 คน เหลือ 2 คน, กาฬสินธุ์ เดิม 6 คน เหลือ 5 คน, ชัยภูมิ เดิม 7 คน เหลือ 6 คน, เชียงใหม่ เดิม 10 คนเหลือ 9 คน, ตรัง เดิม 4 คน เหลือ 3 คน, นครราชสีมา เดิม 15 คน เหลือ 14 คน, นครศรีธรรมราช เดิม 9 คน เหลือ 8 คน, นนทบุรี เดิม 7 คน เหลือ 6 คน, บุรีรัมย์ เดิม 9 คน เหลือ 8 คน, พระนครศรีอยุธยา เดิม 5 คน เหลือ 4 คน, เพชรบูรณ์ เดิม 6 คนเหลือ 5 คน, แพร่ เดิม 3 คน เหลือ 2 คน, ร้อยเอ็ด เดิม 8 คน เหลือ 7 คน, เลย เดิม 4 คน เหลือ 3 คน, สกลนคร เดิม 7 คน เหลือ 6 คน, สระบุรี เดิม 4 คน เหลือ 3 คน, สุพรรณบุรี เดิม 5 คนเหลือ 4 คน, สุรินทร์ เดิม 8 คน เหลือ 7 คน, อ่างทองเดิม 2 คน เหลือ 1 คน, อุดรธานี เดิม 9 คน เหลือ 8 คน, อุตรดิตถ์ เดิม 3 คน เหลือ 2 คน และอุบลราชธานี เดิม 11 คน เหลือ 10 คน
นอกจากนี้ มี 54 จังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.เท่าเดิม แม้ในจำนวนนี้จะมี 41 จังหวัดที่เมื่อนำจำนวนประชากร 189,110 คนมาคำนวณแล้วเหลือค่าเฉลี่ยที่มีผลทำให้ได้จำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังคงเป็นผลให้มีส.ส.จำนวนเท่าเดิมกับปี 2557 ประกอบด้วย กาญจนบุรี 5 คน, กำแพงเพชร 4 คน, ขอนแก่น 10 คน, จันทบุรี 3 คน, ฉะเชิงเทรา 4 คน, ชลบุรี 8 คน, ชัยนาท 2 คน, ชุมพร 3 คน, เชียงราย 7 คน, ตราด 1 คน, ตาก 3 คน, นครนายก 1 คน, นครปฐม 5 คน, นครพนม 4 คน, นครสวรรค์ 6 คน, นราธิวาส 4 คน, น่าน 3 คน, บึงกาฬ 2 คน, ปทุมธานี 6 คน, ประจวบคีรีขันธ์ 3 คน, ปราจีนบุรี 3 คน, ปัตตานี 4 คน, พะเยา 3 คน, พังงา 1 คน, พัทลุง 3 คน, พิจิตร 3 คน, พิษณุโลก 5 คน, เพชรบุรี 3 คน, ภูเก็ต 2 คน, มหาสารคาม 5 คน, มุกดาหาร 2 คน, แม่ฮ่องสอน 1 คน, ยโสธร 3 คน, ยะลา 3 คน, ระนอง 1 คน, ระยอง 4 คน, ราชบุรี 5 คน, ลพบุรี 4 คน, ลำปาง 4 คน, ลำพูน 2 คน, ศรีสะเกษ 8 คน, สงขลา 8 คน, สตูล 2 คน, สมุทรปราการ 7 คน, สมุทรสงคราม 1 คน, สมุทรสาคร 3 คน, สระแก้ว 3 คน, สิงห์บุรี 1 คน, สุโขทัย 3 คน, สุราษฎร์ธานี 6 คน, หนองคาย 3 คน, หนองบัวลำภู 3 คน, อำนาจเจริญ 2 คน, อุทัยธานี 2 คน
สรุปแล้วภาคเหนือเดิมมี ส.ส. 36 คน ลดเหลือ 33 คน, ภาคอีสานเดิมมี ส.ส. 126 คน ลดเหลือ 116 คน, ภาคกลางเดิมมี ส.ส. 82 คน ลดเหลือ 76 คน, ภาคใต้เดิมมี ส.ส. 53 คน ลดเหลือ 50 คน และ กทม.เดิมมี ส.ส. 33 คน ลดเหลือ 30 คน ส่วนภาคที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงคือ ภาคตะวันออก มี ส.ส. 26 คน และภาคตะวันตก มี ส.ส. 19 คนเท่าเดิม
สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้ง กำหนดให้ ผอ.กกต.จังหวัดแบ่งเขตแต่ละจังหวัดตามจำนวน ส.ส.ในสามรูปแบบ ภายใน 14 วัน และภายใน 10 วัน รับฟังความเห็นจากพรรคการเมือง ประชาชน จากนั้นภายใน 3 วัน ผอ.กกต.จังหวัดประมวลความคิดเห็นว่าจะมีการปรับปรุงหรือไม่ รายงานต่อ กกต. โดย กกต.มีเวลา 20 วันในการพิจารณาเพื่อเลือกรูปแบบที่ดีที่สุด เพื่อประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง รวมใช้เวลา 50 วัน ตามระเบียบของ กกต. แต่กกต.คาดการณ์ว่ากระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งจะครบกำหนดประมาณกลางเดือนพ.ย.2561 ก่อนที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธ.ค.2561 จากนั้นจะเริ่มนับถอยหลัง 150 วันสู่การเลือกตั้ง
ปรับคนตาม ส.ส.ในพื้นที่
ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ดูแล กทม. กล่าวถึงการประกาศจำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัดว่า เป็นไปตามอัตราส่วน ส.ส.ในสภาจาก 400 คน ลดลงมาเหลือ 350 คน หายไป 50 คน ดังนั้นจำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัดก็ต้องลดลงหรือเท่าเดิมเป็นปกติ จะทำให้ในบางจังหวัดมีเขตลดลง แต่เรามี ส.ส.เก่าเกิน ก็ต้องมีการพูดคุยกันว่าต้องขยับเอาคนออก ซึ่งคนที่ถูกออกก็ต้องพูดคุยกันว่าจะให้ไปทำอะไรตรงไหน เชื่อว่าส่วนมากพูดคุยกันได้ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะทุกคนก็ทราบความเป็นจริงอยู่แล้วว่าต้องมีการปรับให้คนเหมาะสมกับจำนวน ส.ส.ในแต่ละจังหวัดแต่ละพื้นที่ ส่วนพื้นที่ กทม. เขตลดลงไป 3 เขต เหลือ 30 เขต ก็ไม่มีผลกระทบ เพราะเรามี ส.ส.กว่า 20 คน ดังนั้นก็หาคนลงไปในเขตที่ยังไม่มี ส.ส. ตอนนี้คนเกิน แต่ไม่มีเขตเพียงพอให้ลงมีคนหนุ่มคนสาวสนใจสมัครพอสมควรก็คงต้องดูข้อมูลให้เพียงพอก่อน
นายองอาจยังกล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าพรรคที่ได้เสียงมากสุดเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลว่า เป็นหลักการปกติที่เราทำกันมาโดยตลอด ที่พรรคได้คะแนนเสียงจำนวน ส.ส.มากที่สุดก็จะจัดตั้งรัฐบาล ยกเว้นเขาไม่สามารถรวมเสียงได้มากพอ ก็ต้องไปรวมเสียงกับพรรคอื่นให้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล ถ้ารวมไม่ได้ ก็ต้องเป็นพรรคอันดับ 2 อันดับ 3 เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นนายกฯ พูดก็เป็นลักษณะทั่วไป ไม่ได้มีนัยอะไร
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวถึงการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ลดลงว่า ความได้เปรียบเสียเปรียบก็เหมือนกันทุกพรรค เพราะมีผลกับทุกพรรคการเมืองเหมือนกัน ส่วนไหนที่ลดจำนวนผู้แทนลงก็มีผลกระทบ ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดเรื่องพรรคที่ชนะเลือกตั้ง ได้คะแนนมากสุด เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น ก็ถูกตามหลักว่าพรรคที่ได้ที่หนึ่งก็ต้องไปรวบรวม ส.ส. ให้ได้เกินกึ่งหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา พรรคที่ได้คะแนนสูงสุดไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็ต้องเป็นพรรคขนาดกลางรวมกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาล
เมื่อถามว่า ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ออกมาอย่างนี้ เพราะมั่นใจในพรรคที่สนับสนุนตัวเองว่าจะได้คะแนนมาเป็นที่ 1 นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า เขาอาจจะพูดได้ว่าเป็นที่ 1 แต่ในความเป็นจริงคงยาก อาจจะได้แค่ที่ 4 ที่ 5 ดังนั้นเขาอยากพูดอะไรก็ได้
ส่วน นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ที่ ส.ส.เขตแต่ละจังหวัดใหญ่ๆ มีทั้งเพิ่มและลดจำนวน ส.ส.ลงไปบ้างนั้น แต่สำหรับพรรคเพื่อไทยพร้อมต่อสู้ ไม่ได้มองว่าการแบ่งเขตใหม่ เราจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบ ตราบใดในภาคเหนือ อีสาน ประชาชนยังเข้มแข็ง เชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า ยังจะเลือกฝ่ายประชาธิปไตยคือพรรคเพื่อไทยอยู่ดี ซึ่งตอนนี้กลายเป็นกระแสไปแล้ว อาจทำให้คสช.กลัวเลยไม่กล้าปลดล็อก 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะกลัวว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะอย่างถล่มทลาย ไม่เพียงเรื่องคำสั่งคลายล็อกการเมืองที่ทำคนสับสน แม้แต่เรื่องบัตรเลือกตั้งใบเดียว ยังมีคนไม่เข้าใจอีกมาก ยังคิดว่าบัตรใบเดียวกาบาทได้ 2 ช่อง คือ เลือกทั้งคน ทั้งพรรค ทั้งที่ความเป็นจริงสามารถกากบาทได้เพียงช่องเดียว รวมทั้งการหาเสียงทางโซเชียลมีเดียที่ไม่ชัดเจน อยากให้ กกต.ระบุให้ชัดว่าสิ่งใดที่พรรคทำได้หรือไม่ได้บ้าง
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้ปลดล็อกการเมืองทั้งหมดว่า ขอให้ครบ 90 วันก่อนถึงจะปลดล็อกทั้งหมด ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ระบุแล้วว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง และมีการปลดล็อกให้ 9 ข้อแล้ว เพียงแต่ว่าไม่ให้โฆษณาชวนเชื่อ นอกนั้นก็ไม่มีอะไร ส่วนการหาเสียงเลือกตั้ง ต้องรอไปถึงเดือนธันวาคมนี้ ตอนนี้ยังห้ามไม่ให้พรรคการเมืองใช้โซเชียลมีเดียหาเสียง เพราะการใช้โซเชียลมีเดียก็เหมือนกับการพูด ซึ่งทาง กกต.จะมีหน้าที่พิจารณาว่าพรรคการเมืองใดที่ใช้โซเชียลมีเดียแล้วเข้าข่ายการหาเสียง ซึ่งก็ต้องมีบทลงโทษตามกฎหมาย ในช่วงนี้เราให้พรรคการเมืองจัดการประชุมพรรคได้อย่างอิสระ ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ส่วนที่มีการกำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่ให้ช่วยนักการเมืองหาเสียง เพราะไม่ใช่หน้าที่ และตอนนี้ไม่ว่าใครก็หาเสียงไม่ได้ ตลอดจนถึงทหารที่ใส่เครื่องแบบไปเดินตามนักการเมือง
"วัชระ"ทิ้ง ชทพ.ซบ "พปชร."
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกระแสข่าวว่าตนจะลงเล่นการเมืองหลังจากมีข่าวว่าตนจะไปรับตำแหน่งเลขาธิการพรรคหรือหัวหน้าพรรคนั้นว่า จะแถลงข่าวความชัดเจนให้สาธารณชนทราบท่าทีในวันที่ 1 ตุลาคมที่จะถึงนี้
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกกลุ่มสามมิตร เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าแกนนำกลุ่มสามมิตรซึ่งนำโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน, นายอนุชา นาคาศัย และนายภิรมย์ พลวิเศษ จะเรียกประชุมแกนนำกลุ่มเพื่อหารือร่วมกันว่ากลุ่มสามมิตรจะตัดสินใจไปสังกัดพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งจะไปสังกัดพรรคการเมืองใด เชื่อว่าคงไม่มีปัญหาอะไร เพราะเราดูทิศทาง และลงพื้นที่รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนมาโดยตลอด จึงรู้ว่าประชาชนอยากให้เราไปสังกัดพรรคการเมืองไหน
ขณะที่นายวัชระ กรรณิการ์ อดีตโฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ตั้งโต๊ะแถลงการตัดสินใจลาออกจากพรรค ชทพ.ว่า ได้ยื่นลาออกกับนายทะเบียนพรรคชทพ. เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยได้ตัดสินใจและกลั่นกรองอย่างดี ที่ผ่านมามีจุดยืนที่จะทำงานให้กับนายบรรหาร ศิลปอาชา จนกระทั่งยุติบทบาททางการเมืองในนาม ชทพ. และถึงเวลาที่ ชทพ.จะปรับโครงสร้างและองคาพยพของพรรค แต่ไม่ใช่เพื่อหลีกทางให้คนรุ่นใหม่ โดยเชื่อมั่นว่าการลาออกจะไม่กระทบกับชทพ. เพราะมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจำนวนมาก ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง ยืนยันไม่มีปัญหาพรรค ผู้ใหญ่ทุกคนเป็นเหมือนครูให้ความเมตตามีบุญคุณมาโดยตลอด
นายวัชระกล่าวว่า จากนี้ตัดสินใจเข้าร่วมงานทางการเมืองกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เพราะชอบแนวคิดของนายชวน ชูจันทร์ ผู้จัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ ที่ทำงานภาคสังคม เป็นวิธีคิดที่ใช้งานได้ จึงประสานไปยังผู้ใหญ่ที่รู้จักกับนายชวน เพื่อขอเข้าพบและยื่นความประสงค์เข้าร่วมงาน โดยไม่มีเงื่อนไขใด แม้จะรู้จักนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ มาเป็นสิบปี แต่ไม่เคยทาบทามทางการเมือง ไม่ได้ถูกดูด เพราะไม่มีอามิสสินจ้างหรือตำแหน่งใดมาล่อ และจะไม่ขอรับตำแหน่งใดในรัฐบาลนี้
"ส่วนตัวรอลุ้นว่านายสมคิด นายสนธิรัตน์ ถ้ามาร่วมพรรคก็จะเป็นเรื่องดี รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเอง เพราะถือเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดในช่วงรอยต่อสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ และอนาคตที่จะเป็นายกรัฐมนตรีต่อ" นายวัชระกล่าว
นายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรค ชทพ. เปิดเผยว่า นายวัชระได้ยื่นใบลาออกเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจะไม่กระทบกับการประชุมกรรมการบริหารพรรควันที่ 2 ต.ค.นี้ เพราะเป็นการประชุมกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบัน เพื่อหารือเรื่องวาระการประชุมใหญ่ 5 ต.ค.นี้ ทั้งนี้ ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับนักการเมืองที่จะย้ายพรรค ซึ่งพรรคก็เปิดโอกาสให้กับทุกคน เหมือนกับนักฟุตบอลที่ย้ายสโมสร ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีใครย้ายออกหรือย้ายเข้า แต่ยอมรับว่ามีคนติดต่อมาค่อนข้างมาก และมากกว่าจำนวนที่ลาออก
ส่วนการหารือร่วมกับ กกต. วันที่ 28 กันยายนนี้ นายวราวุธกล่าวว่า พรรคชาติไทยพัฒนาต้องการสอบถามเกี่ยวกับขอบเขตที่ชัดเจนที่สามารถดำเนินการได้ โดยเฉพาะการสื่อสารทางโซเชียลมีเดีย
พท.คึกสุมหัวลุยเลือกตั้ง
นายภราดร ปริศนานันทกุล อดีต ส.ส.อ่างทอง พรรค ชทพ. กล่าวว่า การประชุมใหญ่พรรค ชทพ.ในวันที่ 5 ต.ค.นั้น เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรคให้เป็นไปตามกฎหมายและเป็นการเลือกผู้บริหารพรรคใหม่เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด โดยจะมีการเปลี่ยนทั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค ซึ่งได้มีการหารือกันในเบื้องต้นแล้วว่า ขณะนี้ถึงเวลาของเจนเนอเรชั่นใหม่แล้ว ที่จะเข้ามามีบทบาทและทำนโยบายพรรค โดยมองว่านายวราวุธ ศิลปอาชา อดีต ส.ส.สุพรรณบุรี มีความเหมาะสมที่จะมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคชาติไทย เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค
"พรรค ชทพ.มีความชัดเจนว่าเราไม่เอานายกฯ คนนอกแน่นอน เราจะสนับสนุนหรือคัดเลือกคนในโดยเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย คือต้องฟังเสียงประชาชน ซึ่งเราจะไม่มีการเลือกคนนอกที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่ถูกพรรคการเมืองเสนอขึ้นมา" นายภราดรกล่าว
มีรายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยแจ้งว่า วันเดียวกันนี้ มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของพรรค มีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการแยกย่อยหลายวงประชุม อาทิ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรค ซึ่งประกอบไปด้วยแกนนำพรรค อาทิ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์, นายภูมิธรรม เวชยชัย ได้หารือถึงทิศทางของพรรค หลังจากมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 การปลดล็อกทางการเมือง โดยทางพรรคได้เตรียมแนวทางรองรับ ทั้งในแง่ขั้นตอนการร่างอุดมการณ์ ข้อบังคับพรรคใหม่ นโยบายใหม่ โครงสร้างพรรครูปแบบใหม่ รวมถึงขั้นตอนการเตรียมความพร้อมการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ นอกจากนี้ยังมีวงของสมาชิก อดีต ส.ส.กทม. และสมาชิกพรรค ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ที่ได้มาร่วมหารือสถานการณ์การเมือง เตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งในปี 2562
นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวพรรคเพื่อไทยตัดสินใจให้ พล.ต.ท.วิโรจน์ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคว่า ยังไม่ทราบ เพียงแต่รู้ว่าคณะกรรมการบริหารพรรคชุดเก่าทำงานกันเข้มแข็งและดีอยู่แล้ว ทั้ง พล.ต.ท.วิโรจน์ นายภูมิธรรม ส่วนจะมอบหมายให้ใครเป็นหัวหน้า คงแล้วแต่สมาชิก และต้องผ่านการโหวตจากที่ประชุมใหญ่ของพรรค ส่วนที่ถามในขั้นตอนการเลือกหัวหน้านั้น จะมีการโหวตแข่งหรือไม่นั้น ยังไม่ทราบ แต่คิดว่าคงไม่น่ามี คงไม่มีใครแย่ง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |